Skip to main content
sharethis
  • วาระการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ที่จะถึงในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ของผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง โดยมีทีมเข้าร่วมด้วยกัน 5 ทีม ประกอบด้วย ประกันสังคมก้าวหน้า สมานฉันท์แรงงานไทย ประกันสังคมคนทำงาน สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ฯ และ 3ขอต้องไปต่อ
  • เวทีแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก 1. แนะนำวิสัยทัศน์และนโยบายปฏิรูประบบประกันสังคมของแต่ละทีม 2. การผลักดันนโยบายให้สำเร็จในฐานะสมาชิกบอร์ดประกันสังคม 3. นโยบายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ทั้งเรื่องการจัดตั้งธนาคารแรงงาน และโรงพยาบาลประกันสังคม และการกู้เงินหรือปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกันตน

 

ในวาระการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายนายจ้าง และผู้ประกันตน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เมื่อ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเวทีสภาเพื่อผู้บริโภค หัวข้อ "ส่องนโยบายเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน" โดยเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 5 ทีม ร่วมประชันวิสัยทัศน์ แนวคิดด้านนโยบายสิทธิประโยชน์ การบริหารกองทุน และปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วย

  1. สุนทรี (หัตถี) เซ่งกิ่ง สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)
  2. รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ประกันสังคมก้าวหน้า
  3. บูรณ์ อารยพล ทีม 3ขอต้องไปต่อ
  4. ศิริศักดิ์ บัวชุม ทีมประกันสังคมคนทำงาน
  5. กิตติศักดิ์ อธิสกุลทรัพย์ ทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

ก่อนเริ่มเวที บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า เวทีสภาผู้บริโภคครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินให้กับกองทุนประกันสังคมได้รับฟังข้อมูลและนโยบายต่างๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตนเอง ดังนั้น ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคที่อยู่ในระบบประกันสังคมออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมและเลือกผู้ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น

สสรท.ดันปฏิรูปประกันสังคมขนานใหญ่

ช่วงแรกเป็นการแนะนำสมาชิกและวิสัยทัศน์ของแต่ละทีมที่ลงสมัครเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม สุนทรี (หัตถี) เซ่งกิ่ง จากทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวว่า ทีม สสรท. มีสมาชิกทั้งหมด 7 คน โดยผสมผสานวิชาชีพหลายแขนง เช่น ผู้ประกันตนมาตรา 33 39 และ 40 และอาจารย์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เบอร์สมาชิกที่รับเลือกตั้งจากทีม สสรท. ประกอบด้วย เบอร์ 4 6 10 11 19 22 และ 23
 
สุนทรี ระบุว่า  สสรท.มุ่งหวังที่จะทำให้ระบบประกันสังคมมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ และยกระดับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน

นโยบายหลักของสมาฉันท์สมาฉันท์แรงงานไทย รวม 14 ข้อ ประกอบด้วย 3 หมวดใหญ่ 
หมวด การพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ให้ครอบคลุม หมวด นโยบายที่เสนอขึ้นใหม่ นวัตกรรมใหม่ และความฝันใหม่ และหมวด นโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปสำนักงานและการบริหารของประกันสังคม เน้นบริหารด้วยความโปร่งใส ผลักดันกลไกตรวจสอบประกันสังคม และต้องเปิดเผยข้อมูลการลงทุน 

นโยบายของ สสรท. (ที่มา: เฟซบุ๊ก สมานฉันท์แรงงานไทย)

3 ข้อต้องไปต่อ ชู 'ขอเลือก ขอกู้ ขอคืน'

บูรณ์ อารยพล ตัวแทนจากทีม '3ขอต้องไปต่อ' ประกอบด้วย เบอร์ 8, 21, 57, 58, 95 และ 177 ระบุว่า วิสัยทัศน์ของทีมคือ ยกเลิกการบังคับเข้า บังคับส่ง และบังคับออก และควรมีนโยบายที่ดีกว่านี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนเกิดความสมัครใจ 

นโยบายหลัก ชู 3 นโยบายหลัก ได้แก่ ขอเลือก (ขอเลือกระหว่างบำเหน็จหรือบำนาญ) ขอกู้ (ขอกู้เงินอย่างน้อยร้อยละ 50 ในส่วนของตนเอง) ขอคืน (ขอคืนเงินชราภาพร้อยละ 50 เพื่อนำไปลงทุนและใช้หนี้) 

นอกจากนี้ ทีม 3ขอต้องไปต่อ ยังมีนโยบายอีก 10 ข้อ ประกอบด้วย 1. เลือกเงินชราภาพบำนาญหรือบำเหน็จได้ 2. ประกันสังคมค้ำประกันเงินกู้ 50% ให้ผู้ประกันตน 3. ขอคืนเงินชราภาพ 50% ก่อนอายุ 55 ปี 4. รายงานผลการดำเนินการกองทุนประกันสังคมทุกเดือน 5. คำนวณเงินชราภาพที่เป็นธรรมกับทุกมาตรา 6. ส่งสมทบเท่าไรก็ได้ 7. ม.40 ใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ 8. ประกันสังคมดำเนินธุรกิจการเงินให้กับประชาชนทั่วไป เช่น ฝาก ถอน โอน ขายสินเชื่อ ประกัน และมีสิทธิพิเศษให้กับผู้ประกันตน 9. รักษาฟรีกับ รพ.รัฐได้ทุกแห่ง และรักษา รพ.เอกชน เดือนละ 2,000 บาท 10. ผู้รับบำนาญชราภาพไม่ถูกตัดสิทธิพยาบาลจากประกันสังคม 

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 'แรงงานต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี'

ศิริศักดิ์ บัวชุม ทีมประกันสังคมคนทำงาน ประกอบด้วย เบอร์ 2 5 7 9 43 45 และ 60 ซึ่งประกอบด้วยคนทำงานทั้งในและนอกระบบ และบุคลากรทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน 

ศิริศักดิ์ บัวชุม (ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค)

สำหรับวิสัยทัศน์นั้น ศิริศักดิ์ ระบุว่า ทีมจะเน้นรณรงค์ส่งเสริมนโยบายเกี่ยวข้องกับแรงงาน ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาวะที่ดี และเรื่องแรกๆ ที่จะทำ ถ้าได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการฯ คือเรื่องการปฏิรูปประกันสังคม ขณะที่แนวนโยบายจะเน้นที่การปฏิรูปประกันสังคมถ้วนหน้า โปร่งใส ยืดหยุ่น และเป็นธรรม 

สำหรับนโยบายเร่งด่วนมี 5 ข้อ ประกอบด้วย สนับสนุนจัดตั้งธนาคารแรงงาน จัดตั้งสถาบันทางการแพทย์หรือโรงพยาบาลประกันสังคม ปฏิรูปการลงทุนประกันสังคม การปฏิรูปการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนให้รวดเร็ว และปลอดภัย และการขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เช่น แก้ไขกฎระเบียบ เงินบำนาญชราภาพ หรือแก้ไขมาตรา 39 และ 40

ประกันสังคมก้าวหน้า ปฏิรูปประกันสังคม ก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี มาในฐานะตัวแทนของทีมประกันสังคมก้าวหน้า (ซึ่งประกอบด้วย เบอร์ 27-33) ระบุว่า วิสัยทัศน์ของทีมคือประกันสังคมต้องเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานสำหรับคนที่ไม่มีอภิสิทธิ์ และทำงานหนัก และประกันสังคมคือเครื่องหมายของประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนคิดฝันความมั่นคงในชีวิต นอกจากนี้ เขาเชื่อว่าการปฏิรูปประกันสังคม จะเป็นก้าวแรก สู่รัฐสวัสดิการ อย่างที่คนใฝ่ฝัน

นโยบาย :

  1. เพิ่มค่าคลอดบุตรจาก 15,000-20,000 บาท และสนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน
  2. ขยายการสงเคราะห์เด็กถึงอายุ 12 ปี
  3. เงินชดเชยเพื่อดูแลคนในครอบครัว วันละ 300 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,500 บาทต่อปี
  4. เพิ่มประกันว่างงานสูงสุด 9 เดือน 
  5. สูตรคำนวณบำนาญใหม่ที่เป็นธรรม 
  6. สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายวงเงิน 2 ล้านเป็น 5 ล้านบาท
  7. ขยายสิทธิคนพิการไม่ตัดสิทธิร่วม หรือใช้ร่วมกับสิทธิสวัสดิการอื่นๆ ร่วมด้วยได้ รักษาพยาบาลได้ทุกที่
  8. ประกันสังคมถ้วนหน้า รวมแรงงานอิสระทั้งระบบ
  9. สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลผลักดันให้เป็นบัญชียาเดียวกัน ให้เท่าเทียมกับสิทธิข้าราชการ และสิทธิบัตรทอง ยกระดับการรักษามะเร็งทุกโรค ไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่จำกัดวงเงิน
  10.  สิทธิทันตกรรม และรักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับ สปสช. เหมาจ่าย 17,500 บาท 
  11. ปรับเงื่อนไขของบำเหน็จบำนาญของแรงงานข้ามชาติ
  12. ตลอดวาระ 2 ปี งดดูงานต่างประเทศ
  13.  การลงทุนกับคู่สัญญาตามหลักการ "Decent Work" หรือคู่สัญญาต้องบริหาร โดยไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่กดขี่แรงงาน มีการส่งเสริมการตั้งสหภาพ และอื่นๆ  
  14. สร้างความเป็นประชาธิปไตย ขยายสิทธิเลือกตั้งสู่แรงงานข้ามชาติ
  15. เดินหน้าองค์กรประกันสังคม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ผูกติดกับระบบราชการ หรือกลุ่มอุปถัมภ์ทางการเมืองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ

สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ฯ เสนอ 9 นโยบาย ก้าวไปเพื่อประกันตน

กิตติศักดิ์ อธิสกุลทรัพย์ ผู้แทนทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ เบอร์ 83-89)  ระบุว่าวิสัยทัศน์ที่สำคัญการสร้างประกันสังคมให้ดูแลผู้ประกันตนได้จริงผ่าน 9 นโยบาย ก้าวไปเพื่อผู้ประกันตน ประกอบด้วย 

  1. การเพิ่มกองทุนสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาท เป็น 3,000 บาท จนถึงอายุ 12 ปี 
  2. การเพิ่มเงินบำนาญชราภาพ ไม่น้อยกว่าเดือนละ 10,000 บาท ผู้ประกันตน อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ได้เงินบำนาญชราภาพ ตั้งแต่ 4-5 พันบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการดูแลชีวิตหลังเกษียณ อยากให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และพึ่งพาตนเอง ไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน
  3. สิทธิประโยชน์บำนาญ และบำเหน็จ กองทุนชราภาพให้สิทธิของผู้ประกันตนเลือกว่าจะรับบำเหน็จ หรือบำนาญ 
  4. สินเชื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านี้ประกันสังคมได้มีการปล่อยโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ย 1.99% ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี แต่เราอยากให้ลดเหลือ 1 % เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ผ่านการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม 
  5. เพิ่มเงินช่วยเหลือ จาก 5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 1 แสนบาท 
  6. ปรับลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตน เหลือ 2.75 %
  7. สร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และสถาบันทางการแพทย์ให้กับผู้ประกันตน
  8. ตั้งธนาคารผู้ประกันตน
  9. ให้องค์กรประกันสังคม เป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำของรัฐบาล และฝ่ายพรรคการเมือง

กิตติศักดิ์ อธิสกุลทรัพย์ (ขวา) (ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค)

สัดส่วนลูกจ้างใน คกก.มีเพียง 7 ที่นั่ง จาก 21 ที่นั่ง แล้วเราจะผลักดันนโยบายอย่างไร

สำหรับช่วงที่ 2 เนื่องด้วยคณะกรรมการประกันสังคม มีสัดส่วนตัวแทน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 7 คนเท่ากัน ดังนั้น จึงมีคำถามว่า หากได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการ คิดว่านโยบายของแต่ละทีมจะสามารถผลักดันได้อย่างไร 

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า เราต้องเชื่อมั่นว่า เรามาจากฐานของประชาชน ฐานผู้ประกันตน และฐานมวลชน การผลักดันของเราไม่ใช่เรื่องหลักลอย แต่เป็นความประสงค์ของผู้ประกันตน และสหภาพแรงงาน ถ้าใครปฏิเสธ ไม่ว่าจะภาครัฐ หรือนายจ้าง น่าจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว 

บูรณ์ อารยพล กล่าวว่า อันดับแรก เราต้องมีฐานเสียงของผู้ประกันตนเข้าไป และอันดับ 2 เวลาประชุมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุป มันเป็นเรื่องการต่อรอง ก็ต้องหาทางลงที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันหรือวิน-วินทุกฝ่าย ต้องดูว่าข้อเรียกร้องของเรามันโอเค ละเมิดกฎหมายหรือไม่ หรือเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน 

ก่อนหน้านี้มีผู้วิเคราะห์ว่าข้อเรียกร้องของ 3ขอต้องไปต่อ นั้นกระทบต่อ 3 ฝ่าย อาจทำให้กองทุนล่มสลาย หรือทำให้วินัยการเงินผิดเพี้ยนไป แต่บูรณ์ มองว่า นโยบาย "ขอเลือก ขอคืน ขอกู้" เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน กระทบต่อนายจ้างหรือไม่ คิดว่าไม่กระทบ และอยากฝากว่าข้อเสนอไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ก็ต้องพิจารณาด้วยใจอันเป็นธรรมคือ ลูกจ้างเสนอ นายจ้างก็ต้องพิจารณาด้วยใจอันเป็นธรรม หรือฝ่ายนายจ้างเสนอ ลูกจ้างก็ต้องพิจารณาด้วยใจอันเป็นธรรม 

ศิริศักดิ์ บัวชุม ทีมประกันสังคมคนทำงาน ระบุว่า ถ้าทีมประกันสังคมแรงงาน เข้าไปเป็น 1 ในทีมคณะกรรมการประกันสังคม น่าจะเป็นแรงผลักอย่างดี เพราะนโยบายของเราเกิดจากแนวคิดร่วมกันของแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ ทั้งในสถาบันการศึกษาของภาครัฐ และเอกชน ซึ่งมีสัมพันธภาพอันดีกับการทำงานของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การผลักดันนโยบายเป็นไปได้ 

กิตติศักดิ์ อธิสกุลทรัพย์ สมาชิกทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ฯ ระบุว่า การผลักดันนโยบาย 9 ข้อนั้นให้ประสบความสำเร็จยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ส่วนของกรรมการประกันสังคมมีทั้งหมด 3 ฝ่ายด้วยกัน ในส่วนของ 9 นโยบาย เรามีที่มาที่ไป เรามีรายละเอียดในแต่ละข้อ หรือที่มาของเงินที่จะนำมาผลักดันมีที่มาอย่างไร ซึ่งจะผ่านจากการบริหารเงินประกันสังคม 2.3 ล้านล้านบาท 

นอกจากนี้ สมาชิกทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เชื่อว่า การผลักดันต้องอาศัยการอธิบายกับบอร์ดว่าสามารถสร้างผลประโยชน์ที่ดีให้กับผู้ประกันตน ไม่สร้างภาระมากไปให้กับนายจ้าง และภาครัฐบาล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่าย หรือภาระที่มากขึ้น คุ้มค่าสำหรับทุกฝ่าย และเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ 

"เชื่อว่าการผลักดันนโยบายที่มีหลักการ มีเหตุผล มีที่มาที่ไป ..น่าจะได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่ายในการผลักดัน โดยได้แรงกำลังใจจากพี่น้องแรงงาน จากผู้ประกันตนทั้งหมดสิบกว่าล้านคน ที่อยู่ในระบบช่วยกันผลักดัน และผ่านด้วยหลักการเหตุผลที่เราจะนำเสนอผ่านทางบอร์ดประกันสังคมนี้ ผมเชื่อว่าจะสร้างความเข้าใจให้กับทุกฝ่าย และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย" กิตติศักดิ์ กล่าว 

ผลักดันนโยบายไหวเหรอ ถ้าต่อต้านทุนผูกขาด 

ษัษฐรัมย์ ระบุว่า เราผลักดันผ่านคณะก้าวหน้า และเรามีอุดมการณ์ที่ต่อต้านการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และสำนักงานประกันสังคมเผชิญเงื่อนไขเหล่านี้มาตลอด 9 ปี จึงมีคำถามว่าเราจะสามารถทำงานกับบอร์ดอื่นๆ อีก 14 ท่านได้หรือ

ษัษฐรัมย์ ระบุว่า มันไม่ได้เป็น 'zero-sum game' (มีแค่แพ้กับชนะ) หรือเราเสนออันนี้แล้วทุกคนจะเสียประโยชน์ ผลประโยชน์หลายอย่างมันเป็นผลประโยชน์ที่ตรงกันระหว่างรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง แต่สิ่งที่มันไม่เกิดขึ้นคือเราไม่มีเจตจำนงมุ่งมั่นเพียงพอที่เราจะผลักดันเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องวาระหลัก พอเราขาดเจตจำนงที่มุ่งมั่นไม่ยึดโยงกับประชนชน มันเลยมีเรื่องที่ไม่จำเป็นกับประชาชนเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เราต้องเอาข้อมูลมากางให้เห็นว่านี่คือผลประโยชน์ ร่วมกันของผู้ประกันตน รัฐ และนายจ้าง สามารถที่จะประคองประโยชน์ร่วมกันได้

พร้อมกันนี้ ษัษฐรัมย์ ยกตัวอย่างการใช้ข้อมูล และการบริหารกองทุนประกันสังคมของทีมประกันสังคมก้าวหน้า เพื่อให้เห็นว่า หากทำตามนโยบายของประกันสังคมก้าวหน้าทั้งหมด กองทุนจะยังมีเงินเหลือ 7.7 หมื่นล้านบาท ส่วนในระยะยาว 10 ปี หรือในอนาคต จะมีผู้สูงอายุที่เยอะมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยู่ในระบบประกันสังคม ด้วยสิทธิประโยชน์มากขึ้น

นโยบายด้านธนาคาร-กู้เงินตนเอง เป็นอย่างไร 

สำหรับ3ขอต้องไปต่อ ซึ่งมีนโยบายกู้เงินตนเองนั้น บูรณ์ กล่าวว่า แนวคิดคือเรามองว่าทุกคนควรจะมีสิทธิเข้าถึงเงินของตัวเอง และเป็นเรื่องธรรมขาติของผู้ประกันตนที่เมื่อส่งเงินสมทบมาระยะหนึ่ง คนรากหญ้าก็อยากจะเอาเงิน 3-5 หมื่นบาท กู้เพื่อไปตั้งตัว หรือทำอาชีพอื่นๆ อันนี้เป็นไอเดียจากธนาคารอินเดียที่ให้กู้ลักษณะ 'micro-finance' ขณะที่สำนักงานประกันสังคมได้กำไรราว 4-5% จากการคิดดอกเบี้ย 6% แบบนี้ทุกฝ่ายจะได้หมด 

บูรณ์ อารยพล (ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค)

แนวคิดของธนาคารแรงงาน

สำหรับนโยบายธนาคารแรงงาน มีทีม สสรท. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ และประกันสังคมคนทำงาน ที่เสนอนโยบายนี้ สำหรับศิริศักดิ์ จากประกันสังคมคนทำงาน เสนอนโยบายธนาคารแรงงาน เนื่องจากมองว่าประเด็นปัญหาของแรงงานการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้หรือสินเชื่อ เพื่อนำมาใช้จ่ายค่าครองชีพ ที่อยู่อาศัย หรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เราตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อเป็นธนาคารเฉพาะกิจของแรงงานประกันสังคม แรงงานจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ เงินของเราควรได้ใช้ สัดส่วน 30-50% เมื่อได้ใช้แล้ว ก็สนับสนุนคุณภาพชีวิตได้ดีเลย

กิตติศักดิ์ สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ฯ ระบุว่า เป็นคนที่ร่วมผลักดันการจัดตั้งธนาคารประกันสังคมในรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ติดข้อกฎหมายของกระทรวงการคลัง และธนาคารของประเทศไทย จึงต้องใช้เวลาเพื่อแก้ไขกฎหมายต่างๆ จึงได้มีการออกในเรื่องของนโยบายอื่นๆ ทดแทน เช่น นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ย 1.99% เป็นระยะเวลา 5 ปี ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกันตน เนื่องจากลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ กิตติศักดิ์ ระบุด้วยว่า เรื่องการจัดตั้งธนาคาร ตั้งใจผลักดันต่อ เพื่อให้ผู้ประกันตนมาใช้บริการของธนาคารแรงงาน และนำกำไรมาหมุนวนเพื่อสร้างสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนต่อไป 

สุนทรี เซ่งกิ่ง มีนโยบายธนาคารแรงงานไทย เนื่องจากผู้ประกันตนหลายคนเป็นคนยากคนจน แต่กองทุนประกันสังคมใหญ่มาก ทำไมเราไม่เอาเงินส่วนนี้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน โดยเอาเงินส่วนหนึ่งของกองทุนประกันสังคมไปฝากไว้ที่ธนาคาร เพื่อให้เป็นหลักประกัน เมื่อผู้ประกันตนจะไปยื่นกู้จากธนาคาร ก็ไม่ต้องถามหาหลักทรัพย์ใดๆ เขาสามารถอ้างเอาเงินทุนประกันสังคม ซึ่งเขามีส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของอยู่ อาจจะดูจากเงินสะสมเขาไว้เป็นบำนาญหรือเงินออมซึ่งอยู่ในกองทุน เป็นหลักประกันไว้ที่ธนาคาร เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงแหล่งทุนของธนาคารได้ 

สุนทรี (หัตถี) เซ่งกิ่ง (ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค)

ประกันสังคมก้าวหน้า ไม่เห็นด้วยตั้งธนาคารเฉพาะกิจ 

ษัษฐรัมย์ มองว่า ไม่เห็นด้วยกับจัดตั้งธนาคารเฉพาะกิจ เนื่องจากมีงานวิจัย และบทเรียนจากธนาคารอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น ธกส. ธอศ. หรือธนาคารอิสลาม แต่มักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ และมองว่าสำนักงานประกันสังคม ไม่ได้มีบทบาทให้กู้ หรือปล่อยสินเชื่อ แต่ควรจะเป็นสิทธิประโยชน์ที่เป็นโครงการที่ทำให้คนเข้าถึง เช่น หลักประกันด้านบำนาญ หรือบำเหน็จ หรือร่วมมือกับธนาคารของรัฐ เพื่อให้กองทุนมีความมั่นคงในระยะยาว นอกจากนี้ ษัษฐรัมย์ มองเรื่องการพิจารณาเป็นรายโครงการมากกว่าโครงการระยะยาว เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของกองทุน จึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

สำหรับทีมประกันสังคมก้าวหน้า เสนอเพิ่มวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็น 5 ล้านบาท เนื่องจากสามารถทำได้ทันที โดยการร่วมมือภาคส่วนที่มีความชำนาญในเรื่องนี้ และอย่างที่ได้เรียนมา กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศทำให้เรามีอำนาจในการเสนอเงื่อนไขในดอกเบี้ยที่ถูก และอัตราการผ่อนชำระหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของตน เราควรต่อรองได้มากกว่านี้ เราไม่ใช่ลูกไล่ธนาคาร 

ดันสิทธิการรักษาเท่าบัตรทอง มุ่งมาตรฐานเดียวกันทุกมาตรา

ษัษฐรัมย์ ระบุว่า อันนี้เป็นจุดยืนหลักของเรา เรื่องการรักษาพยาบาล เราสามารถขยับสู่บัญชียาเดียวกันได้ ยกตัวอย่าง ตัวยาบางตัวสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ถึง 30% เม็ดหนึ่งสนนราคา 40 บาท ใช้ได้เฉพาะสิทธิของข้าราชการ แต่บัตรทองและประกันสังคมใช้ไม่ได้ เบื้องต้น เรายังรวมกองทุนไม่ได้ แต่ให้เป็นบัญชียาเดียวกันได้

ษัษฐรัมย์ ระบุต่อว่า อีกเรื่องคือการยกระดับการรักษาพยาบาล โดยให้สิทธิ สปสช. เข้ามาร่วม เพราะว่าตอนนี้สิทธิการรักษาของ สปสช. ในเรื่องทันตกรรม และมะเร็ง นำหน้าสิทธิของประกันสังคม และจากการหารือกับ สปสช. เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะทำให้สิทธิรักษพยาบาลเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน โดยที่เราจะใช้สิทธิบัตรทอง หากต้องการใช้สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ก็เพิ่มขึ้นไป เชื่อว่าถ้ามีการแก้ไขกฎระเบียบประกันสังคมได้ ก็จะทำให้คนได้สิทธิรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค)

บูรณ์ เสนอว่า ระยะสั้น 3-5 ปี อันดับแรก ให้ผู้ประกันตนใช้ได้ 2 สิทธิพร้อมกัน คือบัตรทอง และประกันสังคม โดยคำนึงถึงสิทธิรักษาพยาบาล และการบริหารงานภายใต้กระทรวงแรงงาน และ 5-10 ปี เราอยากได้ยินคำว่าบัตรทอง ประกันสังคม และมีข้าราชการ มีมาตรฐานเดียวกัน

สุนทรี ระบุว่า สสรท. เสนอว่า มีแนวคิดที่เชื่อว่าหลักประกันสุขภาพบ้านเราควรมีกองทุนเดียว แต่ในเมื่อระยะสั้นยังไม่สามารถทำได้ ก็ต้องร่วมงานกับ สปสช. กับกองทุนสวัสดิการของข้าราชการ ซึ่งตอนนี้มีกลไกชื่อว่า 'อนุกรรมการเพื่อสร้างความกลมกลืน' ซึ่งก็คือความพยายามสิทธิประโยชน์ให้เป็นชุดเดียวกัน แต่ตอนนี้ยังไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม คิดว่านี่เป็นแนวทางที่ต้องไปต่อ นอกจากนี้ สุนทรี เห็นด้วยกับรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และถ้าเราอยากจะได้สิทธิอะไรที่เพิ่มขึ้น จึงค่อยเป็นส่วนที่จ่ายเอง หรือเพิ่มจากกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสวัสดิการราชการ 

ศิริศักดิ์ กล่าวว่า ในเรื่องสิทธิประโยชน์ของการรักษาพยาบาล เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน วางเป้าว่า การสนับสนุนจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม โดยถ้าเราสามารถมีโรงพยาบาลของเราเอง เราน่าจะจัดการดีกว่าหลายๆ โรงพยาบาล 

ต่อมา ศิริศักดิ์ ระบุต่อว่า สิ่งที่เพิ่มคือ ทันตกรรม เรามีการหารือร่วมกับเครือข่ายของทันตกรรม และเสนอผ่านเครือข่ายคณะกรรมการประกันสังคม จนมีการปรับในเรื่องของยอดงบประมาณรักษาโรคทันตกรรม เพิ่มเป็น 900 บาท และไม่ต้องสำรองจ่าย ส่วนที่จะทำต่อ คือหน่วยงานทันตกรรมของภาครัฐ หรือของเอกชนเช่นคลินิกชุมชนที่เข้าไปร่วมกับเครือข่ายประกันสังคม เมื่อผู้ป่วยไปรักษาโรคช่องปากสามารถเบิกตรงได้เลยกับหน่วยนี้ ไม่ต้องสำรองจ่าย ยอดเท่าไรให้หน่วยงานนี้รับผิดชอบ และก็ไปเบิกตรงกับประกันสังคม ส่วนตัวยอดรวมค่าใช้จ่าย ก็ไปพิจารณาในเรื่องของขั้นตอนการรักษาพยาบาลในแต่ละรายเป็นอย่างไร 

สุดท้าย กิตติศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทางทีมสภาองค์การลูกจ้างยานยนต์ฯ เราอยากเน้นเรื่องการสามารถบริหารจัดการได้เอง และพึ่งพาระบบประกันสังคมในการจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้ประกันตน ยกตัวอย่างเช่น การยกระดับการทำฟัน โรคมะเร็งตั้งใจผลักดันผ่านโรงพยาบาลประกันสังคม เนื่องจากเรามองว่าโรคร้ายแรง โรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง หรือโรคที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงๆ ผู้ประกันตนมักเจอปัญหาด้านการรักษา และดูแล เหมือนคล้ายๆ เป็นคนไข้ชั้นสองในโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน  

กิตติศักดิ์ ระบุต่อว่า เราอยากให้มีโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษา อย่างดี ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ อย่างเช่น โรคร้ายแรง โรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง หรือโรคที่เกี่ยวกับการทำงาน เราอยากให้โรงพยาบาลประกันสังคมมีบทบาทเรื่องนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net