Skip to main content
sharethis

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ถอดบทเรียน 6 ตุลา พาสังคมไทยก้าวข้ามความรุนแรงทางการเมือง ดึง ‘โคทม-ดุลยภาค’ ร่วมวงวิเคราะห์สาเหตุและทางออก ร่วมกับ นศ.ป.โท ผู้จัดงานรำลึก 6 ตุลาปีก่อน ชี้ เปิดพื้นที่พูดคุย-บันทึกเหตุการณ์ลงแบบเรียน-นำผิดคนมารับโทษ คือทางออกของปัญหา

 

6 ต.ค. 2564 วานนี้ (5 ต.ค. 2564) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จัดงานเสวนาออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom และเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “บทเรียน 6 ตุลา 19 สังคมไทยจะก้าวข้ามความรุนแรงทางการเมืองได้อย่างไร” โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 คน ได้แก่ รศ.โคทม อารียา นักวิชาการด้านสันติวิธีและสิทธิมนุษยชน และที่ปรึกษา สสส., ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภัคจิรา นุชบัว นักศึกษาปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานรำลึก 6 ตุลา เมื่อปีที่แล้ว ดำเนินรายการโดยศราวุฒิ ประทุมราช

ในช่วงต้นของการเสวนา ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ได้วิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงและผลกระทบทางการเมือง จาก 6 ตุลา 2519 ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน โดยโคทมวิเคราะห์ว่าบริบททางการเมืองและสังคมในยุคสงครามเย็นเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความรุนแรงในช่วงเช้าของวันที่ 6 ต.ค. 2519 กลุ่มชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษ์นิยมของไทยเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งกลุ่มแนวคิดฝ่ายซ้ายสามารถเอาชนะฝ่ายขวาได้อย่างราบคาบ นำมาสู่การล้มล้างระบอบการปกครองแบบเก่า และจัดตั้งรัฐสังคมนิยมขึ้น

โคทมกล่าวว่าบริบทการเมืองและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในยุคนั้นส่งผลให้กลุ่มชนชั้นนำไทยเกลียดกลัวแนวคิดฝ่ายซ้าย หรือที่เรียกกันรวมๆ ว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ซึ่งโคทมอธิบายขยายความว่าความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดจากความกลัวนั้นสามารถขยายไปสู่ความรุนแรงในระดับที่มนุษย์สามารถกระทำต่อกันได้ถึงชีวิต และในที่สุด ความกลัวคอมมิวนิสต์ของชนชั้นนำไทยนั้นก็นำไปสู่แนวคิด “ขวาพิฆาตซ้าย” ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักบวชในศาสนา ที่ถึงขั้นออกมาพูดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” กลายเป็นวาทกรรมที่นำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

 

ด้าน ดุลยภาค กล่าวว่า หากจะมองเหตุการณ์ 6 ตุลาให้เห็นภาพชัดๆ ว่าทำไมถึงเกิดความรุนแรงขึ้นในวันนั้น ต้องทำความเข้าใจลักษณะ 3 ประการของสังคมไทยในยุคนั้นก่อน คือ หนึ่ง ความเป็นรัฐเสนาธิปัตย์ (Praetorian State) หรือรัฐที่ทหารมีบทบาทมากในการเมือง ในยามที่สถานการณ์การเมืองบอบบางและระส่ำระสาย จะเปิดช่องว่างให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองอยู่เสมอ ซึ่งหากกล่าวให้เห็นภาพต้องย้อนกลับไปดูการเมืองไทยนับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารใน พ.ศ.2501 เรื่อยมาจนกระทั่งการรัฐประหารใน พ.ศ.2521 ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

สอง ความเป็นรัฐศาสตรา หรือรัฐมือปืน เพราะสังคมในสมัยนั้นมีกองกำลังติดอาวุธจำนวนมาก ทั้งตำรวจตระเวนชายแดน หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งดุลยภาควิเคราะห์ว่ากลุ่มกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้อยู่ในช่วงพักรบจากสงครามชายแดน เพราะสถานการณ์การเมืองบริเวณชายแดนค่อยๆ ผ่อนคลายลง แต่เมื่อถูกกระตุ้นโดยรัฐให้กลับมาจับอาวุธ พวกเขาก็พร้อมที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ส่วนลักษณะสำคัญที่สาม คือ แนวคิดโดมิโน ซึ่งเป็นการเมืองภาพใหญ่ระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น ซึ่งส่งผลให้ชนชั้นนำไทยหวาดกลัว เพราะประเทศเพื่อนบ้านที่แนวคิดฝ่ายซ้ายเอาชนะฝ่ายขวาได้นั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และกลุ่มคนฝ่ายขวาถูกกำจัดไปอย่างหมดสิ้น เมื่อลักษณะทั้ง 3 ประการนี้มาเจอกันก็ก่อเกิดเป็นอาชญากรรมแห่งรัฐหรือรัฐฆาตกรรมรุนแรงขึ้นมา

ขณะที่ ภัคจิรา กล่าวว่า นักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้เห็นคลิปภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาในวันปฐมนิเทศ แล้วรุ่นพี่จะอธิบายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงในวันที่ 6 ตุลา 2519 คือการสังหารหมู่ใจกลางเมือง และตนไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่า ‘6 ตุลา’ เพื่อเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวเพราะเป็นการลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ภัคจิรามองว่าการเห็นคนไม่เท่ากัน คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเหตุการณ์เมื่อ 45 ปียังคงส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเพราะผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับการลงโทษ อีกทั้งสถานที่ที่เคยมีคนจำนวนมากถูกสังหารนั้น ในปัจจุบันเป็นเพียงสถานที่ที่คนเดินผ่านไปมา หรือกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าเมื่อ 45 ปีก่อน สถานที่เหล่านี้เป็นที่ที่รัฐกระทำความรุนแรงต่อประชาชน มีคนตายจำนวนมาก แต่ ‘เหยื่อมือสอง’ ซึ่งเป็นญาติของนักศึกษาหรือประชาชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงจดจำสถานที่เหล่านี้ได้ และพยายามจะบอกเล่าเหตุการณ์ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก อีกทั้งระบบการศึกษาของไทยไม่ได้บรรจุเหตุการณ์นี้ลงไปในแบบเรียนหรือไม่ถูกพูดถึงมากพอ ทำให้คนรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยไม่รู้หรือรู้สึกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเรื่องไกลตัว

ทำอย่างไรจึงจะก้าวข้ามความรุนแรงทางการเมือง ‘6 ตุลา’ ไปได้

โคทม กล่าวว่า นักวิชาการมีหน้าที่ต้องผลักดันให้เหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกพูดถึงในวงวิชาการและในสังคมวงกว้าง แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้ก้าวไกลไปมากกว่าวงวิชาการ คือ ผู้ที่กระทำความรุนแรงและผู้ถูกกระทำต้องออกมาชำระประวัติศาสตร์ร่วมกัน สิ่งใดขอโทษได้ก็ต้องขอโทษ สิ่งใดให้อภัยได้ก็ต้องให้อภัย หรือหากใครต้องการจะบันทึก เล่าถึงเหตุการณ์ ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้บุคคลเหล่านั้น แต่ทุกวันนี้ ฝ่ายหนึ่งพยายามจะพูด แต่กลับถูกปิดกั้น หรือไม่ก็ถูกปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้เป็นไปอีกแบบ ซึ่งโคทมมองว่าเหมือนประเทศไทยมีบาดแผลมา 45 ปีแต่กลับพยายามจะปิดแผลนั้น ไม่ได้รักษาให้แผลหายแต่อย่างใด

โคทมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาแตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ตรงที่หลังจาก 2 เหตุการณ์นั้นมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนสิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะทำอะไรได้ไม่มาก แต่อย่างน้อยผลของการทำงานนั้นก็ทำให้มีเรื่องราวที่พอเป็นหลักฐาน และถูกพูดถึงในลักษณะที่เป็นทางการบ้าง เช่น อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 ซึ่งใช้เวลาต่อสู้นานกว่า 30 ปีกว่าจะได้มา เป็นต้น ในทางกลับกัน เหตุการณ์ 6 ตุลานั้นไม่เคยมีคณะทำงานหรือการสอบสวนใดๆ เกิดขึ้น และไม่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมจารึกไว้

ด้าน ภัคจิรา เสนอว่าการปรับหลักสูตรการศึกษาด้วยการเพิ่มเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือประวัติศาสตร์ภาคประชาชนเข้าไปในหลักสูตร จะช่วยให้ตัวเหตุการณ์ถูกพูดถึงและถูกวิเคราะห์มากขึ้น ทั้งยังต้องผลักดันเรื่องกฎหมายในการนำตัวของผู้กระทำผิดกลับมารับโทษ ไม่ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะผ่านไปนานแค่ไหน นอกจากนี้ สื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม ไม่จำเป็นต้องมาเข้าข้างเหยื่อไปทั้งหมด แต่ต้องมีความเป็นกลางในการเล่าเรื่อง นำเสนอข้อมูลในหลายๆ ด้าน ซึ่งตนเชื่อว่าหากมี 3 ข้อเสนอนี้ร่วมกันจะสามารถช่วยให้สังคมไทยก้าวข้ามความรุนแรงทางการเมืองไปได้

 

ขณะที่ ดุลยภาค ให้ความเห็นว่าการบรรจุเหตุการณ์ 6 ตุลาเข้าไปในแบบเรียนที่เป็นทางการของกระทรวงศึกษาธิการน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการชำระประวัติศาสตร์ เพราะถึงแม้ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาจะถูกพูดถึงและมีพื้นที่ในวงวิชาการและวงการสื่อสิ่งพิมพ์นอกตำราเรียน แต่ในแบบเรียนที่เป็นทางการนั้นกลับไม่มีการพูดถึงเหตุการณ์นี้ ส่วนการนำเสนอควรนำเสนอเหตุผลและแนวคิดของทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมทางการเมืองลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

นอกจากนี้ ดุลยภาค ยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่รุนแรงจนถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่น เหตุการณ์เกสตาปู เขมรแดง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา ซึ่งรัฐบาลประเทศนั้นๆ พยายามชำระประวัติศาสตร์ ซึ่งตัวอย่างในประเทศเหล่านี้น่าจะเป็นบทเรียนให้รัฐไทยเรียนรู้ได้ รวมถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในพม่า ที่เกิดจากปัญหาฝังลึกภายในด้านชาติพันธุ์และศาสนา จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ระหว่างประเทศ แนวทางที่นานาชาติเสนอให้พม่านำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหา คือ การเจรจาสันติภาพ ซึ่งดุลยภาคมองว่าเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่จบ และอาจนำมาปรับใช้กับเหตุการณ์ชายแดนใต้ของไทยได้อีกด้วย 

ใครจะมาร่วมขับเคลื่อนให้สังคมไทยก้าวข้ามผ่านความรุนแรง

โคทมให้ความเห็นว่านักวิชาการ โดยเฉพาะคนที่ร่วมสมัยอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นถือว่าเป็นกำลังสำคัญที่ส่งต่อความรู้ไปให้คนรุ่นหลังได้ นอกจากนี้ รัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้หยิบยกประวัติศาสตร์ขึ้นมาชำระด้วยเช่นกัน โคทมยกตัวอย่างเหตุการณ์ค้นพบโครงกระดูกของเด็กชนพื้นเมืองจำนวนมากในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดา เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในยุคอาณานิคมและล่วงเลยมานานกว่าร้อยปี แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของแคนาดายังกล่าวคำขอโทษและแสดงความเสียใจต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต แม้จะแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่สาธารณชนได้รับรู้ และเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ นอกจากนี้ โคทมยังกล่าวอีกว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ความรุนแรงทางการเมืองของไทยหายไป

ด้าน ภัคจิรา มองว่า การเปิดพื้นที่พูดคุยอย่างเปิดเผยให้กับทุกฝ่ายสามารถวิจารณ์ความผิดพลาดหรือเหตุการณ์ 6 ตุลาได้อย่างตรงไปตรงมาน่าจะเป็นเหมือนเป็นด่านแรกที่จะทำให้ความรุนแรงลดลงได้ เพราะเมื่อประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ เขาก็จะมีเป็นบทเรียน ซึ่งอาจจะทำให้การเกิดเหตุการณ์ซ้ำเป็นไปได้ยากขึ้น ภัคจิรามองต่อยอดไปว่าหากมีพื้นที่พูดคุยกันอย่างเปิดเผยแล้ว อาจจะนำไปสู่การจัดตั้งอนุสรณ์สถานหรือพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวเพิ่มเติมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีรัฐบาลไหนที่เปิดพื้นที่ให้เหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างจริงจัง ยิ่งรัฐบาลทหารยิ่งค่อนข้างยากที่เขาจะเปิดพื้นที่สื่อสารให้กับประชาชน โดยภัคจิรามองว่าหากจะให้การเปิดพื้นที่เป็นไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อาจจะต้องอาศัยสื่อมวลชนมาเข้าร่วมด้วย

ขณะที่ดุลยภาคมองว่าในสภาพสังคมของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่หลังยุคสงครามเย็นนั้นมีความเป็นอำนาจนิยมค่อนข้างสูง การที่รัฐจะให้พื้นที่พูดคุยในเรื่องบาดแผลทางการเมือง โดยเฉพาะบาดแผลของแนวคิดฝ่ายซ้ายนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ก็สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายและสังคมที่มีอยู่ คือ ค่อยๆ พัฒนาเครือข่ายการทำกิจกรรมให้ขยายใหญ่จนนำมาสู่ความสนใจในวงกว้างของสาธารณชน ซึ่งจะช่วยให้ประวัติศาสตร์ภาคประชาชนมีพื้นที่ในที่สุด

นอกจากนี้ ดุลยภาคยังเสนอว่าควรจัดการด้านกฎหมาย กฎหมายที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือนของมีความชัดเจนภายใต้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยจะช่วยยับยั้งความรุนแรงทางการเมืองไม่ให้เกิดขึ้นได้ และต้องมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน หากเกิดความรุนแรงขึ้นอีกจะได้มีแนวทางการจัดการผู้กระทำความผิดได้และไม่เป็นการละทิ้งผู้ถูกกระทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net