Skip to main content
sharethis

ตัวแทนพรรคการเมือง รัฐบาล และประธานฯ วางพวงมาลา และกล่าวรำลึกวันครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา ณ แยกคอกวัว ‘ชัยธวัช’ ขอทุกคนสืบสานเจตนารมย์วีรชน 14 ตุลา ย้ำไม่ควรมีใครต้องเป็นอาชญากร และถูกทำร้ายจากการออกมาแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ

 

14 ต.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก The Reporters รายงานวันนี้ (14 ต.ต.) เมื่อเวลา 9.06 น. ที่อนุสรณ์ 14 ตุลา ณ แยกคอกวัว มีการจัดรำลึกครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา และจะมีการวางพวงมาลา และกล่าวรำลึกเหตุการณ์ ประจำปี 2566 จากตัวแทนพรรคการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และญาติวีรชน

50 ปี 14 ตุลา ยังมีคนไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล วางพวงมาลา และกล่าวรำลึกว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เพราะมีประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้รวมตัวกันอย่างกล้าหาญขับไล่เผด็จการ และทำให้ประชาชนไทยตื่นขึ้น เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และทำให้เสียงของประชาชนมีความหมาย

ที่มาสหภาพคนทำงาน

ในวาระ 25 ปี 14 ตุลา เราเชิดชูสิทธิเสรีภาพให้เป็นคุณค่าหลักของ 14 ตุลา เสนอให้วันที่ 14 ตุลา เป็นวันสิทธิเสรีภาพ ตอนนั้นเราคิดว่าการเมืองไทยจะดีขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน ยังเกิดการทำรัฐประหารอีกถึง 2 ครั้ง ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง แต่ยังมีผู้เสียชีวิตโดยไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ และมีอีกนับพันคนถูกดำเนินคดี และถูกจำคุกจนถึงทุกวันนี้ 

ในวาระ 40 ปี 14 ตุลา ยังมีเยาวชนและประชาชนคนเดือนตุลา ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาความมั่นคงร้ายแรง บางส่วนถูกจำคุกจากการแสดงละคร และบางส่วนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และไม่ได้กลับมาอีกเลย

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา ยังมีหลายคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ยังมีคนหนุ่มสาวและประชาชนนับพันคนยังถูกกล่าวหาด้วยข้อหาร้ายแรง และหลายคนยังจำคุกอยู่โดยที่ยังไม่มีการวินิจฉัย 

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า ในวาระโอกาสนี้ตนอยากตอกย้ำและเชิญชวนทุกคนว่าการรำลึกถึงเหตุการณ์ หรือถึงวีรชนที่น่าจะมีความหมายและมีคุณค่าที่สุด ก็คือการสืบทอดสืบสานอุดมการณ์อุดมคติ และเจตนารมย์ของการต่อสู้ 14 ตุลา หรือเหตุการณ์อื่นๆ

"การเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพเรื่องพื้นฐานในสังคมไทยมันยังไม่ลงหลักปักฐานแม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มา 50 ปี เพราะฉะนั้น ขอพวกเราจงเดินทางต่อไป ร่วมมือกันต่อไป ต่อสู้พิทักษ์ปกป้องเจตนารมย์ 14 ตุลา พิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จะต้องไม่มีใครถูกจำคุก ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร หรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิตจากการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิเสรีภาพโดยการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ ขอพวกเราจงพิทักษ์เจตนารมย์ 14 ตุลา" ชัยธวัช ทิ้งท้าย

วันมูหะมัดนอร์ มะทา (วันนอร์) ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมรำลึกครบรอบ 50 ปี วีรชนประชาธิปไตย และบัดนี้เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้เป็นวาระทางประวัติศาสตร์ เป็นการบันทึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเหล่าประชาชนในยุคนั้น และสืบต่อมา

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ระบุด้วยว่า หากไม่มีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยของประชาชน และนักเรียน นิสิตนักศึกษาหลายแสนคนในวันนั้น พี่น้องและประชาชนคนไทยคงไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสการเมืองและร่วมรำลึกอนุสรณ์สถานวันนี้ 

"วันที่ 14 ตุลาคม 2566 เป็นการชุมนุมครั้งแรกอย่างสันติของมวลชนจำนวนมหาศาล เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครอบงำประเทศไทยมาอย่างยาวนานนับทศวรรษ เป็นผลสำเร็จ แม้ว่าหลังจากนั้น จะมีการรัฐประหารไม่น้อยกว่า 5 ครั้งก็ตาม แต่การเสียสละของวีรชน 14 ตุลา คือปฐมบทของระบอบประชาธิปไตย และของประชาชน เพื่อประชาชนในประเทศไทย อันเป็นเจตนารมย์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของวีรชน 14 ตุลา อย่างมั่นคง และถาวร" วันนอร์ กล่าว

ประธานสภาฯ ระบุต่อว่า เขาหวังว่าประชาชนทั้งหลายจะได้ถอดบทเรียนของการพัฒนาประชาธิปไตยจากวีรชน 14 ตุลา เพื่อสรรค์สร้างประชาธิปไตยที่มีคุณค่า และเป็นของประชาชนแท้จริง 

ด้าน ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) วางพวงมาลา และกล่าวรำลึก โดยชลน่าน เผยว่าตนรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้มาร่วมพิธีวางพวงมาลา วีรชน 14 ตุลา ประจำปี 2566 ในวันนี้ 

ชลน่าน กล่าวว่า 14 ตุลา เป็นวันที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะแม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ร่องรอยของความสูญเสียยังคงฝังลึกในคนไทยทุกคน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ทำให้ทุกคนตระหนักในประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น การเสียสละของประชาชนที่ยอมแลกเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และเกิดขึ้นในประเทศไทย 

ชลน่าน ศรีแก้ว ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก "พรรคเพื่อไทย

ชลน่าน เชื่อว่า การเสียสละของประชาชนในวันนั้นจะไม่สูญเปล่า และเจตจำนงความมุ่นมั่นของประชาชนจะเป็นแรงผลักดัน เป็นกำลังใจ และเป็๋นแนวทางให้พวกเรานำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญเหตุการณ์ทางการเมืองมากมายที่ทำให้การส่งเสริมและการสร้างสรรค์พัฒนาประชาธิปไตยต้องสะดุดหยุดลง แต่อุดมการณ์ความมุ่งมั่นจะไม่เลือนหายไป 

รมว.สธ. ระบุต่อว่า วันนี้เป็นวันที่ดีที่เราจะได้รำลึกว่า เราจะทำอย่างไรที่เราจะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ยังมีภารกิจอีกมากมายที่คนรุ่นเรา และคนรุ่นถัดไป จะต้องช่วยกันผลักดันให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วม และการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความยุติธรรม และความเจริญก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขของสังคม

ชลน่าน กล่าวทิ้งท้าย ขอไว้อาลัยแต่วีรชนที่ได้จากไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว และขอสรรเสริญอุดมการณ์อันมั่นคงของทุกคน และขอรำลึกถึงวีรชนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ได้สรรค์สร้างประชาธิปไตยอันถือว่าเป็นสมบัติของชาติของประชาชนชาวไทย ของทุกคนทุกหมู่เหล่า 

หลังจากนั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเวศ เอมอมร กลุ่มวีรชน 14 ตุลา 2516 อาจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้วางพวงมาลา และกล่าวรำลึกถึงวีรชน 14 ตุลา ตามลำดับ 

นอกจากงานที่แยกคอกวัวแล้ว ยังมีสถานที่อื่นๆ ที่จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยที่ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร ได้จัดงานฉายภาพยนตร์กลางแปลง เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน (2544) เวลา 19.00 น. และคอนเสิร์ตรำลึกเหตุการณ์ 50 ปี 50 เพลงเล่าบรรเลง 14 ตุลา นำโดย หงา คาราวาน ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. 

ทั้งนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อปี 2516 เกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชน และนิสิตนักศึกษา ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้น นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ปล่อยนักโทษการเมือง 13 คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีการแจ้งข้อหากบฏ และการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ 

จากนั้น ประชาชนได้เดินขบวนออกมาที่ถนนราชดำเนิน และมีการใช้กำลังอาวุธผู้ชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และเสียชีวิตอย่างน้อย 69 คน สุดท้าย ตัวของจอมพลถนอม ประภาส และณรงค์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2517 และในทุกปีจะมีการรำลึกถึงบุคคลที่สูญเสียและบาดเจ็บจากเหตุการณ์นั้นครั้งนั้น

บรรยากาศการวางพวงมาลา วันครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา 2516 (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net