Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านนานาชาติศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง พูดถึงประเทศสิงคโปร์ที่ต้องอยู่ท่ามกลางการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ-จีนนั้น สิงคโปร์ดำเนินนโยบายอย่างไรถึงได้มีความสามารถในการบริหารจัดการท่ามกลางความขัดแย้งได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กองพลน้อยที่ 9 กรมทหารราบที่ 6 ของสิงคโปร์ ระหว่างฝึกซ้อมทางทหารที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ภาพเมื่อ 20 กรกฎาคม 2559 (ที่มา: U.S. Indo-Pacific Command/Flickr/CC BY-NC-ND 2.0 DEED)

เทเรนซ์ ลี เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์รับเชิญ ที่วิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส ราชารัตนัม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ระบุว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นเวทีสำคัญในการขับเคี่ยวกันระหว่างสหรัฐฯ-จีน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้กำลังถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ต้องเลือกระหว่างสองมหาอำนาจ ซึ่งสำหรับประเทศสิงคโปร์แล้ว เรื่องนี้ก่อให้เกิดการถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องนโยบายการต่างประเทศ มีมุมมอง 2 แบบที่ปรากฏออกมาจากการอภิปรายนี้

มุมมองแบบแรกระบุว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอิสระในเวทีโลกน้อยซึ่งสะท้อนได้จากสภาพความเป็นจริงเชิงโครงสร้างที่พวกเขาเป็นรัฐเล็ก ที่ต้องยอมให้กับรัฐใหญ่กว่า เข้มแข็งกว่า ทำให้สิงคโปร์จำต้อง "ใช้ความรอบคอบ" และ "ต้องข่มใจอย่างมากเวลาที่จะแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจ"

มุมมองแบบที่สอง ระบุว่า สิงคโปร์นั้นจริงๆ แล้วมีอิสระอย่างเต็มที่ในเรื่องนโนบายการต่างประเทศ มุมมองนี้มาจาก บาลาฮารี เคาสิกัน และทูตสิงคโปร์ที่เกษียณอายุแล้วรายอื่นๆ พวกเขายืนกรานว่าสิงคโปร์จะไม่ยอม "ก้มหัวให้หรือถูกจำกัดโดยขนาดหรือภูมิศาสตร์" รวมถึงไม่ยอมถูกข่มขวัญรังแก และ ไม่ยอม "ทำตามมหาอำนาจอย่างนอบน้อม" แต่สิงคโปร์จะยืนหยัดเพื่อ "อุดมการณ์และหลักการของพวกเขาเอง"

มุมมองที่ต่างกันสองมุมมองนี้ได้ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญคือว่า สิงคโปร์มีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตัวเองมากน้อยแค่ไหนกันแน่ในช่วงที่มีการแข่งขันอย่างหนักของประเทศมหาอำนาจในตอนนี้

 

การปกครองของสิงคโปร์ กับ การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ลีระบุว่า ถ้าหากอิสระในการตัดสินใจ หมายถึงความสามารถที่รัฐนั้นๆ จะคงไว้ซึ่งสภาพทางการเมืองและการต่างประเทศตามความต้องการได้และตอบสนองอย่างเป็นอิสระจากการกระทำหรือการติดข้อจำกัดที่มาจากผู้อื่นแล้ว สิงคโปร์ก็ดูจะมีความสามารถในเรื่องนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลีมองว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะอำนาจควบคุมของพรรค PAP ที่เป็นพรรครัฐบาลซึ่งปกครองสิงคโปร์มาเป็นเวลายาวนาน และมีเสียงในสภา 2 ใน 3 พรรคนี้มีการหลีกเลี่ยงปัญหาไม่ให้เกิดการแบ่งค่ายในพรรคตนเองมากเกินไป ด้วยการสร้างแรงจูงใจและการควบคุมเชิงสถาบันภายในพรรคและภายในชาติ กระบวนการตัดสินใจเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องนโยบายต่างประเทศก็ให้กลุ่มเทคโนแครตและชนชั้นนำทางการเมืองตัดสินโดยมีฉนวนคุ้มกันจากการกดดันของประชาชน

ลีมองว่าการที่พรรค PAP สามารถดำเนินนโยบายการเมืองได้อย่างเต็มที่ ทำให้สิงคโปร์มุ่งสู่เป้าหมายนโยบายการต่างประเทศของตนเองได้โดยไม่มีอะไรมาฉุดรั้ง

อย่างแรกที่สิงคโปร์ทำคือการรักษาความมั่นคงและอธิปไตยของรัฐตัวเองด้วยการเข้าหาสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ สิงคโปร์มองว่าสหรัฐฯ มีความสำคัญมากต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สิงคโปร์ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลโอบามาในการปรับสมดุลนโยบายเอเชีย และหลังจากที่สหรัฐฯ ยกเลิกฐานทัพในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ก็เข้าหาสหรัฐฯ และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นจนมีการลงนามในสัญญาความร่วมมือด้านกลาโหมเมื่อ 9 ปีที่แล้ว และพัฒนาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันสองฝ่าย

สิงคโปร์พึ่งพาสหรัฐฯ ในเรื่องการฝึกทหารและยุทโธปกรณ์ทางการทหารระดับสูง โดยมีการส่งทหารของสิงคโปร์เข้าร่วมฝึกซ้อมรบและแลกเปลี่ยนกันในสถานที่สำคัญทางการทหารของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้สำนักงานวิจัยต่างๆ ของเพนทากอนยังมาตั้งสำนักงานในสิงคโปร์และทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสิงคโปร์ด้วย

อย่างที่สอง คือการที่พรรค PAP ออกนโยบายส่งเสริมสถานะสิงคโปร์ในฐานะแหล่งศูนย์รวมการค้าและการเงิน ด้วยการจัดให้มีอัตราภาษีบรรษัทต่ำและมีการจูงใจแบบส่งเสริมธุรกิจ ทำให้สิงคโปร์ดึงดูดเงินทุนต่างชาติให้ไหลเข้าประเทศได้อย่างมาก พวกเขาได้รับการลงทุนโดยตรงมากที่สุดจากสหรัฐฯ รวมแล้วมากกว่า 244,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกับจีนก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ และสิงคโปร์ก็เป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน มีนิติบุคคลจากจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมากย้ายสินทรัพย์ของตัวเองเข้าไปในสิงคโปร์และตั้งสำนักงานสาขาย่อยในสิงคโปร์ เพราะเชื่อว่าสิงคโปร์เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยสูง

อย่างที่สาม คือการที่สิงคโปร์ได้เข้าหาประเทศอำนาจระดับกลางอย่างออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เอาไว้ด้วย รวมถึงเปิดแนวทางพหุภาคีนิยมกับประเทศเหล่านี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่งคั่งและความมั่นคงร่วมกัน อีกทั้งยังมีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกับประเทศมหาออำนาจระดับกลางอีกจำนวนมากด้วย

อย่างที่สี่ คือการที่สิงคโปร์สนับสนุน "หลักความเป็นแกนกลางของอาเซียน" ในฐานะ "แพชูชีพ" ในช่วงเวลาที่โลกกำลังมีปัญหา เมื่อเดือน พ.ค. 2566 ที่การประชุมอาเซียนซัมมิทในอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรี ลีเซียงลุง ขอให้มีการบูรณาการทางเศรษฐกิจมากขึ้นและให้อาเซียนมีความเป็นปึกแผ่น แน่นแฟ้น มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นแกนกลางมากขึ้น

 

เมื่อจีนเป็นปัญหาท้าทายต่ออธิปไตยของสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่สิงคโปร์มีสถานะเฉพาะตัวว่าเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศเดียวที่มีคนเชื้อสายจีนเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ทำให้สิงคโปร์เผชิญกับปัญหาท้าทายเฉพาะด้านในเรื่องอธิปไตย ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะปฏิเสธอย่างคงเส้นคงวามาโดยตลอด แต่จีนก็ยังคงยืนกรานว่าจะเรียกสิงคโปร์ว่าเป็น "ประเทศชาวจีน" และมักจะคอยหาโอกาสที่จะส่งอิทธิพลต่อทางเลือกนโยบายของสิงคโปร์ด้วยวิธีการกดดันและบีบเค้น

ทั้งนี้ทางการจีนยังเคยทำการโต้ตอบเรื่องที่สิงคโปร์เข้าข้างฟิลิปปินส์ในประเด็นทะเลจีนใต้โดยการสนับสนุนคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการปี 2559 ด้วย ในตอนนั้น พล.อ.จิน ยีนาน ที่ปรึกษาอาวุโสของกองทัพประชาชนจีนกล่าวโต้ตอบว่า สิงคโปร์ทำการ "ก้าวก่ายสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้อง" และควรจะ "ต้องชดใช้ที่มาทำลายผลประโยชน์ของจีนอย่างร้ายแรง"

พล.อ.จิน บอกอีกว่า "มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จีนจะทำการโต้ตอบกลับสิงคโปร์ และไม่ใช่แค่การแสดงความคิดเห็นต่อหน้าธารกำนัลเท่านั้น" และเพราะว่า "สิงคโปร์ล่วงเกินถึงขนาดนี้ พวกเราจึงต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการโต้ตอบหรือการคว่ำบาตร พวกเราจะต้องแสดงความไม่พอใจของพวกเราออกมา"

ด้วยเหตุนี้เอง จีนจึงทำการกดดันสิงคโปร์โดยการยึดรถหุ้มเกราะเทอเร็กซ์ของสิงคโปร์ในฮ่องกงเมื่อเดือน พ.ย. 2559 และไม่เชิญนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิทเปิดตัวโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเมื่อปี 2560

นอกจากนี้ทางการจีนยังพยายามกดดันประชากรเชื้อสายจีนในสิงคโปร์โดยเฉพาะ โดยอาศัยหน่วยงานหอการค้าและภาคธุรกิจโดยการทำให้ธุรกิจของชาวสิงคโปร์ในจีนเข้าถึงการทำสัญญาและใบอนุญาตต่างๆ ได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่ชาวสิงคโปร์ทำการลงทุนในจีนจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ การที่กลุ่มคนเชื้อสายจีนผู้สูงอายุในสิงคโปร์มักจะมีความชื่นชอบจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ก่อนแล้ว ทำให้ทางการจีนพยายามดึงดูดให้เกิดการส่งเสริมความภาคภูมิใจในความเป็นเชื้อสายจีนและชาตินิยมจีน ผ่านทางองค์กรแบบวงศ์ตระกูลและองค์กรระดับรากหญ้า โดยอาศัยเรื่องความเป็นพื้นถิ่นและความเป็นคนแซ่เดียวกัน ในสิงคโปร์มีการจัดต้้งศูนย์วัฒนธรรมจีน (CCC) เมื่อปี 2555 เพื่อให้มีการส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีการสอนและฝึกอบรมเพื่อสร้างความเหมือนของอัตลักษณ์ระหว่างชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่และชาวจีนในสิงคโปร์

สื่อของจีนอย่าง CCTV และ CGTN ต่างก็แพร่หลายในช่องเคเบิลทีวีสิงคโปร์ และมีการใช้ชุดคำอธิบายแบบสนับสนุนจีนและต่อต้านสหรัฐฯ รวมถึงมีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนบนโซเชียลมีเดีย

ไม่เพียงเท่านั้น ทางการจีนยังใช้วิธีการจารกรรมอย่างตรงไปตรงมาด้วย นักวิชาการจีน Huang Jing เคยถูกส่งตัวกลับประเทศหลังจากที่กระทรวงกิจการภายในของสิงคโปร์กล่าวหาว่าเขาเป็น  "สายลับที่ส่งอิทธิพลจากต่างประเทศ" ในตอนนั้นเขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์เอเชียและโลกาภิวัตน์ของวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู (LKYSPP) โดยที่นักศึกษาปริญญาเอกของวิทยาลัยแห่งนี้ชื่อ ดิกสัน โย ก็ถูกคุมขังในสหรัฐฯ และได้รับหมายคุมขังภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายในของสิงคโปร์เนื่องจากเขาทำตัวเป็นสายลับผิดกฎหมายของจีน

สิงคโปร์ยังได้พยายามป้องกันการแทรกแซงจากจีนด้วยการผ่านร่างกฎหมาย (มาตรการต่อต้าน) การแทรกแซงจากต่างชาติด้วย และลีเซียงลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็คอยเตือนชาวสิงคโปร์ให้มีความตื่นตัวเกี่ยวกับข้อความที่แชร์ในโซเชียลมีเดียว่ามาจากที่ใด มีเจตนาอะไร และคอยเช็กข้อเท็จจริงอยู่เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากต่างชาติ

 

'เฮดจิง' ยุทธศาสตร์ป้องกันความเสี่ยงการต่างประเทศ

ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาสามารถปรับพฤติกรรมของสองขั้วมหาอำนาจนี้ได้ พวกเขาก็พยายามจะทำตัวเป็น "ตัวกลางที่มีความซื่อสัตย์" และ แสดงความเป็นห่วงต่อความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น

โดยรวมแล้ว ในขณะที่สหรัฐฯ และจีนกำลังแข่งขันกันในเรื่องอำนาจอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ก็มีพื้นที่ให้ทำตามนโยบายทางการเมืองและการต่างประเทศในแบบที่พวกเขาต้องการได้ ผู้สังเกตการณ์เรียกการทำแบบนี้ว่า "เฮดจิง" คือยุทธศาสตร์แบบที่ไม่ได้เลือกอย่างชัดเจนว่าจะเข้าข้างสหรัฐฯ หรือจีน ในขณะเดียวกันก็หาผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการร่วมมือกับทั้งสองขั้วอำนาจไปพร้อมๆ กับการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

 

เรียบเรียงจาก
A Small State Heavyweight? How Singapore Handles U.S.-China Rivalry, United States Institute of Peace, 10-04-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net