Skip to main content
sharethis

 



สี่ วื่อ ยังคงชอบชีวิตเรียบง่ายขอปลีกตัวมาอยู่ตามลำพัง


 


โดย สุทธิดา มะลิแก้ว


 4


(ต่อจากตอนที่แล้ว)


 


ใต้ร่มไม้ใหญ่ด้านฝั่งตรงข้างโรงแรมพูสี ในเมืองหลวงพระบางห่างจากตลาดสินค้าพื้นเมืองไม่ไกลนัก แม่เฒ่าสี วื่อ (Si Vue) หญิงชราชาวม้งวัย 70 กำลังนั่งก้มหน้าปะชุนเสื้อผ้าเก่าๆ ของเธออย่างไม่ได้แยแสสินค้าที่กำลังวางจำหน่ายอยู่ข้างหน้า


 


เมื่อถามว่าทำไมไม่ไปนั่งขายใกล้คนอื่น เธอตอบว่า "ไม่ชอบคนเยอะ แล้วมันก็ร้อนด้วย นั่งตรงนี้แหละ เย็นๆดี"


 


สี่ วื่อ เป็นหมอยาพื้นเมือง มาจากหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปจากตัวเมืองหลวงพระบางมาก ที่เธอเองคำนวณไม่ถูกว่ากี่กิโลเมตรกว่าจะเข้ามาถึงที่นี่ รู้แต่ว่าจะมาแต่ละครั้งต้องจ่ายค่ารถตั้ง 30,000 กีบ (ประมาณ 120 บาท) ก็นับว่าไกลโขเมื่อเทียบกับที่อยู่ปัจจุบันที่อยู่ในเขตภูว่าว ซึ่งการเข้ามาในเขตมรดกโลกนั้นจ่ายเพียง 2,000 -3,000 กีบเท่านั้น


 


เธอเล่าว่า อันที่จริงแล้วเธอเองก็ไม่คิดว่าจะขายสมุนไพรอยู่ตรงนี่หรอก แต่ว่าทางนายแพทย์ใหญ่ ที่เธอบอกว่าหัวหน้าหมอแห่งหลวงพระบางนั้นได้สืบหาคนในหมู่บ้านว่า มีใครเป็นหมอยาบ้าง อยากให้มาขายอยู่ในเมืองสักหน่อย มีคนบอกให้ติดต่อกับเธอ


 


"แรกๆ ก็ไม่อยากมาหรอก เพราะว่า เรามีที่ มีวัว มี ควายที่เราเลี้ยงเอาไว้หลายๆ ตัว ไร่นาก็ต้องทำ จึงบอกว่าไม่ไป แต่ตอนหลังเจ้าแขวงก็ส่งคนไปเจรจาอีก เพื่อนบ้านพี่น้องก็เลยบอกให้มา แล้วปรึกษากับสามี และพบว่าสามีกำลังมีเมียใหม่ ก็เลยตัดสินใจมา" แม่เฒ่าสี่ วื่อเล่าให้ฟัง


 


สี่ วื่อ แม้จะไม่ชอบที่คนเยอะๆ แต่ก็ดูจะคุยเก่งพอสมควร พอๆ กับความสามารถแจกแจงเรื่องสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละตัวอย่างแคล่วคล่อง รวมทั้งอธิบายถึงวิธีการใช้ได้อย่างละเอียดเมื่อมีคนถาม เธอบอกว่าสมุนไพรที่นำมาขายนี้ เธอเก็บและเตรียมหรือทำยาเองด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนสืบต่อกันมาทางครอบครัวโดยเธอได้เรียนรู้เรื่องนี้จากป้าของเธอ


 


"ช่วยป้าเก็บสมุนไพรตั้งแต่ตัวน้อยๆ แล้วก็เรียนเรื่องการใช้มนต์ด้วย"


 


ทุกวันนี้เธอมาอยู่กันสองคนกับลูกสาวคนเล็กที่หลวงพระบางซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ เนื่องจากลูกคนอื่นๆ มีครอบครัวไปหมดแล้ว แม้ในความเป็นจริงแล้ว เธอชอบที่จะอยู่หมู่บ้านมากกว่าที่จะเข้าในเมืองนี้ แต่ชีวิตที่นี่ของเธอก็ไม่เลวร้ายนัก เพราะรายได้ของเธอนั้น แบบที่ขายไม่ดีเลยก็เรียกว่าได้แค่หมื่นกว่า (ประมาณ 40 บาท) แต่ถ้าวันไหนขายดีๆ ก็ได้แสนกว่ากีบ (เกือบ 400 บาท) ซึ่งเป็นรายได้ที่เธอบอกว่า "อยู่ได้"


 


ทุกวันนี้หากใครไปที่หลวงพระบาง คงสังเกตเห็นได้ถึงความคึกคักของธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม หรือบ้านพักผุดขึ้นมามากมาย แต่เจ้าของกิจการนั้น จะเหลือคนที่เป็นชาวเมืองหลวงพระบางอีกสักเท่าไรนั้น ไม่แน่ใจ


 


กระนั้น นี่ก็นับว่าเป็นโอกาสสำหรับคนเล็กๆ อย่างสี่ วื่อ และ บรรดาชาวชนเผ่าต่างๆ ที่มีโอกาสได้นำสินค้ามาวางจำหน่ายในตลาดตอนกลางคืน บางคนเรียกว่า ตลาดมืด ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ขายสินค้าผิดกฎหมายแต่หมายถึงขายตอนมืด


 


ในขณะที่ชาวหลวงพระบางในเขตเมืองจำนวนไม่น้อยยกบ้านให้คนอื่นเช่า แล้วตัวเองก็ออกไปสร้างบ้านหลังใหญ่ๆ นอกเมือง สี่ วื่อ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนข้างนอกที่เข้ามาหากินอยู่ในเมือง ผิดแต่ว่า เธอไม่ใช่นักธุรกิจต่างถิ่นที่มาทำธุรกิจใหญ่โต แต่เธอมาเพราะทางภาครัฐเองของให้เธอมา เธอจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนนอกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกไปด้วยเช่นกัน


 


ส่วนที่เวียดนาม เจิ่น กว็อก เวียต (Tran Quoc Viet) วัย 53 และภรรยา เฮือง วัย 49 ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ฟุค ไห่ (Phouc Hai) ตำบลเกือ ได (Cua Dai) หมู่บ้านชาวประมงที่อยู่ห่างเมืองโบราณฮอย อาน ซึ่งเป็นมรดกโลก 6 กิโลเมตร สุดปลายหมู่บ้านนี้เองที่เขากับภรรยาได้เปิดร้านอาหารขึ้นมาเมื่อ 4 ปีก่อนที่บ้านเขาเองในชื่อร้านอันสะดุดหู "The Restaurant of the World"


 



เจิ่น เวียต กำลังสาธิตการกินบั๋นแซ่ว ฝีมือภรรยาของเขาที่ยืนอยู่ข้างๆ


 


แต่เดิมนั้นเขามีอาชีพเป็นชาวประมง เขาเคยทำมาแล้วทั้งประมงชายฝั่งและประมงน้ำลึก ส่วนภรรยาของเขา ขายอาหารพื้นเมือง อย่าง เช่น เฝอ บุ๋น หรืออาหารประจำถิ่นฮอย อาน ที่เรียกว่า เกาเหล่า (คล้ายๆเส้นหมี่แห้งหมูแดง)


 


ทั้งคู่ยอมรับว่านับตั้งแต่ ฮอย อาน ได้เป็นเมืองมรดกโลกนั้นก็ส่งผลให้มีการพัฒนาเข้ามาถึงหมู่บ้านด้วย เพราะว่าถนนหนทางดีขึ้นแล้ว ผู้คนที่เข้ามาเที่ยวที่มรดกโลกแล้วก็อยากจะชมบ้านธรรมชาตินอกเมืองด้วย การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวทำให้เขาได้เห็นลู่ทาง


 


เขาเลือกที่จะเปิดร้านอาหาร เป็นร้านเล็กๆที่บ้านเขาเอง เพราะสุดทางนั้นก็เป็นท่าน้ำ ที่เขาสามารถไปเลือกซื้ออาหารทะเลสอดได้เลย เขาบอกว่า การเปิดร้านอาหารนี้เนื่องจากเดิมทีเดียวนั้นลูกชายทำงานอยู่ที่โรงแรม และได้รู้จักคนเยอะ และพบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ต้องการท่องเที่ยวที่เรียกว่าท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


 


เก๋า ( Khao) ลูกชายวัย 28 ของเขาจึงออกมาเปิดธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ พาผู้คนไปสัมผัสกับชีวิตของชาวประมง  ในขณะที่ลูกชายอีกคนทำงานอยู่โรงแรม 4 ดาว ซึ่งก็มีส่วนช่วยแนะนำแขกให้มาใช้บริการทัวร์ของพี่ชาย เขากับภรรยาจึงได้ช่วยกันทำอาหารป้อนให้กับกรุ๊ปทัวร์ของลูกชาย และเนื่องจากที่เขาเคยเป็นชาวประมงมาก่อน เขาบอกว่าเขาจึงรู้ดีว่า "อาหารทะเลดี จะเลือกอย่างไร" และภรรยาของเขาเองก็มีฝีมือในการปรุงอาหารอยู่แล้ว ดังนั้นที่สุดแล้วจุดขายของร้าน แม้ที่ตั้งจะอยู่ไกล แต่ก็เป็นสิ่งที่คนจะต้องแสวงหา เมื่อเบื่อการท่องเที่ยวในเมือง และได้กินอาหารทะเลสด หรือแม้กระทั่งอาหารพื้นเมืองเวียดนามก็เป็นเลิศ


 


ทุกวันนี้ ธุรกิจครอบครัวเขาไปได้ด้วยดี และเขายืนยันว่า นี่เป็นผลพวงจากการที่ฮอย อาน เป็นมรดกโลกแท้ๆ แม้ว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องย้ายเข้าไปทำธุรกิจในเมือง แต่เขายังได้ประโยชน์จากการนี้


 


-----------------------------------------------------


* รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นภายใต้โครงการ Imaging Our Mekong สำนักข่าว Inter Press Service (IPS) สนับสนุนโดยมูลนิธิ Rockefeller


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net