Skip to main content
sharethis

โดย ศูนย์ข่าวประชาสังคมจ.อุบลราชธานี


 


13 ก.ย. 2549 - เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ร้านอาหารอิ่มดีนะ คณะกรรมการศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ภาคประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (ศตจ.ปชช.จว.อบ.) ได้จัดให้มีการประชุมขึ้น


          


นายประยุทธ ชุ่มนาเสียว ประธานองค์การพัฒนาเอกชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานยุทธศาสตร์ด้านการต่อสู้ความยากจน ของภาคประชาชนพบว่า ปัจจุบันชาวบ้านมีกระบวนการดำรงชีวิตที่ถูกปัจจัยภายนอก เช่น อำนาจของรัฐ อิทธิพลทางการเมือง บริโภคนิยม เข้ามาครอบงำ ทำให้เกิดปัญหาชุมชนไม่ได้ผลิตปัจจัยในการดำรงชีวิตทั้งที่ผลิตได้ในอดีต ซึ่งสิ่งที่ผลิตได้ในชุมชนได้ถูกระบบการผลิตระบบใหญ่เข้ามาครอบงำ การประกอบอาชีพตามฐานทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของคนในท้องถิ่นต่อไปได้ ส่งผลให้มีการอพยพแรงงานออกจากชุมชนเพื่อแสวงหาปัจจัยดังกล่าว


 


แนวทางแก้ไขของ ศตจ.ปชช.จว.อบ. นั้นคือเข้าไปสนับสนุนให้คนในชุมชนต้องบริหารจัดการกันเอง ไม่ใช่ให้ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับชีวิตของพวกเขา ถ้าหากเป็นเช่นนี้การจัดการปัญหาจะไม่ยั่งยืน


 


"ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายภาครัฐต้องการให้ประเทศของเราเป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นนโยบายที่มาจากศูนย์กลาง ไม่ได้ถามถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสังคมที่ด้อยพัฒนามักจะถูกรัฐใช้อำนาจเช่นนี้เสมอ ทำให้บริหารจัดการโดยให้ชาวบ้านอยู่ใต้กฎกติกา ก่อให้เกิดปัญหายืดเยื้อ คลายปมเงื่อนปัญหาไม่ได้ แต่ในทางสัจธรรมทุกสิ่งย่อมมีทางออก แต่จะต้องอาศัยระยะเวลา โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนอยู่ดีมีสุข ให้เกิดเป็นสังคมการอยู่ร่วมกันแบบเดิม คือ ข้าวเต็มเล้า, ปลาแดกเต็มไห,กล้วยอ้อยเต็มสวนเต็มกอ, ขี้วัวขี้ควายเต็มคอก"


 


"การว่ายากหรือไม่ที่จะเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้านนั้น จะเห็นว่ากระบวนการวิธีคิดที่อยู่ภายใต้กรอบสังคมสมัยใหม่ มันเสมือนว่าเข้าไปเปลี่ยนโปรแกรมในสมองทั้งหมด ซึ่งถ้าเราคิดจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางความคิดดังกล่าว ถือว่าเป็นการต่อสู้ของกระบวนการความคิดของคนในปัจจุบัน แต่ว่าเราจะไปบอกว่ามันยากหรือไม่นั้นไม่ใช่ แต่มันเป็นเรื่องว่าจะทำหรือไม่เท่านั้น"


          


ด้านตัวแทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบางอย่างเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชน โดยมักจะมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตนเองเห็นว่าเศรษฐกิจที่ดีนั้น ไม่ได้หมายถึงว่าจะมีความสุข หรือการมีเงินทองจำนวนมาก จะนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปแก้กับปัญหาเพื่อฟื้นฟูชุมชนให้กลับมาดำรงชีพเหมือนที่เคยเป็นมา


 


ในขณะที่นายอำนวย หาญปราชญ์ ตัวแทนชุมชนบ้านหัวเหว่ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม เปิดเผยว่า ปัญหาของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากจากสร้างเขื่อนปากมูลนั้น เป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 12 ปี ซึ่งก็เห็นว่ารัฐบาลไม่เข้าใจถึงปัญหา โดยปัจจุบันชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก จากที่เคยมีอาชีพทำการประมง ซึ่งมีรายได้ส่งลูกเรียนได้ แต่ในวันนี้ชาวบ้านต้องอพยพแรงงานไปทำงานในต่างถิ่น ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้น ชาวบ้านเองก็มีความพยายามที่จะพึ่งพาตนเอง โดยหันมาทำการเกษตรทดแทนการทำอาชีพการประมง ซึ่งภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา และสนับสนุนในการเคลื่อนไหวของคนในชุมชนให้มีการบริหารจัดการกันเอง


 


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะได้จัดการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 23 กันยายน 2549 ที่ห้องประชุมเขื่อนสิรินธร เพื่อรับทราบและสรุปข้อมูลในพื้นที่ของ 3 อำเภอ คือ อ.สิรินธร,พิบูลมังสาหาร,โขงเจียม โดยเหตุผลที่เลือกเอาพื้นที่ทั้งสามอำเภอนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากแนวทางนโยบายของรัฐและมีปัญหาที่ซับซ้อน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net