Skip to main content
sharethis

ความมั่งคั่งที่เกินปกติทำให้กลุ่มทุนใหญ่ครองทรัพยากรไว้ในมือโดยไม่ใช้ทำประโยชน์และเพิ่มอำนาจทางการเมือง ภาษีความมั่งคั่งหรือ net wealth tax จึงเป็นตัวกรองสุดท้ายเพื่อนำความมั่งคั่งเกินปกตินั้นคืนสู่สังคมและลดอำนาจของกลุ่มทุนใหญ่ การจะผลักดันกฎหมายนี้ย่อมมีอุปสรรคอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่อุปสรรคใหญ่สุดอาจอยู่ที่ความคิดของคนในสังคมที่เห็นใจคนรวยเกินไป

  • รายงาน Global Wealth Report ของเครดิตสวิสระบุว่า คนที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์แรกมีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาท มากกว่าความมั่งคั่งเฉลี่ยของคนที่จนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ท้ายถึง 2,500 เท่า
  • ความมั่งคั่งของบุคคลหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากสุญญากาศ ดังนั้น ความมั่งคั่งที่เกินปกติจึงควรถูกเก็บภาษีความมั่งคั่งเพื่อเป็นตัวกรองสุดท้ายของความบกพร่องจากการจัดเก็บภาษีประเภทอื่นๆ นำความมั่งคั่งที่เกินกว่าปกติกลับคืนสู่สังคมในรูปรัฐสวัสดิการ
  • ควรนำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีความมั่งคั่งมาใช้ในสวัสดิการเงินบำนาญถ้วนหน้าเพราะจะสามารถสร้างตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด
  • ควรกระจายอำนาจการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งให้แก่ท้องถิ่น

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ได้ออกรายงานที่ชื่อว่า ‘ออกแบบอนาคต: ทิศทางใหม่ของการพัฒนามนุษย์ในเอเชียแปซิฟิก’ ซึ่งระบุว่าประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีค่าดัชนีพัฒนามนุษย์สูง

ทว่า การเติบโตที่ผ่านมากลับมิได้ส่งผ่านสู่ผู้คนอย่างทั่วหน้า นี่คือความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่ฉุดรั้งประเทศไทยไว้ และดังที่รู้กันมานาน รายงาน Global Wealth Report ของเครดิตสวิสระบุว่า คนที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์แรกมีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาท มากกว่าความมั่งคั่งเฉลี่ยของคนที่จนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ท้ายถึง 2,500 เท่า นอกจากนี้ คนที่รวยที่สุด 5 เปอร์เซ็นต์ยังถือครองที่ดินมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินทั้งหมดในประเทศ ส่วนอีก 75 เปอร์เซ็นต์ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินเลย

ประเทศไทยมีความพยายามพอสมควรในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่นการออกกฎหมายภาษีที่ดินหรือภาษีมรดก แต่แทบไม่มีผลเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงภาษีลาภลอย (windfall tax) ภาษีหุ้น และเช่นกันพวกมันยังคงถูกคัดค้าน

ความพยายามจะดึงเอาความมั่งคั่งส่วนเกินจากมหาเศรษฐีของไทยเกิดขึ้นอีกครั้งผ่านโครงการ “การประยุกต์ใช้ภาษีความมั่งคั่งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานด้วยความเป็นธรรมและยั่งยืนในประเทศไทย”  งานศึกษาที่เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศุภลักษณ์ บํารุงกิจ นักวิชาการอิสระ ร่วมกันผลิตออกมา รายงานดังกล่าวระบุว่า

‘ถ้าหากรัฐสามารถเก็บภาษีความมั่งคั่งจากคนกลุ่มต่างๆ ที่ถือครองทรัพย์สินจำนวนมหาศาลซึ่งอยู่บนยอดของช่วงชั้นผู้ถือครองทรัพย์สินทั้งหมดย่อมสร้างรายได้ให้กับรัฐเป็นจำนวนมากและยังช่วยลดช่องว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น’

‘ประชาไท’ พูดคุยกับษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยถึงการนำภาษีนี้มาใช้ในสังคมไทย

net wealth tax ตะแกรงสุดท้ายเพื่อลดอำนาจและความมั่งคั่งเกินปกติของเศรษฐีไทย

สำหรับประเทศไทยที่พัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นการส่งเสริมการลงทุนให้แก่กลุ่มทุนต่างๆ โดยเชื่อใน Trickle Down Economic หรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบไหลรินที่ว่า เมื่อกลุ่มคนรวยได้รับประโยชน์จากความมั่งคั่งแล้ว สุดท้างความมั่งคั่งจะไหลรินสู่คนข้างล่างเอง แม้ว่าวิธีการและแนวคิดนี้จะผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยในอดีตเติบโตขึ้นได้ก็จริง แต่การไหลรินกลับไม่เป็นอย่างที่คาด มันยังคงไหลวนอยู่กับกลุ่มคนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเสียส่วนใหญ่

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ษัษฐรัมย์กล่าวว่าแนวคิดนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามีปัญหา ซ้ำยังทำให้สูญเสียโอกาสเก็บภาษีจากกลุ่มทุนเหล่านี้ เขาเห็นว่าเม็ดเงินที่นำไปอุดหนุนกลุ่มทุนหากนำมาอุดหนุนคน 99 เปอร์เซ็นต์ของประเทศผ่านการจัดสวัสดิการต่างๆ น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า

ภาษีความมั่งคั่ง (net wealth tax) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะดึงเอาความมั่งคั่งส่วนเกินจากคน 1 เปอร์เซ็นต์มาอุดหนุนคน 99 เปอร์เซ็นต์ ษัษฐรัมย์เริ่มต้นอธิบายว่าหลักการสำคัญของภาษีไม่ว่าที่ใดในโลกก็คือการเก็บจากผู้ที่มีมากกว่ากระจายสู่คนที่มีน้อยกว่า เมื่อคนคนหนึ่งถือครองความมั่งคั่งจากการครอบครองทรัพยากรร่วมของสังคม ภาษีความมั่งคั่งก็วางอยู่บนหลักการนี้ เพิ่มเติมคือความมั่งคั่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสุญญากาศ แม้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีต่างๆ แล้ว แต่ปรากฏว่าบุคคลยังมีความมั่งคั่งเกินกว่าปกติที่ควรเป็น บุคคลดังกล่าวก็ควรเสียภาษีจากความมั่งคั่งที่เกินปกตินี้กลับคืนมา

“ในหลายประเทศใช้ภาษีนี้เป็นตัวช้อนความบกพร่องของการจัดเก็บภาษีประเภทอื่น เมื่อการจัดเก็บภาษีประเภทอื่นยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าความมั่งคั่งนั้นจะเป็นหุ้นก็ดีหรือไม่ทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ ก็ต้องถูกคำนวณออกมาเป็นเพื่อมีการจัดเก็บภาษีช้อนกลับคืนสู่สังคม”

กล่าวได้ว่าภาษีความมั่งคั่งถือเป็นภาษีทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง ความแตกต่างอยู่ที่มันเป็นการรวบรวมเอาความมั่งคั่งทั้งหมดของคนคนหนึ่งมาจัดเก็บอีกครั้ง เพราะแม้ว่าบุคคลจะเสียภาษีตามปกติแล้ว แต่ถ้าความมั่งคั่งสูงจนถึงเกณฑ์ย่อมถือว่าเป็นความมั่งคั่งที่เกินปกติเพื่อทำให้อำนาจและความมั่งคั่งที่เกินปกติของเหล่ามหาเศรษฐีลดลง net wealth tax จึงเป็นเหมือนตะแกรงขั้นสุดท้าย

ความมั่งคั่งเกินปกติวัดอย่างไร?

คำถามคือแล้วจุดใดที่ถือเป็นความมั่งคั่งที่ผิดปกติ ษัษฐรัมย์กล่าวว่าเกณฑ์ดังกล่าวแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนักคิด มาร์กซิสต์ สังคมนิยมประชาธิปไตย หรือแม้แต่เสรีนิยมต่างก็มีเกณฑ์ของตน เขายกตัวอย่างว่าแนวคิดเสรีนิยมเองก็ถือว่าความมั่งคั่งบางประเภทเป็นความมั่งคั่งที่ผิดปกติ เช่น ความมั่งคั่งจากมรดก ความมั่งคั่งจากทรัพยากรที่บุคคลครอบครองโดยไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ หรือความมั่งคั่งที่ทำให้บุคคลมีอำนาจทางการเมืองมากเกินไป เป็นต้น รวมไปถึงความมั่งคั่งที่ได้มาอย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม

“แต่ในงานวิจัยนี้เราใช้เกณฑ์ว่าท็อป 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ถ้าจะแบ่ง เราจะแบ่งที่ตรงไหนในแง่ของการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งเราพบว่าในประเทศไทยมีบุคคลธรรมดาอยู่ประมาณ 20 คนที่มีทรัพย์สินหักหนี้สินแล้วมีทรัพย์สินประมาณ 20 กว่าล้านบาท ตัวเลขที่เราคุยกันในข้อเสนอเชิงนโยบายก็น่าจะประมาณสัก 30 ล้านบาทคนที่มีทรัพย์สินเท่านี้

“ถ้าเราดูในหลายเคส แม้แต่ในประเทศยุโรปที่พยายามผลักดันตรงนี้ก็เริ่มต้นจากที่คนมีทรัพย์สินแค่ 1 ล้านยูโร พรรคเปโดมอส (Pedomos) ของสเปนที่ผลักดันกันก็คือคนที่เกิน 40 ล้านบาง ซึ่งสำหรับสเปน 40 ล้านบาทถือว่าจนกว่า 30 ล้านบาทไทย 40 ล้านของสเปนก็อาจจะเทียบเท่ากับคนไทยที่มีทรัพย์สินสักประมาณ 15-20 ล้านบาทถ้าเทียบตามอำนาจซื้อ แต่ของไทยผมคิดว่าเป็นเกณฑ์ที่เรามองว่าคือท็อป 1 เปอร์เซ็นประเทศคือเกิน 30 ล้านบาทขึ้นไปที่ทรัพย์สินของคนคนเดียว ไม่ได้เป็นนิติบุคคล”

ปัญหาระดับโลก

งานศึกษาระบุว่า การเก็บภาษีความมั่งคั่งในปัจจุบันมีประเด็นปัญหาหลักๆ อยู่ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การที่โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างเต็มตัว ตลาดสินค้าและบริการเชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว ทําให้การเคลื่อนย้ายทรัพย์สินเกิดขึ้นได้ง่ายมากกว่าในอดีต ทําให้การวางแผนเลี่ยงภาษีทําได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

ประการที่สอง การใช้ภาษีความมั่งคั่งในบางกรณีนําไปสู่การลดความสามารถในการแข่งขันทางภาษีที่เป็นแรงจูงใจในการลงทุนของนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์จึงทยอยลดอัตราการเก็บภาษีความมั่งคั่งลง

ประการที่สาม การป้องกันปัญหาทั้งสองดังกล่าวก่อนหน้าสามารถทําได้โดยการออกแบบภาษีความมั่งคั่งให้มีความครอบคลุม เช่น ออกแบบให้ทรัพย์สินของบริษัทต่างชาติไม่ต้องถูกนํามาคิดภาษี แต่การทําแบบนี้จะทําให้ระบบภาษีมีความซับซ้อนขึ้นอย่างมาก ใช้เวลาในการทําความเข้าใจ ผู้คนอาจรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม และผู้คนอาจจะเห็นชอบน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นต้องพิจารณาถึงความสามารถในการเก็บภาษี/ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของระบบราชการในประเทศอีกด้วย

ปัญหาระดับไทย

ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งของไทยคาดว่าจะมีอยู่ 3 ประการเช่นกัน ประกอบด้วย การขาดฐานข้อมูลทรัพย์สินที่ทันสมัยและครอบคลุมจากการที่ระบบราชการไทยทำงานแบบแยกส่วน แต่ละหน่วยงานต่างมีบทบาทการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมแต่กลับไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน

ประการต่อมาคือการขาดความตื่นตัวในการคาดการณ์สภาพปัญหาใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นและความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานราชการ ทั้งการอุดช่องโหว่ทางกฎหมายที่สร้างความสูญเสียก็เป็นไปอย่างล่าช้า เช่น กรณีการออกพระราชบัญญัติมาตรการการป้องกันการกําหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) ที่ใช้ป้องกันการโยกย้ายทรัพย์สินและผลกําไรจากการประกอบการทางธุรกิจข้ามบริษัทในเครือเพื่อหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบและคํานวณภาษี ที่ต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะออกกฎหมายดังกล่าวได้ ทําให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ไปมหาศาล

ประการสุดท้าย การกระทําทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่ทําหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี เพื่อให้รายได้ภาษีของรัฐรั่วไหลออกไปจากระบบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ษัษฐรัมย์กล่าวว่าทุกนโยบายใหม่มักมีอุปสรรคและ ‘ผี’ ในจินตนาการอยู่มากมาย

“ถ้าเรานึกถึงภาพคนที่มีไซส์พันล้านบาท คุณไม่สามารถโยกย้ายให้สินทรัพย์จนลงมาจนต่ำกว่า 30 ล้านได้ โยกได้อย่างมากก็หลักร้อยล้าน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราเริ่มทำมันก็จะสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ทีละเปลาะ แต่สิ่งที่งานชิ้นนี้พยายามพิสูจน์คือมันมีผีว่าเดี๋ยวคนจะใจยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตัวเองออกนอกประเทศ แต่ผมอัตราภาษีที่เราคุยกันจริงๆ มันน้อยนะครับ มันเป็นภาษีแบบขั้นบันไดถ้าเก็บ 1 เปอร์เซ็นต์ฐานแรกจาก 1 ล้านบาทที่เกินมาจาก 30 ล้านบาทหรือที่ 31 ล้าน คุณจะเสียภาษีแค่ปีละหมื่นเท่านั้นเอง

“แต่คุณมีร้อยล้านคุณถึงจะเสียประมาณ 700,000 บาทต่อปี คือคุณต้องมีเยอะขนาดนั้น ผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นโจทย์ขนาดที่จะสร้างความกังวลอะไรขนาดนั้น แต่ถามว่าถ้าเริ่มใช้ก็คงมีอุปสรรคเหมือนภาษีที่ดินภาษีอะไรต่างๆ แต่เราสามารถออกแบบได้ รวมถึงสิ่งที่เราเสนอในในการวิจัยคือส่งภาษีตรงเข้าสู่งบสวัสดิการตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะก็จะทำให้เกิดการต่อต้านน้อยลง ผลที่ได้คือสวัสดิการ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนของกลุ่มทุนให้หันมาลงทุนในคนมากขึ้น แทนการลงทุนในสินทรัพย์ และลดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มคนรวยลง”

‘บำนาญแห่งชาติ’ สวัสดิการที่สร้างตัวทวีคูณมากที่สุด

คำถามสำคัญที่ต้องคิดต่ออยู่ที่ว่าเงินจากภาษีความมั่งคั่งควรลงไปสู่สวัสดิการใดจึงสร้างการทวีคูณด้านเศรษฐกิจได้มากที่สุด ษัษฐรัมย์สมมติว่าถ้าสามารถเก็บภาษีความมั่งคั่งได้เฉลี่ยได้ปีละ 2 แสนล้าน เงินส่วนนี้ควรนำมาจัดทำสวัสดิการบำนาญถ้วนหน้าก่อนเป็นอันดับแรก เพราะจะสามารถสร้างตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่า

“เมื่อคนแก่คนหนึ่งปลอดภัย คนหนุ่มสาวที่ดูแลก็ปลอดภัย เขาก็เอาเวลามาเลี้ยงลูกที่เพิ่งเกิดได้อย่างเต็มที่ งานวิจัยจึงเสนอให้จัดทำเงินบำนาญเป็นตัวนำก่อนเพราะมันเป็นปัญหาที่ค่อนข้างเร่งด่วน”

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 2 แสนล้านต่อปียังไม่เพียงพอจะทำบำนาญถ้วนหน้า เพราะสวัสดิการบำนาญถ้วนหน้าต้องใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันรัฐใช้เงินเพื่อเรื่องนี้ที่ประมาณ 70,000 ล้านบาทเท่านั้น ถ้าเก็บภาษีความมั่งคั่งได้สัก 2 แสนล้านบาท รัฐบาลยังต้องเพิ่มอีกประมาณปีละแสนล้าน ซึ่งเขาคิดว่ามีความเป็นได้เนื่องจากเงินแสนล้านจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ 3.6 ล้านล้าน เท่ากับร้อยละ 2.8 ของงบประมาณฯ เท่านั้น

งานศึกษายังเสนออีกว่าควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บภาษีความมั่งคั่งเพราะมีข้อมูลของคนในท้องถิ่นมากกว่ารัฐส่วนกลาง แน่นอนว่าประเด็นเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ ซึ่งษัษฐรัมย์เห็นว่าการกระจายอำนาจการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่นมีขนาดไม่เท่ากัน ดังนั้น รัฐส่วนกลางจะต้องอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่นที่จัดเก็บรายได้ได้น้อยกว่าเพื่ออุดช่องว่างในส่วนนี้

ภาพภาคประชาชนยื่น 43,826 รายชื่อ เสนอ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ แก้ ม. 11(11) เปลี่ยนสงเคราะห์เป็น ‘ถ้วนหน้า’ เพิ่มบำนาญเป็น 3,000 บาท ต่อปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2566

ไม่ต้องเห็นใจคนรวย

ในมุมมองของษัษฐรัมย์ อุปสรรคใหญ่ของการเก็บภาษีความมั่งคั่งอาจไม่ใช่ปัญหาด้านเทคนิคเท่ากับไมด์เซ็ทของคนไทย เขากล่าวว่า

“เรื่องใหญ่คือเราไม่ต้องไปเห็นใจคนรวย ในงานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศก็ยืนยันว่าไม่มีคนรวยที่ไหนอยากจะหยุดรวยหรอก ต่อให้มีการเก็บภาษีเขาก็จะพยายามสะสมความมั่งคั่งต่อไป และจริงๆ แล้วคนรวยก็ไม่ได้มีปัญหากับเรื่องนี้

“คนรวยในระดับรวยมากๆ สิ่งที่จะคุกคามความมั่งคั่งของเขาก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไป คนรวยในหลายประเทศก็ยังรู้สึกว่าอยากให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศของเขาน้อยกว่านี้ คนจะได้มีอำนาจในการบริโภคมากกว่านี้ ปัญหาอาชญากรรมน้อยกว่านี้

“เราไม่ต้องไปเห็นใจคนรวยว่านี่คือทรัพย์สินที่เขาสร้างขึ้นมาเพราะคุณจะรวยได้ในระดับนี้ คุณต้องรู้อยู่แล้วว่าคุณไม่ได้รวยด้วยตัวคุณเอง และส่วนมากคนรวยที่ผมรู้จักหรือในงานวิจัยต่างๆ เขาก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นความรวยที่เขาได้มาด้วยความสุจริตในเครื่องหมายคำพูด คือไม่ได้มาด้วยความเก่ง ความขยัน และโชคดีอย่างเดียว เราควรตระหนักข้อนี้เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเห็นใจเขาขนาดนั้นก็ได้”

แล้วคุณคิดอย่างไร?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net