Skip to main content
sharethis




 


 


รายงานโดย อุบล อยู่หว้า


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก


กรกฎาคม 2006


 


 


 


……………………..



"ที่ดินแปลงนี้ถูกยึดไปอย่างผิดกฎหมาย โดยรองนายกเทศมนตรีฯ"


"คุณปิดข่าวได้ แต่คุณหยุดเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของเราไม่ได้"


…………………...


 


 


 


  


 


ในอดีตภูมิภาคลาตินอเมริกา (อเมริกาใต้) มีคำกล่าวว่า "นายทุนควบม้าไปถึงไหนแสดงว่าที่ดินเขากว้างใหญ่ไปถึงตรงนั้น...มองเห็นแต่เพียงฝุ่นลอยรับแสงอาทิตย์ไกลลิบลับสุดสายตา"


 


นับถึงวันนี้ แม้ว่าแบบแผนชีวิตผู้คนจะเปลี่ยนไป จากการใช้ม้าเปลี่ยนเป็นรถโฟร์วีลและแทรกเตอร์ แต่การบุกยึดที่ดินจากชาวบ้านและชนพื้นเมืองอย่างซึ่งหน้า รวมถึงการบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินสาธารณะของรัฐยังคงดำเนินต่อไป


 


การเข้าร่วมโปรแกรมการศึกษาดูงานระหว่างวันที่ 21-25 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสการประชุมคณะทำงานเกษตรยั่งยืนของขบวนการชาวนาสากลเวียคัมเปซินา ในหมู่บ้านชนบทของเมืองเล็กๆ คือ เมืองคิวมิลีและเมืองปินโต (Pinto) ในจังหวัดซานติเอโก (Santiago) ทางภาคเหนือของประเทศอาร์เจนตินา ห่างจากกรุงบัวโนสไอเรสต์ราว 1,000 กิโลเมตร นั้น ทำให้พวกเราทั้งหลายได้สัมผัสอย่างลึกซึ้งชนิดได้กลิ่นของพัฒนาการและความเหี้ยมโหดของทุนนิยมในลาตินอเมริกา


 


0 0 0


 


พื้นที่เมืองคิวมิลีและเมืองปินโตนับเป็นหนึ่งในเขตปฏิบัติงานของขบวนการชาวนาจังหวัดซานติเอโก (Movimento Campesino De Santiago Del Estero / MOCASE) ในวันแรกหลังจากพวกเราทานอาหารมื้อเย็นของโรงแรมจิ้งหรีดในเมืองปินโต เพื่อนร่วมคณะศึกษาดูงานชาวอินเดียได้ถามผู้ประสานงานของโมคาเซว่า "ออกไปเดินเล่นชมเมืองจะได้ไหม?" คำตอบที่ได้คือ "ไม่น่าจะดี" เพราะมีปัญหาความไม่ปลอดภัย หากต้องการจะไปเดินชมเมืองเขาอาสาจะพาไปเป็นหมู่คณะ พวกเราจึงได้ออกเดินท่องเมืองกันทั้งกลุ่มร่วม 10 คน คำว่า "ปินโต (Pinto)" เป็นมรดกจากเจ้าอาณานิคมสเปนที่ได้ตั้งชื่อเมืองให้เหมือนกับชื่อเมืองปินโตในสเปน ซึ่งเมืองปินโตแม่ในสเปนได้ให้ความช่วยเหลือเมืองปินโตลูกในอาร์เจนตินาจำนวนมากรวมทั้งโครงการบ้านเอื้ออาทร แต่เพราะการคอร์รับชั่นทำให้ต้องขายบ้านในราคาแพง จนเป็นขี้ปากของชาวบ้านไปทั้งเมือง


 


การเข้าหมู่บ้านในเช้าวันถัดมาทำให้พวกเราเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น เส้นทางร่วม 20 กิโลเมตรมีสภาพเป็นทางเกวียนและทางรถม้าที่เลาะไปตามขอบรั้วของที่ดินนายทุน ซึ่งเป็นทุ่งถั่วเหลือง ทุ่งข้าวฟ่างและทุ่งวัวเนื้อจนสุดสายตา สำหรับอาร์เจนตินาแล้วแม้ว่าในเมืองใหญ่จะมีความก้าวหน้าทางวัตถุจนใกล้เคียงกับยุโรป และถนนสายหลักระหว่างเมืองจะมีสภาพค่อนข้างดี แต่เส้นทางเข้าหมู่บ้านชนบทกลับไม่ได้รับการพัฒนา หากฝนตกก็จะไม่สามารถเข้าหมู่บ้านได้เลย


 


ชาวบ้านในชนบทมักตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน บ้านสร้างด้วยอิฐหรือดินก่อเป็นผนังที่หนามาก โครงหลังคาทำจากไม้ทั้งท่อน ปูด้วยหญ้าแล้วเอาดินทับหนาๆ เป็นบ้านที่ดูไม่มีศิลปะ แต่ช่วยให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว อีกทั้งในหน้าร้อนที่อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 40-45 องศาเซลเซียส บ้านดินก็จะช่วยไม่ให้ร้อนจนเกินไป


 


 


 


0 0 0


 



 


 


เมื่อเดินทางถึงหมู่บ้าน LOTE 5 การพบปะพูดคุยกับแกนนำองค์กรชาวนาโมคาเซประจำเมืองปินโตจึงได้เริ่มขึ้น ที่นี่เป็นพื้นที่แห้งแล้งของจังหวัดซานติเอโก ซึ่งคอมมิวนิสต์เคยเข้ามาเคลื่อนไหว และชาวบ้านก็คงความศรัทธาใน "เชกูวารา" จังหวัดซานติเอโกนับเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกลศูนย์อำนาจรัฐ ประชากรที่นี่ร้อยละ 50 อยู่ในชนบท ชาวบ้านมีรายได้จากการขายวัว ขายแพะ รับจ้างทั่วไป และปลูกกะหล่ำปลีหรือแตงโมตามฤดูกาล ซึ่งสภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 4 ฤดู คือ


 


ฤดูร้อน    เดือน ธันวาคม - มีนาคม


            ฤดูใบไม้ร่วง เดือน มีนาคม - มิถุนายน


            ฤดูหนาว เดือน มิถุนายน - กันยายน


            ฤดูใบไม้ผลิ เดือน กันยายน - ธันวาคม


 


ทั้งนี้ จะมีฝนตกบ้างเล็กน้อยในฤดูร้อนกับฤดูใบไม้ผลิ ทำให้ซานติเอโกเป็นรัฐที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ระดับน้ำใต้ดินลึกมากนำมาใช้ประโยชน์ได้ยาก บางจุดก็ปนเปื้อนไปด้วยสารก่อมะเร็งไม่สามารถใช้บริโภคได้


 


0 0 0


 


ประเทศอาร์เจนตินามีพื้นที่ขนาดใหญ่โตคิดเป็นประมาณ 10 เท่าของพื้นที่ประเทศไทย ในขณะที่มีประชากรเพียงประมาณ 40 ล้านคน ผืนแผ่นดินจึงน่าจะเพียงพอสำหรับการทำมาหากินของพลเมืองทุกคน แต่ความโลภไม่เคยปราณีใคร ทุนนิยมในอาร์เจนตินาพัฒนาไปถึงขั้นใช้กองกำลังติดอาวุธตำรวจและทหารเป็นเครื่องมือ ปัญหาที่ชาวบ้านและชนพื้นเมืองเผชิญอยู่คือ การแย่งชิงที่ดินโดยนายทุน คนพวกนี้จะบุกมาอย่างซึ่งหน้าพร้อมด้วยตำรวจอาวุธครบมือ แล้วก็ขับไล่ให้ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ของตัวเอง บางกรณีโหดเหี้ยมขนาดใช้แทรกเตอร์ไถบ้านของชาวบ้านทิ้ง


 


คณะศึกษาดูงานมีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวของสมาชิกขบวนการชาวนาโมคาเซครอบครัวหนึ่งในเมืองปินโต เธอใช้ชีวิตอยู่กับพ่อและลุงที่อยู่ในวัยชรา ครอบครัวนี้ถูกนายทุนบุกยึดที่ดินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนายทุนก็คือ รองนายกเทศมนตรีของเมืองนั่นเอง! เขายกกำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่ดินเข้ายึดที่ทำกินของเธอโดยการตัดรั้วบุกเข้ามา จนถึงวันที่พวกเราได้พูดคุยกับเธอ เธอก็ยังไม่รู้ชะตากรรมของม้าและวัวจำนวน 100 กว่าของเธอ เพราะเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้เนื่องจากไม่ปลอดภัย เธอเล่าว่าที่ดินของเธอมีเนื้อที่ประมาณ 85 เฮกตาร์ อยู่ห่างจากเมืองเพียง 2 กิโลเมตร ด้านหน้าติดถนนใหญ่ ด้านหลังติดคลอง นายทุนต้องการยึดไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานแป้งสาลี โดยนายทุนได้ใช้สถานีวิทยุของรัฐในเมืองออกข่าวเพียงข้างเดียวว่าจะสร้างงานให้คนเมืองปินโต เธอพยายามต่อสู้ด้วยการเขียนข้อความประท้วงที่ข้างถนนและกำแพงบ้านว่า


 


"ที่ดินแปลงนี้ถูกยึดไปอย่างผิดกฎหมาย โดยรองนายกเทศมนตรีฯ"


"คุณปิดข่าวได้ แต่คุณหยุดเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของเราไม่ได้"


 


ซึ่งขบวนการชาวนาโมคาเซกำลังเตรียมการเพื่อยึดพื้นที่ดังกล่าวคืนสู่อ้อมอกของเจ้าของเดิม พวกเราได้แต่ภาวนาให้พวกเขาทำได้สำเร็จโดยไม่เสียเลือดเนื้อ...


 


0 0 0


 


แม้ว่ารัฐธรรมนูญของอาร์เจนตินาจะให้การคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมืองว่า หากครอบครองทำกินในพื้นที่ใดมานานกว่า 20 ปีให้ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้น แต่ไม่มีนายทุนคนใดสนใจจะทำตามกฎหมาย ชาวบ้านซึ่งอยู่อาศัยทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษร่วม 100 ปี ก่อนการต่อตั้งจังหวัดซาติเอโกแต่กลับไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ สถานะทางกฎหมายของที่ดินเหล่านี้จึงเป็นที่สาธารณของรัฐ บรรดานายทุนได้ใช้ช่องว่างตรงนี้อาศัยอำนาจรัฐที่ฉ้อฉลออกเอกสารสิทธิยึดเอาที่ดินชาวบ้านโดยใช้กองกำลังติดอาวุธ เช่น ตำรวจ ทหาร เป็นเครื่องมือบุกยึดที่ดินของชาวบ้านอย่างซึ่งหน้า ในทศวรรษ 1990 การแย่งยึดที่ดินจากมือชาวบ้านมีอย่างดาษดื่น จนชาวบ้านพูดกันติดปากว่า "โรคไข้ถั่วเหลือง" เพราะหลังจากยึดที่ดินได้นายทุนจะเปิดป่าบุกเบิกทำไร่ถั่วเหลืองโดยไม่สนใจแม้แต่แหล่งต้นน้ำลำธาร ทุ่งถั่วเหลืองของนายทุนกว้างใหญ่สุดสายตา ปลูกถั่วเหลืองซ้ำซากจนดินเสื่อมและยังใช้เครื่องบินพ่นสารเคมี ชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นก็พยายามปกป้องตนเองจากสารพิษ ซึ่งก็ทำได้เพียงการเข้าไปหลบอยู่ในบ้านขณะที่เครื่องบินพ่นสารเคมีเท่านั้น แหล่งน้ำตลอดจนผลผลิตของชาวบ้านก็ได้รับสารเคมีด้วย เด็กๆ ที่วิ่งไปดูเครื่องบินพ่นสารเคมีต่างเจ็บป่วยเรื้อรังรักษาไม่หาย


 


การผนึกกำลังของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ เกิดขึ้นในขอบเขตทั้งประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดซาติเอโก เป็นการก่อรูปองค์กรชาวบ้านเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาการถูกนายทุนยึดที่ดิน จนกระทั่งในปี 1999 เครือข่ายองค์กรชาวบ้านในจังหวัดซาติเอโก ได้รวมตัวกันประกาศจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการเรียกตนเองว่า "ขบวนการชาวนาซาติเอโก มีชื่อย่อว่า MOCASE"


 


โมคาเซ (MOCASE) เป็นการรวมตัวกันอย่างมีพลังจนสามารถปกป้องตนเองจากปัญหาถูกยึดที่ดินได้ บางแปลงถูกยึดไปก็รวมตัวกันไปยึดกลับมา นอกจากนี้ยังทำงานเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนในหลายประเด็น เช่น ด้านการผลิตการตลาด (จัดตั้งสหกรณ์) ด้านเยาวชนและการสร้างงาน ด้านสุขภาพ การศึกษา และสื่อสารมวลชน รวมถึงการแสวงหาพันธมิตร เช่น ทนายความ นักวิชาการ สื่อมวลชน และองค์กรคนจนด้วยกันทั้งเมืองและชนบท เคลื่อนไหวรณรงค์ผลักดันนโยบายสาธารณะ รวมทั้งมีการเสนอ "ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน" ในการครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกันของคนในชุมชนเช่นเดียวกับในประเทศไทย แต่สิ่งเหล่านนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐเช่นเดียวกัน ปัจจุบันโมคาเซมีสมาชิกกว่า 8,000 คน มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานขึ้น 11 จุดทั่วจังหวัด ใช้ทั้งวิทยุสื่อสารและวิทยุกระจายเสียงเป็นเครื่องมือในการทำงาน


 


0 0 0


 


ชีวิตที่ยากเข็ญและถูกกระทำของเกษตรกรและชนพื้นเมืองในอาร์เจนตินาเป็นผลอันเนื่องมาจากความโหดร้ายในประวัติศาสตร์ของอาร์เจนตินานั่นเอง นับแต่การค้นพบแผ่นดินอเมริกาทวีปที่ 4 ของโลกโดย "คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส" นักเดินเรือชาวอิตาเลียนในศตวรรษที่ 15 โดยการสนับสนุนของราชินีอิซาเบลลาแห่งราชสำนักสเปน ซึ่งการค้นพบโลกใหม่เป็นการหยั่งรากของจักรวรรดินิยมสเปนในแผ่นดินลาตินอเมริกา พร้อมกันนี้ยังเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินของอินเดียนแดง ผู้อยู่อาศัยบนแผ่นดินนี้มานานกว่า 20,000 ปี ตั้งแต่เทือกเขาแอดีสในเปรู โบลิเวีย จนกระทั่งถึงพื้นราบในอาร์เจนตินา คือ อาณาจักรอินคา เมื่อจักรวรรดินิยมสเปนเข้ายึดครองพื้นที่ ชนพื้นเมืองต้องหลบหนีเข้าป่าหรือไม่ก็อพยพย้ายถิ่นหนีการเข่นฆ่าของสเปน ซาติเอโกเป็นด่านแรกที่สเปนบุกและถูกเข่นฆ่ามากที่สุด ปัจจุบันซาติเอโกมีพลเมือง 800,000 คน ขณะที่ชนพื้นเมืองที่ย้ายถิ่นมีประมาณ 1,000,000 คน หากชนพื้นเมืองเหล่านี้หวนกลับคืนบ้านเก่า การรวมตัวกันเพื่อยึดที่ดินคืนจากนายทุนเช่นที่เกิดขึ้นในบราซิลอาจจะเป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็น


 


อาร์เจนตินาประกาศอิสรภาพจากการปกครองของสเปนในปี 1816 เมื่อจักรวรรดินิยมสเปนเสื่อมอำนาจลง จักรวรรดินิยมอังกฤษก็เข้ามาแทนที่ในปี 1920-1950 บริษัททำไม้ของอังกฤษและเบลเยี่ยมเข้ามาตัดเอาไม้ "คลาโช" ซึ่งมีอยู่มากในซานติเอโกไปสร้างทางรถไฟในยุโรปและในลาตินอเมริกา รวมทั้งผลิตแทนนินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ชนพื้นเมืองยังคงถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสโดยไม่มีการจ่ายค่าแรง จนกระทั่งไม้คลาโชหมด อังกฤษก็ไปรุกรานเอาทรัพยากรจากแอฟริกาใต้


 


ภายหลังจากอังกฤษออกไปในปี 1950 อาร์เจนตินาก็ได้รัฐบาลเผด็จการทหาร มีการเข่นฆ่าประชาชนที่ลุกขึ้นยืนต่อต้านไปกว่า 30,000 คน ต่อมาในปี 1930 นายพลเปรอน เจ้าตำหรับนโยบายประชานิยมก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาดำเนินนโยบายปฏิรูปแรงงานให้ผลประโยชน์ระยะสั้น จนถึงวันนี้สหภาพแรงงานล่มสลายหมด ไม่มีกฎหมายค่าแรงงานขั้นต่ำ หนี้สินของชาติพอกพูนขึ้นอุตสาหกรรมภายในล่มสลาย จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้องเข้าแผนกอบกู้เศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟ คือ ขายสมบัติของชาติทุกอย่างให้บริษัทต่างประเทศ นับตั้งแต่ น้ำ ไฟฟ้า สถานีโทรทัศน์ รถไฟ ถนน รวมทั้งสายการบิน


 


0 0 0


 


ผลสืบเนื่องจากความโหดร้ายในประวัติศาสตร์ทำให้คนอาร์เจนตินาพื้นถิ่นแทบไม่เหลืออะไรใน


อารยธรรมของตนเอง จากเหยื่อจักรวรรดินิยมสู่การล่มสลายโดยทุนนิยมเสรี


 


คำถามก็คือ...มีเรื่องเลวร้ายเช่นที่กล่าวมาในสังคมไทยหรือไม่ ?!?


 


·         มีข่าวว่านายทุนใช้เอกสาร สค.1 ของคนตายสวมทับที่สาธารณะออกโฉนดให้ตัวเองที่ภาคเหนือ


·         ลูกน้องนายทุนนักการเมืองในสภาใช้แทรกเตอร์ฝังกลบบ้านของชาวประมงพื้นบ้านเพื่อยึดที่ดินที่พังงา


·         การประกาศขายที่ดินขนาด 451 ไร่เศษ แปลงมหึมาใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาบนเกาะสมุย จนเป็นข่าวอันครึกโครมเมื่อเร็วๆ นี้


ฯลฯ


 


บางที...คำตอบอาจไม่สำคัญมากไปกว่าการได้หันมาคิดถึงสภาพที่เป็นอยู่ในสังคมไทย ถ้าหากวันหนึ่งชีวิตเราจะต้องเป็นเฉกเช่นเดียวกัน หากว่าวันนั้นสิทธิและศักดิ์ศรีของคนไทยได้ถูกทำลายลง ในวันนั้น...ใครหลายคนคงหลุดรำพันคำพูดที่ว่า "ถ้าย้อนเวลาได้...


ก็คงดี"


 


อย่าให้ความเลวร้ายจากระบอบทุนนิยมครอบงำสังคมของคุณ ก่อนที่จะถูกต้อนเข้าสู่สภาพที่ตีบตันจนกระทั่ง...ไร้ทางออก!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net