Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของพุทธพาณิชย์ในสังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่ง “ศาสนา” คือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล โดยเริ่มจากศาสนาผีจนผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ กระทั่งเกิดหลากหลายของศาสนาในปัจจุบัน ซึ่งรูปแบบแต่ละศาสนามีการดำเนินการในสังคมที่แตกต่างกัน จนเกิดการเคลื่อนของความเป็นอารยะของศาสนาอื่นเข้ามาแทนที่ศาสนาดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดการเป็นวัฒนธรรมหลักและวัฒนธรรมรองในสังคม แต่ในระบบสากลศาสนาพุทธหรือพราหมณ์นั้นไม่ใช่วัฒนธรรมหลัก แต่กลับเป็นศาสนาของชาติตะวันตกที่เป็นวัฒนธรรมสากล ในปัจจุบันโลกาภิวัตน์เป็นพลังขับเคลื่อนแนวคิดเสรีนิยมไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับหลักคิดของทุนนิยมและบริโภคนิยม ศาสนาพุทธจึงได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ดังกล่าว จนละเลยหลักคำสอนดั้งเดิม อันเป็นผลจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ทำให้บทบาทของเงินตรามีอำนาจนำในสังคม ศาสนสถานกลายเป็นตลาดธุรกิจชั้นดี เน้นการแสวงหาผลกำไรได้อย่างเสรี เช่น วัด สำนักนิกายใหม่ ที่ตอบสนองคุณค่าทางวัตถุมากกว่าคุณค่าทางจิตใจน นอกจากนี้ทุนนิยมไม่ได้อยู่ในขอบเขตเพียงด้านเศรษฐกิจ แต่กลับข้ามผ่านไปมีผลในด้านสังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งสังคมไทยในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าอยู่ในสังคมบริโภคนิยม แม้แต่ศาสนาก็ถูกทำให้เป็นธุรกิจเช่นกัน

 

บทนำ

“พุทธพาณิชย์”ถูกมองว่าเป็นกิจกรรมหรือกระบวนการที่อาศัยช่องทางความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ในทางพาณิชย์ทุกรูปแบบ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลักธรรม ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติที่ผิดไปจากแนวทางคำสอน เช่น การรับบริจาคเงินหรือปัจจัยจากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาเพื่อสมทบทุนสร้างสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัด โดยเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมกับสมณะวิสัย หรือเพื่อการนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นที่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย แล้วมาเป็นข้ออ้างหรือเหตุผลในการทำกิจกรรม หรือที่เรียกว่าเป็นการ “ขายความเชื่อ” ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งบางกรณีอาจมีวัตถุมงคลเหรียญต่างๆ รวมถึงพระพุทธรูปหรือรูปเคารพของเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงให้เป็นสิ่งตอบแทน การหาเงินในการขายความเชื่อเรื่องบุญ ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าบูชาพระเครื่อง ถวายสังฆทานเวียน ทำบุญหยอดเหรียญเงินใส่ตู้บริจาค เป็นต้น ซึ่งพุทธพาณิชย์เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในทุกสถาบันทางศาสนาในประเทศ ถือเป็นศูนย์กลางดึงดูดความศรัทธาจากญาติโยมให้มาทำบุญใช้บริการกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด นอกจากนั้นยังมีเรื่องของบุญหรือการทำบุญมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้าขาย ความเชื่อดังกล่าวจนอาจมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการขายบุญไปด้วยการจัดงานบุญตามเทศกาลต่างๆ งานเทศกาลประจำปีนมัสการปิดทอง พิธีไหว้ครู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้เข้าวัดและนำไปใช้ในกิจการทั้งในเชิงสาธารณะและเชิงปัจเจกบุคคล ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จัดอยู่บนพื้นฐานเรื่องบุญในพุทธศาสนา เพราะวัดถือเป็นแหล่งสร้างบุญ และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนซื้อขายบุญ (ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์, 2555, หน้า 6-7)

การนำหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามาแปรเปลี่ยนเป็นต้นทุนทางธุรกิจ เพื่อดำเนินการแสวงหาช่องทางการทำรายได้อย่างเป็นระบบ การกระทำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่วัดและพระสงฆ์จะกระทำได้ เนื่องจากขัดกับพระธรรมวินัยและหลักคำสอน ซึ่งพระสงฆ์บางรูปหรือบุคลากรในวัดบางคนก็ไม่เห็นด้วย ยอมรับว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแต่ด้วยข้อจำกัดในบทบาทหน้าที่ทางการปกครองจึงไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เพราะไม่มีอำนาจในการสั่งการหรือวางแผนนโยบาย และอีกประการหนึ่งกระบวนการพุทธพาณิชย์ไม่ได้เกิดจากพระสงฆ์ฝ่ายเดียว แต่มีฆราวาสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น กลุ่มหมอดู กลุ่มผู้ประกอบการตู้หยอดเหรียญทำบุญอัตโนมัติ และรวมไปถึงฆราวาสภายในวัด เช่น กรรมการวัด ซึ่งกิจกรรมหลายอย่างเป็นผลงานและความคิดของฆราวาส ซึ่งยอมรับว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นฆราวาสทั้งสองกลุ่มต่างก็มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เช่น เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่เพื่อหาผลประโยชน์กับวัดในทางหนึ่ง และอีกนัยหนึ่งพุทธพาณิชย์ คือการทำบุญที่ต้องมีการกำหนดราคา ไม่ใช่การทำบุญตามแต่ศรัทธาของญาติโยม แต่การทำบุญนี้กลับมีเงื่อนไขสิ่งตอบแทน เช่น ค่าดอกไม้ธูปเทียน 20 บาท ค่าสังฆทานชุดละ 199 บาท ทำบุญ 100 บาทจะได้บูชาพระ 1 องค์ เป็นต้น (ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์, 2555, หน้า 6-7)

พุทธศาสนาไม่ได้มีเพียงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของพิธีกรรมและความเชื่ออื่นที่เข้ามาผสมกลมกลืนกับพระพุทธศาสนา ตลอดจนความเชื่อพื้นฐานของคนไทยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งลึกลับ และความเข้าใจในศาสนาที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงตามหลักพุทธธรรม ทำให้การพิจารณาความหมายของพุทธพาณิชย์จึงจำเป็นที่จะต้องนำปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เข้ามาร่วมพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ภายใต้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเพราะหากพิจารณาอย่างสุดโต่งตามรากศัพท์ที่มีแนวทางจากพุทธศาสตร์ พุทธพาณิชย์จะเป็นเพียงการค้าที่อาศัยหลักธรรมคําสอนของพุทธศาสนามาหาผลประโยชน์ ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เรื่องการทำบุญกลายเป็นสิ่งที่เสริมสร้างค่านิยมที่ผิดไปจากหลักคำสอน โดยสามารถสังเกตจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่การทำบุญถูกเน้นหนักไปที่การบริจาคเงิน บริจาควัตถุ ยิ่งมีกำลังทรัพย์มากก็จะได้บุญมาก เป็นลักษณะของการซื้อขายตามวิถีแห่งสังคมบริโภคนิยม ซึ่งบ่งบอกถึงความคับแคบในจิตใจของคนในยุคปัจจุบันที่ทำบุญแบบเห็นแก่ตัว มองเรื่องบุญเป็นปัจเจกนิยมเป็นการทำเพื่อตัวเองมากกว่าผู้อื่น มุ่งที่ความต้องการส่วนตนเป็นหลัก กล่าวคือต้องการทำบุญเพื่อเสริมสร้างอำนาจ วาสนา บารมีและความสำเร็จให้กับตัวเอง พุทธศาสนิกชนไทยยึดถือปฏิบัติแนวทางนี้อย่างเป็นเรื่องปกติ มันจึงเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มพระพุทธศาสนา ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของหลักพุทธศาสนาได้ (ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์, 2555, หน้า 140)

ศรัทธากับพาณิชย์ ในปัจจุบันธุรกิจการทำบุญถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถามต่อสังคม โดยมองว่าการทำบุญเป็นเรื่องของความศรัทธาหรือเป็นเรื่องของพาณิชย์กันแน่ สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้วัดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ประกอบพิธีทางศาสนา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งดึงดูดเงินจำนวนมากจากความศรัทธาของคนชอบทำบุญ จนเกิดเป็นวิถีแห่งพุทธพาณิชย์ตามมา ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันสำนึกของปัจเจกบุคคลที่มีต่อศาสนาได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากบทบาทของศาสนาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมที่ต่างไปจากเดิม โดยอิงกับกระแสของความทันสมัยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีนัยของระบบทุนนิยมแฝงอยู่ ปัจเจกบุคคลมองว่าความเชื่อเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่บันดาลให้มีชีวิตที่ดี และความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะเรื่องความร่ำรวยที่เป็นผลมาจากตรรกะของระบบทุนนิยม ซึ่งวัดเป็นศูนย์กลางของความคาดหวังของปัจเจกบุคคล บทบาทของวัดให้ความสำคัญกับการสะสมทุนและการแสวงหากำไร กระบวนการแสวงหากำไรบนความศรัทธาจึงเกิดเป็นพุทธพาณิชย์ขึ้นในหลายรูปแบบ การเข้ามาของทุนนิยมโดยคลื่นโลกาภิวัตน์ยังก่อให้เกิดกระบวนการทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในศาสนาลดน้อยลง โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดนั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่จะนำมาทำการศึกษาการก่อตัวของพุทธศาสนาในเชิงธุรกิจ โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การพุทธพาณิชย์ ดังนั้นคณะผู้ศึกษาจึงมีความประสงค์ที่จะนำเสนอถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของพุทธพาณิชย์ในสังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ (พระครูสังฆรักษ์ศุภณัฐ ภูริวฑฺฒโน และ ศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์, 2559, หน้า 142-143)
 

พุทธศาสนาในอดีต ฐานะเครื่องมือทางการเมือง

การปรับตัวของศาสนาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในยุคของโลกาภิวัตน์เท่านั้น แต่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การแผ่ขยายศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนดั้งเดิม กล่าวคือการแทนที่กันของศาสนา ในอดีตศาสนากับการเมืองถือเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม แต่ในปัจจุบันพลังในการขับเคลื่อนสังคมคือ เศรษฐกิจและการเมือง โดยศาสนาผีเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก พื้นฐานความเชื่อของคนในโลกมักนับถือศาสนาผีก่อนศาสนาอื่น ซึ่งในไทยมีนักปราชญ์ร่วมสมัยเคยอธิบายไว้ว่า “ศาสนาผีที่เคลือบด้วยพราหมณ์กับพุทธ” เฉพาะไม่ขัดกับหลักผี คนไทยโดยทั่วไปคิดว่าตนนับถือศาสนาพุทธ แต่ในบ้านและวัดมีทั้งศาลผี ศาลพระภูมิ และทรงเจ้าเข้าผีมากกว่าอย่างอื่น ในยุคก่อนหมอผีเป็นผู้มีพลังพิเศษสามารถสื่อสารติดต่อกับผีได้ ซึ่งเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558)

ศาสนาผี เพศหญิงได้รับการยกย่องให้เป็นใหญ่ เรียกว่าเจ้าแม่ หมอผี หรือหัวหน้าพิธีกรรม โดยมีผู้ชายเป็นบริวาร ซึ่งผู้หญิงที่เป็นหมอผีหรือหัวหน้าพิธีกรรม จะมีบทบาทเป็นหัวหน้าเผ่าและทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยทางการเมืองแรกสุดและเก่าที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาเรื่องความเป็นผู้นำทางพิธีกรรมด้วย เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงทางพืชพันธุ์ธัญญาหารของชุมชน โดยหัวหน้าเผ่าและเครือญาติ คือกลุ่มคนที่ควบคุมเข้าถึงความมั่งคั่งและอำนาจ ขณะเดียวกันก็กีดกันคนส่วนใหญ่ในชุมชนให้ออกไปจากความมั่งคั่งและอำนาจ  (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558)

หลังรับศาสนาจากอินเดีย บรรดาหัวหน้าเผ่าพื้นเมืองเริ่มเปลี่ยนจากหญิงเป็นชายผู้นำทางศาสนาตามแบบแผนการเมืองการปกครองจากอินเดียด้วย เห็นได้จากชื่อตำแหน่งหัวหน้าเผ่าถูกเปลี่ยนเป็นภาษาบาลี-สันสกฤตที่ได้จากชื่อศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย เช่น พรหม หรือพรหมเทพ เป็นกษัตริย์หรือราชาองค์แรก ในโองการแช่งน้ำเรียกพระพรหม มหาเทพในศาสนาพราหมณ์ด้วยคำพื้นเมืองว่าขุนแผน (ที่กลายจากคำว่าแถน) เท่ากับเป็นร่องรอยว่าหลังรับศาสนาจากอินเดียได้ปรับเปลี่ยนจากหมอผีเป็นพระราชา (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558)

หัวหน้าเผ่าบางชุมชนจะเปลี่ยนเป็นผู้ชาย เพราะริบอำนาจจากผู้หญิง และบางชุมชนอาจแยกเป็นคนละคนกันระหว่างหัวหน้าเผ่ากับหมอผี เฉพาะหมอผีจะเปลี่ยนเป็นนักบวชในศาสนาพราหมณ์และพุทธ  ต่อไปข้างหน้าหมอผีจะได้ชื่อใหม่เป็นทางการด้วยภาษาศักดิ์สิทธิ์จากอินเดียว่าพระครู  โหราธิบดี  โหราจารย์ ศาสตราจารย์ นักวิชาการ ฯลฯ นักบวชเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้หัวหน้าเผ่า บางทีนักบวชทำงานทางการเมืองด้วยตนเอง ดังนั้นศาสนาผีนั้นแสดงให้เห็นว่า เป็นรากฐานของเครื่องมือในอดีตที่แสดงถึงอำนาจ ที่ก่อให้เกิดการเมืองการปกครองในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้พระราชพิธีในพระราชวงศ์ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ศาสนาผีอยู่กับเราตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่คนเลือกที่จะไม่พูดถึง และลืมไป เพราะความเชื่อนี้ขัดกับศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558)

แต่เดิมเพศหญิงมีบทบาทนำในการปกครองเป็นผู้นำในการปกครอง จะเห็นได้จากผู้ที่เป็นหมอผีหรือหัวหน้าชนเผ่าจะเป็นเพศหญิงและมีบริวารเป็นเพศชายเพราะเชื่อว่าเพศหญิงสามารถสื่อสารกับผีได้ เนื่องจากเพศหญิงมีความใกล้ชิดธรรมมชาติมากกว่าผู้ชายตามแนวคิดของกลุ่มสตรีนิยม (Feminism) ต่อมาเมื่อมีการเข้ามาของอำนาจใหม่ที่เข้ามาแทนที่อำนาจเก่า อย่างศาสนาจากอินเดียที่เข้ามาแทนที่ศาสนาผีที่เป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างในกรณีที่เห็นจาก บทบาทของผู้หญิงซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจนำ แต่ว่าเมื่อมีศาสนาอินเดียเข้ามาอำนาจถูกเปลี่ยนมือจากอำนาจหญิงไปสู่อำนาจชาย อย่างเช่น ในวรรณกรรมหนังสืออุรังคธาตุที่แสดงเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ปราบนาคซึ่งแสดงให้เห็นว่านาคเป็นตัวแทนของศาสนาผีและพระพุทธเจ้าเป็นตัวแทนจากศาสนาที่มาจากอินเดีย ซึ่งเกิดการปะทะกันนำไปสู่การขัดแย้งระหว่างศาสนาใหม่กับศาสนาดั้งเดิมของชาวพื้นเมือง

การคืบคลานของศาสนาสากล สำหรับในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธเคยเป็นบทบาทนำ (ฐานะของ Core) ของประเทศได้ถูกลดบทบาทลงอย่างเห็นได้ชัด ในสมัยก่อนคณะสงฆ์จะมีบทบาทในการพูดให้คนเชื่อฟัง แต่ในปัจจุบันกลับมีอำนาจอื่นที่เข้ามามีบทบาทนำแทน และศาสนาพุทธที่เคยเป็นวัฒนธรรมหลักในไทยแต่เป็นเพียงวัฒนธรรมรองในระบบสากล ถูกกลืนกินไปภายใต้ศาสนาสากลที่เรียกว่า ศาสนาคริสต์ เช่นวันฉลองวันประสูติของพระเยซูในวันคริสต์มาส, การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม ทั้งที่แต่ก่อนคือวันที่ 13 เมษายน แต่ด้วยความเป็น Universal Law หรือกฎสากล จึงผลให้พระพุทธศาสนาเสื่อมบทบาท (จนตกอยู่ในฐานะของ Sub) ลงอย่างที่ไม่สามารถต้านได้ เนื่องจากในสากลโลก ศาสนาที่เป็นถือเป็นที่หนึ่งคือศาสนาคริสต์ ซึ่งมาจากชาติตะวันตก ต่อไปในอนาคตศาสนาคริสต์อาจขึ้นมาเป็น Core อย่างเต็มตัว โดยหลงลืมศาสนาเริ่มแรกอย่างศาสนาพุทธ เหมือนที่พุทธศาสนาทำกับศาสนาผี

 

พุทธพาณิชย์ในยุคโลกาภิวัตน์ ฐานะเครื่องมือเศรษฐกิจ

การที่กระแสโลกาภิวัตน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในปัจจุบันนั้น  มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยหลักแรก ได้แก่ ภาวะทันสมัย โดยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากสังคมที่มีรูปแบบการยังชีพที่เรียบง่าย ไปสู่สังคมแบบเมืองและสังคมอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับโลกของวัตถุ ลักษณะเด่นของสังคมสมัยใหม่ คือ การเป็นสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมอุตสาหกรรม  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรื่องของการเมือง วัฒนธรรมและศาสนาด้วย  ปัจจัยที่สองที่กระตุ้นให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ ได้แก่ กระบวนการเหตุผลนิยม ซึ่งเป็นผลพวงของภาวะทันสมัย (วชิรวัชร งามละม่อม, 2558)    

ความสำคัญของเหตุผลนิยมและภาวะทันสมัยที่มีต่อกระแสโลกาภิวัตน์ คือ การที่ภาวะทันสมัยหรือการเปลี่ยนแปลงสังคมจากประเพณีนิยมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้ กระบวนการคิด ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเฉพาะในเรื่องของอุตสาหกรรม กระบวนการผลิต เทคโนโลยี หรือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงระบบคิดของผู้คนในสังคมในด้านต่างๆ

การที่โลกเข้าสู่สภาวะไร้พรมแดนและมีการสื่อสารที่ไร้ขอบเขตดังกล่าว นอกจากทำให้เกิดวัฒนธรรมสากลขึ้นแล้ว ยังทำให้โลกได้มองเห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของสังคมต่างๆ ทั่วโลก และยังทำให้อำนาจในการปกครองหรืออำนาจของรัฐบาลที่เคยควบคุมพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งลดลงไปด้วย  ซึ่งทำให้ดูเหมือนไม่มีศูนย์กลางของการปกครอง ทั้งนี้เพราะอำนาจทางการเมืองในการควบคุมความคิดของคนไม่ได้อยู่ในมือขององค์กรใดองค์หนึ่งอีกต่อไป แต่คนกลับมีอิสระในการแสวงหาความรู้หรือตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นได้อย่างเสรี จนบางครั้งแม้จะละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รัฐก็ไม่สามารถเข้าควบคุมได้อย่างเด็ดขาด

ความหลากหลายของความคิด ทำให้สิ่งที่ผู้คนในสังคมเคยยึดถือเป็นมาตรฐานควบคุมพฤติกรรม ซึ่งเราเรียกว่า บรรทัดฐาน ที่ประกอบด้วย วิถีประชา จารีต และกฎหมายต่างๆ ถูกลดความความสำคัญลง  ผู้คนมีแนวโน้มจะยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน ค่านิยมหรือแนวคิดที่เคยถูกปฏิเสธหรือต่อต้านในอดีตได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น การยึดถือความสุขทางวัตถุเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต การปฏิเสธหลักคำสอนในศาสนาหรือการแสดงตนเป็นบุคคลไม่มีศาสนา โลกาภิวัตน์ได้ลดทอนความสำคัญของศาสนาลง

กระบวนการสร้างความทันสมัย มักตามมาด้วยการเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรีนิยม โดยมักสวนทางหรือขัดแย้งกับแนวคิดทางศาสนา ซึ่งมีผลทำให้แนวคิดทางศาสนานั้นถูกลดบทบาทลง ในหลายประเทศนั้นนโยบายสร้างความทันสมัยมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดทางศาสนาโดยตรง เนื่องจากมีแนวความคิดว่า ศาสนานั้นขัดขวางความเจริญของประเทศ คือการทำให้รัฐเป็น “รัฐทางโลก” หมายถึง การลดอภิสิทธิ์ของศาสนาที่มีอยู่เดิม โดยทางการผลักศาสนาออกไปจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาจำนวนมาก รู้สึกว่าศาสนากำลังถูกบ่อนทำลาย ทำให้เกิดการเติบโตของกลุ่มเคร่งจารีตในแวดวงศาสนาต่างๆทั่วโลก และสภาวะโลกาภิวัตน์นี้เอง ได้มีส่วนขยายปฏิกิริยาและเพิ่มความเข้มข้นให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ ทำให้แนวคิดและค่านิยมแบบรัฐทางโลกแพร่ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การท่องเที่ยว ค่านิยมแบบรัฐทางโลก และนำมาซึ่งวัฒนธรรมบริโภคนิยม (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 1)

สำหรับพระพุทธศาสนา เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ดูเหมือนว่าการเผยแผ่ศาสนาจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่อีกด้านหนึ่งของสภาวะโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือ การแพร่ขยายของลัทธิบริโภคนิยมไปทั่วทั้งโลก จนอาจกล่าวได้ว่าบริโภคนิยมได้กลายเป็นวัฒนธรรมโลกอย่างหนึ่งไปแล้ว ด้วยความที่โลกาภิวัตน์ในปัจจุบันถูกผลักดันโดยทุนนิยม ซึ่งสนองผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ สิ่งที่ตามมา คือการแพร่หลายของกระบวนการทำให้เป็นสินค้า และการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคโดยผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งนั่นก็หมายถึงวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสินค้า การกระตุ้นการบริโภคโดยผ่านสื่อต่างๆการที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติสามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังถูกใช้กับศาสนาหรือเพื่อหวังความมั่งคั่งทางวัตถุมากกว่าความสงบเย็นในจิตใจ หรือถ้าต้องการความร่มเย็นในจิตใจ แต่เลือกที่จะคิดว่าใช้เพียงแค่เงินก็สามารถบรรลุความต้องการได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ท่าทีบริโภคนิยมได้เข้ามากำหนดจุดมุ่งหมายและวิธีการในการเข้าหาศาสนา เมื่อผู้คนมีพฤติกรรมดังกล่าว จึงเป็นธรรมดาที่ศาสนาจะปรับตัวให้สอดคล้องปรากฏการณ์เช่นกัน (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 1)

การปรับตัวของศาสนาให้เข้ากับบริโภคนิยมจะมีลักษณะสำคัญคือ 1. เน้นคุณค่าแบบวัตถุนิยมเพื่อการมุ่งสนองความต้องการทางวัตถุ เช่น ประสบความสำเร็จทางธุรกิจร่ำรวย 2. สัญลักษณ์และบริการทางศาสนาถูกทำให้เป็นสินค้า โดยผู้ซื้อหวังว่าจะได้รับโชคหรือรางวัลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เงินจึงกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการบรรลุความต้องการทางศาสนา 3. พิธีกรรมทางศาสนาถูกย่นย่อให้กระชับสั้น ใช้เวลาไม่นานและมีความสะดวกมากขึ้น 4. ลักษณะปัจเจกนิยม คือตอบสนองความต้องการของปัจเจกบุคคล โดยไม่คำนึงว่าหากสนองความต้องการดังกล่าวแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นหรือส่วนรวมอย่างไร (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 2)

ศาสนาแบบบริโภคนิยมจะเห็นได้ทั่วไปทั้งในศาสนาหลัก เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ ศาสนาใหม่ ดังตัวอย่างขบวนการเอลชัดได (ฟิลิปปินส์) และธรรมกาย ศาสนาเหล่านี้สามารถดึงดูดทั้งคนจนและคนรวย แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้คนที่ต่างฐานะทางเศรษฐกิจสังคมจะแยกการเข้าหาศาสนาที่คิดว่าเหมาะกับตนเองมากที่สุด ขณะเดียวกันศาสนาส่วนมากจะพยายามพัฒนาจุดขาย เพื่อดึงผู้ศรัทธามาให้ได้มากที่สุด และการแข่งขันผลิตสินค้าทางศาสนาเพื่อดึงเงินจากผู้ศรัทธา ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ตลาดศาสนา” โดยการใช้วาทกรรม

ซึ่งเป็นกลุ่มถ้อยคำที่ใช้แสดงความรู้หรือวิธีการนำเสนอความรู้ ถือเป็นกระบวนการการผลิตความรู้ผ่านภาษา แต่เนื่องจากปฏิบัติการในสังคมก่อให้เกิดความหมาย และความหมายนั้นย้อนกลับมามีอิทธิพลต่อปฏิบัติการที่เรากระทำ ดังนั้นปฏิบัติการต่างๆ จึงถือว่าเป็นปฏิบัติการเชิงวาทกรรม ซึ่งวาทกรรมไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะภาษา แต่การกระทำในสังคมมีมิติของความเป็นวาทกรรมอยู่ด้วย เป็นการผลิต-สร้างวาทกรรม และพยายามสถาปนาวาทกรรมที่ตนเองผลิต-สร้างขึ้นมา ให้มีอำนาจหรือครองความเป็นเจ้าเหนือวาทกรรมชุดอื่น เปรียบดังกรณีของวาทกรรมของธรรมกาย คือ การใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนามาพูดเพื่อแสวงหาผู้เลื่อมใสให้มาอยู่ใต้อำนาจ ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวคนทั่วไปอาจมองเป็นเรื่องที่เกินความจริง แต่สำหรับผู้ที่ศรัทธากลับเชื่อมั่นในคำสอน และนำไปสู่ปฏิบัติการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการถูกครอบงำผ่านตัวภาษา เช่น “ปิดบัญชีทางโลก เปิดบัญชีทางธรรม” ซึ่งใครถวายเงินมากจะมีโอกาสใกล้ชิดเจ้าสำนัก, “ต้นธรรม ต้นธาตุ” โดยหมายถึงตนเหนือกว่าพระพุทธเจ้า, “พระรุ่นดูดทรัพย์” มีไว้แล้วจะโคตรรวย โคตรรวย, “ไม่ได้ไม่มี ไม่มีไม่ได้ ไม่ได้ต้องเอาให้ได้ ต้องได้และดี และให้ดีกว่าดีที่สุด” หรือในกิจกรรมการจัดธุดงค์ธรรมชัย ก็กล่าวว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อสร้างบุญใหญ่และสิริมงคลให้แผ่นดินไทย ปัดเป่าภัยพิบัติให้แผ่นดิน แสดงความกตัญญูอย่างสูงสุด เป็นผลทำให้คนบางกลุ่มลุ่มหลงอยู่กับภาษาที่สวยงาม

คำพูดที่แฝงด้วยนัยได้อย่างแยบยล สุดท้ายก็นำไปสู่ปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย แต่นั่นกลับทำให้คนเกิดความหวังและใคร่ที่จะได้มา จนถึงขั้นกระหายในสินค้าบุญ แม้จะต้องใช้เงินเป็นสะพานถึงกับให้ทำบุญด้วยเงินมากจะบุญได้มาก ให้ขายบ้านขายรถจนคนหมดตัว อย่างไรก็ตามหนังสือที่มูลนิธิธรรมกายจัดขึ้น ยังถือเป็นเครื่องมือในการบรรจุวาทกรรมชั้นดี เพื่อการเผยแพร่หลักคำสอนของศาสนาธรรมกายในแง่ดี กล่อมเกลาให้คนมัวเมาและเชื่อตามตำรา และยังมีการนำเสนอเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ อย่าง ช่องรายการทีวี DMC หรือสื่อออนไลน์ เป็นต้น  ซึ่งสามารถแทรกซึมผ่านการสัมผัสรับรู้ได้ง่าย อันส่งผลต่อความคิดของผู้คนที่จะหันมานับถือศรัทธา และเหตุผลที่นำไปสู่ความเข้าใจของผู้ที่นับถือศาสนาธรรมกาย ทำไมจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาโดยยอมตกอยู่ในฐานะผู้ถูกครอบงำ ซึ่งเกิดจากคนมีความกลัว ในที่นี้คือการกลัวที่จะมีเสรีภาพ (Free from Freedom) โดยจะมีลักษณะบุคลิกแบบอำนาจนิยม (Authoritative personality) ทั้งยอมอยู่ภายใต้อำนาจและพร้อมกับยกย่องผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นผลจากการปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว ด้วยผ่านการสั่งสอนและการปฏิบัติให้เห็นจากพ่อแม่ว่าศาสนาพุทธเป็นสิ่งดี คือแนวทางของการดำเนินชีวิต หากเข้าวัด ทำบุญ ฟังเทศน์แล้วจิตใจจะสงบ แต่กลับมีนัยของการครอบงำให้เราปฏิบัติตามแบบแผนของศาสนา ทำให้เกิดความเชื่อและยอมปฏิบัติตาม โดยภายใต้ศาสนาใหม่แบบทุนนิยมนี้จะทำให้บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมมีตัวตนและสามารถดำรงอยู่ได้โดยปริยาย ซึ่งถือเป็นการทำให้มนุษย์ยอมอยู่ใต้อำนาจบางอย่าง

หากแนวทางของบริโภคนิยมสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณได้ ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็น แต่บริโภคนิยมกลับไม่สามารถบำบัดทุกข์ของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ซ้ำยังสร้างความทุกข์ให้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนาจะก้าวเข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์โดยไม่ยึดติดกับอดีต ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้จากศาสนาใหม่ซึ่งมีความยืดหยุ่นและฉับไวในการตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากกว่า อย่างไรก็ตามศาสนาใหม่นั้นมีแนวโน้มงเช่นเดียวกับศาสนาเก่า จนขาดชีวิตชีวาและขาดพลังในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง ดังนั้นจึงต้องพร้อมที่จะปฏิรูปตนเองอยู่เสมอ ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการตอบสนองความต้องการทางวัตถุเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของกลุ่มศาสนาเป็นอันมาก (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 3)

สำหรับศาสนาในอดีตได้มีบทบาททั้งทางด้านวัตถุ สังคมและจิตวิญญาณโดยไม่แยกจากกัน การแยกบทบาททางด้านจิตวิญญาณให้แก่ศาสนาและบทบาทวัตถุและสังคมให้แก่สถาบันทางโลก เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง การแพร่ขยายของบริโภคนิยมในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนาในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้คน การคล้อยตามบริโภคนิยมอย่างที่วัดจำนวนไม่น้อยกำลังทำอยู่ไม่ใช่ทางออกสำหรับพุทธศาสนาจะต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ทางด้านการปกครองและการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจริยธรรมและสามารถชี้นำผู้คนให้เข้าถึงความสงบสุขภายในท่ามกลางความไม่แน่นอนของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่กล่าวมาหลักธรรมดังกล่าวถูกละเลยไปจนผู้คนเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนแค่ “ทำดี ละชั่ว” เท่านั้น (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 4)

อย่างในกรณีการเช่าบูชาจตุคามรามเทพ หรือวัตถุมงคลต่างๆที่ใช้สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ จะเป็นการที่เราเข้าไปลุ่มหลงงมงายกับสินค้าทางวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่า “Culture Commodity Fetishism” โดยเป็นการสร้างมายาภาพของวัตถุ (Reification) ให้สะท้อนถึงบทบาททางด้านจิตวิญญาณของศาสนา ถึงแม้ว่าบทบาททางด้านจิตวิญญาณจะเป็นสิ่งสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็ต้องไม่ละเลยความต้องการทางด้านวัตถุและสังคมของมนุษย์ บทบาททางจิตวิญญาณต้องไม่แยกจากบทบาททางด้านวัตถุและสังคม เพราะความผาสุกทางด้านจิตวิญญาณนั้นสำคัญกับความผาสุกทางวัตถุและสังคม

ศาสนาจึงเป็นปัจจัยให้วัฒนธรรมการบริโภค รวมทั้งรสนิยมการบริโภคแบบตะวันตก สามารถรุกล้ำเข้าไปในโลกและมีอิทธิพลต่อความคิดและวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น วัฒนธรรมการบริโภคนิยมใช้เงินเป็นอุปกรณ์สำคัญ นับว่าได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลและมีผลกำหนดวิถีชีวิต และทัศนคติของผู้คนอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งกลายมาเป็นการกำหนดความสัมพันธ์ในสังคม เช่น พ่อแม่แสดงความรักต่อลูกด้วยการซื้อของราคาแพงให้กับลูกแทนที่จะให้เวลากับลูก ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนิสิตในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ ดังนั้นศาสนาแบบบริโภคนิยม จึงสามารถบรรลุได้ โดยไม่ต้องเพียรพยายาม ปัญหาชีวิตสามารถแก้ได้โดยไม่ต้องมีการลงทุนลงแรงก็สามารถเข้าถึงได้ เพียงแค่ใช้เงินเป็นเครื่องมือของบริโภคนิยมในการแก้ปัญหา

ความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปศาสนา ศาสนาสามารถทำให้เกิดความสุขสงบในจิตใจ แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งปรนเปรอทางวัตถุและความบันเทิงที่ได้มาโดยฉับพลัน ทำให้ความสุขสงบในจิตใจกลับเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ผู้คนเชื่อว่าเงินตราจะทำให้มีความสุข แต่เมื่อมีเงินมาก ชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นแต่กลับเป็นทุกข์ โดยความทุกข์ท่ามกลางความมั่งคั่งที่ทำให้ผู้คนตระหนักว่าศาสนาอาจเป็นคำตอบได้ แต่ศาสนาก็ไม่สามารถให้ความสงบอย่างที่ต้องการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยึดติดกับประเพณีและรูปแบบ ซึ่งเป็นเพียงแค่เปลือกนอกของศาสนา จนละเลยบทบาทสำคัญ ได้แก่ การบำบัดความทุกข์ทางจิตวิญญาณ ยิ่งไปกว่านั้นสถาบันศาสนายังถูกอิทธิพลของบริโภคนิยมครอบงำ ทำให้ผู้คนหมดศรัทธากับศาสนา


ปรากฏการณ์ที่นำไปสู่พุทธพาณิชย์

  • ปัจจัยทางสังคม ความเสื่อมของพุทธศาสนา

ภาพของพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำทางศาสนากับสีกา(ผู้หญิง) ที่มีความสัมพันธ์กันเชิงชู้สาว ตามที่เราเห็นจากสื่อต่างๆอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พุทธศาสนิกชนหลายฝ่ายมองว่า พระพุทธศาสนากำลังจะเสื่อมถอยลง ซึ่งเราจำเป็นที่ยอมรับข้อเท็จจริงว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่ทำให้เกิดความแตกแยก และเกิดความเสื่อมทางด้านศีลธรรม นอกจากนี้ยังมีความรุนแรง อาชญากร และยาเสพติดของนักบวชปรากฏขึ้นตามสื่ออยู่เสมอ  ส่วนฆราวาสกลับไปยึดในพิธีกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น ในที่สุดก็จะไม่เห็นคุณค่าของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อารยธรรมต่างประเทศที่ผ่านสื่อเข้ามาทั้งหลาย แล้วมาทำให้วิถีชีวิตของคนให้แสดงออกในทางความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและมีความสนใจในหลักธรรมหรือคำสอนของศาสนาน้อยลง (พลังจิต, 2549)

ซึ่งความเสื่อมของพุทธศาสนานำไปสู่การกำเนิดนิกายในศาสนา มีสาเหตุดังนี้

1. ความแตกต่างกันทางความประพฤติ การถือปฏิบัติในวินัยทางศาสนาที่นักบวช หรือศาสนิกชนแต่ละคน ประพฤติมีความแตกต่างกัน เช่น การเชื่อถือตามการสอนของอาจารย์ในคณะของตน ว่าเราควรปฏิบัติอย่างนั้น เราควรปฏิบัติอย่างนี้ โดยไม่ได้ยึดถือวินัยดั้งเดิมที่ศาสดาได้บัญญัติไว้ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่แพร่หลายทางคำสอนที่จะผ่านมา รวมถึงสาวกรุ่นหลังไม่มีโอกาสที่จะได้รับฟังโดยตรง จึงต้องฟังจากอาจารย์ ซึ่งอาจารย์บางท่านก็อาจจะประพฤติต่างจากวินัยดั้งเดิม จึงส่งผลให้ลูกศิษย์ประพฤติตามอาจารย์ไปด้วย เมื่อคณะนักบวชหลายๆคณะมีความแตกต่างกันทางความประพฤติ จึงเกิดการไม่ยอมรับความประพฤติของนักบวชจากสำนักอื่นและได้เกิดการแยกเป็นนิกายต่างๆขึ้น

2. ความแตกต่างของการตีความในคำสอน ซึ่งในคำสอนของพระศาสดาแต่ละท่าน หลังจากยุคของพระพุทธเจ้า ได้เกิดการตีความคำสอนจากสาวกรุ่นหลัง รวมไปถึงการยึดถือปฏิบัติในลักษณะที่ต่างกัน ก็เกิดการแยกเป็นนิกายขึ้น

3. ความเชื่อของชาวพุทธเกิดการเสื่อมลง ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าและขยายตัวกว้างขวาง ซึ่งระดับการเรียนรู้ของคนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน สามารถเข้าใจในส่วนของจิตวิทยาเชิงพุทธได้มากกว่าคนในอดีต และหากส่วนของความเชื่อไม่ได้ลดลง ส่วนของวิทยาศาสตร์ก็จะเห็นไม่ชัดเท่าตอนนี้ ซึ่งเป็นการแปรผันกันโดยตรง เพราะในเมื่อปัจจุบันนี้ องค์ความรู้เชิงพุทธได้มีการนำไปตีความ วิเคราะห์ในเชิงของวิทยาศาสตร์ทางจิตอย่างกว้างขวาง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และโลกก็รู้จักพุทธในส่วนของการนำมาพัฒนาระดับจิตใจ มากกว่าการนำมาใช้ได้เพียงแค่เป็นที่พึ่งทางใจแล้ว โดยเฉพาะชาวตะวันตก ซึ่งไม่ต้องมายึดติดกับส่วนของความเชื่ออย่างชาวตะวันออก จะรู้จักพุทธ ในมุมที่เป็นประโยชน์ จึงจำเป็นต้องใช้ส่วนของความเชื่อ(ศาสนา) เป็นหีบห่อเพื่อส่งต่อภูมิความรู้จากรุ่นสู่รุ่นอีกต่อไป

สรุปว่าการแตกของนิกายหรือการเกิดนิกายขึ้นมานั้น มาจากความแตกต่างทางการปฏิบัติทางพระวินัย และการเชื่อถือปฏิบัติตามธรรมะที่แตกต่างกัน กลายเป็นเหตุแห่งการแตกนิกายขึ้น การเกิดขึ้นของความคิดความเชื่อชุดใหม่ที่เลือกใช้หลักธรรมคำสอนบางอย่างมาบูรณาการผนวกเข้ากับแนวความคิดของตนเอง โดยผ่านปฎิบัติการทางวาทกรรม ที่สามารถทำให้ผู้คนหันมานับถือเลื่อมใสศรัทธาในนิกายใหม่ เนื่องจากผู้คนต่างหมดความเชื่อมั่นกับศาสนาเดิมไปแล้ว

 

  • ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ทุกพื้นที่ทางสังคมที่ตกอยู่ภายใต้เหตุผลแบบเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นรัฐ สังคม องค์กรธุรกิจ ปัจเจกบุคคลและทุกหน่วยย่อยทางสังคม ต่างก็ถูกบริหารจัดการด้วยตรรกะของเศรษฐกิจแบบตลาด แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหรือการซื้อขายด้วยเงินเลยก็ตาม  แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็สามารถถูกทำให้เป็นราวกับเป็น “บริษัท” ที่ขับเคลื่อนไปด้วยแรงจูงใจทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น (ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี, 2559)

การดำรงอยู่และขยายตัวของโลกาภิวัตน์ในช่วงเวลาสามสิบปีทีผ่านมามีความเกี่ยวข้องอันแนบแน่นกับการแพร่กระจายของแนวคิดเสรีนิยมใหม่อย่างยากที่จะปฏิเสธได้เนื่องจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ได้สร้างระเบียบที่ให้สิทธิอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจแก่ทุนและบริษัทเอกชนที่เป็นกลุ่มที่พร้อมจะขยายขอบเขตของการปฏิบัติการข้ามพรมแดนรัฐชาติตลอดเวลา พร้อมกับจำกัดบทบาทของรัฐในการเข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับปริมณฑลทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากการปฏิวัติในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่นเดียวกับแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิคที่เคยเป็นแกนกลางให้โลกาภิวัตน์ในศตวรรษที่ 19 (ตฤณ ไอยะรา, มปป)

แนวคิดเสรีนิยมคลาสสิกและเสรีนิยมใหม่ต่างมีจุดร่วมในการส่งเสริมให้ทุนทำตามตรรกะในการสร้างและขยายขอบเขตการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็ไม่สามารถรักษาสัญญาในเรื่องของการสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการบรรลุถึงเสรีภาพทางเศรษฐกิจของมนุษยชาติ อันเห็นได้จากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ความเหลื่อมล้ำในชุมชนโลกและชะตากรรมของพลเมืองโลกบางกลุ่มที่ต้องเผชิญกับภาวะไร้เสรีภาพทางเศรษฐกิจ (ตฤณ ไอยะรา, มปป)

โลกขับเคลื่อนไปด้วยเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้แนวคิดเสรีนิยม ซึ่งจะอยู่ในรูปของอุตสาหกรรม วัดหรือสถาบันทางศาสนาได้ถูกตีความและจัดอยู่ในประเภทของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Culture Industry) ที่มองว่าวัฒนธรรม ประเพณีหรือแนวทางการปฏิบัติทางศาสนา ถูกนำเข้าไปอยู่ในกระบวนการให้กลายเป็นสินค้า (Commodification Of Culture) ที่เป็นวัตถุที่สามารถจับต้องได้ ขายได้และทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างเสรี ปราศจากปิดกั้น สินค้าทางศาสนาเป็นอำนาจอ่อนอันทรงพลัง (Soft power) หรืออำนาจละมุนที่สามารถแทรกซึมผ่านผู้คนได้อย่างแนบเนียน และได้ผล สินค้าทางศาสนาถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจมีผลอย่างมาก ต่อความคิด ความเชื่อ และการยอมรับนับถือของผู้คนในสังคม  และจากที่พุทธศาสนาอยู่ในรูปแบบของ Artistic stage ที่มีศาสนาคุณค่าในตัวเอง สะท้อนถึงความงามอย่างมีศิลปะ มีสุนทรีย์แฝงอยู่ในสิ่งก่อสร้างทางศาสนา เช่น วัด อุโบสถ แต่ต่อมาด้วยภาวะของ Culture Industry ความงามนั้นค่อยๆ หายไปเป็น Industrial state คือ ในสมัยก่อนผู้คนไปวัดเพื่อชมความงามทางศิลปะของพระพุทธรูป อุโบสถ วิหาร เห็นว่าวัดมีความร่มรื่นทั้งทางกายและจิตใจสงบ แต่ในปัจจุบันผู้คนเข้าวัดเพราะจะไปสะเดาะเคราะห์ ถวายสังฆทานหรือไปรอดโบสถ์ โดยมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารอดพ้นจากภัยอันตราย มีสุขภาพแข็งแรง มีชีวิตที่ดีขึ้นมีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สร้างรายได้ให้กับพุทธพาณิชย์

นอกจากนี้ในแต่ละวัดมักจะมีกิจกรรมการทำบุญในปัจจุบัน อย่างเช่น ตู้หยอดเหรียญทำบุญอัตโนมัติ ใบเซียมซีหยอดตู้ งานวัดปิดทอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าถูกทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ( Standardization ) นำไปสู่ Mass production คือ การผลิตมวลชน การผลิตที่มีรูปแบบตามๆ กันไป และยังทำให้มวลชนกลายเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ( Mass Victimization ) ต้องตกเป็นเหยื่อการตลาดทางศาสนา อย่างเช่น การสะสมพระเครื่อง เครื่องรางของขลังต่างๆ เป็นต้น ที่จะต้องใช้การแลกเปลี่ยนเงินตราในการแลกมาซึ่งวัตถุทางศาสนา ที่เราเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งที่ทำให้เราสงบ ภายในใจได้ และวัตถุมงคลบางรายการมีมูลค่าที่สูงมาก บางวัตถุอาจมีรวมมูลค่าถึงหลักล้านแล้วแต่ความนิยมในตัววัตถุมงคล กับพระเกจิอาจารย์นั้นๆ เช่นในกรณีของตะกรุดของ วัดสายไหม ที่มีผู้คนไปเข้าแถวต่อคิวเพื่อรอรับวัตถุมงคลเป็นจำนวนมาก โดยถือว่าเป็นการแสดงภาพให้ชัดว่าพุทธศาสนาในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงวัดที่ใช้คำว่าหลักธรรมคำสอนมาใช้ในการเผยแผ่ศาสนา แต่เป็นการดำเนินการโดยใช้ความคลาดเคลื่อนของหลักคำสอนผิดไปจากเดิมในการใช้ทำให้วัดเป็นตลาดธุรกิจ

ความเชื่อเรื่องศาสนาภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบศาสนา เป็นระบบความเชื่อ และหลักปฏิบัติของผู้คน ซึ่งสืบทอดผ่านทางพิธีกรรมและคัมภีร์ทางศาสนา สิ่งที่สำคัญทำให้ศาสนาทุกศาสนาดำรงอยู่ได้ คือ การทำให้ศาสนาของตนมีความเป็นสากล (Universal religion) เป็นสัจธรรมสูงสุดที่ครอบคลุมมนุษย์ทุกคน ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับระบบทุนนิยมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ โดยมี งานวิจัยของ Peter. A. Jackson ที่ศึกษาว่าในช่วงทศวรรษ 2530 ว่าเป็นยุคศาสนาแห่งความมั่งคั่ง ซึ่งจะเน้นให้ผลตอบแทนเป็นทรัพย์สินมากกว่าการหลุดพ้นจากกิเลส โดยอิงกับกระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยมรุนแรงมากขึ้น ศาสนาแห่งความมั่งคั่งของประเทศไทยก็ยิ่งเป็นหลักเป็นฐานมากขึ้น ด้วยรูปแบบการผสมผสานความเชื่อทางศาสนาที่มายาวนานกับ พิธีกรรมป้องกันและส่งเสริมโชคชะตา ดังนั้น งานวิจัยของ Peter. A. Jackson จึงชี้ให้เห็นว่า ระบบทุนนิยมกับความเชื่อทางศาสนาสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ และงานวิจัยของ Walter Benjamin กล่าวถึงลักษณะของทุนนิยมที่มีบางอย่างคล้ายกับศาสนา โดยตั้งข้อสังเกตดังนี้ ทุนนิยมและศาสนาเป็นลัทธิที่บริสุทธิ์ โดยที่ไม่มีสิ่งที่เคร่งครัดจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นทุนนิยมและศาสนา จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่ตายตัวโดยทั้งสองขึ้นอยู่กับโอกาสและแนวคิดของแต่ละบุคคล ทุนนิยมและศาสนา มีระยะดำเนินไปอย่างมีความแน่นอนตายตัว โดยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงภายใต้สำนึกของบุคคล (พระครูสังฆรักษ์ศุภณัฐ ภูริวฑฺฒโน และ ศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์, 2559, หน้า 141)

ทุนนิยมและศาสนามีความสัมพันธ์กับระบบการเมืองการปกครองของรัฐอย่างแยกไม่ออก จะเห็นว่าระบบทุนนิยมกับความเชื่อเรื่องศาสนาสามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งเหตุผลของการดำรงอยู่ร่วมกัน คือการที่ลักษณะของระบบทุนนิยมและความเชื่อศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้นำไปใช้ แต่อย่างไรนั้นก็ใช่ว่าระบบทุนนิยมจะสอดคล้องกับความเชื่อของศาสนาเสมอไป เนื่องจากพื้นฐานของระบบทุนนิยมที่เน้นการแสวงหากำไรและสะสมทุน จึงทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ศาสนาจึงไม่สามารถรับพื้นฐานของระบบทุนนิยมได้ เนื่องจากศาสนามีพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน การดำรงอยู่ของศาสนาในยุคทุนนิยมในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การอยู่ร่วมกันเป็นเพียงการยึดโยงในกิจกรรมบางกิจกรรมเท่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมที่มีการปรับเอาแนวคิดทางศาสนามาบูรณาการกับระบบเศรษฐกิจ แบบทุนนิยม ขึ้นกับว่าสังคมนั้นจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับทุนนิยมอย่างไร (พระครูสังฆรักษ์ศุภณัฐ ภูริวฑฺฒโน และ ศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์, 2559,หน้า 141)      

แนวคิดเสรีนิยมใหม่นำมาซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก่อให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม คนหันมาบริโภคทางวัฒนธรรมมากขึ้น แนวคิดความเป็นเสรีทำให้ทุกอย่างสามารถขายได้ เป็นการเปิดกว้างทางความคิด มีสิทธิที่จะผลิตสินค้าทุกอย่างได้เพื่อสนองความต้องการของตลาด มนุษย์มีสิทธิเลือกตามความปรารถนาที่หลายหลาก การเกิดขึ้นของความเชื่อและความศรัทธาในแบบนิกายใหม่ จึงเสมือนเป็นอีกสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวพุทธได้

และแนวคิดเสรีนิยมใหม่จะชี้ให้เห็นว่าไม่มีศาสนาใดครองความเป็นหนึ่งได้ เนื่องด้วยฐานคิดปัจเจกชนนิยมที่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตามความประสงค์

ในสถานการณ์ปัจจุบันมีทั้งความพยายามที่จะคุ้มครองศาสนาพุทธด้วยอำนาจรัฐ ขณะเดียวกันเรายอมรับเสรีภาพทางศาสนา แต่กลับไม่ยอมรับความเสมอภาคทางศาสนา  เราจะพบว่าศาสนาอื่นๆ ปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่เมื่อปรากฏตัวขึ้น มันจะถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ภายใต้ศาสนาพุทธ แต่มีเพียงศาสนาเดียวที่ไม่ถูกพุทธศาสนากลืนคือ ศาสนาอิสลาม เพราะเขามีกรอบและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จะเข้าไปละเมิดไม่ได้ หากเรามองความเป็นจริง ศาสนาพุทธก็ถูกลดความสำคัญลงเช่นกัน ในทุกวันนี้คนไทยพุทธก็ฉลองวันสำคัญของศาสนาคริสต์เป็นปกติ โดยไม่ได้รู้สึกหรือตั้งคำถามว่า เบื้องหลังของเทศกาลดังกล่าวมันไม่ใช่รากของศาสนาพุทธที่ตนนับถือเลย แล้วเหตุใดจึงต้องร่วมฉลองไปกับเขาด้วย เช่น เทศกาลวาเลนไทน์หรือคริสต์มาส ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ความไร้พลังของพุทธศาสนาในประเทศไทย” ขณะที่รัฐพยายามผลักดันบทบาทและตีแผ่ภาพลักษณ์ที่ดีของศาสนาพุทธอย่างเต็มที่ แต่คนไทยพุทธกลับให้ความสำคัญกับศาสนาอื่น (นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, 2558)


สรุป

ในอดีตพุทธศาสนา ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือทางการเมือง  การปรับตัวของศาสนาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในยุคของโลกาภิวัตน์เท่านั้น แต่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การแผ่ขยายศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนดั้งเดิม กล่าวคือการแทนที่กันของศาสนา ในอดีตศาสนากับการเมืองถือเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม แต่ในปัจจุบันพลังในการขับเคลื่อนสังคมคือ เศรษฐกิจและการเมือง โดยศาสนาผีเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก พื้นฐานความเชื่อของคนในโลกมักนับถือศาสนาผีก่อนศาสนาอื่น 

ศาสนาในฐานะเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ด้วยความหลากหลายของความคิด ทำให้สิ่งที่ผู้คนในสังคมเคยยึดถือเป็นมาตรฐานควบคุมพฤติกรรม ซึ่งเราเรียกว่า บรรทัดฐาน ที่ประกอบด้วย วิถีประชา จารีต และกฎหมายต่างๆ ถูกลดความความสำคัญลง  ผู้คนมีแนวโน้มจะยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน ค่านิยมหรือแนวคิดที่เคยถูกปฏิเสธหรือต่อต้านในอดีตได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น การยึดถือความสุขทางวัตถุเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต การปฏิเสธหลักคำสอนในศาสนาหรือการแสดงตนเป็นบุคคลไม่มีศาสนา โลกาภิวัตน์ได้ลดทอนความสำคัญของศาสนาลง ซึ่งแนวคิดเสรีนิยมใหม่นำมาซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก่อให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม คนหันมาบริโภคทางวัฒนธรรมมากขึ้น แนวคิดความเป็นเสรีทำให้ทุกอย่างสามารถขายได้ เป็นการเปิดกว้างทางความคิด มีสิทธิที่จะผลิตสินค้าทุกอย่างได้เพื่อสนองความต้องการของตลาด เกิดกระบวนการทำให้ศาสนากลายเป็นสินค้า โดยมนุษย์มีสิทธิเลือกตามความปรารถนาที่หลายหลาก การเกิดขึ้นของความเชื่อและความศรัทธาในแบบนิกายใหม่ จึงเสมือนเป็นอีกสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวพุทธได้และแนวคิดเสรีนิยมใหม่จะชี้ให้เห็นว่าไม่มีศาสนาใดครองความเป็นหนึ่งได้ เนื่องด้วยฐานคิดปัจเจกชนนิยมที่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตามความประสงค์

ปัจจัยด้านอื่นที่มีผลนำไปสู่พุทธพาณิชย์  คือ ด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ โดยในด้านสังคม ศาสนาเกิดความเสื่อมจากการตีความที่ต่างกันในแต่ละยุคสมัย ส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักบวช จนทำให้คนหมดความศรัทธา ประกอบกับได้มีการเกิดขึ้นของศาสนาใหม่  ส่วนในด้านเศรษฐกิจการเกิดขึ้นของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ผ่านช่องทางจากกระแสโลกาภิวัตน์ ได้นำแนวคิดภายใต้ระบบทุนนิยมมาเผยแพร่ในสังคมโลก หลักคิดการผลิตเพื่อแสวงหากำไรและผลประโยชน์ ใช้เงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้า แม้แต่ความคิดความเชื่อในศาสนาที่ถูกแลกเปลี่ยนความศรัทธาผ่านเงินตรา ทำให้สังคมตกอยู่ในสภาวะที่ถูกครอบงำด้วยลัทธิบริโภคนิยม ศาสนาเกิดการปรับตัวให้เข้ากับปรากฏการณ์ จึงเป็นเหตุที่นำไปสู่ธุรกิจทางศาสนาหรือเรียกว่า “พุทธพาณิชย์”


 

บรรณานุกรม

ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี. (2559). มีอะไร 'ใหม่' ในเสรีนิยมใหม่: บทวิเคราะห์ชีวิตทางสังคมและผลกระทบต่อระบอบ       ประชาธิปไตย. วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จากhttps://prachatai.com/journal/2016/07

/66824

ตฤณ ไอยะรา. (ม.ป.ป.). รัฐ ตลาด และโลกาภิวัตน์ : ประวัติศาสตร์อย่างย่อของการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก.  

วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จาก https://www.tci-thaijo.org/index.php/psujssh

/article/view/64093

ธรรมะสติปัฏฐาน 4. (2561). เหตุปัจจัยอะไรทำให้ศาสนาเสื่อม. วันที่ค้นข้อมูล 30 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จาก

http://dhamma-free.blogspot.com/2010/03/blog-post_25.html

นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. (2558). ต้นฉบับบรรยายให้สภาหน้าโดม หัวข้อ ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้? :      ศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย. วันที่ค้นข้อมูล 5 กุมภาพันธ์ 2561. เข้าถึงได้จาก     https://prachatai.com/journal/2015/02/58086

พระครูสังฆรักษ์ศุภณัฐ ภูริวฑฺฒโน และศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์. (2559). มอดศาสนาภัยคุกคามที่พระสงฆ์อาเซียนต้อง        ระวัง.                 วารสารพุทธอาเซียนศึกษา, ปีที่ 1, ฉบับที่ 2 ก.ค.-ธ.ค. : หน้า 142-145.

พลังจิต. (2549). ความเสื่อมของพุทธศาสนาในไทย. วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จาก

https://palungjit.org/threads/           

ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์.(2555). พุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์ในพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติของไทย : กรณีศึกษาวัดในจังหวัด            นครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาพัฒนามนุษย์และสังคม, บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์           มหาวิทยาลัย.

มูลนิธิธรรมกาย. (2556). พุทธประเพณี The longest journey. ปทุมธานี : มูลนิธิธรรมกาย.

วชิรวัชร  งามละม่อม. (2558). ทฤษฏีภาวะทันสมัย (ModernizationTheory). วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2561.

เข้าถึงได้จาก http://learningofpublic.blogspot.com/2015/09/modernization-theory.html

ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ. (มปป). การปะทะของพุทธศาสนากับสภาวะโลกาภิวัตน์. งานวิจัยเบื้องหลังรายการ เถียงให้รู้         เรื่องทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. วันที่ค้นข้อมูล 10 กุมภาพันธ์ 2561. เข้าถึงได้จาก http://www.fes-  thailand.org/wb/media/Debate%20Show/Religion%20and%20Globalization_final.pdf

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2558). ต้นฉบับบรรยายให้สภาหน้าโดม หัวข้อ ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้? :      ศาสนาผีกับการเมือง. วันที่ค้นข้อมูล 29 มกราคม 2561. เข้าถึงได้จาก               https://prachatai.com/journal/2015/02/58086

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net