Skip to main content
sharethis

3 ส.ส. พรรคเพื่อไทย 'จุลพันธ์-จักรพล-กฤษฎา' อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รวมถึงสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้บริหารสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว พาเศรษฐกิจทรุด การท่องเที่ยวพัง ไร้การเยียวยาภาคธุรกิจและแรงงาน

1 ก.ย. 2564 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ อภิปรายไว้ใจวางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ชี้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำพังพินาศ ชี้ 4 ประเด็น ได้แก่ GDP ตกต่ำตลอด 8 ปี, ตัวเลขตกงานเป็นประวัติการณ์ ยอดคนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจพุ่ง, ประเทศไทยรั้งท้ายฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากพิษโควิดช้าที่สุด 8 เป็น “คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และประเทศไทยหนี้ท่วม

“ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ แต่งตั้งตัวเองเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ผลคือ... กราฟร่วง แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ติดลบ 1.5 ถึง 0” จุลพันธ์กล่าว

ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ 2% ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากไทยกลับสามารถคงระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ในระดับ 5-8% ต่อปี แปลว่า วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อเจอกับวิกฤตโรคระบาดและผู้นำที่ไม่มีความรู้ในการบริหารเศรษฐกิจ กราฟก็ยิ่งดิ่งเหวเข้าไปใหญ่

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยปีนี้ ชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 0.5-0 % ขณะที่รายงานสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศโดยสภาหอการค้า พบว่ากว่า 70% ของนักธุรกิจต่างประเทศคาดว่าว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัวได้น้อยกว่าศูนย์ หมายความว่า หลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ ติดลบแน่นอน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกภาพรวม หดตัวจากภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ -3.2% แต่ประเทศอื่นที่สามารถกระจายการฉีดวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมกลับมาขยายตัวได้ถึงในระดับ 6% (และจากปรากฏการณ์ Rebound Effect) แต่ประเทศไทยจะย่ำแย่กว่าใครในโลก เพราะไม่มีมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถจัดการกับโรคระบาดได้ทันท่วงที

สิ่งที่น่ากลัวคือ ประเทศไทยเติบโตแบบติดลบถึงสองปีติดกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เอาไปบอกนักเศรษฐศาสตร์ในโลกคนไหนว่ารัฐบาลไทยสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยโตติดลบสองปีต่อเนื่องได้ ก็ไม่มีใครเชื่อ

“เมื่อเห็นตัวเลขเปรียบเทียบเช่นนี้แล้ว พลเอกประยุทธ์จะยอมรับได้หรือยังว่านี่คือความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของท่านที่ไม่อาจให้อภัยได้ ความตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ พลเอกประยุทธ์จะอ้างสถานการณ์โควิด19 ไม่ได้เลย ต้องโทษพลเอกประยุทธ์ที่บริหารงานผิดพลาดไม่สามารถบริหารจัดการวัคซีนที่มีคุณภาพให้ได้ทันท่วงที จนนำไปสู่ความ พังพินาศทางเศรษฐกิจเหมือนเช่นในขณะนี้” จุลพันธ์กล่าว

 

ปีที่ผ่านมามีธุรกิจที่ต้องเลิกกิจการและเตรียมที่จะต้องปิดกิจการเป็นแสนแสนราย มูลค่าความเสียหายนับล้านล้านบาท จุลพันธ์ย้ำว่านี่คือตัวเลขเฉพาะกิจการที่จดเลิกบริษัท รวมถึงกิจการจำนวนมากที่ต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากหลายแห่งไม่มีเงินทุนจะเลี้ยงกิจการต่อ ขณะที่บางธุรกิจที่ยังเปิดทำการ แต่การทำงานไม่เต็มกำลังการผลิต การจ้างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รายได้ของธุรกิจเหล่านี้หยุดนิ่ง แต่หนี้สินและดอกเบี้ยไม่ได้หยุดตาม

“ล็อกดาวน์ประเทศแต่ชีวิตประชาชนยังมีภาระ ต้องกินอยู่ เลี้ยงครอบครัวเหมือนเดิม นี่คือชีวิตจริงของคนไทยจำนวนมากที่ต้องลำบากเพราะการบริหารของท่าน” จุลพันธ์กล่าว

ยังไม่นับตัวเลขเด็กจบใหม่ที่ตกงาน ไม่นับตัวเลขผู้เสมือนว่างงานหรือคนที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง/วัน ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 3-4 ล้านคน พร้อมระบุว่า 8 ปีกับ พล.อ.ประยุทธ์ โลกกำลังเลิกสนใจประเทศไทย และถูกเรียกว่า “คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ประเทศไทยเคยเป็นเป้าหมายที่นักลงทุนและเงินทุนต่างชาติมุ่งหมายเข้ามาลงทุนในฐานะที่มีเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ภูมิศาสตร์ดี และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ แต่ 8 ปี นายกรัฐมนตรีที่ไร้วิสัยทัศน์ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันเราตกต่ำลงมาก จากที่เคยเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาค วันนี้เราถูกเรียกว่า 'คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' นอกจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์ของบริษัทภัทรเกียรตินาคิน มีข้อสรุปว่า “โลกกำลังเลิกสนใจประเทศไทย” เพียงไตรมาสแรกของปีนี้ เงินในตลาดทุนของต่างชาติไหลออกสูงถึงสามแสนล้านบาท ขณะที่การลงทุนโดยตรงหรือ FDI เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค การลงทุนของต่างชาติในไทย ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้แต่เจ้าสัวรายใหญ่ที่รัฐบาลอุ้มชูก็หนีไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ทำให้การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของบริษัทไทยเพิ่มสูงเป็น 34% ของ GDP ในปี 2563 เพราะไม่มีใครมองเห็นอนาคต ภายใต้การบริหารงาน ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จุลพันธ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่ก่อหนี้สินให้กับประเทศไทยมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ระดับหนี้สาธารณะของไทย ณ วันที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท ผ่านมาแล้ว 8 ปี ตัวเลขกลับพุ่งทะยาน โดยสิ้นปีงบประมาณนี้หนี้สาธารณะจะแตะที่ 9 ล้านล้านบาท

“พลเอกประยุทธ์ต้องสำเหนียกว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้อยู่นี้ เรากำลังยืมเงินของลูกหลานในอนาคตมาใช้ นี่คือโอกาสของลูกหลานที่เสียไป หมายความว่าประเทศไทยในอนาคตข้างหน้าจะพัฒนาได้ยากขึ้น เพราะเราเอาเงินล่วงหน้ามาใช้ก่อนแล้ว ลูกหลานในอนาคตจะเริ่มต้นอนาคตของเขา ด้วย ‘หนี้สินก้อนโต’ ที่พลเอกประยุทธ์ สร้างไว้ให้เป็นมรดก” จุลพันธ์กล่าว พร้อมระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทยยังสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ 90.5% หรือ 14.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในประเทศรายได้ไม่สูง หนี้ครัวเรือนคือหนี้ของประชาชน เป็นเหมือนโซ่ตรวนที่ถ่วงคนไทยทุกคน ทุกคนต้องแบกรับ

“หนี้ครัวเรือนนี้ แปลตรงตัวคือพลเอกประยุทธ์ ยิ่งอยู่นาน คนไทยยิ่งจนลงจนลง ยิ่งอยู่นาน ประชาชนยิ่งเป็นหนี้มากขึ้นมากขึ้น” จุลพันธ์กล่าว

หนี้ในภาคการเงินการธนาคาร ตัวเลข NPL ในระบบการธนาคารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น สภาพคล่องในธนาคารพาณิชย์ของไทยยังอยู่ในระดับสูง แต่เงินขาดมือประชาชนคนไทย เรายังต้องการลงทุนและบริโภค แต่คนไทยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเหล่านี้ได้เลย แม้รัฐบาลจะออกซอฟต์โลนผ่านเงินกู้ หนึ่งจุดห้าแสนล้านบาท แต่กลับแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับประชาชนคนไทยไม่ได้ คนไทยตกงาน ธุรกิจล้มหายตายจาก แต่หนี้สินยังคงอยู่ ดอกเบี้ยยังวิ่งทุกวัน

จุลพันธ์ทิ้งท้ายว่า คงไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่าพลเอกประยุทธ์ ทำให้ชีวิตประชาชนคนไทยยากลำบากแค่ไหน ไม่มีอะไรจะแสดงความรับผิดชอบได้ดีไปกว่า #ประยุทธ์ออกไป

โลกเปิด ไทยปิด ธุรกิจท่องเที่ยวพลังทลาย

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ล้มเหลว โดยเฉพาะ “ธุรกิจท่องเที่ยว ที่ จบ จน เจ๊ง” ไม่สามารถเปิดประเทศได้ตามเป้าหมาย มาตรการเยียวยาไม่ตรงจุด ทำได้เพียงรอวันเจ๊ง รอระเบิดเวลาที่รัฐบาลวางไว้ให้ธุรกิจท่องเที่ยว

จักรพล เปิดประเด็นด้วยที่ว่า ธุรกิจท่องเที่ยวไทย ในยามปกติมีมูลค่า 20% ของ GDP มีนักท่องเที่ยวกว่า 39.8 ล้านคน ทำรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาทให้กับประเทศ อยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน เป็นรองเพียง สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ด้วยการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดที่ล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์นักท่องเที่ยวลดลงธุรกิจท่องเที่ยวแทบเป็น 0 แนวทางในอนาคตก็ยังริบรี่ เพราะไม่มีมาตรการชัดเจนในการเปิดประเทศ ธุรกิจโรงแรมเหลือรอดเพียง 38% ปิดชั่วคราวกว่า 30% ธุรกิจการท่องเที่ยว คงการจ้างงานได้เพียง 51% มีการเอาคนออกกว่า 49% นั่นหมายความว่า มีคนตกงานจากธุรกิจนี้ถึง 2 ล้านคน

แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่ามีมาตรการเยียวยา โครงการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่มาตรการเหล่านี้ไปไม่ถึงใครเลย ไม่ว่าจะเป็น บริษัททัวร์ ไกด์นำเที่ยว การคมนาคมที่ซัพพอร์ตการท่องเที่ยว ไปจนถึงธุรกิจกลางคืน ดีเจ นักดนตรี บาร์เทนเดอร์ ที่เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยา ราวกับรัฐบาลมองไม่เห็นพวกเขา โดยจักรพลกล่าวว่านโยบายซอฟต์โลนที่ไม่เคยซอฟ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมีกำแพงสูงมาก เข้าถึงยากไม่สนใจกลุ่มเปราะบางกว่า 2.7 ล้านรายเลยสักนิด ถ้าพวกเขาไม่ได้เงินเพื่อหล่อเลี้ยงระบบ พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร โครงการเที่ยวไปด้วยกันเท่ากับตายไปด้วยกัน เพราะไม่สามารถช่วยใครได้เลย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่ ธุรกิจเล็ก หรือตัวรัฐบาลเอง ธุรกิจการบินกำลังจะล้มสลายเพราะรัฐไร้เป้าหมายในการพาประเทศวิกฤตโควิดนี้

 

นอกจากนี้ จักรพลยังได้วิจารณ์โครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เป็นความหวังแห่งวงการท่องเที่ยวที่ดับลง แทนที่จะเปิดแล้วปังแต่เปิดแล้วพังแทน ตอนเปิดมีการวางเป้าหมายว่าจะต้องได้นักท่องเที่ยวกว่า 100,000 แต่ตอนนี้ได้เพียง 25,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการล้มเหลวหรือไม่ ส่วนนึงเกิดขึ้นเพราะก่อนเปิดไม่มีการวางแผนที่ครบวงจร ให้ครอบคลุมจนเกิดปัญหาการติดเชื้อจนนำมาสู่การปิด กลายเป็นปราสาททรายทลายลงคามือประยุทธ์ ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีมาตรการอย่างไร พร้อมระบุว่าส่วนหนึ่งที่ธุรกิจท่องเที่ยวพังทลายในช่วงโควิดเป็นเพราะรัฐบาลประยุทธ์ หวังพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเกินไป การบริหารงานตลอด 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เน้นคุณภาพยกระดับมูลค่าการท่องเที่ยว รวมไปถึงไม่ได้มีการพัฒนารายได้จากอุตสหกรรมอื่นเลย ซึ่งเท่ากับเป็นการบริหารที่ไม่มีวิสัยทัศน์

พรรคเพื่อไทย ได้เสนอแนะนโยบายเรื่องการท่องเที่ยวให้รัฐบาล ไปหลายรอบหลายครั้ง ทั้งวัคซีนพาสปอร์ต การสร้างแลนด์มาร์กใหม่ การทำเจรจา Travel Bubble แต่รัฐบาลไม่เคยทำ สร้างมูลค้าเศรษฐกิจชายแดน พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและด้านการแพทย์ โดยชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวไทยต้องเลิกกินบุญเก่า จักรพลกล่าวว่า “ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ธุรกิจท่องเที่ยวจะไม่มาถึงทุกวันนี้ โดยการประเมินหากทำตามนโยบายการท่องเที่ยว ตาที่พรรคเพื่อไทยเสนอ รายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นถึง 7 เท่า”

ท้ายที่สุดในการอภิปราย จักรพล และ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้ชูป้ายแคมเปญหยุดยุทธ เพื่อเป็นการสะท้อนเสียงประชาชนที่ต้องการผู้นำคนใหม่ จักรพลกล่าวว่าต้องการให้ประยุทธ์เหยียบเบรกประเทศ ให้คนอื่นมาเหยียบคั่นเร่งจับพวงมาลัยใหม่ แล้วท่านก็ต้องออกไป

ตกงานถ้วนหน้า เงินเยียวยาไม่ทั่วถึง รบ.กำลังพาเศรษฐกิจไทยสู่หายนะ

กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวกลาโหม และสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สะท้อนผลกระทบการบริหารงานของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ แก้ไขวิกฤตผิดพลาด สร้างผลกระทบกับประชาชนและระบบเศรษฐกิจประเทศ

กฤษฎา ชี้ว่าขณะนี้เครื่องยนต์ตัวสุดท้ายของประเทศคืออุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ได้พยายามเอาตัวรอดและขับเคลื่อนประเทศอยู่ แต่วันนี้ไม่แน่ใจว่า พลเอกประยุทธ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้าใจตรงนี้หรือไม่ ในวันนี้ คำถามที่สำคัญที่สุดคือ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เข้าใจตรงนี้หรือไม่ จากตัวเลขการถดถอยทางเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นแล้วว่า นายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหาร ไร้ซึ่งความสามารถ ไม่เข้าใจเศรษฐกิจ ไม่เข้าใจธุรกิจ มิหนำซ้ำ ยังขาดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน

 

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยติดลบ 1.5% การว่างงานไตรมาสแรก 1.96% สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่อันตราย ตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนแล้วก็ยังต่ำ ส่งผลให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น นักท่องเที่ยว นักลงทุนขาดความมั่นใจ

การบริหารราชการที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่เข้าใจสถานการณ์ และไม่ทันเหตุการณ์ กลับกลายเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจ ฝ่ายบริหารในฐานะผู้กำหนดนโยบาย แทนที่จะช่วย กลับทำตรงกันข้าม เหยียบหัวภาคธุรกิจให้จมน้ำ และหากฝ่ายบริหาร มีความพร้อม มีความเข้าใจ ทำงานอย่างเป็นระบบมากกว่านี้ มีขั้นมีตอนและรวดเร็ว ประเทศเราคงไม่ต้องสูญเสียมากขนาดนี้

ภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนด้วยห่วงโซ่อุปธาน ที่เรียกว่าห่วงโซ่การผลิต แทบทุกธุรกิจ ล้วนแล้วแต่มีห่วงโซ่การผลิตทั้งนั้น วันนี้โรงงาน ถูกปิด ทั้งห่วงโซ่อุปธาน หรือ ห่วงโซ่การผลิต ก็เชื่อมโยงกับไปภาคส่วนต่างๆ ก็ต้องหยุดชะงักไปด้วย สร้างความเสียหายทั้งระบบ แต่สิ่งที่ไม่เคยหยุดไปด้วยคือ ภาษี ดอกเบี้ย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งวันนี้ภาคเอกชนพยายามช่วยเหลือกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ แต่ในทางกลับกัน ภาครัฐกลับมีการช่วยเหลือที่น้อยมาก ขณะที่ประชาชนกำลังลำบากและกำลังจะตาย หน่วยงานภาครัฐ รัฐพานิชย์ กลับยังทำกำไร

ที่ผ่านมาการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ แรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลายที่ออกมายังคงสับสน เยียวยาไม่ทั่วถึง จนภาคเอกชนต้องออกมาเรียกร้อง แม่แต่เรื่องวัคซีน แรงงานที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ ได้รับวัคซีนเพียงแค่ประมาณ 10% เท่านั้น หากเราเปรียบเทียบว่าบุคลากรทางการแพทย์ เป็นด่านหน้าด้านสาธารณสุข แรงงานก็คือด่านหน้าในทางเศรษฐกิจ

วันนี้คนป่วย ธุรกิจก็ป่วย วิกฤตสาธารณสุข ทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ตัวเลขรายได้ต่อหัวในโซนสีแดงเข้ม ชี้ให้เห็นการถดถอยของรายได้ของประชาชน อย่างมาก และหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันก็สูงที่สุดในประวัติการณ์ รวมไปถึงหนี้นอกระบบ ซึ่งในอดีตรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำเรื่องกฎหมายหนี้นอกระบบไว้ ในเวลาที่ประชาชนยากลำบาก รัฐบาลก็ควรเร่งเข้ามาจัดการเรื่องนี้โดยใช้ธนาคารรัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้คนตัวเล็กได้มีอากาศหายใจ และผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ก่อน

ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ทำเหมือนเป็นแค่ตรายาง ไม่เคยรับฟังภาคเอกชนที่เป็นผู้ประสบปัญหาตัวจริงว่าเขาต้องการอะไร ต้องการอะไร รัฐสามารถสนับสนุนอะไรได้บ้าง แต่รัฐกลับตัดสินใจแทนเอกชน ออกมาตรการไม่ตรงกับความต้องการ จึงทำให้การเยียวยาไม่ได้ผล แล้ววันนี้นโยบายต่างๆ ที่พรรครัฐบาลชุดนี้เคยลั่นวาจาไว้กับประชาชนตอนหาเสียงไม่ว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท และเงินเดือนอาชีวะ 18,000 บาท มีนโยบายไหนบ้างครับ ที่ทำได้แล้วบ้าง วันนี้ตัวเลขนักศึกษาจบใหม่ เป็นไปได้ที่จะว่างงานมีมากถึงเกือบ 3 แสนคน วันนี้รัฐบาลมีอะไรมารองรับเขาเหล่านี้บ้าง

การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ไร้ประสิทธิภาพ จนวันนี้ประเทศถูกจัดอันดับให้รั้งท้าย อ้างอิงจาก นิเคอิเอเชียว่า จะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวช้าที่สุด ในลำดับที่ 120 รั้งท้ายตาราง และผลกระทบทุกอย่างนี้ เป็นผลกระทบแบบเป็นลูกโซ่ ซึ่งน่ากังวลอย่างยิ่งว่า หากลามไปถึงระบบธนาคาร เราจะหายนะกันทั้งระบบ ทั้งเศรษฐกิจและระบบการเงิน บอกได้เลยว่าประเทศยังอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้คงไปต่อไม่ไหว วิธีคิดของรัฐบาลแบบว่าตัวเองเข้าใจและรู้ รังแต่จะนำพาประเทศไปสู่หายนะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net