Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ในการประชุมกลุ่มย่อยตัวแทนผู้นำศาสนา เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดเบื้องต้นด้านการพัฒนาการปกครองของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มผู้นำศาสนาได้ระดมสมองและสรุปเป็นข้อเสนอ โดยกลุ่มย่อยแรกเห็นว่าการได้มาของตำแหน่งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ส่วนใหญ่ ยังมุ่งเน้นงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้เน้นการสร้างคน หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน


 


ทั้งนี้ ในอิสลาม "ประชาธิปไตย" เป็นของอัลลอฮ์ ดังนั้น เงินทุกบาททุกสตางค์ที่คุณใช้จะต้องมีการตรวจ สอบจากอัลลอฮ์ ไม่ใช่เอาไปทำอะไรก็ได้ ดังนั้น เราต้องเอานักการเมืองที่มีคุณธรรมมาบริหาร แต่ที่เป็นทุกวันนี้ ผู้นำในอบต.ทั้งหลาย ยังสวนทางกับแนวทางของอิสลาม


 


กลุ่มแรกสรุปว่า รูปแบบการปกครองที่อยากเห็นต้องเป็นลักษณะเขตปกครองพิเศษ คือ การเมืองบวกการปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม


 


 "ผมเชื่อว่าชาวพุทธมามกะที่ถือศีล 5 ก็เห็นด้วยที่จะไม่ให้เยาวชนไปมั่วสุม สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยบูรณาการเขตปกครองพิเศษการเมืองบวก การปกครองพิเศษทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความสันติสุข"


 


ตัวแทนกลุ่มที่ 2 นำเสนอข้อสรุปว่าอยากให้มีการใช้รูปแบบที่ 2 คือ เขตการปกครองแบบพิเศษ อยากให้มี พ.ร.บ.ภายใน 3 จังหวัด และผู้ที่ร่างพระราชบัญญัติมีความหลากหลาย ทั้งจากประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา นักวิชาการ และไม่ควรจะมาจากคนกลุ่มเดียว เหตุผลเพราะว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ควรที่จะมีการช่วยกันระดมความคิดไม่ให้ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มที่สองเห็นว่าการที่จะต้องมี พ.ร.บ.พิเศษ นั้น เป็นเพราะพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม


 


ตัวแทนกลุ่มที่ 3 อยากให้มีรูปแบบการปกครองพิเศษ มี พ.ร.บ.ใช้ใน 3 จังหวัด โดยเป็นกฎหมายที่ทำให้พี่น้องทุกศาสนา ทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และน่าจะใช้อัตลักษณ์ของมุสลิมเป็นหลัก ส่วนการเลือกผู้นำ ควรใช้ระบบซูรอ คือ การรวมตัวกันปรึกษาหารือเพื่อเลือกผู้นำ


 


ผู้นำควรจะใช้หลักการกฎเกณฑ์ศีลธรรมและจริยธรรมของศาสนาเป็นหลัก มีการเปิดโอกาสให้กับศาสนาอื่นด้วย และใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักร่วมกับภาษาไทยในสถานที่ราชการ เพราะ ณ ปัจจุบัน คนมุสลิมที่ไม่เป็นภาษาไทย พูดภาษาไทยไม่ได้ เวลาที่ติดต่อราชการก็ลำบาก ดังนั้นจึงอยากเสนอะแนะให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักร่วมกับภาษาไทย


 


ตัวแทนกลุ่มที่ 4 เสนอให้ใช้รูปแบบปกครองพิเศษซึ่งสามารถกำหนดและบัญญัติกฎหมายหรือพ.ร.บ.ที่เหมาะสมให้กับชุมชนและท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ตรงจุด ทำให้ผู้บริหารเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นเลือกผู้นำของตนเองได้อย่างแท้จริงโดยการเลือกตั้ง


 


"ถ้าได้อย่างที่ประชาชนต้องการแล้วก็จะทำให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นในหลายๆ ด้าน ทั้ง สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ และการศึกษาระบบการปกครองแบบพิเศษ คนในท้องถิ่นสามารถบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นของตนได้อย่างเต็มที่ ส่วนประเด็นคุณสมบัติของผู้นำ ควรที่จะมีภาวะความเป็นผู้นำ เป็นที่ยอมรับในสังคม มีความรู้ในหลักศาสนาและเรื่องการเมืองการปกครอง"


 


ตัวแทนกลุ่มที่ 5 สรุปข้อเสนอว่าจะสนับสนุนรูปแบบการปกครองรูปแบบเดิม คือ ยังคงให้มีอบต. แต่ต้องมีการกระจายอำนาจให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพองค์ความรู้ของผู้บริหาร และให้มีกองทุนในระบบอิสลามเพื่อเป็นทุนให้แก่ผู้เดือดร้อนในรูปแบบสหกรณ์อิสลาม


 


ตัวแทน 6 สนับสนุนรูปแบบการปกครองรูปแบบที่ 2 แต่ในกลุ่มระบุว่าใจจริงอยากให้เป็นการปกครองแบบเอกเทศ ที่มี ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพราะปัจจุบันนี้ผู้ว่าฯ บางคนเข้ามาทำงานเพราะต้องการตำแหน่งแล้วก็ไป รวมทั้งอยากให้มีการถ่ายโอนอำนาจให้กับการบริหารส่วนท้องถิ่นมากขึ้น มีอำนาจในการตัดสินใจทั้งโครงสร้างงานและงบประมาณ


 


ทางกลุ่มยังเสนอแนะในเรื่องการบริหารงานตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ปัจจุบันเป็นระบบการแต่งตั้งมาจากสวนกลาง ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ต่อเนื่องและไม่ตรงจุด เข้ามาเพี่อที่จะรับตำแหน่งแล้วก็ไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น ผู้ว่าฯ ควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ควรเป็นคนในพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจ เข้าถึงปัญหาต่างๆได้ตรงจุด


 


ตัวแทนกลุ่มที่ 7 บอกว่า สนับสนุนการปกครองรูปแบบที่ 2 มีผู้นำศาสนาอยู่ในบอร์ดของการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบและควบคุมการทำงานของผู้บริหาร ให้มีความเสมอภาคทางการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะ ตาดีกา สถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ที่จะต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาอย่างจริงจัง


 


"มีนักเรียนที่ จบ ม.6 แต่ไม่มีสถานศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา จึงต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ รัฐก็เพ่งเล็งกลับมาแล้วไม่มีงานทำ กลายเป็นปัญหาส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ รัฐต้องจัดให้มีสถานศึกษาเพื่อหลีกเลี่ยงการไปเรียนต่อต่างประเทศ มีการรองรับที่เพียงพอในพื้นที่"


 


ตัวแทนผู้นำศาสนากลุ่มที่ 8 ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายระบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย มี ส.ส. แต่ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดี ดังนั้นจึงต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีสภาพัฒนาเศรษฐกิจ สภาทางศาสนา ดึงผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน ผู้นำทางการศึกษา และนักวิชาการ มีส่วนร่วมในการทำงาน ปัญหาในพื้นที่คือ ความไม่เข้าใจกัน คนมุสลิมมีความเป็นเอกภาพ ถ้ารัฐจริงใจที่จะแก้ปัญหาก็แก้ได้


 


"ต้องมีสถาบันทางการเมือง ที่เป็นพรรคการเมืองของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาเรามีแค่ตัวแทนเข้าไปซึ่งเป็นคนส่วนน้อยและไม่มีบทบาทในการบริหาร"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net