Skip to main content
sharethis
  • วาระครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย สถาบันปรีดีฯ จัดเสวนา "สันติภาพเมียนมา" อนุสรณ์เสนอ รบ.ไทย ใช้การทูตเชิงสร้างสรรค์ เล่นบทบาทนำ เป็นตัวกลางเจรจาหยุดยิง ยั้งวิกฤตสงครามกลางเมืองเมียนมา
  • อนุสรณ์ เสนอบทบาทนำและแนวทางการทูตต่อรัฐไทย 8 ข้อ เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างสันติธรรมและประชาธิปไตยในเมียนมา และอาเซียน รวมถึงการแก้ไข รธน.โดยยึดหลัก ปชต. การเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ทำตามฉันทามติอาเซียน 5 ข้อ ประสานกับ UN ให้เข้าคลี่คลายวิกฤตการเมืองพม่า

เมื่อ 16 ส.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "สถาบันปรีดี พนมยงค์" ถ่ายทอดสดติดตามงานเสวนา PRIDI Talks ครั้งที่ 22 ในวาระครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย ภายใต้หัวข้อ "บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา" โดยก่อนเปิดงานเสวนา อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวหัวข้อ "บทบาทของไทยในสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมา และอาเซียน" โดยเสนอแนวทางการทูตต่อรัฐไทย 8 ข้อในการสร้างสันติภาพในเมียนมา หลังจากที่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2564)

รัฐประหารเมียนมาปี 2564

สืบเนื่องจากเมื่อ 1 ก.พ. 2564 กองทัพเมียนมา นำโดย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยอ้างว่าพรรค NLD ทุจริตการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2563 หลังพรรค NLD สามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปี’63 อย่างถล่มทลาย โดยสามารถกวาดที่นั่งในรัฐสภาเมียนมา 396 ที่นั่ง จาก 664 ที่นั่ง 

หลังการทำรัฐประหาร ประชาชนชาวพม่าลุกฮือประท้วงอย่างสันติในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หลายรูปแบบ อาทิ การตีหม้อไล่สิ่งชั่วร้าย การใช้การแสดง Performance Arts การแต่งเพลง การประท้วงโดยใช้ผ้าถุง หรืออื่นๆ เพื่อกดดันให้กองทัพคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน และปล่อยตัวสมาชิกพรรค NLD ที่ถูกคุมตัวทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข 

อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่าเลือกจะเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และใช้อาวุธสงครามในการปราบผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้ กองทัพพม่ายังเปิดสงครามกลางเมืองกับกองกำลังชาติพันธุ์บริเวณชายแดนฝั่งตะวันออกของเมียนมา โดยกองทัพเมียนมาใช้ยุทธวิธีอันโหดร้ายต่อฝ่ายต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นการเผาบ้านเรือนชาวบ้านเพื่อตัดเสบียงฝ่ายต่อต้าน หรือการโจมตีทางอากาศแบบไม่เลือกเป้าหมาย (Discrimination Attack) ซึ่งผลจากวิธีการดังกล่าวส่งผลให้มีชาวเมียนมากลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน (IDPs) และผู้ลี้ภัย หลายคนเลือกหนีความตายเข้ามายังเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย

ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือเอเอพีพี ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลการจับกุมนักโทษการเมืองพม่า ได้เปิดเผยสถิติบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (ชื่อใหม่คือ ‘เอ็กซ์’) เมื่อ 18 ส.ค. 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 18 ส.ค. 2566 มีชาวเมียนมาเสียชีวิตจากเงื้อมมือของกองทัพเมียนมา อย่างน้อย 3,959 ราย และถูกจับกุมโดยข้อหาทางการเมือง อย่างน้อย 24,352 ราย และยังคงถูกควบคุมตัว อย่างน้อย 19,838 ราย 

 

 

นอกจากนี้ รายงานจากศูนย์ตรวจตราผู้พลัดถื่นภายใน (Internal Displacement Mornitoring Centre) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2564 จนถึง 2565 มีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน โดยปี 2564 มีประมาณ 649,000 คน และปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 851,000 คนทีเดียว  

ไทยต้องเล่นบทบาทเชิงรุกในการสร้างสันติภาพในเมียนมา

อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวถึงความสำคัญของวันสันติภาพไทย และปัญหาวิกฤตการเมืองในเมียนมา โดยประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดีฯ มองว่าแนวทางการทูตของอาเซียน ที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิก (Non-Interference) และการพัวพันอย่างยืดหยุ่น (Felxible Engagement) ส่งผลให้การสร้างเงื่อนไขของการเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่ประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทย อาเซียน กับเมียนมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สงวนท่าทีต่อการกดดันกองทัพเมียนมา ให้หยุดปราบปรามผู้ประท้วง และคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน อีกทั้ง เพิกเฉยต่อบทบาทการทูตเชิงรุกเพื่อให้เกิดการเจรจาสันติภาพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมา 

ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดีฯ มองว่า การสร้างสันติธรรมและประชาธิปไตยในอาเซียนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และต้องการการช่วยเหลือและสนับสนุนจากไทย อาเซียน และนานาชาติ รวมถึงองค์การสหประชาชาติ โดยอาจจะเริ่มจากการทูตพัวพันอย่างสร้างสรรค์โดยรัฐบาลไทย และอาเซียน ให้เกิดการเจรจาหยุดยิงกันก่อน ซึ่งอนุสรณ์ มองว่าบทบาทของไทยจะมีความสำคัญในการแก้ไขวิกฤตเมียนมา และไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในกัมพูชา ระหว่างที่สงครามอินโดจีนกำลังครุกรุ่น

อนุสรณ์ ธรรมใจ (ที่มา: เว็บไซต์ สถาบันปรีดี พนมยงค์)

อนุสรณ์ มองต่อว่า รัฐบาลไทยสามารถสร้างเงื่อนไขให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาสมรรถนะการเมืองการปกครอง เพื่อแลกกับการให้เมียนมา กลับคืนสู่ประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพการปกครองที่ต้องมาพร้อมกับการเมืองที่เปิดกว้าง และการยึดถือชีวิตของมนุษย์ทุกๆ คนว่ามีคุณค่า 

8 ข้อเสนอทางการทูต เพื่อเป็นแบบอย่างสร้างสันติธรรมและประชาธิปไตยในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์ มองว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ไทยต้องเป็นแบบอย่างในการสร้างสันติธรรม และประชาธิปไตย พร้อมเสนอแนวทางทางการทูตต่อรัฐบาลไทยจำนวน 8 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

1. ไทยต้องเป็นแบบอย่างในการสร้างประชาธิปไตย และสันติธรรม โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยึดถือหลักการประชาธิปไตย เนื้อหาใดที่ขัดแย้งกับหลักการดังกล่าวต้องถูกตัดออก  รวมถึงต้องปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองออกจากการจองจำ และยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนก่อน 

2. ไทยควรมีบทบาทนำและเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (5PC) และควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการปรึกษาหารือ เพื่อยุติสงครามกลางเมือง ฟื้นฟูประชาธิปไตย และสันติภาพในเมียนมา

3. ไทยควรสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติ ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา และในอาเซียน ที่ยังมีปัญหาประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่

4. เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ตกอยู่ในนอันตราย และหลบหนีจากเมียนมา เรียกร้องร่วมกับอาเซียน ให้กองทัพเมียนนมาปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยพลการ และผู้ถูกคุมขังโดยไม่เป็นธรรมทั้งหมด 
 
5. เพิ่มแรงกดดันทางทูตต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ประชุมสมัชชาเพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมียนมา 

6. เรียกร้องกดดันให้กองทัพพม่าหยุดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน 

7. รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการกวดขันตามแนวชายแดน เพื่อยุติการส่งมอบอาวุธ และทรัพยากรอื่นๆ ที่ถูกใช้เพื่อปราบปรามประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเมียนมา รัฐบาลใหม่ของไทยต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธที่เจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง

8. ต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือของขบวนการประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน และรักษาเอกภาพของขบวนการประชาธิปไตยภายในแต่ละประเทศ สร้างพลังเครือข่ายร่วมกันในภูมิภาค เพื่อให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชน ยึดถือมนุษยธรรม เป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ มีความมั่นคงสงบสันติ สิทธิเสรีภาพเบ่งบาน มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และเป็นภูมิภาคของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

อนึ่ง จุดเริ่มต้นของวันสันติภาพไทย เริ่มขึ้นเมื่อ 78 ปีที่แล้ว หรือ 16 ส.ค. 2488 ช่วงระหว่างเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎร และขบวนการเสรีไทย ได้ออก "ประกาศสันติภาพ" อันมีใจความสำคัญว่า การประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ และสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2585 ถือเป็น "โมฆะ" และไม่ผูกพันธ์ของประชาชนชาวไทย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดจากเจตนารมณ์ของประชาชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมือง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net