Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 ก.ค.2549   ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทนายความนายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงคำแถลงปิดคดี ที่นายถาวร ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่จัดเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตรอบใหม่โดยไม่มีอำนาจและขัดต่อกฎหมาย ว่า ภายหลังจากที่ศาลอาญา นัดคู่ความเพื่อฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. และกำหนดให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา นายถาวร ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลแล้วมีความหนาทั้งสิ้น 24 แผ่น โดยสรุป 8 ประเด็นดังนี้


         


1.ประเด็นผู้เสียหาย ที่ กกต.ทั้งสาม โต้แย้งโจทก์ฟ้องซ้ำกับมูลเหตุคดีดำที่ อ.1265/2549 ที่ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กับพวก ฟ้อง กกต.และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่ง กกต.อ้างว่าสิทธิคดีอาญาของโจทก์ที่มาฟ้องคดีนี้ระงับแล้ว ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2535 เนื่องจากศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีดำที่ อ.1265/2549 ที่ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กับพวก ฟ้อง กกต. ซึ่งศาลเห็นว่า น.พ.นิรันดร์กับพวก ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย โดยโจทก์ยืนยันว่าเป็นผู้เสียหายทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในทางนิตินัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 ที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเขตเลือกที่ 6 จ.สงขลา และไปใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้งที่ กกต.จัดขึ้น รวมทั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 และ 23 เม.ย.49 แล้ว และการที่จำเลยทั้งสาม จัดเลือกตั้งโดยไม่เที่ยงธรรมจนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอนการเลือกตั้งวันที่ 2 และ 23 เม.ย. เป็นให้โจทก์ไม่มี ส.ส.ไว้ทำหน้าที่แทนในด้านนิติบัญญัติและด้านต่างๆ จึงเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายในฐานะพลเมือง โดยทางอ้อมโจทก์ต้องเสียหายจากการเสียภาษีแล้วการจัดการเลือกตั้งของจำเลยทั้งสามทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 2,000 ล้านบาทเศษ ส่งผลให้โจทก์เสียโอกาสที่จะได้รับการบริโภค - สาธารณูปโภคที่รัฐบาลต้องกระจายความเจริญ


 


2.ประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยเจตนาทุจริต เรื่องการจัดเลือกตั้งใหม่ ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2543 ลงวันที่ 26 ธ.ค.43 ข้อ 6 กำหนดชัดเจนว่า ในการเลือกตั้งใหม่ ห้ามมิให้เปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง และห้ามมิให้ผู้สมัครถอนการสมัครรับเลือกตั้ง และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งให้นับคะแนนและสั่งเลือกตั้งใหม่ภายหลังการประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2544 ลงวันที่ 7 ก.พ.44 ข้อ 8 กำหนดให้ กกต. แจ้งนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) ให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับ ส.ส.แบ่งเขต ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปแล้วเสร็จ และการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยเมื่อมีการออก พรฎ.แล้ว ให้ กกต.ประกาศรับสมัคร ส.ส. แบ่งเขตได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลเลือกตั้งทุกกรณี กฎหมายไม่เปิดโอกาสให้รับสมัครผู้สมัครใหม่ แต่การเลือกตั้งใหม่หลังประกาศผลเลือกตั้งต้องมีการออก พรฎ.ก่อนจึงจะรับผู้สมัครได้ โดยจำเลยทั้งสามต้องทราบดีในระบียบทั้งสองที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าไม่เคยมีกรณีที่มีผู้สมัครพรรคเดียวในเขตเดียว แล้วได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ร้อยละ 20 จึงต้องจัดเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 74 พ.ร.บ.เลือกตั้ง ฯ ดังนั้นจำเลยจึงเปิดรับผู้สมัครใหม่ ก็แสดงให้เห็นเจตนาที่ชัดเจนของจำเลยทั้งสามว่ามีเหตุจูงใจพิเศษในการช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย โดยบทบัญญัติมาตรา 74 มาตรา 7/2 มาตรา 85/1 มาตรา 85/7 ต่างใช้คำว่า " เลือกตั้งใหม่" ที่มีความหมายชัดเจนว่า ลงคะแนนใหม่แต่รับสมัครใหม่ไม่ได้ ส่วนการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 7/2 ให้อำนาจจำเลยทั้งสาม เฉพาะ 3 ประการเท่านั้น คือการย่น ขยายเวลาเลือกตั้ง และงดเว้นกระทำการในการเลือกตั้ง


 


3.ประเด็นการเลือกตั้งใหม่โดยให้มีรับสมัครเพิ่ม และพรรคไทยรักไทยได้เบอร์เดิม เมื่อผู้สมัครคนเดียวพรรคไทยรักไทย ที่มีหมายเลขสมัครเบอร์ 2 ใน 38 เขต 15 จังหวัด ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ตามมาตรา 74 จำเลยทั้งสามให้จัดเลือกตั้งใหม่ซึ่งหมายถึงการลงคะแนนใหม่ โดย กกต. ไมมีอำนาจรับผู้สมัครลงรับเลือกตั้งใหม่ จึงขัดต่อมาตรา 7/2 ที่ให้จำเลยทั้งสามมีอำนาจเพียงย่น ขยายเวลาเลือกตั้ง และงดเว้นกระทำการในการเลือกตั้ง ซึ่งคำเบิกความของจำเลยทั้งสามเจือสมกับพยานโจทก์ โดยได้ความจากคำเบิกความของนายปริญญา นาคฉัตรีย์ กกต. จำเลย ยอมรับว่า หมายเลขนั้นมีความสำคัญ ซึ่งใน 38 เขตที่เลือกตั้งใหม่ ได้ตรวจดูแล้วพบว่าส่วนใหญ่มีการเสียงของพรรคไทยรักไทย ส่วนพรรคอื่นไม่มี ขณะที่นายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. จำเลย ยอมรับว่าก่อนประกาศเลือกตั้งใหม่ มีการประชุมหลายครั้งตั้งแต่พบว่ามีผู้สมัครเขตเดียวคนเดียวจำนวนกว่า 200 เขต ซึ่ง กกต.พอจะมองออกว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน คงไม่มีปัญหา สำหรับภาคใต้น่าจะมีปัญหาที่ไม่ได้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 20 แน่นอน


 


4.ประเด็นโทรสาร (แฟกซ์) ส่งจดหมายเวียนเปิดให้รับผู้สมัครรายเดิมเปลี่ยนเขตลงสมัครได้ การตอบคำถามค้านทนายความโจทก์ จำเลยทั้งสามเบิกความยอมรับว่า กกต.จังหวัดที่ไม่ยึดถือตามโทรสาร มีจ.ชุมพร และสงขลา แสดงให้เห็นว่าที่เหลืออีก 13 จังหวัดประมาณ 30 กว่าเขตยึดถือการับสมัครรายเดิมเปลี่ยนเขต ตามโทรสาร กกต. พร้อมทั้งยอมรับว่าเหตุที่ กกต.สุราษฎร์ธานี และ ผอ.เขตเลือกตั้งอื่นรับผู้สมัครเพราะเป็นดุลพินิจประกอบกับมีโทรสารจาก กกต. ดังกล่าว โดยแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามออกโทรสารเพื่อออกหนังสือแนะนำสั่งการให้ ผอ.เขตเลือกตั้งแต่ละเขตถือปฏิบัติยอมให้ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งอื่นที่ยังไม่ประกาศผลเลือกตั้ง มาสมัครในเขตอื่นได้อีก ทั้งที่ผิดกฎมาย และขัดต่อประกาศ กกต. อย่างชัดแจ้ง


 


5.ประเด็นการกระทำของจำเลยที่เป็นคุณกับพรรคไทยรักไทย นายวีระชัย จำเลย ยอมรับว่าไม่มีทางที่พรรคไทยรักไทยจะได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 20 และนายปริญญา จำเลย ยอมรับเช่นกันว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.49 พรรคไทยรักไทยได้คะแนน 38 เขตร้อยละ 10 ดังนั้นจึงมีขบวนการต่างๆ เช่น ผู้บริหารระดับสูงพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็ก เช่นพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคแผ่นดินไทย ให้ส่งผู้สมัครลงประกบผู้สมัครพรรคไทยรักไทย นอกจากนั้นจำเลยทั้งสาม ในฐานะ กกต.ซึ่งความจริงต้องดำเนินการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม กับต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่จำเลยทั้งสามกลับพยายามทำทุกวิถีทางที่จะช่วยพรรคไทยรักไทยเพื่อเลี่ยงเกณฑ์ร้อยละ 20 ตั้งแต่การประชุมออกมติ ประกาศต่างๆ ในการเปิดให้รับผู้สมัครใหม่ทั้งที่เปิดรับสมัครใหม่ไม่ได้ การอนุญาตให้พรรคไทยรักไทยใช้เบอร์เดิมซึ่งพรรคไทยรักไทยได้หาเสียงมาล่วงหน้านับเดือนเศษแล้ว การอนุญาตให้ผู้สมัครเขตอื่นย้ายเขตมาสมัครเขตใหม่ได้ การยอมให้พรรคไทยรักไทยเปลี่ยนตัวผู้สมัครโดยที่ผู้สมัครทุกคนยังได้ใช้หมายเลขเดิม เบอร์ 2 การสั่งให้เปิดรับสมัครใหม่ที่ จ.สงขลาในวันที่ 19-20 เม.ย.49 เพื่อจะเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เม.ย.49 โดยทั้งหมดจำเลยทั้งสามกระทำไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ระเบียบและประกาศของ กกต. และจำเลยมีเหตุจูงใจเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ซึ่งการกระทำนั้นย่อมเป็นคุณแก่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย และเป็นโทษแก่ผู้สมัครพรรคอื่น


 


6.ประเด็นการผิดกฎหมายชัดเจน ตามรัฐธรรมนูญ 108 กฎหมายการเลือกตั้ง ประกาศและระเบียบ กกต. บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้สมัครในนามพรรคหนึ่งพรรคใดเพียงพรรคเดียว จะสมัครแบบแบ่งเขต หรือบัญชีรายชื่อได้เพียงอย่างเดียว หากลงสมัครแบบแบ่งเขตก็ลงได้เพียงเขตเดียว แต่จำเลยทั้งสามกลับอนุญาตให้สมัครแบบเวียนเทียนได้ และกรณีที่อนุญาตให้พรรคไทยรักไทยเปลี่ยนตัวผู้สมัครนั้น ตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ฯ บัญญัติเรื่องการถอนตัวผู้สมัครว่าสมัครแล้วห้ามถอน ซึ่งตรงกับระเบียบว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2543 ข้อ 6 แต่จำเลยทั้งสามกลับอนุญาตให้พรรคไทยรักไทยถอนตัวผู้สมัครโดยไม่แยแสต่อบทบัญญัติกฎหมาย


 


7.ประเด็นทำเกินมติของตนเอง ตามประกาศ กกต. ที่ออกโดยมติที่ประชุมที่ 38/2549 ลงวันที่ 3 เม.ย.49 ในประกาศข้อ 5 อนุญาตให้ผู้สมัครคนเดิมใช้เบอร์เดิม แปลว่าผู้สมัครพรรคไทยรักไทยได้เบอร์ 2 แต่ที่จริงมติที่ประชุมดังกล่าว ไม่ได้พูดถึงการใช้เบอร์ใดในการสมัคร ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสาม สั่งให้ออกประกาศนั้น ย่อมเกินไปจากมติ กกต. ซึ่งมีนายวีระชัย จำเลย ยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ


 


8.ประเด็นทำเกินหน้าที่เพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย คือการตีความให้ขีดต่อกฎหมาย หรือหยิบกฎหมายมาใช้ไม่ครบ การสมคบพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ที่ จ.สงขลา


 


การตั้งอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงการขัดขวางเลือกตั้งที่ จ.สงขลา แล้วยอมให้เปิดรับสมัครเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ฟังความจาก กกต.สงขลา แต่ฟังคำชี้แจงจากนายทวีศักดิ์ ทวีรัตน์ ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย การมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย เช่น เปลี่ยนวิธีการหันคูหาใหม่ การติดรูปหมายเลขผู้สมัครในคูหา การกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เม.ย. โดยใช้เวลาเพียง 37 วัน กรณีที่ กกต. ติดต่อให้ประชาธิปไตย พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งใหม่


 


ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงขาดความเป็นกลางทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงเจตนาทุจริตอย่างชัดแจ้ง หากปล่อยให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จำเลยทั้งสามย่อมก่อปัญหาทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างสิ้นสุด โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยสถานหนัก เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ใช้อำนาจรัฐที่มีเจตนาคิดไม่ชอบ ไม่คำนึงถึงความสงบสุขในสังคม


 


 


 


 


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net