Skip to main content
sharethis

สถานทูตเนเธอร์แลนด์ มอบรางวัล 'ทิวลิป' ซึ่งเป็นรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน ให้กับสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา (AAPP) ที่ได้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อนักโทษการเมืองพม่ามากว่า 2 ทศวรรษ พร้อมคุยกับ 'โกโบจี' ผู้ก่อตั้งองค์กร โดยเจ้าตัวขออุทิศรางวัล เพื่อประชาชนที่ต่อสู้กับความอยุติธรรม และนักโทษการเมือง

 

9 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 14.02 น. ที่สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ แร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย มอบรางวัลนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 'ทิวลิป' ให้กับ โกโบจี ผู้ก่อตั้งสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ เอเอพีพี สำหรับพันธกิจการช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมากว่า 2 ทศวรรษ และมอนิเตอร์การคุกคามของรัฐบาลเผด็จการทหาร ตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ รางวัลฮิวแมนไรท์ 'ทิวลิป' เป็นรางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์จัดทำขึ้นทุกปี เพื่อมอบให้แก่นักต่อสู้หรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสนับสนุนการทำงานของด้านสิทธิมนุษยชน

ขณะที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ เอเอพีพี ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 (พ.ศ. 2543) เพื่อทำให้สังคมการเมืองประเทศ 'พม่า' ปราศจากนักโทษการเมืองอีกต่อไป และประชาชนมีเสรีภาพทางการเมือง

โกโบจี

สัมภาษณ์ผู้ก่อตั้ง เอเอพีพี เจ้าของรางวัล 'ทิวลิป'

"ผมอยากอุทิศรางวัลนี้ทำให้ผู้ที่ถูกคุมขังและประชาชนที่ออกมาต่อสู้กับความอยุติธรรม"

โกโบจี ผู้ก่อตั้ง AAPP ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ถึงความรู้สึกหลังได้รับรางวัลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และสถานการณ์ทางการเมืองพม่าตอนนี้

1,000 วันหลังรัฐประหาร สถานการณ์พม่าตอนนี้เป็นอย่างไร 

โกโบจี : สถานการณ์การเมืองในพม่าตอนนี้แย่ลงมาก บอกได้เลยว่าแย่กว่าในอดีต เพราะว่าหัวหน้ากองทัพพม่า เชื่อว่ากองทัพกำลังรู้สึกพ่ายแพ้ และนั่นทำให้เขาเลือกใช้วิธีที่เหี้ยมโหดมากยิ่งขึ้น ในการกดปราบประชาชน และผู้ต้องขังทางการเมือง 

กองทัพพม่ามีอคติบางอย่าง เพราะว่าเขาไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเพราะประชาชน หรือผู้ต้องขังทางการเมือง นั่นเป็นสิ่งที่กองทัพพม่าคิด กองทัพทำแบบนี้เพราะว่าต้องการความชอบธรรมจากประชาชน แต่การทำแบบนี้ จะทำให้กองทัพพม่าไม่มีความชอบธรรม ทั้งจากประชาชนพม่า อาเซียน และประชาคมโลก ในเวลาเดียวกัน เขาก็โกรธประชาชนที่ต่อต้าน ไม่ชอบกองทัพ และกองทัพพม่ามองประชาชนเป็นศัตรู และก็ใช้ความเหี้ยมโหดในการกดปราบประชาชน

ทำไมประชาชนถึงออกมาต่อต้านกองทัพพม่ามากขนาดนี้

โกโบจี : ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า คนพม่าส่วนใหญ่เชื่อว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี สามารถนำประเทศได้ และสร้างอนาคตและชีวิตที่ดีกว่า แต่หลังจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) ประชาชนเชื่อว่ากองทัพพม่าต้องการทำลาย NLD ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ชอบกองทัพพม่า และไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองโดยระบอบทหารอีกต่อไป ประชาชนพม่าจึงออกมาประท้วงอย่างสันติ สนับสนุนกองกำลังต่อต้าน คนรุ่นใหม่กลายเป็นทหารในกองกำลังต่อต้าน ในการต่อสู้เพื่อชีวิตตนเอง และต่อสู้เพื่อประชาชน 

กังวลเรื่องอนาคตคนรุ่นใหม่ในประเทศหรือไม่

โกโบจี: คนรุ่นใหม่ คืออนาคตของประเทศ เราต้องการให้คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในกระบวนการทางการเมือง เราอยากให้คนรุ่นใหม่เรียนในมหาวิทยาลัย เราไม่ได้ต้องการให้คนรุ่นใหม่ต้องอยู่ในป่า เรื่องแบบนี้ไม่ดีต่ออนาคตของประเทศ สิ่งที่เราทำคือเราพยายามทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน อย่างแรก คือการต่อสู้กับกองทัพพม่า และความอยุติธรรม และเรื่องที่ 2 คือการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่  และเพื่อทำให้ทำสิ่งนี้ได้เราต้องการให้คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในระบบการปกครอง และได้รับการศึกษา เพื่อนำไปสู่การสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ 

คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่า กำลังต่อสู้กับกองทัพพม่า หลายคนกำลังคิดเรื่องการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะการสร้างสังคมสหพันธรัฐประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น ผมเลยมองอนาคตในแง่ที่ดี

 

 

แผนการในอนาคตของ 'เอเอพีพี'

โกโบจี : ตอนนี้เรากำลังทำงานกับกลไกกระบวนการยุติธรรมของนานาชาติ เพื่อยุติการวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในประเทศพม่า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนี้ ในอนาคต เรากำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อผู้ที่รอดชีวิต และเหยื่อ (ผู้สื่อข่าว - ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารพม่า)

ตอนนี้เรากำลังร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมนานาชาติโดยเฉพาะรวบรวมข้อมูลสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยเฉพาะจากกองทัพ และบางทีในอนาคต เราหวังว่าทุกคนที่ก่อการละเมิดสิทธิมนุษชนถูกดำเนินมาตรการบางอย่าง

อะไรคืออุปสรรคสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้

โกโบจี : ตอนนี้มีข้อท้าทายเต็มไปหมด เพราะว่าพม่าตอนนี้ไม่มีหลักนิติธรรม ทุกคนสามารถถูกจับกุมตลอดเวลาในพม่า เราต้องการใช้ข้อมูลของเราเพื่อสร้างการกดดันทางการเมือง และให้กับนานาชาติ 

ในห้วงเวลาที่ข้อมูลข่าวสารเต็มไปด้วยข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดแบบนี้ 'เอเอพีพี' ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมาอย่างไร

โกโบจี : เรามีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรารวบรวมข้อมูลบางทีจากเครือข่ายพันธมิตรของเรา จากสื่อมวลชนที่เชื่อถือได้ บางทีมาจากข้อมูลทุติภูมิ หรือบางครั้งเราส่งข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องจากต้นทาง แม้ว่าจากการบันทึกของเอเอพีพี ตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึงตอนนี้ จะมีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิตจากเงื้อมมือของเจ้าหน้าที่ประมาณ 4 พันคน แต่ก็อาจจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนนี้ได้ เพราะว่าเราต้องตรวจสอบความถูกต้องในหลายๆ กรณี

คุณมีความกังวลไหมว่าสถานการณ์การเมืองในเมียนมาจะแย่ลงไปอีก เพราะว่าตอนนี้นานาชาติให้ความสำคัญกับสถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลาง และสถานการณ์ในเมียนมาไม่ค่อยได้รับการพูดถึง อาจจะมีสื่อบางสำนักที่ยังคงรายงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเท่านั้น

โกโบจี: ผมไม่ค่อยกังวล เพราะว่าทุกประเทศต้องสนใจผลประโยชน์ของตัวเองเป็นอันดับแรก เราต้องทำด้วยตัวเอง และเริ่มต้นเปลี่ยนจากภายใน เราต้องหายุทธศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้ได้รับการสนใจจากประเทศอื่นๆ นี่เป็นงานของเรา เราต้องกระตือรือร้นที่จะต่อสู้ต่อไป บางทีนานาชาติ นิติบัญญัติ หรือเพื่อนบ้าน อาจจะหันมามองเรา และสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในเมียนมา ถ้าเราไม่กระตือรือร้น จะไม่มีคนสนใจเรา 

มีอะไรอยากฝากทิ้งท้าย หรือเป็นกระบอกเสียงให้กับนักโทษการเมืองพม่าหรือไม่

โกโบจี : เราทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงพม่าไปสู่สังคมประชาธิปไตย เราต้องการการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการสนับสนุนด้านนโยบาย และด้านเงินทุน และก็ฝ่ายนิติบัญญัติจากประเทศเพื่อนบ้านควรร่วมมือกับไม่ใช่แค่กับกองทัพพม่า แต่รวมถึงฝ่ายต่อต้าน และภาคประชาสังคม เขาถึงจะออกนโยบายอย่างถูกต้อง จากการรับฟังความเห็นรอบด้าน เรื่องพวกนี้จำเป็น ประเทศเพื่อนบ้านเราแค่คุยกับกองทัพพม่าเท่านั้น จะไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง 

สถานการณ์พม่าตอนนี้ ถ้าเราไม่เสี่ยงอะไรเลย เราก็ไม่สามารถไปไหนได้ คุณต้องยอมเสี่ยง เพื่อจะคว้าอนาคต และตอนนี้ประชาชนพม่ากำลังเสี่ยงเพื่อชีวิตของพวกเขาเอง ผมคิดว่าคนที่สังเกตการณ์สถานการณ์ในพม่าตอนนี้อาจจะไม่เสี่ยงอันตรายเท่า แต่อย่างน้อย เขาสามารถสนับสนุน อะไรก็ตามที่สามารถช่วยได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนพม่า

อนึ่ง ย้อนไปเมื่อ 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยได้รับเลือกเป็นแคนดิเดต 1 ใน 3 ผู้ได้รับรางวัลฮิวแมนไรท์ 'ทิวลิป' อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net