Skip to main content
sharethis


ในการเสวนาเรื่อง "ความหลากหลายทางเพศคือความหลากหลายทางความรู้" ในการประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เรื่อง สิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าความรู้ซึ่งจะช่วยให้เอาชนะความเขลา และตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้จะต้องมีชุดเดียว เพราะหากมีหลายชุดจะตัดสินใจไม่ได้ว่าควรตัดสินใจแบบใด เช่นเดียวกับที่เชื่อว่า มนุษย์มี 2 เพศ หรือ 2 เพศสภาพ คือ ผู้ชายกับผู้หญิง โดยไม่เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้น โดยนำความเป็นหญิงเป็นชายในเชิงสรีระมาเชื่อมโยงกับการสืบพันธุ์ให้เผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ต่อไป ดังนั้น จึงยากจะสื่อสารว่า ในโลกนี้ยังมีอีกหลายเพศ

 


"คนจึงมักใช้จินตภาพความเหมือนมาเป็นกรอบแล้วบังคับให้คนที่แตกต่างเข้ามาอยู่บนกรอบที่ตัวเองกำหนด โดยไม่ยอมลืมตามองว่า โลกนี้มีความหลากหลาย จึงควรตั้งคำถามได้แล้วว่า ความรู้แบบนี้สะท้อนความเป็นจริงไหม"  


 


รศ.ดร. ชลิดาภรณ์เห็นว่า ขณะที่สังคมกำลังเคลื่อนไหวในเรื่องการปฏิรูปการเมือง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่สังคมไทยจะได้ทบทวนความรู้ที่มีเกี่ยวกับมนุษย์ ทั้งเป็นโอกาสที่จะได้ทบทวนเพื่อให้มีกฎกติกาชุดใหม่ที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม


 


"แม้ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะใจดีที่จัดกลุ่มให้ "เพศที่สาม" แต่กฎที่มีอยู่เดิมกลับตั้งอยู่บนฐานของความไม่รู้และมายาคติ โดยแม้จะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิต่างๆ ไว้ แต่ก็ดูเหมือนกฎหมายลูกจะใหญ่กว่ากฎหมายแม่ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมักกำหนดว่า "ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด" "

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net