Skip to main content
sharethis

ชาว ต.ปะแต จ.ยะลา ร่วมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน ระบุปกป้องสายน้ำและวิถีชีวิตของชุมชน ก่อนตัวแทนบริษัทประกาศยุติเวทีการรับฟังความคิดเห็น

22 พ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทยะลา วัลเลย์ คอมมูนิตี้ จำกัด ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนในพื้นที่รัศมี 1-3 กิโลเมตร ได้แก่ ชุมชนบ้านมูนุง บาจุ ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่ชุมชนรอบโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยระบบผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำแบบเผาไหม้ ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้าให้ข้อมูลความรู้ และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น พลังงานจังหวัดยะลา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 12 สงขลา ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)และหน่วยงานฝ่ายปกครองท้องที่ เข้าร่วมรับฟัง

ตัวแทนบริษัท ชี้แจงในเวทีประชาคมว่า โรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น เป็นโรงไฟฟ้าชุมชน ใช้คำว่าชุมชนเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชุมชน และมีกระบวนการที่ดีมีคุณภาพ การมีโรงไฟฟ้าชุมชนจะสามารถผลิตไฟฟ้า และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับในท้องถิ่น ขณะเดียวกันทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานพยายามอธิบายถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะไฟฟ้าไม่เพียงพอ ตอนนี้ประเทศไทยรับซื้อไฟฟ้าจากลาวและมาเลเซีย ส่วนในเรื่องของกระบวนการเราจะรับฟังเสียงของชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียให้มากที่สุด

ทางตัวแทนบริษัท ชี้แจงว่า เวทีประชาคมในครั้งนี้เป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของสองโครงการ เพื่อไม่เป็นการรบกวนเวลาของประชาชนในชุมชน โครงการแรกโรงไฟฟ้า 3 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาด 6 เมกกะวัตต์

เครือข่ายรักษ์สายปะแต แสดงสัญลักษณ์ป้ายผ้าและข้อความคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า หลังจากประชาชนในพื้นที่ตั้งคำถามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ประชาชนที่มีที่ดินและสวนในบริเวณใกล้เคียงตั้งคำถามเป็นคนแรก “ ทำไมข้อมูลการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการนี้ถึงไม่เป็นที่รับรู้ของชาวบ้านมาก่อน ผมในฐานะผู้มีส่วนได้เสียต้องการรับรู้ข้อมูลมากกว่านี้ ในกรณีที่ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ผมจะต้องทำอย่างไรบ้าง ”

“ชาวบ้านไม่ปฏิเสธการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อคนในท้องถิ่นแน่นอน เพียงแต่การรับรู้ของพวกเราในวันนี้ไม่เพียงพอ เสนอให้มีกระบวนการวิจัย ศึกษา เชิญกลุ่มต่าง ๆ ที่ทั้งเห็นด้วย และคัดค้าน เข้ามาให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนที่จะให้ชาวบ้านตัดสินใจ” ประชาชนอีกคนแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีประชาคม

เครือข่ายเยาวชนและเครือข่ายรักษ์สายน้ำปะแตได้ยกป้ายผ้า ข้อความต่างๆ เพื่อสื่อสารว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างไฟฟ้าชีวมวลในชุมชนของพวกเขา

“เราในฐานะเยาวชนบ้านมูนุง รู้สึกตกใจที่มีเวทีประชาคมแบบนี้ ทั้งที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย ชาวบ้านที่รับรู้เรื่องนี้อยู่ในแวดวงที่จำกัดมาก จริง ๆ ทางผู้นำท้องถิ่นกับตัวแทนบริษัทพาพวกเราไปดูงานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าที่อำเภอจะนะ ทุกกระบวนการดีหมดจากการเล่าของตัวแทนโรงไฟฟ้า กระบวนการผลิต ความสัมพันธ์กับชุมชนในมิติต่าง ๆ แต่เมื่อผมโอกาสเดินทางไปคุยกับชาวบ้านซี่งไม่ได้ติดต่อผ่านกลไกบริษัทที่ทำโรงไฟฟ้า คำตอบที่ได้รับมาแตกต่างชัดเจน ชาวบ้านที่นั้นไม่เห็นด้วย ควันที่เราไม่เห็นในวันนั้นเพราะพวกเขาจะปล่อยในช่วงเวลากลางคืน การบำบัดน้ำที่อ้างว่าเป็นกระบวนการบำบัดกันภายในจะไม่กระทบแหล่งน้ำธรรมชาติพวกเขาแอบปล่อยน้ำ ตามที่ชาวบ้านที่นั้นเล่าให้ฟัง บ้านเรือนสองสามหลังที่ชาวบ้านชี้ให้เห็น คือบ้านที่พวกเขาต้องย้ายออกไปเนื่องจากทนต่อเสียงที่ดังจากโรงไฟฟ้าไม่ไหว การเผาไหม้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สายน้ำ มลพิษในชุมชน วิถีชีวิต นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านชุมชนที่มีโรงไฟฟ้าต้องประสบพบเจอ ดังนั้นชาวบ้านชุมชนมูนุง และชุมชนต่าง ๆ ที่ใกล้เคียง ที่บอกว่าพวกเขาไม่รับรู้ ขาดข้อมูลประสัมพันธ์ สื่อสารต่าง ๆ ควรได้รับข้อมูลที่รอบด้าน ผลกระทบมากมายที่จะเกิดขึ้นชาวบ้านควรรับรู้ว่าพร้อมจ่ายกับสิ่งที่ได้มาไหม ” อาลี เยาวชนในพื้นที่ แสดงความเห็น

ฮาฟิตนักศึกษาที่ทำงานด้านอนุรักษ์เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์จากเครือข่ายประชาชนรักษ์สายน้ำปะแต กล่าวว่า แถลงการณ์ครั้งนี้คือการคัดค้านความพยายามสร้างไฟฟ้า โดยเรียกร้องให้ยุติโครงการดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความจำเป็นใดๆ ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการผลิตไฟฟ้าล้นเกิน กลายเป็นภาระรับผิดชอบของประชาชนที่ต้องจ่ายค่าไฟแพง และโดยทั่วไปแล้วกระบวนการผลิตจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยสารอันตรายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีเกษตรกรรมของชุมชน และเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภค เป็นการการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมต่อพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาในมิติอื่นๆ ฮาฟิตกล่าว

อาลี เยาวชนนพื้นที่อธิบายว่า ชุมชนมุนุงนั้นส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม มีโรงเรียนประจำถิ่น (โรงเรียนตาดีกา) สามแห่งในรัศมีหนึ่งถึงสามกิโลเมตรรอบพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้า มีมัสยิด มีศูนย์เด็กเล็ก มีแหล่งน้ำสำคัญที่เป็นสายน้ำร่วมกันของคนหลายชุมชน ตนดีใจที่วันนี้คนที่ใช้สายน้ำเดียวกันออกมาคัดค้าน ส่งสัญญาณให้เห็นว่าประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้ากำลังเป็นปัญหาร่วมกันของทุกคน

“ผมขอเชิญชวนคนที่นี่ทุกคนคิดคำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด ไม่ใช่พูดแต่ด้านดีของการมีโรงงานอย่างเดียว อยากให้ชุมชนรับรู้ และมีส่วนร่วมจริง ๆ เพราะโรงงานกำลังจะสร้างขึ้นในชุมชนของเรา หลังจากนี้ไม่ใช่แค่คนมูนุงอย่างเดียว เพราะทุกชุมชนบริเวณแวดล้อมจะได้รับผลกระทบเช่นกัน” อาลี กล่าวปิดท้าย

อารีฟีน โสะ ในฐานะนักกิจกรรมที่ทำงานติดตามแผนพัฒนาต่างๆ ของรัฐในพื้นที่สามจังหวัดสี่อำเภอ/ปาตานี ตั้งข้อสังเกตผ่านเวทีประชาคมในหลายประเด็น 1. เรื่องข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน ชาวบ้านที่มาส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาไม่รับรู้มาก่อนว่าจะมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา  2. ระยะเวลาของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่เหมาะสม เพราะตามกำหนดการให้เวลาชาวบ้านถามตอบแสดงความคิดเห็นเพียง 20 นาที และประชาสัมพันธ์ต่อชุมชนน้อยมากทั้งที่ผลกระทบต่อชุมชนนั้นมากมายหลายชุมชน 3. เมื่อรัฐบาลที่แล้วมีการอภิปรายเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าล้นเกิน ทำให้ประชาชนคนไทยมีภาระรับผิดชอบจ่ายค่าไฟแพง ขณะที่วิทยากรในเวทีวันนี้ให้ข้อมูลว่าพลังงานไฟฟ้าในประเทศไม่เพียงพอ ตกลงแล้วใครคือคนกล่าวเท็จระหว่างผู้แทนราษฎรในสภากับวิทยากรในวันนี้

4. บรรยากาศของเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่บรรยากาศแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย อารีฟีนเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง การพกพาอาวุธปืนเข้ามาในพื้นที่การรับฟังความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม 5. ความพยายามรวบรัดประชาสัมพันธ์โครงการเดียวแต่ใช้ใบลงทะเบียนของสองโครงการ คือโรงไฟฟ้าขนาด 3 เมกกะวัตต์ กับ โรงไฟฟ้าขนาด ๖ เมกกะวัตต์ นี่เป็นการฉวยโอกาสของกระบวนการ 6. สุดท้ายประเด็นการสื่อสารด้วยภาษาไทยเป็นหลัก หลายบทก็เป็นการใช้ภาษาเชิงเทคนิค และการแปลความเป็นภาษามลายูแบบรวบรัดก็เป็นช่องว่างในการสื่อสารกับชาวบ้าน 

อารีฟีน กล่าวชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้า เพราะก่อนหน้านี้ตนรับรู้มาว่ามีการคุกคามในระดับชุมชนจนเยาวชนที่เป็นแกนให้ข้อมูลอีกด้าน พยายามคัดค้านโครงการต้องย้ายออกจากพื้นที่

ต่อมาทางด้านตัวแทนบริษัทกล่าวขอบคุณน้อมรับคำแนะนำต่างๆ จากผู้เข้าร่วมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่เห็นด้วย และคัดค้านไม่เห็นด้วย ที่เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ก่อนประกาศขอยุติเวทีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net