Skip to main content
sharethis

บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"


จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้


 


โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 


...........................................................................................


 


ตอนที่ 9


"ความปลอดภัยของครูและชุมชน"


 


หลายๆ ครั้งที่ผมได้ได้ฟังมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ในการดูแลครูและพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปัญหาเฉพาะ ทั้งทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา และสถานการณ์ความรุนแรง พบว่า มีความรู้สึกเหนื่อยใจแทน


 


ปัญหาความเดือดร้อนของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเรื่องของความไม่มีขวัญกำลังใจ ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ไม่ต้องการที่จะไปสอน ไม่ต้องการเสี่ยงชีวิต โดยครูจำนวนกว่า 3,000 คน ที่ร้องขอย้ายออกจากพื้นที่ แต่ว่าได้ย้ายไม่กี่สิบอัตรา ส่วนที่เหลือก็ยังคงต้องก้มหน้า ก้มตาทำงานไป ยกเว้นแต่ว่า ทนไม่ไหวจึงลาออก


 


ในเมื่อเรื่องบุคลากรในการศึกษา เป็นปัญหาอย่างมาก ในเรื่องขวัญและกำลังใจอันเนื่องมาจากสถานการณ์ แต่ว่ากระทรวงศึกษาธิการ กลับไปให้ความสนใจในการสอนภาษามลายู การสอนภาษาจีน การสอนศาสนา และการสอนอื่นๆ ที่เป็นงานระยะยาว


 


ตราบใดที่เรายังไม่สามารถดูแลครูให้มีความปลอดภัยและมีขวัญกำลังใจได้ ก็อย่าไปป่วยการคิดเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเลย เพราะไม่มีประโยชน์ ครูไม่มีอารมณ์คิดฝันด้วย ครูไม่มีสมาธิในการสอนมากพอที่จะใส่ใจในเรื่องเนื้อหาสาระดังกล่าว


 


จากเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญและยังความเศร้าสลดใจไปทั่วประเทศ กรณีของ               นางสาวจูหลิง ปงกำมูล และนาวสาวศิรินารถ ถาวรสุข ครูสาวของโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ            ต.เจริญ อ.ระแงะ จ. นราธิวาส ถูกกลุ่มคนร้ายทั้งชายและหญิงจำนวนมากรุมกระหน่ำตีอย่างโหดเหี้ยม ผิดมนุษย์ กระทั่งนางสาวจูหลิง บาดเจ็บสาหัส ถึงขั้นโคม่า ส่งผลให้เกิดความหวั่นวิตก มีผลต่อความเชื่อมั่นในมาตรการความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้น โดยทันทีทันควัน หน่วยงานภาครัฐก็ได้มีการประชุม และเร่งออกมาตรการล้อมคอก ตามมา 4 ข้อ ว่า


 


1.       ต้องให้มีการหารือร่วมกัน ระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการดูแลครูและนักเรียนในพื้นที่


 


2.       ให้แม่ทัพภาคที่ 4 ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ครูและตำรวจในพื้นที่และจัดกองกำลังให้เกิดความมั่นใจ ในการรักษาความปลอดภัย


 


 


3.       ให้ปรับปรุงเรื่องการข่าว


 


4.       ต้องเข้าไปพัฒนาหมู่บ้าน โดยเพิ่มงานจิตวิทยามวลชน เพื่อยับยั่งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก เพราะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีกองกำลังที่ถูกล้างสมองอีกเป็นจำนวนมาก และอาจจะลุกขึ้นมาก่อเหตุได้ในทุกวินาที


 


จริงๆ แล้วมาตรการทั้ง 4 ข้อข้างต้น ถ้าย้อนกลับไปดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นมาตรการเดิมๆ ที่เคยพูดถึงมาเป็นปีแล้ว กระทรวงศึกษาเองก็เคยเรียกร้องกับฝ่ายความมั่นคง นำเสนอยุทธวิธีในการป้องกันภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนการเปิดเทอม กระทรวงศึกษาก็มักจะกุลีกุจอกับฝ่ายความมั่นคง ประชุมหารือและวางแผนป้องกันอย่างเข้มข้น แต่จนแล้วจนรอด ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถป้องกันความสูญเสียได้เลย


 


 


ดังนั้นน่าจะถึงเวลาได้แล้วที่พวกเรา จะต้องมาทบทวนกันอย่างจริงจังว่า แนวคิด แนวทาง และสมมติฐานแบบเดิมๆ เช่นนี้จะสามารถดูแลความปลอดภัยของครูได้จริงหรือ


 


ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่คอยเฝ้าดูแล เฝ้าติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ผมมีความเห็นว่า เราจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์เสียใหม่ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อความปลอดภัยของครู โดยในที่นี้จะขอเสนอเป็นแนวทางเบื้องต้น 5 ประการ


 


ประการที่ 1 ทิศทางนโยบาย เราต้องพยายามให้นโยบาย ทิศทางให้หลักคิดแก่ครูและโรงเรียนว่า ครู โรงเรียน และชุมชน ต้องทำตัวของตัวเองให้เป็นปริมณฑลความเป็นกลาง ทางการเมือง


 


อย่าลืมว่าขณะนี้ในสถานการณ์คือสงครามกลางเมือง เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างรัฐกับชุมชนท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต่างฝ่ายต่างเป็นคนไทย ฝ่ายหนึ่งไม่พอใจการปกครองของรัฐ แล้วเกิดการต่อสู้กันด้วยความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง ครู โรงเรียนและชุมชน ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าฝ่ายใด


 


ครูจะต้องไม่ทำตัวเป็นฝ่ายความมั่นคงเสียเอง ครูจะต้องไม่ทำตัวเป็นสายของทหาร ตำรวจ ที่คอยให้ข่าว ครูจะต้องไม่ร่วมกับฝ่ายก่อการ ครูจะต้องวางตัวเป็นกลาง หมายความว่าเป็นมิตรกับทุกฝ่าย เป็นเพื่อนกับทุกคน ถือทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ ครูจะต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นร้อนๆ ประเด็นความขัดแย้ง ประเด็นทางการเมือง และประเด็นที่เป็นเรื่องการต่อสู้และสถานการณ์ สิ่งเหล่านี้ครูต้องระมัดระวัง ถ้าครูทำเรื่องนี้ได้ดี ก็จะเป็นเกราะป้องกันตนที่ดีที่สุด


 


ประการที่ 2 ไม่ใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งหน่วยรบ หน่วยราชการทุกหน่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารตำรวจ ฝ่ายปกครอง ต้องไม่ใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งของหน่วยติดอาวุธ มีโรงเรียนเป็นจำนวนมากที่ถูกหน่วยทหารหรือ ตชด. ไปตั้งเป็นค่าย ถ้าคิดแบบตื้น ๆ ดูเหมือนดี เพราะปลอดภัย แต่ถ้าคิดให้ลึกๆ แล้วจะพบว่า หน่วยต่างๆ นั้นมาอยู่ชั่วคราว ไม่กี่เดือนก็ไป แต่ครูและโรงเรียนต้องอยู่ตลอด สภาพที่โรงเรียนไม่เป็นกลางเช่นนี้ จะย้อนมาทำร้ายครูและโรงเรียน นับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นประเด็นที่เสนอว่าจะต้องไม่ใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งของหน่วยรบ นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าทำได้ครูจะปลอดภัย เพราะโรงเรียนและครูจะมีสถานะที่เป็นกลางมากขึ้น เป็นเพื่อกับทุกฝ่าย เป็นกลางกับทุกคน


 


ประการที่ 3 คุ้มครอง ครูด้วยพลังชุมชน ไม่ควรใช้กองกำลังทหาร ตำรวจ ติดอาวุธ คุ้มครองครู เพราะดูเหมือนดี แต่ถามในใจลึกๆ ของครูจะพบว่า พวกเขาไม่ต้องการอยู่ใกล้ทหาร ตำรวจ ไม่ต้องการให้หน่วยทหารมาตั้งอยู่ในโรงเรียน เพราะว่าจะทำให้เป็นลูกหลงหรือตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายก่อการได้


 


ถ้าไม่ใช้กองกำลังทหาร ตำรวจ ดูแลครูแล้ว จะมีใครมาดูแล คำตอบคือชุดคุ้มครองของหมู่บ้าน ชุดคุ้มครองของชาวบ้าน ดูแลกันเองดีที่สุด


 


ประเด็นอยู่ที่ว่าทุกวันนี้ก็ มีชุดคุ้มครองแบบที่ว่านี้อยู่แล้ว แต่ว่า การบริหารจัดการเรื่องคนละงบประมาณกลับไปอยู่ที่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ดังนั้นเพียงแค่เราจัดสรรงบประมาณในการทำงานให้กับครูและอาสาสมัครชาวบ้านเหล่านี้โดยตรง และให้เขาคิดวางแผนแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา ด้วยภูมิปัญญาของเขาเองจะดีกว่าเพราะเขารู้ดีที่สุดว่าต้องทำอย่างไร ต้องปกป้องกันอย่างไร ขออย่างเดียว จังหวัด อำเภอ และส่วนกลางอย่าไปเจ้ากี้เจ้าการเท่านั้น


 


ประการที่ 4 ให้อำนาจการจัดการแก่ชุมชนท้องถิ่น ผู้นำ อบต. ในระดับจังหวัด และผู้นำเครือข่ายสมาพันธ์ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายท่าน พูดตรงกันว่า หากมีการปรับวิธีคิด และวิธีจัดการโครงการนโยบายอัตราจ้าง 4500 บาท ก็จะทำให้เขาดูแลความปลอดภัยกันเองได้


 


ขณะนี้ทางราชการมีการจ้างแรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอัตราพิเศษ 4,500 บาท/ เดือน โดยจ้างคนหนุ่ม คนสาว เข้ามาทำงานช่วยสนับสนุนข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ โดยในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อคลี่คลายปัญหาความไม่สงบและแต่ในเรื่องของการบริหารจัดการ พบว่า อัตราแรงงานที่มีการว่าจ้างนั้น มักจะไปกองอยู่ที่อำเภอ และเทศบาล โดยเมื่อจัดจ้างแล้ว ก็ส่งไปช่วยครูตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึงมักเป็นคนต่างพื้นที่ ไม่คุ้นเคย เป็นคนที่ครูไม่รู้จัก อันนี้เป็นปัญหา


 


วิธีการแก้ ควรมอบจำนวนอัตราเหล่านี้ไปที่ครูและชุมชน ที่โรงเรียนต่างๆ จะมีกรรมการสถานศึกษา อาจจะให้กลไกเหล่านี้เป็นคนคัดเลือกคนและให้โรงเรียนเป็นผู้จ้างคนในชุมชนมาเป็นกำลังในการดูแลรักษาความปลอดภัยของครูและโรงเรียน หรือจะให้เป็นบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นหรือ อบต. ก็ได้ และ อบต. แต่ละแห่งน่าจะยินดีที่จะสบทบงบประมาณด้วยซ้ำ


 


ประการที่ 5 บทบาทโรงเรียนรัฐ ถ้าหากมีการส่งเสริมบทบาทของโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนของ สนง. คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมุสลิมโดยรวม ซึ่งสามารถเริ่มได้จากงานการเยียวยา ด้านฟื้นฟูชุมชน ด้านพัฒนาชุมชน ใช้เงื่อนไขของกิจกรรมเยียวยาฟื้นฟูและพัฒนาเหล่านี้ ไปสร้างสายสัมพันธ์ ความผูกพัน ระหว่างโรงเรียนกันชุมชน ชุมชนกับครู ระหว่างครูกับผู้ปกครอง เป็นต้น กรรมการสถานศึกษาที่มีอยู่ ก็จะมีบทบาทในการทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนของชุมชนไม่ใช่เป็นโรงเรียนของรัฐที่ไปตั้งอยู่ในชุมชนเท่านั้น ถ้าสามารถทำได้เช่นนี้ ชุมชนจะกลายเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันความปลอดภัยของครูในระยะยาว


 


                                                 


 


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (8) : "ล้างบัญชี พ.ร.ก. เปิดทางด้วยสันติวิธี"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (7) : "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ; ดับหรือโหมไฟใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (6) : "ปมสถานการณ์ที่ต้องช่วยกันแก้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (5) : "ปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (4) : "พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (3) : "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net