Skip to main content
sharethis

22 ก.ค.49 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานคำสัมภาษณ์ของนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค.ว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังลงสมัครรับเลือกตั้งและเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีจะทำให้เงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกในสังคมยังคงอยู่ต่อไป เพราะต้องยอมรับความจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งและการเผชิญหน้าในสังคม ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกและเป็นบาดแผลที่ต้องใช้เวลาเยียวยา


 


นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ถึงแม้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าคนเป็นผู้นำจะต้องคำนึงถึงหน้าที่มากกว่าสิทธิ โดยเฉพาะหน้าที่ในการสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ในสังคมไทย วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินมาถึงทางแพร่งทางการเมืองที่ต้องเลือกระหว่างอำนาจกับความสงบสุข หากเลือกรักษาอำนาจของตนต่อไปก็จะทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค.49 ไม่บรรลุตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะต้องการให้เกิดความสงบสุขในสังคม และไม่มีใครประกันได้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค.49 จะคลี่คลายสถานการณ์การเมืองได้ เพราะอาจเลวร้ายกว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา


 


"ที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณก็เคยประกาศเว้นวรรคทางการเมือง เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ก็ต้องรักษาสัญญาประชาคม เพราะเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนจึงไม่มีเหตุให้ต้องกลับคำพูดหรือฉีกสัตยาบันที่ประกาศไว้"นายสุริยะใส ระบุ


 


นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการสมานฉันท์นั้นจุดยืนของพันธมิตรฯยังเหมือนเดิมคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องวางมือทางการเมืองก่อน และไม่เห็นด้วยกับวิธีการสมานฉันท์ที่เดินเรื่องโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ในขณะนี้ เพราะกำลังทำให้เป็นเรื่องของคน 2 คน หรือเป็นเรื่องระหว่างพรรคการเมืองเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่าวิกฤติปัญหาในขณะนี้เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในสภาและนอกสภา ไม่ใช่ระหว่างพรรคการเมืองเท่านั้น


 


"ดังนั้น กระบวนการสมานฉันท์ต้องเริ่มต้นด้วยความโปร่งใส และสังคมมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าแอบทำหรือแอบคุยกัน สองต่อสองก็จะทำให้สังคมหวาดระแวงและไม่เชื่อถือจนอาจทำให้กระบวนการสมานฉันท์เป็นเพียงการแบ่งปันผลประโยชน์ในหมู่นักการเมืองเท่านั้น"


 


ด้านกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานคำกล่าวของนายไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ฉีกบัตรเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 2เมษายน ที่ผ่านมาว่า  สถานการณ์การเมืองก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.  ที่แตกต่างกันก็ที่ครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านลงสมัคร และศาลเข้ามามีบทบาทในการตัดสินปัญหาต่างๆ มากขึ้น แต่ที่มีปัญหาที่สุดคือ กกต.ซึ่งหมดความชอบธรรม ไม่เชื่อว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับ


 


"ไม่ว่าผลการเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค.จะออกมาเป็นอย่างไร เราจะไม่เรียกร้องอะไรอีกแล้ว คุณทักษิณ ต้องมีจิตสำนึก ต้องรู้ว่าคุณคือต้นตอของปัญหาทั้งหมด ควรจะลาออกไปตั้งแต่วันนี้ แต่ถ้ายังไม่ออกรอให้ชนะเลือกตั้งแล้วจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง จะต้องเจอกับการต่อต้านอย่างหนักหน่วง เพราะคุณไม่ได้รับการยอมรับ อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้สึกว่าผมเป็นประชาชนของนายกฯ ที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร" นายไชยยันต์ กล่าว


 


เมื่อถามว่า จะประท้วงการเลือกตั้งด้วยการฉีกบัตรหรือไม่ นายไชยยันต์ กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นในการวินิจฉัยของศาลว่าจะคลี่คลายปัญหาที่ค้างคาอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยกย้ายผู้บังคับกองพันทำให้กองทัพมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น จะส่งผลให้ศาลมีความมั่นใจในการตัดสินเพราะถือว่ามีแบ็กอัพคอยสนับสนุน


 


"ถ้าศาลเป็นที่พึ่งสามารถผ่าทางตันวิกฤตการณ์ได้ ทุกอย่างก็จะเป็นปกติ แต่ถ้าศาลไม่อาจจะทำได้ ผมก็จำเป็นต้องแสดงออกเพื่อรักษาสิทธิของผมในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือวิธีอื่นที่ต้องคิดกันต่อไป" อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว


 


............................................................................


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ และ กรุงเทพธุรกิจ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net