Skip to main content
sharethis

3 นักวิชาการวิเคราะห์ปัจจัยชัยชนะของเพื่อไทยในภาคอีสานที่กวาดที่นั่งไปถึง 84 จาก 116 เขตเลือกตั้ง ผ่านบริบทอุบลราชธานี อุดรธานีและมหาสารคาม ชี้ ฐานเสียง พท. ยังแน่นกว่าพรรคอื่น บัตรสวัสดิการไม่จูงใจคนกุมสถานภาพเศรษฐกิจ-คนรุ่นใหม่ คนยังเลือกเพราะหวังสู้ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง เสื้อแดงที่อ่อนแรงกำลังเจอกับโจทย์ใหม่เมื่อการเมืองอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบเกือบแปดปีของราชอาณาจักรไทย กลายเป็นโพลวัดความนิยมระดับชาติของพรรคการเมืองทั่วประเทศ ในภาคอีสาน จำนวน 20 จังหวัด 116 เขต ถือเป็นภาคที่มีเขตเลือกตั้งมากที่สุดในประเทศ พบว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) กวาดที่นั่ง ส.ส. ไปได้มากที่สุดถึง 84 คน รองลงมาเป็นพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 16 คน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 11 คน ประชาธิปัตย์ (ปชป.) 2 คน และชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา อนาคตใหม่ (อนค.) อย่างละ 1 คน (อ้างอิงข้อมูลจาก: elect.thematter.co)

จากชัยชนะร้อยละ 72.4 ของทั้งพื้นที่ยังฐานที่มั่นของเพื่อไทยในภาคอีสาน แต่ภายใต้ระบบการเลือกตั้งปัจจุบัน ที่คะแนนเสียงของผู้แพ้ในแต่ละเขตจะนำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อซึ่งจะมีผลต่อไปในการเมืองระดับประเทศที่ตอนนี้กำลังฝุ่นตลบ

จะเห็นว่า แม้ พท. จะได้อันดับหนึ่งในหลายเขตของภาคอีสาน แต่ก็มี พปชร. อนค. ภท. เวียนวนกันขึ้นแท่นอันดับ 2-4 บางเขตเฉือนชนะกันหลักพันคะแนนก็มี เสียงมหาชนเช่นนี้อาจเป็นสัญญาณว่าฐานที่มั่นของ พท. ถูกบ่อนเซาะลงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

ประชาไทชวน 3 นักวิชาการจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอ่านปรากฏการณ์การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ผ่านผลเลือกตั้งในจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม ถึงปัจจัยที่ทำให้ พท. ชนะ และตัวแปรที่อาจทำให้ภูมิทัศน์ความนิยมชมชอบของพรรคการเมืองเปลี่ยนไป

อุบลราชธานี: เปลี่ยนเขตเลือกตั้ง ย้ายพรรคมีผล แต่คนยังเลือก พท. เพราะหวังแก้ความไม่เป็นธรรม

อุบลราชธานีในการเลือกตั้งครั้งนี้มี 10 เขต โดย พท. ได้ที่นั่งไป 7 ปชป. ได้ 2 และ พปชร. ได้ 1 ที่นั่ง ผศ.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิชาการที่ศึกษาการเคลื่อนไหวทางการเมืองคนเสื้อแดงในอีสาน ล่าสุดเธอกำลังทำวิจัยเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้ง และความพยายามระงับซึ่งความรุนแรง มองปรากฏการณ์การเลือกตั้งในอุบลราชธานีว่าการที่เพื่อไทยชนะถึงเจ็ดเขตนั้นถือว่าสะท้อนฐานเสียงตัวเองเอาไว้ได้ท่ามกลางความท้าทายหลายอย่าง ทั้งจากการปรับเขตเลือกตั้งจาก 11 เหลือ 10 เขต อย่างชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ที่มีฐานอยู่ที่ อ.ตระการพืชผลก็ต้องย้ายไปอยู่ที่ อ.โขงเจียม รวมถึงการที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และภูมิใจไทย (ภท.) สามารถทำแคมเปญได้อย่างเสรี พปชร. มีการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ในอุบลฯ ถึงสามครั้ง ในขณะที่ พท. จัดครั้งเดียว และมีปราศรัยเล็กอีกสองสามครั้ง และเมื่อหาเสียงด้วยการลงพื้นที่ก็ถูกทหารติดตาม ช่วงใกล้โค้งสุดท้ายของการหาเสียงก็มีการส่งหน่วยในเครื่องแบบไปตามหมู่บ้านแกนนำ ในขณะที่ไม่มีรายงานว่าพรรคอื่นโดนลักษณะเดียวกัน

จากที่เธอสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าชาวบ้านก็รู้ว่ามีความพยายามจะซื้อเสียง แต่ผลการเลือกตั้งก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเสียงนั้นซื้อไม่ได้ เวลา พท. ชนะก็ชนะขาดพอสมควร ยกเว้นเขตที่หนึ่งที่ชนะแค่หลักพันคะแนน และเธอได้ยินมากับตัวเองว่า พท. ประกาศชัดว่าไม่แจกเงิน ถ้าใครอ้างว่า พท. แจกเงินให้แจ้งตำรวจทันทีและแจ้งพวกเขาด้วย การชนะของ พท. จึงสะท้อนว่าประชาชนฐานเสียงเก่าพร้อมที่จะช่วยพรรค

เสาวนีย์มองปัจจัยที่ทำให้ พท. ชนะ ส่วนหนึ่งมาจากความผูกพันระหว่างฐานเสียงกับพรรคที่มีมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ฐานเสียงที่เป็นชาวไร่ ชาวนา แรงงาน กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีอายุ 40-70 ปีนั้นล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกันกับพรรค อีกปัจจัยหนึ่งคือความสัมพันธ์ของ ส.ส. ในพื้นที่กับฐานเสียง ซึ่งเป็นปัจจัยที่แข่งขันกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพรรคการเมือง อย่างกรณีของสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส. เพื่อไทยที่ย้ายไปพลังประชารัฐ ชาวบ้านก็บอกว่าไม่เดือดร้อน  พท. ก็ส่งคนใหม่มาลงคือคนที่เคยเป็น ส.จ. ปรากฏว่าได้คะแนนสูงสุดในจังหวัด ได้ถึง 4 หมื่นกว่าเสียง ในขณะที่สุพลส่งลูกสาวลงก็ได้แค่สองหมื่นกว่าเสียง ชนะกันถึงสองหมื่นคะแนน สิ่งนี้ก็เป็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้ผูกขาดกับตัวบุคคลเดิม

เสาวนีย์มองว่าคนอุบลฯ ส่วนใหญ่สนใจนโยบายเศรษฐกิจเพราะยังต้องต่อสู้ดิ้นรนหารายได้ จะสนใจนโยบายเศรษฐกิจที่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ใช่แค่เอาเงินมาให้ ทว่า เอาเข้าจริงก็ยังคิดว่าความผูกพัน ความเชื่อมั่นในพรรคมีบทบาทมากอยู่  ส่วนตัวยังเชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นชาวบ้านที่เลือก พท. คือคนที่รู้สึกนิยมในนโยบายพรรคตั้งแต่สมัยไทยรักไทย และมองว่าคนและพรรคที่เขาเลือกไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง ถือเป็นสารที่เขาอยากจะสื่อว่าคนที่เขาเลือกยังไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่า พท. จะออกนโยบายอย่างไรก็ไม่สำคัญ ยังมองว่า พท. โดนแกล้งในเวทีเลือกตั้ง ยังเห็นความไม่เป็นธรรมตรงนี้อยู่ การเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรัก มากกว่านโยบายด้วยซ้ำ

ส่วนกรณีที่ ปชป. ชนะสองเขตนั้นพบว่าในเขต อ.พิบูลมังสาหาร (เขต 8) นั้นชนะกันน้อย สามอันดับแรกมีผู้ลงคะแนนเสียงให้หลักสองหมื่นทั้งนั้น ส่วนเขต 2 อ.เขื่องในยังคงเหนียวแน่นกับตระกูลนามบุตรที่เป็น ส.ส. พรรค ปชป. อยู่ แต่ก็พบว่า พท. ได้คะแนนมาเยอะเหมือนกัน ดังนั้นอาจมีสิทธิจะหลุดได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วน อนค. นั้น ได้คะแนนเยอะขึ้นมาพอสมควร คิดว่าได้จากคนที่โหวตเป็นครั้งแรก คนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนแนวคิดของพรรคและธนาธรเรื่องการต่อต้านเผด็จการ ผู้ที่ชื่นชอบเพื่อไทยแต่มองหาตัวเลือกอื่น ไปจนถึงกลุ่มเสื้อแดงที่เป็นสายวิชาการ แต่ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป นโยบายของ พท.และความผูกพันกับพรรคยังเป็นปัจจัยสำคัญ

ส่วนบทบาทของกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น อาจารย์ ม.อุบลฯ มองว่ามีส่วนทำให้ฐานเสียงตัดสินใจเลือก พปชร. แต่ไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ มีการพูดถึงโครงการต่างๆ เวลา พปชร. มาพูดก็จะบอกว่ารัฐบาลทำแบบนี้ พ่อใหญ่ประยุทธ์ให้บัตร เท่าที่เก็บข้อมูลก็พบว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เป็นหัวคะแนนให้ พปชร. เยอะ ทั้งนั้น ความสัมพันธ์ในระดับหมู่บ้านนั้นเป็นระบบเครือญาติหรือคนรู้จักกัน เวลาอยากได้คะแนนเสียงก็ขอเอาเช่น บ้านมีห้าคนก็ขอให้กา พปชร. สองคน ไม่จำเป็นต้องชนะเขตแต่ขอเล็กๆ น้อยๆ เป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

สืบเนื่องจากงานวิจัยที่เธอทำ มีข้อสะท้อนว่าความรุนแรงในช่วงการเลือกตั้งนั้นเห็นได้ว่ามีการข่มขู่ มีการที่ทหารไปบ้านแกนนำแล้วทำให้แกนนำรู้สึกไม่สบายใจ หรือไปที่บ้านนักการเมืองฝ่ายเพื่อไทย  กกต. ไปตรวจสอบจนทำให้รู้สึกว่าโดนจับผิด มีการใช้กลไกรัฐไปบีบบังคับ หรือไปแจกเงินแล้วบอกให้คนโหวตให้ ไม่เช่นนั้นโครงการจะหายไปถ้ารัฐบาลไม่ได้กลับมา คนแก่ที่อยู่ติดบ้านไม่รู้อะไรก็จะกลัว

อุดรธานี: คนกุมชีวิตทางเศรษฐกิจครอบครัวมองหาอย่างอื่นมากกว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

อุดรธานีในปีนี้มีทั้งสิ้น 8 เขตเลือกตั้ง โดย พท. ชนะทุกเขต สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี นักวิชาการที่มีบทบาทในประเด็นการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมในภาคอีสาน กล่าวว่า สำหรับอุดรธานีนั้นไม่เกินความคาดหมาย ด้วยฐานคะแนนเดิมของ ส.ส. เก่ายังเป็นที่ไว้ใจและผูกพัน แต่ก็มีคะแนนจากพรรคการเมืองอื่นสอดแทรกมาบ้างทั้ง พปชร. ภท. อนค. แต่ก็ถือว่ายังเป็นเพื่อไทยที่ยังมีชัยชนะเด็ดขาด แม้ว่า พปชร. จะมีทีเด็ดเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเงิน อสม. หรือเบี้ยคนชรา แต่กลุ่มดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยังมีกลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรก กลุ่มคนที่เป็นคนกุมสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวอย่างคนที่ทำงานส่งเงินให้พ่อแม่ หรือเกษตรกรก็หวังว่าชีวิตจะดีขึ้นหากราคาผลิตผลการเกษตรดีขึ้นที่อยากเห็นการมีงานและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมากกว่าแค่มีบัตรสวัสดิการ ซึ่งรัฐบาล คสช. ปัจจุบันไม่ได้ช่วยเรื่องนี้ รายได้ภาคเกษตรตก ราคายาง ข้าว อ้อยตก

ต่อคำถามว่าความเข้มแข็งของกลุ่มคนเสื้อแดงในอุดรธานีมีส่วนกับชัยชนะของ พท. แค่ไหน สันติภาพมองว่ากระบวนการเข้มแข็งของคนเสื้อแดงนั้นลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับผู้สมัคร ส.ส. น่าจะมีผลมากกว่า ลักษณะของอีสานก็คล้ายๆ แบบนี้ในจังหวัดอื่น ที่ต้องดูว่าความคิดความอ่านทางการเมืองจะเป็นอย่างไรในอนาคต ทั้งนี้ก็ยังคิดว่าบทบาทสำคัญที่สุดอยู่ที่ ส.ส. ในพื้นที่ อย่าง อนค. ที่เป็นพรรคใหม่ก็มีคนสนใจเยอะ แต่คุณภาพของ ส.ส. ที่จะเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงยังไม่ถึง ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองที่ทำให้พรรคใหม่ๆ มีโอกาสหาคนที่มีคุณภาพพอจะเป็น ส.ส. ได้ลำบากไม่ว่าจะจากเรื่องช่วงเวลาส่งคนรับสมัครหรือความมั่นใจในสมาชิกพรรคที่จะสมัคร แต่ครั้งนี้ก็เป็นนิมิตรหมายอันดีเพราะคนเลือกพรรคจากนโยบายพรรคมาก ถ้าต่อไปมีกระบวนการพิจารณา กลั่นกรองผู้สมัครที่ชาวบ้านมั่นใจ ก็มั่นใจว่าเพื่อไทยก็สั่นสะเทือนได้เหมือนกัน

อาจารย์ ม.ราชภัฏอุดรฯ กล่าวว่า ในระดับนโยบายนั้น พรรคการเมืองอย่าง พท. อนค. และ ภท. ไม่ได้นำเสนอนโยบายระดับท้องถิ่น และคิดว่าพลังคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับนโยบายของ อนค. หรือแนวนโยบายของพรรค ภท. ที่ไม่ค่อยมีภาพความขัดแย้ง ก็อาจเป็นเหตุผลให้พรรคเหล่านี้ได้รับความสนใจ ในส่วนคนรุ่นใหม่นั้น สันติภาพมองว่าพวกเขามีแนวคิดทางการเมืองต่างออกไป หากนักการเมืองปราศรัยด่า ส.ส. พรรคอื่นแบบเดิมก็คงไม่ฟัง แต่พวกเขาจะฟังว่าการปราศรัยทางการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตเขาไหม เช่นในด้านความเป็นอยู่ โอกาสในชีวิต สมัยเมื่อสิบปีที่แล้วเคยถามนักศึกษาว่าสนใจเลือกพรรคไหนเขาก็บอกว่าไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วแต่พ่อแม่บอกว่าจะให้เลือกใคร แต่ทุกวันนี้กลับกัน เขาบอกเลยว่าสนใจพรรคไหน แถมโทรบอกพ่อแม่ด้วยว่าจะเลือกพรรคไหน

สันติภาพทิ้งท้ายว่าอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาคอีสาน แม้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพรรคนำมาซึ่งชัยชนะของ พท. ในวันนี้ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ และยังหวังว่าการเมืองไทยจะพัฒนาต่อไปได้

“คิดว่าเรื่องสำคัญคือเราเห็นการเมืองที่เปลี่ยนแปลง เราเห็นว่ามันไม่ใช่ว่าพรรคอื่นไม่มีโอกาสสำหรับภาคอีสาน อยู่ที่ว่าคุณสามารถจะตอบสนองความคาดหวังของประชาชนได้อย่างไร แต่เรื่องความสัมพันธ์ ความผูกพันกับพรรคเดิมยังมีอยู่ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ อาจจะมีการเมืองแบบใหม่ เรื่องซื้อสิทธิ์ขายเสียงก็ลดลง แทบไม่มีใครพูดถึง ก็อาจเป็นมิติใหม่ๆ เหมือนกัน เรื่องของความไม่โปร่งใส ข้อบกพร่องที่เห็นจากกระบวนการประกาศผลคะแนนหรือ กกต. ก็พูดกันเหมือนที่ที่อื่นเขาพูด ถึงกระนั้นผลของคะแนนก็ยังสะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอยู่ดี จึงอยากเห็นว่าถ้าเราพยายามที่จะช่วยกันพัฒนาการเมืองให้สะอาด โปร่งใส และยึดถือเอาสิ่งที่ต้องสู้กันในทางนโยบาย คุณภาพของคน ผู้นำและการทำงานของพรรคที่มันเชื่อมโยงกับประชาชนได้จริง ก็จะทำให้การเมืองไทยพัฒนาไปอีกเยอะ” สันติภาพกล่าว

มหาสารคาม: ฐานมวลชนเป็นสมการหลักที่พรรคอื่นหวังแย่ง พท. แต่ยังไม่ชนะ

มหาสารคามในการเลือกตั้งครั้งนี้มี 5 เขต และ พท. ชนะทุกเขต รศ.สมชัย ภัทรธนานันท์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า  พท. ชนะในพื้นที่ จ.มหาสารคามมาโดยตลอดอยู่แล้ว การกวาดชัยชนะทั้งจังหวัดรอบนี้เป็นเรื่องธรรมดา และวิเคราะห์ว่าคู่แข่งของ พท. ไม่มีฐานมวลชนที่แน่นหนาและกว้างขวางครอบคลุมเท่ากับ พท. พรรคอย่าง พปชร. ที่คิดว่าจะได้รับความนิยมเพราะมีบัตรสวัสดิการคนจนมาช่วย หรือนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำไว้ก็ยังห่าง คู่แข่งที่จะมีผลกับ พท. ต้องมีฐานเสียงแน่นแล้วบวกกับอะไรบางอย่าง เช่น นโยบาย อย่าง อนค. ที่ได้คะแนนเสียงหลักหมื่นก็ยังถือว่าได้ แต่จะไปชนะก็ยังยากเพราะ อนค. เริ่มจากศูนย์ ถ้าหากมีฐานอยู่ก่อนก็จะใกล้เคียงกว่านี้ แต่ในระยะยาวก็อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก พท. โดนดึงคะแนนออกไปเช่นกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเขามองว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาวบ้านเปิดรับนโยบายกว้างกว่าสมัยไทยรักไทย การมีเวทีดีเบตผ่านโทรทัศน์ก็ทำให้พรรคการเมืองได้คะแนนขึ้นมา

“แต่ถ้าวิเคราะห์ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในการออกเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ไหม และระยะยาวจะเป็นอย่างไร ถ้าสังเกตดูทั้งภาคอีสานจะเห็นภาพที่คะแนน พท. ถูกดึงออกไป แต่เขาก็ยังนำอยู่เพราะจุดเริ่มต้นต่างกันมาก เขาจะถูก อนค. ดึงออกไปเพราะกระแสมาแล้ว ถ้าคนขยันทำงานในพื้นที่ก็จะได้คะแนนเยอะ ไม่ที่สองก็ที่สาม ส่วน พปชร. ก็ดึงไปส่วนหนึ่ง แต่ดูอีสานโดยรวมเขาได้จากจังหวัดที่เขาดูด หรือเอาตัวจากฝั่ง พท. หรือพรรคอื่นที่มีฐานพอประมาณอยู่แล้วมา ผลคะแนนแม้ไม่เป็นทางการแต่พอเห็นทิศทางว่า พท. ชนะ บางเขตเคยได้หกหมื่น ตอนนี้ได้สามหมื่นแต่ก็ยังชนะอยู่”

ในส่วนอิทธิพลของกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่อชัยชนะของ พท. นั้น สมชัยมองว่ามีแต่ไม่เหมือนเดิม คิดว่าตอนพีคที่สุดคือปี 2553 หลังจากนั้นคนที่เป็นเสื้อแดงก็เริ่มคิดว่าการต่อสู้ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดคิดไว้อย่างเดียว มันมีต้นทุนค่อนข้างสูง ไปแล้วอาจจะติดคุก บาดเจ็บ ล้มตาย เขาก็เจ็บปวด ได้รับความเสียหายแต่ก็ยังฮึดอยู่ สมัยยิ่งลักษณ์ก็ยังเหมือนจะไปสวยอยู่ แต่หลังจากนั้นมาความผิดพลาดที่ไปผลักดันนิรโทษกรรมสุดซอย มาเจอพลัง กปปส. แล้วเจอรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็เกิดภาวะว่าการเดินหน้าต่อไปไปตามรูปแบบที่ว่า เลือก พท. ชนะขาด ได้จัดตั้งรัฐบาลแล้วค่อยตั้งนโยบายนั้นไม่ได้ง่าย บางส่วนก็เริ่มเหนื่อย ทำให้เริ่มคิดมองหาพรรคทางเลือก จุดนี้ทำให้ อนค. มีที่ยืน เพราะความคิดชาวบ้านก็เปลี่ยน เช่น ถ้าคุณปราศรัยแบบไฮปาร์คสมัย นปช. ชาวบ้านไม่ชอบฟังแล้ว เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเก่า ควรพูดไปข้างหน้าได้แล้ว การจะมาพูดแบบโจมตีไปมาเขารู้สึกเหนื่อยที่จะฟัง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นแบบนี้ บางคนก็ไปชอบคุณธนาธรเพราะเขาไม่ด่าใคร ถ้าเทียบสไตล์ที่ธนาธรพูดกับที่ นปช. พูดก็ไม่เหมือนกัน นี่เป็นที่ทำให้ อนค. มือเปล่าแต่ได้คะแนนหลักหมื่น

สิ่งที่สมชัยฝากทิ้งท้ายก็คือ ในระดับชาติ คะแนนที่ออกมายังไม่แน่นอน ใบสีต่างๆ ยังไม่ออก ยังมีโอกาสที่จะออกอย่างไรก็ได้ แต่โอกาสที่จะโดนฝ่ายเดียวก็มีสูง คะแนนเสียงที่นั่งคุยกันวันนี้ เมื่อถึงวันที่ 9 พ.ค. (กกต. ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ) จะเหลือเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้ แต่ท้ายที่สุดคิดว่าจะก้ำกึ่ง อยู่ได้ไม่นาน ฝ่าย พปชร. หากได้เสียงข้างมากก็มองว่ายุ่ง จะแบ่งเก้าอี้อย่างไรลงตัว ถึงแบ่งเก้าอี้ลงไปแล้ว จัดตั้งรัฐบาลไปแล้วก็จะมีเรื่องยุ่งตามมา พรรคดูดแบบนี้ดูดคนมาไม่รู้กี่แก๊ง แล้วยังไปตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคอื่นเข้ามาอีก ถ้าคนเป็นนายกฯ ไม่เก่งจริงก็เอาไม่อยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net