Skip to main content
sharethis

มาเลเซีย - 12 ก.ย. 49      เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 กันยายน 2549 ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศมาเลเซีย ที่โรงแรมซันเวย์ รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน โดยที่ประชุมได้พิจารณารายงานความก้าวหน้าของสภาธุรกิจ 3 ประเทศ ที่จะเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ในวันที่ 12 กันยายน 2549 ที่โรงแรมเดียวกัน


 


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอของนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ หัวหน้าคณะฝ่ายไทยที่ขอเพิ่ม 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา กระบี่และภูเก็ต ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT - GT) และข้อเสนอของดาโต๊ะ สรี อับดุลเราะห์มาน ไมดิน ประธานสภาธุรกิจฝ่ายมาเลเซีย ที่เสนอเพิ่มรัฐเนกรี ซัมบีลันเข้ามาอยู่ในพื้นที่ IMT - GT ด้วย


                     


ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่จะรายงานต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ประกอบด้วย ความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจ 3 ประเทศ กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือAsian Development Bank : ADB ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งอิสลาม หรือ Islamic Development Bank : IDB ด้านการเงิน ด้านการพัฒนาทักษะต่างๆ เป็นต้น พร้อมกับเสนอความร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Development Programme : UNDP ในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิที่จังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย


 


นอกจากนี้ ยังมีรายงานเรื่องการตั้งคณะทำงาน 11 ชุด ประกอบด้วย คณะทำงานด้าน IMT - GT แอร์ไลน์ ด้านเรือเฟอร์รี่ RO - RO ด้านการจัดงาน Visit IMT - GT Year 2008 ด้านศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค ด้านการโปรโมตการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ด้านการท่องเที่ยวเชิงบำบัด ด้านสปาและการสนับสนุนสุขภาพ ด้านโรงแรม 3 ดาว ด้านการจัดทำแบรนดิ้ง และด้าน IMT - GT Plaza โดยคณะทำงานชุดนี้จะมี 2 คณะทำงานย่อย รับผิดชอบการกำหนดมาตรฐานและการจัดทำแบรนดิ้ง


สภาธุรกิจ 3 ประเทศ จะนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา IMT - GT ฉบับแรก ต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส พร้อมกับแจ้งให้ทราบด้วยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนได้ทำการค้าแบบแลกสินค้าระหว่างกัน หรือบาร์เตอร์เทรดแล้ว


 


ส่วนเรื่องที่จะให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสรับรองพิจารณาและสนับสนุน ประกอบด้วย ให้รับรองตราสัญลักษณ์ IMT - GT ให้ Uninet หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน IMT - GT สนับสนุนองค์ความรู้ให้ภาคเอกชน และให้เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง และให้ภาครัฐของอินโดนีเซีย ออกวีซ่าระยะยาวตลอดหลักสูตรให้นักศึกษาในพื้นที่ IMT - GT


 


สภาธุรกิจ 3 ประเทศ ยังจะขอให้ภาครัฐให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่น หรือหน่วยราชการในท้องถิ่นสามารถออกใบอนุญาตต่างๆ ที่เป็นการอำนวยความสะดวกในการลงทุน และมีอำนาจในการอนุญาตให้นักธุรกิจ ตั้งสถานีขนส่งสินค้าในพื้นที่ของตนได้ รวมทั้งขอให้กำหนดพื้นที่ IMT - GT เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดอัตราภาษีแบบพิเศษ มีนโยบายทางการเงินแบบพิเศษ เป็นต้น อนุญาตให้สายการบินต่างชาติ แวะจอดรับผู้โดยสารตามสนามบินต่างในพื้นที่ IMT - GT


 


สำหรับกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการสาขาการค้า ณ จุดแรกเริ่ม เสนอให้แนะนำ IMT - GT กับผู้บริหารท้องถิ่นที่จะตั้ง IMT - GT Plaza และจัดสัมมนาเรื่องการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้า โดยให้ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย ในวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน 2549 ที่เมืองเบอลีตุง ประเทศอินโดนีเซีย


 


ส่วนสาขาการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากสะพานเศรษฐกิจ เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกลไกการตรวจสอบมาตรฐานอาหารฮาลาลของแต่ละประเทศ โดยให้หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานอาหารฮาลาลของแต่ละประเทศ ยอมรับมาตรฐานกันและกันด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา ทางสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานอาหารฮาลาลของมาเลเซีย หรือ JAKIM ห้ามขายอาหารฮาลาลที่ไม่มีตราฮาลาลของ JAKIM ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับมาตรฐานของประเทศอื่น


 


สาขาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขอให้รับรองสายการบินอัสมารา เข้ามาอยู่ใน IMT - GT ด้วย และขอให้ฝ่ายรัฐช่วยสนับสนุนบริษัทเดินเรือเฟอร์รี่ RO - RO เส้นทาง ปีนัง - เบลาวัน ด้วย เพราะประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้องแข่งขันกับธุรกิจเรือเร็ว เพราะจะกระทบกับการขยายเส้นทางเดินเรือมายังท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง


 


ส่วนสาขาตลาดเสรีเสนอให้ครอบคลุมการประกันภัยผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่RO - RO บริเวณชายฝั่ง สาขาการท่องเที่ยวเสนอให้แต่ละประเทศปรับปรุงป้ายจราจรเพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยวนอกจากนี้ ฝ่ายมาเลเซียยังได้ขอให้ฝ่ายไทยเสนอเรื่องการเปิดด่านปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา 24 ชั่วโมง ฝ่ายไทยไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ เพียงแต่แจ้งให้นำเสนอในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส


 


สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส จะมีขึ้นในวันที่ 12 กันยายน 2549 จากนั้นจะนำข้อเสนอทั้งหมด เข้าที่ประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ 13 กันยายน 2549 ที่โรงแรมเดียวกัน โดยฝ่ายไทยมีนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net