Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์


เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน


"ค้านรายชื่อรัฐมนตรีไม่พึงประสงค์"


 


            หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ดำเนินการยึดอำนาจการปกครองจากคณะรัฐบาลรักษาการนำโดย พ...ดร.ทักษิณ ชินวัตร และได้มีการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 คือ พล..สุรยุทธ์  จุลานนท์ แต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น   


เป็นที่น่ายินดีว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้กล่าวในวันที่รับตำแหน่งว่า ในการบริหารประเทศจะยึดหลัก คุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง เน้นดัชนีความสุขของประชาชนมากกว่าจีดีพี เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนเชื่อมั่นว่า หลักการดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนคำนึงถึงความเป็นธรรม และความมั่นคงอยู่ดีมีสุขของประชาชนเสมอหน้ากัน


เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน อันประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน 4 ภาค, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น, กลุ่มจับตาบรรษัทข้ามชาติ (Corporate Watch) และ กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ขอเรียกร้องให้คณะรัฐบาลของ ฯพณฯ ท่าน ยึดหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงและทั่วถึง   คณะรัฐบาลชุดใหม่ไม่สมควรดำเนินการผลักดันนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้วอันเป็นสาเหตุของปัญหาผลกระทบต่อเกษตรกร คนยากจน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และเป็นนโยบายที่ยังมีข้อถกเถียงโต้แย้งอย่างกว้างขวาง เช่น นโยบายการเจรจาค้าเสรีทวิภาคี การแปรรูปบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งนโยบายที่ขัดขวางการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน และนโยบายใดๆที่จะทำลายความยั่งยืนของระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ


ในการจะบรรลุเป้าหมายดังที่ ฯพณฯ ได้กล่าวไว้ในวันแรกรับตำแหน่ง  การคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีอย่างรอบคอบและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประชาชนเพิ่งผ่านพ้นจากระบอบทักษิณที่ได้สร้างบาดแผลของความเหลื่อมล้ำและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้กับประชาชน ตัวอย่างเช่นนโยบายเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่ทำให้กษตรกรมากกว่า 10 ล้านคนได้รับผลกระทบจนถึงขั้นหมดอาชีพเป็นต้น


ดังนั้น บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลจึงต้องมิใช่บุคคลที่เคยเป็นส่วนหนึ่งหรือรับใช้ระบอบทักษิณอย่างแนบแน่นมาก่อน  


            อย่างไรก็ตาม  ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่จะเข้ามารับตําแหน่งด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศนั้น เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนมีความกังวลอย่างยิ่ง  เพราะรายชื่อของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่ ยกเว้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักทั้งสิ้น   แทนที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างความสุขมวลรวมของคนทั้งประเทศดังหลักการที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ประกาศไว้


นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกทาบทามให้มาเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงนั้นมีเบื้องหลังความเป็นมาที่ไม่น่าเชื่อถือซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคม เช่น


-           ผู้ที่ถูกทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯซึ่งมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับบรรษัทธุรกิจการเกษตรขนาดยักษ์ภายในประเทศและเป็นแกนหลักสำคัญของรัฐบาลทักษิณ


-           ผู้ที่ถูกทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมีประวัติในการผลักดันการเจรจาเสรีไทย-สหรัฐฯโดยไม่ฟังเสียงประชาชนแต่อย่างใด


-           ผู้ที่กำลังวิ่งเต้นเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติมีพฤติกรรมอำนาจนิยมอันเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด


-           ผู้ที่ถูกทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขถูกข้อครหาเรื่องเกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำในกระทรวง


-           ผู้ที่ถูกทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้มีบทบาทในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเป็นต้นแบบในการแปรรูป กฟผ.โดยการลดมูลค่าทรัพย์ของรัฐและนำขายราคาถูกในตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้ใช้ไฟฟ้าและน้ำมัน โดยองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสามารถยุติกรณีการขาย กฟผ.ได้สำเร็จและกำลังขณะนี้ได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดถึงความไม่ถูกต้องในการแปรรูปกรณี ปตท.


 


เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนตามรายนามข้างต้น ขอเรียกร้องต่อ ฯ พณ ฯ นายกรัฐมนตรี พล..สุรยุทธ์  จุลานนท์ แสดงความจริงใจและจริงจังในการบริหารประเทศตามแนวทางความเป็นธรรม เน้นเศรษฐกิจพอเพียง และความสุขของประชาชน  โดยการทบทวนการเสนอชื่อบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆที่กล่าวมา และให้บุคคลที่ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนหรือสร้างความขัดแย้งแตกแยก ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความสมานฉันท์และพัฒนาประเทศแบบมีส่วนร่วมของประชาชนมาดำรงตำแหน่งแทน


               เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนตามรายนามข้างต้น ขอยํ้าว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงหรือการพัฒนาเพื่อสร้างความผาสุกของประชาชนอย่างเสมอภาคตามที่ฯพณฯ ได้ลั่นวาจาไว้นั้นหมายรวมถึง การมีแนวนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เช่น การปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง การบริหารทรัพยากรธรรมชาติโดยประชาชนมีส่วนร่วม นโยบายด้านภาษีที่มุ่งสร้างความเท่าเทียม การขยายตลาดภายในผ่านทางการเพิ่มกำลังซื้อที่ยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการผลิตและกระจายสินค้าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดวางมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นธรรมและมั่นคง  ลดและขจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างความสามารถในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและชุมชน ฯลฯ  


               หากไม่มีการปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารประเทศในระดับมหภาคเป็นรูปธรรมโดยเร็วแล้ว  แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการมุ่งเน้นสร้างความสุขที่ยั่งยืนของประชาชนก็จะยังคงเป็นวาทกรรมที่เลื่อนลอยต่อไป  ซึ่งจะทำให้รัฐบาลของ ฯพณฯ ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลชุดที่แล้ว  และในที่สุด คำประกาศเรื่องเศรษฐกิจของ ฯพณฯ ท่านในวันรับตำแหน่งจะเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อ 


 


 


เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน


5 ตุลาคม 2549

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net