Skip to main content
sharethis

24 ส.ค. 2549 - ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เพื่อยกฟ้องคดีที่นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ผู้จัดการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย ในความผิดกรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ


 


นายเริงชัยฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสาม ร่วมกันวินิจฉัยและมีมติเรื่องที่นายเริงชัยกระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่นำเงินทุนสำรองไปปกป้องค่าเงินบาท (สวอป) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 - 30 มิถุนายน 2540 คิดเป็นค่าเสียหายมูลค่า 185,953.74 ล้านบาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติและคำสั่ง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ให้ ธปท.คำนวณมูลค่าความเสียหาย เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และให้อัยการยื่นฟ้องนายเริงชัยต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการทำสวอป จำนวน 186,015,830,720 บาท


 


นายเริงชัย ระบุว่า การดำเนินการต่าง ๆ ของผู้ถูกฟ้อง ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และวิธีอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 18 กับ 20 เนื่องจากการสั่งการดังกล่าวไม่ได้มีนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการ ธปท.ในฐานะผู้บังคับบัญชา หรือควบคุม ธปท. ร่วมวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการทุนรักษาระดับฯ มีเพียงผู้ถูกฟ้องที่ 1 เท่านั้นที่วินิจฉัยสั่งการเรื่องผู้ต้องรับผิด ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง



คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 โดยพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 เห็นว่าเมื่อกระทรวงการคลังมีหนังสือลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 แจ้งความเห็นเรื่องผู้ต้องรับผิดให้กับนายกรัฐมนตรีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-3 แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ร่วมวินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ และคณะกรรมการ ธปท.ในฐานะผู้บังคับบัญชาหรือควบคุม ธปท. ก็ยังไม่ได้ร่วมพิจารณาวินิจฉัยสั่งการกรณีดังกล่าวเพื่อให้ ธปท. ดำเนินการตามที่ถูกต้องข้อเท็จจริงมีเพียงผู้ถูกฟ้องที่ 1 เท่านั้น ที่วินิจฉัยสั่งการเรื่องผู้ต้องรับผิด ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง


 


นอกจากนี้ การคำนวณค่าเสียหายยังกำหนดขึ้นมาใหม่โดย ธปท. ซึ่งมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้แสดงเหตุผลว่าจำนวนค่าทดแทนตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ฯ เสนอมาแล้ว ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ดังนั้น มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539


 


อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามูลเหตุแห่งข้อพิพาท เกิดจากมติผู้ถูกฟ้องที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 5/2544 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ที่มีมติเห็นชอบกับผลการพิจารณา ตามความเห็นของกระทรวงการคลังที่ว่า การกระทำของนายอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น และนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้จัดการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น เพียงพอแก่วิสัยแล้ว โดยไม่มีพฤติการณ์จงใจหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ส่วนที่ผู้ฟ้องเห็นว่าตัวเองได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ต้องเสียชื่อเสียงจากกรณีการออกมติของผู้ถูกฟ้องที่ 1 และการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่ให้อัยการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ฟ้องต่อศาลแพ่งกรณีการทำสวอป เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 186,015,830,720 บาท


 


ศาลเห็นว่าคดีนี้มีมูลเหตุจากการนำเงินทุนสำรองทางการ มาใช้ในการธุรกรรมสวอป จนทำให้เงินทุนสำรองทางการลดต่ำลงมาก จึงเกิดความเสียหายจนเป็นเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของนายอำนวย นายชัยวัฒน์ และผู้ฟ้อง ซึ่งเป็นผู้ว่าการ ธปท.ในขณะนั้น ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิดไว้ในข้อ 10 และ 11 ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2-3 ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานรัฐ ที่นายชัยวัฒน์และผู้ฟ้องสังกัดอยู่ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อพิจารณาค่าเสียหาย แล้วให้เสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องที่ 2-3 ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ไม่ผูกมัดกับรัฐ หรือผู้ถูกฟ้องที่ 2-3 ที่จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น


 


โดยในข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กำหนดให้ผู้ถูกฟ้อง 2-3 ในฐานะผู้แต่งตั้งคณะกรรมการข้อเท็จจริงฯ มีคำสั่งตามกระทรวงการคลัง คือ หากกระทรวงการคลังเห็นว่าเจ้าหน้าที่กระทำการจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ผู้ถูกฟ้องสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ 1.) เรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นมาชำระเงินค่าเสียหายภายในเวลาที่กำหนด และ 2.) ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งคดีนี้ ธปท. และคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน เป็นหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ออกคำสั่งเรียกผู้ฟ้องให้ชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด แต่เลือกใช้ช่องทางการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง


 


ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องนำมาคดีมายื่นต่อศาลปกครอง อ้างว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ศาลเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ยังไม่กระทบสิทธิของผู้ฟ้อง หรือเป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เพราะกระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นเพียงขั้นตอนภายในของฝ่ายปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้


 


ดังนั้น ที่ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาแล้ว ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ส่วนการต่อสู้คดีแพ่งในศาลยุติธรรมของผู้ฟ้อง ถือว่าผู้ฟ้องยังมีสิทธิที่จะยกโต้แย้งเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ขึ้นกล่าวอ้างในศาลยุติธรรมได้


 


ด้าน นายนพดล ลาวทอง ทนายความรับมอบอำนาจจากนายเริงชัย ซึ่งมาฟังคำพิพากษาเพียงลำพัง กล่าวภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษา ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ ชัดเจนว่าศาลพิจารณาเฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องคดีปกครองเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาถึงเนื้อหาและข้อพิพาทแห่งคดี ที่นายเริงชัยอ้างถึงการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 จึงเป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต้องถูกระงับผลไป โดยประเด็นโต้แย้งเรื่องกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง ก่อนการฟ้องคดีดังกล่าว นายเริงชัยได้หยิบยกต่อสู้คดีแพ่งในชั้นศาลอุทธรณ์อยู่แล้ว ซึ่งแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาก็ไม่เป็นผลร้ายต่อคดีแพ่งแน่นอน เพราะการอุทธรณ์คดีแพ่ง ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรอบด้าน ไม่ได้มองเฉพาะกฎหมายปกครองเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่


 


นายนพดล กล่าวว่า ในชั้นอุทธรณ์ นายเริงชัยยื่นข้ออุทธรณ์ 4 ประการ คือ 1. การให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิด หน่วยงานรัฐต้นสังกัดต้องออกเป็นคำสั่งทางปกครอง เรียกให้เจ้าหน้าที่นั้นชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด ก่อนที่จะนำคดีไปยื่นฟ้องเพื่อบังคับคดีให้ชำระเงินค่าเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดเคยมีแนวคำพิพากษาไว้ในคดีขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 2. การดำเนินตามกระบวนการต่างๆ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อความรับผิดทางละเมิดในคดีนี้เกิดความบกพร่อง 3. การกระทำของนายเริงชัยต่อการออกคำสั่งธุรกรรมสวอป เพียงพอในวิสัยที่กระทำได้และด้วยความรอบคอบแล้ว ไม่ใช่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และ4. การคิดคำนวณค่าเสียหายไม่ถูกต้องตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนดไว้โดยถูกต้อง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net