Skip to main content
sharethis

1,000 วันหลัง รปห. กลุ่มประชาชนพม่า "Blood Money Campaign" ยื่น จม.เปิดผนึกลงนาม 2.7 หมื่นรายชื่อ ถึงนายกสิงคโปร์ พร้อมกัน 24 ประเทศ เรียกร้องให้มีมาตรการคว่ำบาตร หยุดค้าขายอาวุธ และสกัดกั้นแหล่งเงินทุนของกองทัพเมียนมา หลังเคยมีรายงาน 'สิงคโปร์' ทำธุรกิจกับทางการเมียนมา มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 และค้าขายอาวุธให้ มากสุดอันดับ 3

 

31 ต.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (30 ต.ค.) ที่หน้าสถานทูตสิงคโปร์ ประจำประเทศไทย ถ.สาทร กรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 11.05 น. ในงาระครบรอบ 1,000 วันทำรัฐประหารเมียนมาเมื่อปี 2564 กลุ่ม 'Blood Money Campagin' หรือคณะรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือด ส่งตัวแทนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกลงชื่อ 2.7 หมื่นรายชื่อถึง ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ เรียกร้องให้ทางการสิงคโปร์ มีมาตรการ 3 ข้อ เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเงินทุน อาวุธยุทโธปกรณ์ และงดการค้าขายเชื้อเพลิงเครื่องบินรบให้กับกองทัพเผด็จการพม่า เพื่อใช้เข่นฆ่าประชาชน

 

สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ มีตัวแทนจากกลุ่ม Blood Money Campaign นำกระดาษ ปรากฏข้อความ อาทิ "Do More Singapore for Myanmar" "Stop selling to Myanmar junta for killing our children" "Singapore Clean or Blood Money?? Stand with dignity" และอื่นๆ และมีการอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาพม่า ก่อนส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือด้านในสถานทูตสิงคโปร์ โดยผู้ยื่นหนังสือแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นผู้รับหนังสือ

ข้อเรียกร้องของ Blood Money Campaign มีด้วยกัน 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1. เสนอมาตรการคว่ำบาตร เพื่อหยุดการถ่ายโอนอาวุธ เทคโนโลยี และเชื้อเพลิงเครื่องบินทั้งทางตรงและทางอ้อม และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า 

2. ดำเนินคดีกฎหมายการฟอกเงินและกำหนดมาตรการคว่ำบาตร เพื่อให้แน่ใจว่าคณะเผด็จการทหารไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินของสิงคโปร์ได้ รวมถึงกองทุน 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เป็นของรัฐบาลพม่า และ 3. เร่งรัดและดำเนินการสอบสวนกับบริษัทสิงคโปร์ที่จัดหาอาวุธ และเทคโนโลยีให้กับกองทัพพม่า

ชิ้นอ่อง ชาวพม่าในไทย อายุ 36 ปี วันนี้มาร่วมยื่นหนังสือถึงรัฐบาลสิงคโปร์ กล่าวว่า มายื่นหนังสือเพราะว่าประเทศสิงคโปร์ มีการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ และขายน้ำมันให้เครื่องบินรบ ให้กับกองทัพเผด็จการเมียนมา 

ชิ้นอ่อง ระบุต่อว่า สถานการณ์ในพม่าย่ำแย่มาก เนื่องจากกองทัพพม่ามีการฆ่าประชาชนอย่างน้อย 4-5 พันคน และมีการเผาบ้านเรือนของประชาชนพม่า วันนี้เลยอยากมาขอร้องทางสิงคโปร์หยุดขายอาวุธ หรือน้ำมันเครื่องบินรบให้กับกองทัพพม่า 

ชาวพม่าในไทย ระบุต่อว่า ถึงกระแสให้ความสนใจของนานาชาติต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ดูเหมือนจะซาลง แม้ว่าหลายประเทศจะออกมาให้ความเห็นใจประชาชนพม่า แต่เขาก็ไม่ได้ช่วยอะไร สุดท้ายประชาชนพม่าตายเป็นพันเป็นหมื่น แต่ว่าไม่มีใครช่วยเลย ประชาชนพม่าช่วยตัวเองกันทั้งนั้น 

"ไม่ช่วยผมไม่ว่า แต่ไม่ต้องเชิญมินอ่องหล่าย ไปประชุมเลย ถ้าจะคุยกับมินอ่องหล่าย ก็เหมือนฆ่าประชาชนทางอ้อม" 

"อย่าช่วยมินอ่องหล่าย ถ้ายังมีความเป็นมนุษย์ ช่วยประชาชน (ผู้สื่อข่าว - พม่า) ดีกว่า เพราะว่าเขาไม่ได้สู้กับประเทศ เขาฆ่าประชาชนตัวเอง เราไม่พอใจเลยออกมาเรียกร้อง" ชาวพม่าในไทย ระบุ  

ชิ้นอ่อง

ทั้งนี้ นอกจากสถานทูตสิงคโปร์ ในประเทศไทย กลุ่ม 'Blood Money Campaign' มีการส่งจดหมายเปิดผนึกข้อเรียกร้องเดียวกันนี้ ที่สถานทูตสิงคโปร์ใน 24 ประเทศทั่วโลก 

สำหรับความเคลื่อนไหววานนี้ (30 ต.ค.) สืบเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-30 ต.ค.) กลุ่ม Blood Money Campaign รณรงค์ล่ารายชื่อทั่วโลก ในหัวข้อ "#DoMoreSingapore" เพื่อส่ง 3 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์คว่ำบาตรเมียนมา สกัดกั้นการเข้าถึงแหล่งทุนกองทัพเมียนมา และระบบธนาคารในสิงคโปร์ ยุติการซื้อขายอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเชื้อเพลิงเครื่องบินรบให้กองทัพพม่า และสอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทำธุรกิจกับกองทัพพม่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมาชิกฝ่ายรณรงค์ของกลุ่ม Blood Money Campaign เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การเรียกร้องต่อรัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ทางภาคประชาสังคมพม่า และองค์กรนานาชาติกว่า 200 องค์กร ได้มีการยื่นจดหมายร้องเรียนไปแล้ว แต่ไม่มีการตอบกลับและการตอบสนองตามข้อเรียกร้องจากทางรัฐบาลสิงคโปร์อย่างชัดเจน ทำให้ทางภาคประชาสังคมพม่าต้องการเพิ่มแรงกดดันมากขึ้น เพื่อให้มีการตอบสนองตามข้อเรียกร้อง เพราะประเทศเมียนมาในขณะนี้กำลังอยู่ในวิกฤตมนุษยธรรม 

นอกจากนี้ สมาชิกฝ่ายรณรงค์ของกลุ่ม Blood Money Campaign ระบุด้วยว่า ที่มาของความมั่งคั่งและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่า ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ มีการขายอาวุธและสินค้า และการสามารถเข้าถึงระบบธนาคารและธุรกรรมทางการเงินในสิงคโปร์ของกองทัพพม่า ซึ่งทางกลุ่มมองว่าถือได้ว่าเป็นแหล่งเก็บเงินที่ปลอดภัยของเผด็จการทหารนำไปสู่การปราบปรามประชาชนในที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา อิรวดี รายงานว่า เมื่อปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมามีรายได้จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ จำนวน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมา คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการลงทุนราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือประเทศจีน และไทย 

ด้านสื่อทางการเมียนมาอย่าง Global New Light of Myanmar รายงานเมื่อ 20 ส.ค. 2566 ตรงกันว่า อ้างอิงข้อมูลจาก คณะกรรมการด้านการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) ของรัฐบาลเมียนมา ระบุว่า ช่วงปีงบประมาณ 2023-2024 (พ.ศ. 2566-2567) โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-ก.ค. 2566) รัฐบาลเมียนมามีรายได้จากการลงทุนต่างชาติ คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 467.793 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสิงคโปร์ยังคงครองแชมป์เข้ามาลงทุนในเมียนมามากที่สุด จำนวนมูลค่าทั้งสิ้น 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมา เป็นประเทศจีน เข้ามาเป็นที่ 2

เอกสารประกอบการประชุมของผู้รายงานพิเศษต่อสถานการณ์ของสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมา สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยด้วยว่า 5 อันดับ ประเทศที่ค้าอาวุธกับกองทัพเมียนมามากที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 คือ รัสเซีย มูลค่า 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับที่ 2 จีน มูลค่า 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับ 3 คือประเทศสิงคโปร์ คิดเป็น 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับ 4 คืออินเดีย จำนวน 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อันดับที่ 5 คือประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ขณะที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาล่าสุด รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ เอเอพีพี ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 30 ต.ค. 2566 หรือนานกว่า 2 ปีแล้ว มีผู้เสียชีวิตด้วยเงื้อมมือของกองทัพเมียนมา อย่างน้อย 4,161 ราย มีผู้ถูกจับกุม อย่างน้อย 25,359 ราย และมีผู้ถูกคุมขังอย่างน้อย 19,636 ราย

 

 

นอกจากนี้ รายงานจาก UNHCR ระบุว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 9 ม.ค. 2566 ผลจากการทำสงครามกลางเมืองในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1,545,200 คน โดยส่วนใหญ่เป็นประชาชนจากตอนกลางของประเทศเมียนมา เช่น ภูมิภาคสะไกน์ รัฐยะไข่ตอนกลาง ภูมิภาคมะเกว่ และอื่นๆ ตามลำดับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net