Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ไปพบเห็นการเลือกตั้งทั่วทวีปแอฟริกา ถอดบทเรียน 6 พฤติการณ์ผิดสังเกตที่อาจเป็นหลักฐานว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ไล่ตั้งแต่การมีคนมาใช้สิทธิมากเกินไป การตรวจสอบการยัดไส้บัตร มุบมิบผลการเลือกตั้งไปประกาศเอง ไปจนถึงการประกาศผลที่ล่าช้า

27 มี.ค. 2562 เอลิซาเบธ บลันท์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซี ผู้เคยไปเห็นการเลือกตั้งทั่วทวีปแอฟริกามาแล้วได้เขียนข่าวเมื่อปี 2559 ถอดบทเรียนสัญญาณการเลือกตั้งที่จะส่อว่ามีการโกง ซึ่งมีหกประการดังนี้

1. คนลงคะแนนเสียงมากจนเกินไป

อัตราผู้ไปลงคะแนนเสียงจะไม่เคยถึงร้อยละ 98 หรือ 99 แน่นอนในการเลือกตั้งที่สุจริต อย่างในประเทศกาบองและออสเตรเลียที่การลงคะแนนเสียงเป็นเรื่องบังคับ โดยเฉพาะในออสเตรเลียที่อนุญาตให้ลงคะแนนนเสียงผ่านทางออนไลน์และไปรษณีย์ และผู้ไม่ลงคะแนนเสียงจะถูกปรับ อัตราการลงคะแนนเสียงก็ยังอยู่ที่ร้อยละ 90-95 เพราะว่ากระบวนการจดทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีทางที่จะอัพเดทจนทันปัจจุบันขณะได้ จะต้องมีคนในทะเบียนเสียชีวิต ป่วย หรือต้องเดินทางอยู่ดี และแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะกระตือรือร้นอยากให้ชื่อตัวเองเข้าไปอยู่ในทะเบียนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง แต่เวลามีคนตายก็มักไม่มีใครอยากจะเอาออก ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป คนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงแต่ไม่มีชีวิตบนโลกนี้แล้วก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เอลิซาเบธเล่าว่า เธอเคยไปรายงานเรื่องการเลือกตั้งที่สามเหลี่ยมแม่น้ำไนเจอร์ โดยในบางพื้นที่มีจำนวนผู้ไปใช้สิทธิถึงร้อยละ 120 เจ้าหน้าท้องถิ่นกล่าวกับเธอว่าคนแถวนั้นมีแต่คนที่มีจิตสำนึกในหน้าที่พลเมืองและมีสุขภาพแข็งแรง สภาพที่บางเขตเลือกตั้งมีจำนวนผู้มาลงคะแนนเสียงมากกว่าผู้ใช้สิทธิเป็นสาเหตุใหญ่ของการโมฆะผลเลือกตั้งแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่

2. จำนวนผู้ไปใช้สิทธิมากเกินไปในบางเขต

ถ้าบางเขตเลือกตั้งมีจำนวนผู้ไปใช้สิทธิมากเกินหน้าเกินตาเขตอื่นก็อาจมองเป็นสัญญาณเตือนได้ อย่างเช่น เขตหนึ่งมีผู้ไปใช้สิทธิถึงร้อยละ 90 แต่เขตอื่นๆ ส่วนมากมีผู้ไปใช้สิทธิเพียงร้อยละ 70 นั่น จึงแทบจะมั่นใจได้เลยว่ามีบางอย่างแปลกๆ เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น โดยเฉพาะถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่ชื่นชอบแคนดิเดตพรรค หรือพรรคหนึ่งๆ อย่างโดดเด่น

3. มีบัตรเสียจำนวนมาก

คนที่โกงการเลือกตั้งมักมีวิธีที่แนบเนียนในการเพิ่ม รวมถึง “ลด” จำนวนคะแนนเสียง ดังนั้นเมื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งก็ควรจะต้องดูทั้งจำนวนบัตรที่เสีย ในประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำก็ไม่ควรมีบัตรเสียมากกว่าร้อยละ 5

บัตรเสียจำนวนมากอาจหมายถึงเจ้าหน้าที่เลือกคัดบัตรเลือกตั้งที่มีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยออกจากการนับคะแนนเพื่อตัดคะแนนฝ่ายตรงข้าม แม้ว่าเจตนารมย์ของผู้ลงคะแนนเสียงจะชัดเจนมากก็ตาม

4. มีบัตรเลือกตั้งเยอะเกินไป

เมื่อคูหาปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่จะนับยอดบัตรเลือกตั้งก่อนจะเปิดหีบคะแนน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนจนน่าเบื่อ โดยเจ้าหน้าที่จะนับว่าได้รับบัตรเลือกตั้งก่อนลงคะแนนมาเท่าไหร่ เมื่อปิดลงคะแนนแล้วเหลือกี่ใบ มีบัตรถูกฉีก หรือทำลายไปกี่ใบ ซึ่งตัวเลขที่ได้จะเป็นตัวบอกว่าในหีบเลือกตั้งมีบัตรที่ลงคะแนนกี่ใบ ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะต้องตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ

หลังจากเปิดหีบนับคะแนน สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนนับคะแนนก็คือนับว่ามีบัตรลงคะแนนในนั้นกี่ใบ และหากการนับบัตรเลือกตั้งในหีบมีจำนวนไม่สอดคล้องกับสมการข้างต้น หรือมีจำนวนบัตรในหีบลงคะแนนมากกว่าจำนวนที่เจ้าหน้าที่ได้รับ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการยัดไส้บัตรลงคะแนน เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะยกเลิกการเลือกตั้งแล้วจัดใหม่

5. ผลการเลือกตั้งที่ประกาศไม่ตรงกัน

โทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้มีส่วนช่วยให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น การอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งรวมถึงผู้ลงคะแนนเสียงมานั่งดูและถ่ายภาพผลการนับคะแนนการเลือกตั้งเอาไว้ถือเป็นแนวปฏิบัติตามมาตรฐาน เพื่อเป็นหลักฐานเผื่อว่าการประกาศผลการเลือกตั้งที่จะได้รับการประกาศจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายหลังไม่ตรงกับที่นับไว้เดิม

ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศโตโก ส.ส. ของพรรคท้องถิ่นเล่าให้เอลิซาเบธฟังว่าพวกเขาเคยไปสังเกตการณ์การนับคะแนนเมื่อปี 2548 และเป็นคนรับรองผล แต่ผลที่ได้รับการประกาศผ่านวิทยุภายหลังนั้นถูกเปลี่ยน เรื่องเดียวกันเกิดขึ้นใน จ.คาทังก้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปี 2554 ที่ผลการเลือกตั้งที่ถูกประกาศผ่านวิทยุไม่ตรงกับผลที่คณะสังเกตการณ์นานาชาติเห็นที่คูหา แต่การตรวจสอบความโปร่งใสในลักษณะนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีตัวเลขการนับคะแนนรายคูหา

6. การประกาศผลการเลือกตั้งล่าช้า

แม้การประกาศผลล่าช้าจะไม่ใช่สัญญาณการโกงเลือกตั้งเสมอไป แต่บ่อยครั้งก็เกี่ยวข้องกัน กกต. โดยเฉพาะในแอฟริกาสามารถใช้เวลายาวนานเกินปกติในการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบการสื่อสาร หรือเครื่องไม้เครื่องมือการส่งสัญญาณเพื่อการสื่อสารย่ำแย่ ทำให้การประกาศผลเลือกตั้งใช้เวลานาน เนื่องจากเจ้าหน้าที่เองก็มีปัญหาในการใช้เครื่องมือ

ในบริบทเช่นว่า การประกาศผลการเลือกตั้งมักประกาศในแบบดั้งเดิม ก็คือพิมพ์ใส่กระดาษแล้วนำขึ้นรถไปโดยมีตำรวจอารักขา ซึ่งการใช้เวลานานเช่นนั้น ข้อกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้งก็ลือกันไปทั่วแล้ว

การใช้เวลานานกว่าจะประกาศผลเลือกตั้งนั้นเป็นอันตรายอย่างแน่นอน เพราะว่าระยะเวลาจะเติมเชื้อไฟให้ข่าวลือเรื่องผลการเลือกตั้งถูกปรับแก้ (massaged) ก่อนจะประกาศ ส่งผลให้ความตึงเครียดมากขึ้น ทั้งนี้ การประกาศผลที่เนิ่นช้านี้ไม่ใช่หลักฐานการโกงการเลือกตั้งที่โต้เถียงไม่ได้เสียทีเดียว

แปลและเรียบเรียงจาก

Vote rigging: How to spot the tell-tale signs, BBC, Sep. 2, 2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net