Skip to main content
sharethis

'หมอนิธิ' เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในราชกิจจานุเบกษาเรื่องการจัดซื้อวัคซีนว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งราชวิทยาลัย ด้าน อนุทิน เผยเพิ่งทราบประกาศและขอถาม วิษณุ ก่อนว่าขัดหลักกฎหมายหรือไม่ พร้อมเผยว่ารู้เรื่องนัดแถลงข่าวการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มแล้วก่อนหน้านี้

27 พ.ค. 2564 วันนี้ (27 พ.ค. 2564) เวลา 10.42 น. ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda ชี้แจงกรณีประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศวันที่ 18 พ.ค. 2564 ในราชกิจจานุเบกษา ลงนามโดย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยระบุว่า ราชวิทยาลัยฯ จะช่วยจัดหาวัคซีนตัวเลือกเพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 เพียงพอ และเมื่อประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 จนมีใช้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาดของโรคแล้ว ราชวิทยาลัยฯ จะค่อยๆ ลดจำนวนวัคซีนตัวเลือกลง โดยราชวิทยาลัยเป็นส่วนงานที่ยังคงต้องดำเนินการตามกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า ร่วมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน อีกทั้ง ประกาศดังกล่าวนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งราชวิทยาลัย และเป็นภารกิจ 'ปกติ'

นอกจากนี้ นิธิ ยังระบุว่า สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีความเห็นว่าการจัดหาวัคซีนตัวเลือกเป็นไปเพื่อสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ

 

ในวันเดียวกันนี้ สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดอะสแตนดาร์ด และข่าวสดออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พรุ่งนี้ (28 พ.ค. 2564) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะจัดแถลงข่าว แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม' ที่ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7 เวลา 13.30 น.-14.30 น. โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” ซึ่งมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อย่างไรก็ตาม เมื่อเช้าวันนี้ (27 พ.ค. 2564) อนุทิน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย inside thailand ถึงกรณีการนำเข้าวัคซีนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าตนเพิ่งเห็นประกาศเมื่อคืนนี้ และขอไปตรวจสอบรายละเอียดข้อกฎหมายกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก่อน

"ผมได้รับการเชิญจากคุณหมอนิธิ มหานนท์ ให้เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวนโยบายเรื่องการนำเข้าและบริหารจัดการวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นอาทิตย์แล้ว ส่วนประกาศที่ออกมาเมื่อวาน เดี๋ยวผมต้องไปถามอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก่อนว่าเป็นอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำตัวอย่างไรเมื่อมีประกาศเหล่านี้ออกมา เพราะว่าผมก็เพิ่งเห็นประกาศนี้เมื่อวานจากไลน์ของผม ซึ่งจริงเท็จอย่างไรก็ต้องไปเช็กกับทางฝ่ายกฎหมายก่อน" อนุทิน กล่าว พร้อมระบุว่าหมายเชิญสื่อมวลชนให้ร่วมรับฟังการแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ เป็นกำหนดการเดิมและไม่เกี่ยวข้องกับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้

อนุทิน กล่าวต่อไปว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีความตั้งใจจะนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มก่อนหน้านี้ โดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของซิโนฟาร์มได้ส่งเอกสารทั้งมาให้องค์การอาหารและยา (อย.) พิจารณารายละเอียดแล้ว โดยเลขาธิการ อย. แจ้งกับตนว่าคณะกรรมการ อย. จะมีการพิจารณาและอนุมัติซิโนฟาร์มตามกระบวนการปกติ หากเอกสารครบก็จะดำเนินการอนุมัติ ซึ่งวัคซีนซิโนฟาร์มได้รับการขึ้นทะเบียนจากรัฐบาลจีนและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

(คลิป) อนุทิน ชาญวีรกูล ให้สัมภาษณ์เรื่องการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นาทีที่ 37.52

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เคยขอนำเข้าวัคซีน 'สปุตนิกวี'

ก่อหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 อนุทิน เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เข้าพบ เพื่อหารือเรื่องการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 'สปุตนิกวี' (Sputnik V) เพื่อการวิจัยและการใช้แบบฉุกเฉิน และการศึกษาวิจัยทางคลินิกของวัคซัคซีน 'สปุตนิกไลท์' (Sputnik Lite) รวมถึงความร่วมมือในการจัดทำพาสปอร์ตวัคซีน โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมหารือด้วย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ระบุว่าบริษัท จุฬาวัฒน จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้นำเข้าวัคซีนสปุตนิกวี และยื่นขออนุญาตจาก อย.

ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่า บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด เตรียมนำเข้าวัคซีนสปุตนิกวีจากประเทศรัสเซีย เพื่อนำมาใช้เป็นวัคซีนทางเลือกแบบฉุกเฉิน โดยทางบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท จุฬาวัฒน ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการประสานเรื่องความต้องการวัคซีน พร้อมระบุว่า บริษัทได้ส่งเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทาง อย. ไปตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าหากทาง อย. ขึ้นทะเบียนรับรองแล้ว จะสามารถนำเข้าได้ภายในเดือน พ.ค. 2564 จำนวน 1 ล้านโดสในเบื้องต้น แต่ในวันที่ 13 พ.ค. 2564 สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า นพ.นิธิ ได้ออกมาชี้แจงว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (27 พ.ค. 2564) สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. ชี้แจงว่าวัคซีนสปุตนิกวีที่บริษัท คินเจน ไบโอเทค ยื่นขอจดทะเบียนเข้ามานั้น ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. เนื่องจากเอกสารที่บริษัทส่งมานั้นยังไม่ครบ ซึ่งยังคงขาดข้อมูลสำคัญ ได้แก่ กระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพของวัคซีน ความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน แผนการจัดการความเสี่ยงของวัคซีน หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตวัคซีน (GMP) หากทาง อย. ได้รับเอกสารข้อมูลครบถ้วนก็จะสามารถพิจารณาอนุมัติวัคซีนได้ภายในเวลา 30 วัน โดยเริ่มนับเมื่อ อย. ได้รับเอกสารครบถ้วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net