Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท - 12 ก.ย. 49    ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวยอง : รากเหง้า ความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลง" ขึ้น โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จ.ลำพูน เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานชาวยองในลำพูน ณ ห้องประชุมอาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จ.ลำพูน การสัมมนาในวันที่ 11 กันยายน มีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และปราชญ์ท้องถิ่นร่วมแสดงผลงานทางวิชาการในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับชาวยอง ซึ่ง 'ประชาไท' เห็นว่ามีความน่าสนใจ ดังนี้


 


เผยอดีตอาณาเขตทางวัฒนธรรม "ไท" เชื่อมโยงผู้คนยาวนานนับพันปี


ในช่วงการเสวนาหัวข้อ "ประวัติศาสตร์บอกเล่าชาวยอง" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัตนาภรณ์ เศรษฐกุล จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่าจากลงพื้นที่พบว่าตั้งแต่ในมณฑลกวางสีของจีน ในเขตสิบสองจุไทของเวียดนาม ลุ่มน้ำดำ ลุ่มน้ำแดง ในเขตล้านช้าง ในเขตรัฐฉานของพม่าลากไปจนถึงรัฐอัสสัมเป็นเขตของกลุ่มของคน "ไท-ไต" หรือกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทย มีภาษาพูดใกล้เคียงกัน มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน เช่น ถือผีบรรพบุรุษ มีใจบ้าน ใจเมืองเหมือนกัน ถือว่านี่เป็นอาณาเขตทางวัฒนธรรมที่ผู้คนแถบนี้มีการติดต่อเชื่อมโยงมานับพันปี


 


โดยชาวยอง หรือไทยองเป็นชื่อเรียกกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไทและมีถิ่นฐานในเมืองยอง ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเชียงตุงในประเทศพม่า โดยในภาคเหนือของไทยมีชุมชนชาวยองกระจายอยู่หลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย น่านและแพร่ซึ่งอพยพเข้ามาสมัย "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์


 


โดยชาวยองนั้น นักวิชาการจำนวนมากถือว่าเป็นแขนงหนึ่งไทลื้อ โดยคำว่า "ไท" หรือ "ไต" ในความหมายของชาวบ้านแปลว่า "คนหรือชาว" ไตบ้านหม่อนแปลว่าคนบ้านหม่อน ถ้าคนเชียงใหม่ไปเยี่ยมเยียนสิบสองปันนาจะได้รับการต้อนรับขับสู้ดีมากหากบอกว่าตนเป็น "ปี้น่องไต" มาเยี่ยม ส่วนคำว่า "ไทยอง" สำหรับชาวบ้านที่เมืองยองจะถือว่าไม่มีความหมายในทางชาติพันธุ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่หมายถึงชาวไตที่มาจากเมืองยองเท่านั้น ผศ.ดร.รัตนาภรณ์กล่าว


 


นอกจากนี้ ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ยังกล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ "ไท" ในพื้นที่ดังกล่าวมีการสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมที่สนิทสนมกัน เช่น มีประเพณีการไหว้พระธาตุเหมือนกัน ซึ่งการไหว้พระธาตุนี้ได้เป็นการเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ เข้าด้วยกัน มีการส่งพระภิกษุสงฆ์จาริกไปยังเมืองอื่นเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยก่อนกลับไปเผยแพร่ยังเมืองของตน เช่นในสมัยรัฐจารีตโบราณ เมื่อทราบว่าเชียงใหม่มีความรู้ทางพุทธศาสนามากขึ้น พระทางเชียงรุ่ง เชียงตุง เมืองลวง เมืองยองก็ลงมาศึกษาที่เชียงใหม่ เป็นต้น มีการนำนิกายป่าแดง นิกายสวนดอกจากเชียงใหม่ไปเผยแพร่ยังดินแดนดังกล่าวด้วย


 


สายสัมพันธ์พุทธศาสนาข้ามพรมแดนไทย-ไต จากยุคอนาล็อกถึงยุคดิจิตอล


ในช่วงการเสวนาหัวข้อ "เชียงรุ่งกับเมืองยอง : เรื่องของพี่-น้องสิบสองปันนากับการรื้อฟื้นและสืบสานพระพุทธศาสนาหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม" โดย อาจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว ภาควิชาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงประเด็นสายสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาต่อจาก ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ โดยกล่าวว่าในยุคสมัยใหม่ซึ่งจีนมีการปฏิวัติวัฒนธรรมสมัยเหมา เจ๋อ ตุงเรืองอำนาจ (ทศวรรษ 1960-1970) มีการห้ามไม่ให้มีการนับถือพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา (Xishuangbanna Dai Autonomous Prefecture) จากประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวไทลื้อกล่าวว่าความกดดันนี้ถึงกับทำให้สังฆราชาเมืองหมุดที่ถูกบังคับให้สึก ต้องเอามีดแทงตัวตายในคุก


 


"ต้องจินตนาการนะครับ 10 ปี ไม่มีผ้าเหลืองให้เห็น"


 


เมื่อไม่ให้มีการนับถือพุทธศาสนาจึงทำให้ชาวไทลื้อจำนวนมากจากจีนอพยพไปอยู่ที่เมืองอื่นข้ามพรมแดนที่มหาอำนาจขีดแบ่งกันมา เช่นไปเมืองสิงห์ เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงตุง และเมืองยอง ซึ่งเป็นเมืองของชาวไทในเขตพม่า และเขตลาว


 


ที่เมืองยองมีครอบครัวคนลื้อจากเชียงรุ่งในสิบสองปันนามาอยู่กว่า 3 ใน 10 เมื่อเหมา เจ๋อ ตุง ตาย และเติ้ง เสี่ยว ผิง เปลี่ยนนโยบาย คนไทลื้อจึงอพยพกลับ เมื่อกลับก็ไม่ได้กลับไปเฉยๆ แต่พาลูกหลานที่บวชเป็นพระเณรกลับไปฟื้นฟูศาสนาที่เชียงรุ่ง ในสิบสองปันนา และชาวไทลื้อ เมืองเชียงรุ่งก็ข้ามแดนไปนิมนต์พระไปเป็นเจ้าอาวาส เพราะวัดร้างไป 10 ปี


 


บางทีบางบ้านไม่สามารถไปนิมนต์พระได้ ก็ใช้วิธีให้คนแก่ในหมู่บ้านซึ่งเป็นน้อยเป็นหนาน (ฆราวาสที่เคยบวชเป็นภิกษุ เทียบกับภาษาไทยกลางคือ ทิด) บวชลูกหลานเป็นเณร


 


เผยเรื่องราวของ "พระไร้พรมแดน" จากบ้านเกิดเพื่อสืบทอดพระศาสนา


นอกจากนี้ที่เมืองเชียงรุ่งยังมีการส่งเณร 10 รูปมาเรียนพุทธศาสนาในไทย ซึ่งมีที่มาจากภิกษุรูปหนึ่งชื่อมหา (นามสมมติ) ซึ่งมีแม่เป็นคนเมืองลวง ในสิบสองปันนาหนีมาอยู่เมืองยอง ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ได้ "ข้ามแดน" เข้ามาเรียนพุทธศาสนาที่เมืองไทย ณ วัดสุวรรณวิหาร จ.ลำพูน กับ "มหาเขื่อน" เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ก่อนลาไปกลับเมืองยอง ประเทศพม่า และข้ามเข้าไปในเมืองลวง ทางใต้ของสิบสองปันนา ในพรมแดนของประเทศจีน เพื่อศึกษาภาษาจีนกลาง ก่อนเดินเข้าไปในเมืองเชียงรุ่ง พร้อมกับพระชาวลื้อรูปอื่นเพื่อเข้าไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในเชียงรุ่ง สิบสองปันนา


 


โดย "มหา" เข้าไปรับตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดป่าเจ ซึ่งเป็นที่ทำการชั่วคราวของสิบสองปันนาพุทธสมาคม อันเป็นที่มาของการส่งเณร 10 รูปมาเรียนพุทธศาสนาที่เมืองไทยตามข้อตกลงที่รัฐบาลจีน-ไทยมีต่อกัน ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ซึ่ง "มหาเขื่อน" ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส หลังจากนั้นก็มีพระเดินทางข้ามแดนทั้งที่ "เป็นทางการ" และ "อย่างไม่เป็นทางการ" แต่อย่างหลังมีจำนวนมากกว่าหลายเท่าเข้ามาเรียนพุทธศาสนาที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก


 


อ.ดร.วสันต์กล่าวว่าการเดินทางเคลื่อนที่จาริก แสวงบุญ ของพระเณรสิบสองปันนา เมืองยอง นับเป็นจารีตดั้งเดิมของพระล้านนาของพระทางเหนือ นี่เป็นหนทางหนึ่งของการเลื่อนสถานะทางสังคมของผู้คนในสังคมจารีตประเพณีที่มีมาแต่เดิมในภูมิภาคนี้ และถ้าเราเอาตำแหน่งที่ตั้งพระธาตุในตำนานพระเจ้าเลียบโลกมาต่อกันเราจะได้แผนที่ทางศาสนาที่ข้ามพรมแดนรัฐชาติ ซึ่งพรมแดนรัฐชาติเพิ่งขีดเส้นไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง อ.ดร.วสันต์กล่าวในที่สุด


 


นักวิจัย มช. เชื่อศึกษาชาวยองเพื่อข้ามพ้นเส้นพรมแดน


อาจารย์ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิทยากรร่วมการสัมมนาให้ความเห็นต่อการจัดการครั้งนี้ว่า คิดว่าเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในล้านนาและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงคงจะขยายแน่นอน เพราะที่เห็นเป็นรูปธรรมคือที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีศูนย์ชาติพันธุ์ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 2-3 ปีมานี้ นอกจากจะศึกษาชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงอย่าง ชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ชาวอาข่า ก็ยังได้ขยายมาสู่ชาติพันธุ์พื้นราบ อย่างกลุ่มคนยอง คนไทขืน คนไทใหญ่ (ไตหลวง)


 


คิดว่าตอนนี้เรายังมีเส้นพรมแดนขีดกั้นไว้อยู่ แต่วัฒนธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับเส้นแบ่งพรมแดนและคนก็ไปมาหาสู่กันข้ามวัฒนธรรม แต่ต่อมามันมีพรมแดนที่บอกว่าอันนี้เขตพม่า เขตไทย เขตลาว ทั้งที่จริงๆ แล้วก็มีคนเดินทางข้ามไป-มาระหว่างวัฒนธรรม


 


เผยศึกษาแล้วจะทำให้รู้ว่าคนเหนือไม่ได้มีแต่ "คนเมือง"


คิดว่าการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ยอง จะเป็นมิติเริ่มต้นใหม่ที่จะฟื้นฟูการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ "หลังจากที่เราศึกษาชาวยองแล้ว เราอาจศึกษาชาวไทเขิน ที่อพยพมาจากเชียงตุง อย่างเครื่องเขินที่ถนนวัวลาย (จ.เชียงใหม่) ก็มาจากเชียงตุง แต่ว่าการศึกษาก็ยังกระจัดกระจาย ยังไม่ชัดเจนเหมือนกับงานที่อาจารย์แสวงทำ (หมายถึง อ.แสวง มาละแซม อาจารย์ชาวไทยองเจ้าของผลงานวิชาการเรื่อง "คนยองย้ายแผ่นดิน") แต่ในโอกาสหน้า การศึกษาเรื่องเหล่านี้จะทำให้เราได้รู้จักเครื่องเขินและชาวเขิน และพบว่าไม่ได้มีแค่คนเมืองอย่างเดียวที่อยู่เชียงใหม่ แต่ภาคเหนือยังมีชาวลื้อ ชาวยอง ชาวขืน" อาจารย์ไพฑูรย์กล่าวในที่สุด


 


อธิการบดี มช. เล็งจัดตั้งสถาบันชาติพันธุ์


ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งบรรพบุรุษข้างมารดาสืบเชื้อสายชาวยอง มีพื้นเพใน จ.ลำพูน ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" เกี่ยวกับที่มาของการจัดสัมมนาดังกล่าวว่าเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่ให้การศึกษา หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือคงจะไม่จำกัดการศึกษาอยู่เฉพาะเรื่องการฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวยอง แต่ขณะนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังมีการคุยกันเพื่อจัดตั้งสถาบันชาติพันธุ์ เพื่อจะศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง คนยอง หรือชาวเขา ซึ่งสถาบันวิจัยสังคมก็ให้ความสนใจ และมหาวิทยาลัยก็ให้แนวทางไว้ว่าเรื่องนี้ควรจะต้องศึกษาส่วนจะศึกษาอย่างไรก็สุดแท้แต่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังกล่าวต่อว่า "กลุ่มชาวยองมีกิจกรรมมีขนบธรรมเนียมประเพณี ทำมาแล้วหลายครั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลำพูนให้ความสนใจ เลยกลายเป็นหัวข้อมาถกกันในวันนี้ ส่วนที่มหาวิทยาลัยจะทำคือจะต้องศึกษาค้นคว้าเพื่อหาความรู้ความเข้าใจตรงส่วนนี้" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวในที่สุด


 


นอกจากนี้ในวันที่ 12 กันยายน การสัมมนาดังกล่าวจะมีการลงพื้นที่ยังชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยองที่ จ.ลำพูน ซึ่งอพยพมากว่า 200 ปี ซึ่งทาง "ประชาไท" จะได้นำเสนอต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net