Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 


โดย...บรรณารักษ์ปลายแถว


 


บทพิสูจน์ทฤษฎี ว่าด้วย "ของถูกและดี" (ที่ใครหลายคนไม่เคยเจอในชีวิตจริง) ได้เกิดขึ้นแล้วในโลกไซเบอร์...


 


เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ข่าวกรอบเล็กในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ได้พูดถึงทางเลือกใหม่ที่เสิร์ชเอ็นจิน (ชื่อดัง) อย่าง Google เอามาเสนอให้ผู้คนในโลกไซเบอร์ได้ใช้บริการ นั่นคือการเปิดให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกค้นหาหนังสือที่ตัวเองสนใจ และดาวน์โหลดไฟล์ pdf มาอ่านได้ทั้งเล่ม-ฟรี!


 


แม้จะเป็นเพียงข่าวเล็กๆ ที่ซุกอยู่ในซอกหลืบที่ถูกลืมของหนังสือพิมพ์ แต่ข่าวนี้ก็น่าจะทำให้นักท่องเว็บได้ยินดีกระดี๊กระด๊าขึ้นมาได้บ้าง เพราะหลังจากที่สำนักพิมพ์บางแห่งทำใจป้ำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตดาวน์โหลดหนังสือเก่าไปอ่านได้ฟรีๆ ระยะหนึ่งก็ปิดให้บริการในส่วนนี้ไป เพราะเป้าหมายของสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นแค่การคืนกำไรให้ลูกค้าเท่านั้น เมื่อหมดช่วงโปรโมชั่นที่ตั้งเอาไว้ นักอ่านทั้งหลายก็อดเข้าถึงหนังสือหรือข้อมูลตามเดิม (เว้นแต่จะมีบัตรเครดิตไว้รูดแทนบัตรผ่านในโลกไซเบอร์...ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะมีเครดิตไว้จับจ่ายใช้สอย)


 


หลังจากที่ผู้คนในยุคดิจิตอลแทบจะมีกูเกิลเป็นศาสดาที่ให้คำตอบกับทุกเรื่อง การเปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดหนังสือฟรีในครั้งนี้ก็สามารถเรียกคะแนนนิยมในตัวกูเกิลให้พุ่งปรี๊ดขึ้นไปยิ่งกว่าเดิมเสียอีก


 


การที่จะทำให้คนจากทุกสารทิศสามารถสืบค้นข้อมูลที่ต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน หรือไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอันมีค่าไปกับการเดินทางไปยังห้องสมุดที่ (อาจจะ) อยู่ไกลจากเส้นทางที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน คือเป้าหมายสูงสุดของการเป็น "ห้องสมุดไร้กำแพง" หรือ Library without Wall ซึ่งพูดถึงกันมาสักชาติหนึ่งแล้ว นับตั้งแต่นักคิดนักเขียนไอเดียบรรเจิดอย่างอัลวิน ทอฟเลอร์ เขียนหนังสือชื่อว่า "คลื่นลูกที่สาม" ออกมาให้อัศวินอุปโลกน์ในบางประเทศได้วิ่งไล่ตามอย่างขมีขมัน


 


หากในความเป็นจริง...


 


พัฒนาการของ "ห้องสมุดไร้กำแพง" ที่อยากจะทลายสิ่งกีดขวางระหว่างผู้ใช้บริการกับหนังสือที่เป็นตัวเล่มจริงๆ บนชั้นวาง กลับเติบโตไปได้ช้ามาก


 


การใช้อินเตอร์เน็ตถูกนำมาตอบโจทย์ในการบริหารงานห้องสมุดยุคใหม่ ห้องสมุดในประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมีบริการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตอย่างจุใจไว้คอยให้บริการผู้ใช้


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพัฒนาการของระบบสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตก้าวกระโดดล้ำหน้าแวดวงบรรณารักษ์และห้องสมุดไปหลายขุม ความจำเป็นที่จะผลักดันให้เกิดห้องสมุดไร้กำแพงก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นโดยอาศัยระบบสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ


 


แต่เมื่อทลายกำแพงที่เป็นสิ่งก่อสร้างไปได้ชั้นหนึ่ง (ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง) ผู้ใช้ยังต้องเจอกับกำแพงอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเราเรียกกันว่ากำแพง "ลิขสิทธิ์"


 


มีหนังสือและข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่เรารู้ว่าแหล่งที่จะไปหานั้นอยู่ที่ไหน แต่ก็จนใจที่จะเข้าถึง เพราะมักจะต้องมี "ราคาที่ต้องจ่าย" ตามมาด้วยเสมอ


 


ในขณะที่หนังสือที่กูเกิลเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีมีหลายประเภทด้วยกัน มีทั้งหนังสือเก่าที่หมดลิขสิทธิ์แล้ว (ส่วนใหญ่ขึ้นชั้นเป็นวรรณกรรมคลาสสิกเสียด้วย) รวมถึงวิทยานิพนธ์ หรือแม้แต่หนังสือที่พิมพ์ใหม่ ซึ่งมีเงื่อนไขอยู่ว่าผู้ถือลิขสิทธิ์อนุญาตให้เอามาเผยแพร่ได้เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนรวม


 


ที่สำคัญคือการดาวน์โหลดไฟล์หนังสือทั้งเล่มของกูเกิลนี้ไม่มีการจำกัดระยะเวลาเสียด้วย...


 


ไม่ว่าจะมองว่านี่คือกลวิธีในเชิงธุรกิจเพื่อการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์หรืออะไรก็ตามของกูเกิล แต่ก็น่าจะถือว่างานนี้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีแต่ได้กับได้ เพราะการเข้าถึงหนังสือทั้งเล่มได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นเรื่องที่คนในแวดวงบรรณารักษ์พยายามผลักดันกันมาเนิ่นนาน แต่ก็มักจะเจอกับทางตันของกำแพงลิขสิทธิ์ทุกทีไป


 


แต่นอกจากเหนือนี้ สิ่งทีดูเหมือนจะดีพร้อมไปหมดอย่างอินเตอร์เน็ตก็ยังมีช่องโหว่จนได้ เหมือนๆ กับที่สัจธรรมข้อหนึ่งบอกไว้ว่า "ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในโลกใบนี้"


 


อินเตอร์เน็ตอาจเป็นหนทางแก้ปัญหาให้กับหลายๆ เรื่อง แต่ถ้ามองในทางตรงข้าม อินเตอร์เน็ตก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่กีดกันไม่ให้คนอีกบางส่วนเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้เช่นกัน


 


เพราะการจะเข้าถึงข้อมูลในห้องสมุดไร้กำแพงได้นั้น ผู้ใช้ต้องมีอุปกรณ์จำเป็นอย่างยิ่งก็คือคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต


 


ในขณะที่คนอีกเป็นจำนวนมากยังไม่เคยเข้าถึงอุปกรณ์ที่เต็มไปด้วยเทคโลโลยีแบบนี้เลยสักครั้ง


 


คนไทยบางส่วนก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนจำนวนมากเหล่านั้น และต้องอดทนกันมานานกับความด้อยพัฒนาของห้องสมุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-ห้องสมุดชุมชนของไทย (ในความหมายของ "สิ่งปลูกสร้าง" ที่มีไว้เก็บรักษาหนังสือหรือข้อมูลข่าวสารไว้คอยให้บริการชุมชน) แต่กลับมีระบบการจัดการที่ล้าหลัง และไม่ค่อยมีงบประมาณตกมาถึงอย่างพอเพียง รวมทั้งขาดแคลนบุคลากรคุณภาพด้วย


 


และถ้าจะนับรวมไปถึงหอสมุดแห่งชาติที่ดูเหมือนจะกลายสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บหนังสือโบราณเข้าไปทุกทีด้วยแล้ว อนาคตอันสดใสของห้องสมุดที่เป็นของรัฐบาลก็ยิ่งจะดูไกลหูไกลตาออกไปทุกที


 


แม้จะมีห้องสมุดที่เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐเกิดขึ้น และถูกนำไปตั้งตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ ก็ดูจะเป็นการจำกัดวงผู้ใช้เกินกว่าเหตุ


 


เพราะจะมี "ชาวบ้าน" สักกี่คนมีโอกาสได้เข้ามาสูดกลิ่นอายของความทันสมัยและตื่นตาตื่นใจไปกับข้อมูลมากมายมหาศาลของศูนย์การเรียนรู้ที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่


 


หากสิ่งที่ทำให้หัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออกยิ่งกว่านั้น น่าจะเป็นความลักลั่นของโครงการรัฐ ที่ผลักดันให้มีศูนย์กลางการค้าหนังสือเป็นตึกใหญ่โตหรูหรา และกล่าวอ้างด้วยว่านี่แหละ คือหนทางไปสู่การเป็น "เมืองหลวงแห่งการอ่านหนังสือ" ที่จับต้องได้มากที่สุด


 


น่าขำ (ขื่น) ที่รัฐทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับการเป็น "ฮับ" ของการผลิตและซื้อขายหนังสือ แต่แหล่งที่จะเป็นตัวเก็บรักษาและกระจายคุณประโยชน์ของหนังสือกลับถูกปล่อยปละละเลยอย่างไม่น่าให้อภัย


 


ถึงตอนนี้กูเกิลจะเปิดให้คนทั่วโลกได้เข้าถึงห้องสมุดไร้กำแพงไปแล้ว แต่แวดวงห้องสมุดในบ้านเรายังต้องเจอกับกำแพงที่มองไม่เห็นอยู่ดี และไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่เราถึงจะทลายกำแพงนั้นได้...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net