Skip to main content
sharethis


บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"


จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้


 


โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 


...........................................................................................


 


ตอนที่ 10 (จบ)


งานพัฒนาชุมชนในสถานการณ์สงคราม


 


นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณกว่าสี่หมื่นห้าพันล้านบาทลงไป เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาและการบริหารราชการแผ่นดินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ในช่วง 2 ปีแรก รัฐบาลประกาศใช้เงินหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยมีหน่วยราชการเป็นผู้เสนองบประมาณ แต่เหตุการณ์ที่รุนแรง ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสั่งชะลอการเบิกจ่ายงบประมาณไว้ก่อน และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายพัฒนานายจาตุรนต์ ฉายแสง ลงไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมกลุ่มต่างๆ ให้ทราบความต้องการเสียก่อน ที่จะมาปรับงบประมาณหน่วยงานต่างๆให้สอดคล้อง


 


เมื่อรองนายกรัฐมนตรีได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นจากเวทีประชาคมต่างๆ ประมาณ 15 ครั้ง ในช่วง 1 เดือน ก็ได้มีการเสนอผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาคมต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน แต่รายงานฉบับนั้นได้รับการปฏิเสธจากนายกรัฐมนตรี ในขณะที่สาธารณชนและสื่อมวลชนต่างๆ ส่งเสียงเชียร์


 


ในช่วงนั้นเองได้ผมมีโอกาสร่วมคณะเดินทางไปทำงานของรองนายกรัฐมนตรีด้วย จึงได้ติดพันงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่นั้นมา


 


หลังจากการรับฟังของรองนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขออนุญาต ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงในขณะนั้น เพื่อขอจัดเวทีประชาคมให้ชุมชนต่างๆ มาพูดคุยเพื่อเสนอแผนงานต่อรัฐบาล เราได้ตระเวนจัดไปในทุกอำเภอ เพื่อให้ทราบว่าชุมชนในแต่ละอำเภอต้องการโครงการพัฒนาในลักษณะไหน


 


ในครั้งนั้น เราได้เปิดเวทีพูดคุยกันขนานใหญ่ รวมทั้งสิ้น 45 ครั้ง ในที่สุดได้ทำแผนงาน/ โครงการพัฒนาความต้องการของอำเภอต่างๆ ทั้ง 33 อำเภอ จัดทำเป็นแผนในระดับจังหวัดและมีแผนในระดับภาพรวม ในที่สุดได้ส่งมอบแก่รองนายกรัฐมนตรีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งได้เดินทางลงไปรับแผนงาน/ โครงการของภาคประชาชนด้วยตนเอง ร่วมกับรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ


 


เวทีเสนอแผนและรับมอบโครงการที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ในคราวนั้นมีแผนต่างๆ ที่ภาคประชาชนเสนอรวมทั้งสิ้น 174 แผนงาน วงเงินรวม 2,800 ล้านบาท เมื่อรองนายกรัฐมนตรี และรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้นำแผนต่างๆ เข้ามาที่ กทม. และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติในหลักการและกรอบงบประมาณรวมทั้งสิ้น 94 โครงการ รวมวงเงิน 1,364 ล้านบาท จากนั้นโครงการได้ถูกกระจายมอบให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้จัดทำรายละเอียดและเป็นหน่วยที่รับงบประมาณไปดำเนินการในพื้นที่แทน เพราะ ภาคประชาชนไม่สามารถรับงบประมาณไปดำเนินการเองได้


 


น่าสังเกตว่าโครงการต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อเสนอของภาคประชาชน และส่วนที่เป็นแผนงานเดิมของหน่วยงานราชการ โดยส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะการส่งเสริมอาชีพกลุ่มต่างๆ ทางด้านเกษตรก็ส่งเสริมการเลี้ยงปลา โค แพะ การปลูกต้นปาล์ม สวนยาง ตลาดขายส่งผลไม้ เป็นต้น


 


จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วงของการทำงานตามโครงการการพัฒนาในสถานการณ์ภาวะความไม่ปรกติ เราพบว่า งานพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งดำเนินไปเสมือนอยู่ในเหตุการณ์ปกตินั้น ไม่ได้ผลจริงจังนัก แพะและโค ที่มอบให้กับชาวบ้าน ไม่นานก็อยู่ในสภาพที่ล้มตาย และกลายเป็นอาหารของชาวบ้านไป โดยไม่เกิดผลในแง่ของความยั่งยืน บางหน่วยงานพยายามส่งเสริมต่อยอด นำไปสู่อุตสาหกรรมที่เรียกว่า ฮาลาล แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ดูเหมือนว่า วิถีชีวิต และระดับศักยภาพของชุมชนยังอยู่ห่างไกลจากจุดนั้น มีบางหน่วยงานพยายามส่งเสริมธุรกิจแบบ SME โดยการแปรรูป แต่ก็อยู่ในระยะเพิ่งเริ่ม ซึ่งยากลำบากพอสมควร


 


อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนั้น สถานการณ์สันติภาพ หรือสงคราม มีผลต่อรูปแบบของงานพัฒนา ในสถานการณ์แบบหนึ่ง ไปใช้รูปแบบการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง ก็จะไม่สอดคล้อง


 


ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสถานการณ์ความไม่สงบ ทุกคนอยู่อย่างหวาดผวา สังคมแตกแยก เสี่ยงต่อชีวิต ในสถานการณ์เช่นนี้ ไหนเลยจะมีอารมณ์พัฒนาในรูปแบบแบบปกติได้ ประชาชนที่ถูกเชิญเข้ามาร่วมกิจกรรมการพัฒนาของรัฐ พวกเขาก็มาอย่างเสียไม่ได้ แต่ว่าในใจของเขายังห่วงกังวลในเรื่องของความปลอดภัย


 


สถานการณ์ความไม่สงบ ครั้งนี้ผู้ได้รับผลระทบไม่ต่ำกว่าสาม พันราย ในจำนวนนี้ตายไปเกือบสองพันราย ในขณะที่ภาครัฐให้การเยียวยาไปแล้วประมาณ 84 % ใช้เงินมากกว่า 600 ล้านบาท


 


ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ความไม่สงบนั้น มีงานอีกแบบหนึ่งที่ต้องจัดการดูแลคือ งานการเยียวยาผู้รับผลกระทบและฟื้นฟูชุมชน งานเช่นนี้มีความสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกและ สถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านมากกว่า


 


การเยียวยาของรัฐทำไปได้มาก โดยใช้เงินจำนวนไม่น้อย แต่ในภาพรวมถือว่ายังไม่ได้การเมือง ยังไม่ได้หัวใจของชาวบ้านมากนัก น่าศึกษาว่าเป็นเพราะเหตุใด ชาวบ้านผู้ได้รับการเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนมุสลิม ชายแดนภาคใต้ เขาไม่รู้สึกว่าเป็นบุญคุณเขาถือว่าเป็นหน้าที่ที่ราชการต้องทำอยู่แล้ว


 


ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า สังคมมุสลิมชายแดนภาคใต้ ยังมีปมความคิดความเชื่อในเรื่อง การต่อสู้ ทำสงครามทางศาสนา ตามบทบัญญัติของศาสนา ตราบใดที่ปมความคิดยังแก้ไม่ตก การช่วยเหลือของรัฐก็ยังไม่ได้หัวใจของพวกเขา เท่าที่ควรจะเป็น ฝ่ายกองกำลังผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากทางฝ่ายรัฐพวกเขาก็ไม่ถือว่าเป็นบุญคุณ เพราะตัวเขาไม่ถือว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงแต่อย่างใด


 


ในส่วนสังคมไทยทั่วประเทศ ซึ่งมีอคติต่อชุมชนมุสลิมชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว เมื่อรัฐไปช่วยเหลือชุมชนมุสลิมผู้ได้รับผลกระทบ สังคมใหญ่ก็มีข้อกังขาว่า ไปช่วยทำไม เพราะสังคมใหญ่ยังไม่เข้าใจและมีทัศนคติที่คับแคบ ทำให้การเยียวยาของภาครัฐทำไปมาก ใช้เงินไปไม่น้อยแต่ว่าผลทางการเมืองมีไม่เท่าที่ควร


 


การเยียวยาของภาครัฐส่วนใหญ่ มักดำเนินการไปภายใต้ราชการที่ล่าช้า มีระเบียบมาก กลไกในการปฏิบัติช่วยเหลือประชาชนก็อ่อนล้า เพราะตัวข้าราชการเองก็อยู่ในความเสี่ยงจากสภาวะความไม่สงบเช่นกัน การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปในลักษณะประชาสงเคราะห์ เสมือนหนึ่งว่าไปช่วยผู้ที่ต่ำต้อยกว่า ประชาชนและชุมชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีความต่อเนื่อง


 


อย่างไรก็ตาม ด้วยความริเริ่มของคณะกรรมการนโยบาย ยุทธศาสตร์การเยียวยาซึ่งมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมบทบาทของปอเนาะ 70 แห่ง และอาสาสมัคร 236 คน ให้ปอเนาะเป็นศูนย์เยียวยาของชุมชน ปรากฏว่าเกิดการมีส่วนร่วมและเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างดี โดยเฉพาะส่วนที่ตกหล่นจากการบัญชีการช่วยเหลือของทางราชการ


 


ในขณะนี้เวลาผ่านไป 6 เดือนแล้ว โครงการได้ออกช่วยดูแลเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบ ที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการไปแล้วแต่ว่าไม่มีการต่อเนื่อง ขณะนี้ได้ไปเยี่ยมบ้านผู้ได้รับผลกระทบไปแล้วทั้งสิ้น 976 ครั้ง ซึ่งที่น่าดีใจว่าเป็นโครงการได้สามารถเชื่อมโยงความรู้สึก ความเอื้ออาทรต่อกัน ไปเยี่ยมบ้าน มีการนัดหมายรวมกลุ่ม มีกิจกรรมกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้กำลังใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนในการฝ่าฟันปัญหา ความลำบากของแต่ละคน ทำให้เกิดขวัญ กำลังใจและมีความหวัง


 


นอกจากการดำเนินงานเยียวยา โดยภาครัฐแล้ว กอส. ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติโดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ได้หาเงินบริจาคจากนักธุรกิจ เงินจำนวนนี้ได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาและให้ทุนการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบซึ่งตกหล่นจากความช่วยเหลือของภาครัฐ นับว่าเป็นความพยายามของภาคประชาชนที่จะช่วยเหลือดูแลกันเอง ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง


 


งานเยียวยาชุมชนในช่วงที่ผ่านมา น่าจะถือได้ว่า เป็นรูปแบบของงานพัฒนาชุมชนอย่างหนึ่งที่มีความจำเป็นและความสอดคล้องกับสถานการณ์ความไม่สงบมากกว่ารูปแบบงานพัฒนาทั่วไป


 


นอกจากผลของการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบแล้ว เราพบว่ากระบวนการเยียวยาชุมชน โดยช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงบทบาทของอาสาสมัครในพื้นที่ให้เป็นเครือข่ายและองค์กรของผู้ที่มีจิตใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นับได้ว่าเป็นการวางรากฐานในทางเครือข่ายและกำลังคนนักพัฒนาและอาสาสมัครของพื้นที่ในระยะยาว


 


 


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (9) : "ความปลอดภัยของครูและชุมชน"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (8) : "ล้างบัญชี พ.ร.ก. เปิดทางด้วยสันติวิธี"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (7) : "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ; ดับหรือโหมไฟใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (6) : "ปมสถานการณ์ที่ต้องช่วยกันแก้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (5) : "ปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (4) : "พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (3) : "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net