Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศุกร์ที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ทนายความที่ดูแลคดีให้กับอุมาบอกข้าพเจ้าว่าการเจรจาจบลงด้วยค่าชดเชยการเสียชีวิตของสามีที่ถูกไฟช็อตตาย 2 หมื่นบาท

เช้าวันหนึ่ง ปลายเดือนกันยายน ข้าพเจ้าพบอุมาครั้งแรกที่ศาลาริมทางหน้าสถานีตำรวจนครบาลคลองหลวง ขณะที่อุมาและญาติๆซึ่งเป็นคนงานสัญชาติมอญประมาณ 8 คนมารอให้ปากคำตำรวจ ทุกคนอายุอยู่ราว 20 กว่าปี อุมาอายุเพียง 22 ปี มีลูก 1 คน อายุ 3 ขวบ ส่วนสามีที่เสียชีวิตชื่อโทนนะ พะอัน อายุ 24 ปี

...บ่ายโมงครึ่งวันที่ 19 ก.ย. ระหว่างที่คนงาน 5 คนกำลังขุดเจาะเสาเข็ม เพื่อต่อเติมหน้าบ้านหลังหนึ่งที่หมู่บ้านพฤกษา 13 ย่านรังสิต นายโทนนะเป็นคนที่จับแท่งเหล็กขุดดินซึ่งบังเอิญไปพาดทับสายไฟกระดิ่งบริเวณกำแพงขาด ทำให้ไฟฟ้าช็อตและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในเย็นวันนั้น

"นายจ้างไล่หนูกับเพื่อนกลับ เขาบอกว่าเดี๋ยวตำรวจมาจะถูกจับ เขาบอกว่าจะให้ค่าทำศพค่าที่เสียชีวิต หนูยังไม่อยากกลับ ไม่กลัวเพราะมีบัตรแต่เขาไล่กลับ ตอนเช้ามาถึงโรงพยาบาลเห็นเขากำลังเข็นแฟนขึ้นรถตู้ เลยตามไป เขาเอาไปเผาที่วัดแถวคลอง 1 หนูต้องจ่ายค่าโลงศพ 2,500 บาท นายจ้างไม่ได้มาแต่หนูคิดว่า เขาเป็นคนจัดการ...ใจหนูยังไม่อยากเผาแค่วันเดียว อยากทำบุญให้แฟนด้วย" อุมาเล่าย้อนวันเกิดเหตุให้ข้าพเจ้าฟัง

อุมากับโทนนะมีสัญชาติมอญ มาจากประเทศพม่า เธอเล่าว่ามาทำงานที่เมืองไทยได้แค่ปีเดียว ทั้งสองคนขึ้นทะเบียนแรงงานเป็นลูกจ้างบริษัทก้าวไกล รับขุดเจาะเสาเข็ม ได้ค่าแรงวันละประมาณ 130 บาท มีนายมานิตย์ โชคสัมฤทธิ์สุข พักอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 113 เป็นนายจ้าง ส่วนคนงานพักอยู่ที่โกดังซอยลาดพร้าว 136 หรือไปพักที่ไปทำงาน

เธอรออยู่ 3 วันก็ยังไม่มีวี่แววว่านายจ้างจะทำอะไร ไปหาก็บอกว่าไม่อยู่ โทรไปไม่รับสาย สุดท้ายนายจ้างบอกไม่ให้และบอกให้อุมาไปเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.-19 ก.ย. อุมาและเพื่อนคนงานทั้ง 5 คน ยังไม่ได้รับค่าแรงประมาณคนละ 3,000 บาท โดยนายจ้างบอกว่าหักค่าทำบัตรและที่เหลือจ่ายกับหัวหน้าคนงานไปแล้ว แต่อุมายืนยันว่าได้จ่ายค่าตรวจสุขภาพไปเพียง 1,900 บาทเท่านั้นและส่วนที่เหลือยังไม่ได้

21 ก.ย. อุมาและเพื่อนพร้อมด้วยทนายความไปร้องเรียนที่กรมสวัสดิการ กระทรวงแรงงาน ที่เขตบางกะปิแต่ทางกรมสวัสดิการบอกว่า ติดต่อนายจ้างไม่ได้ จึงให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจคลองหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ

จนวันที่ข้าพเจ้าพบอุมา เธอกับเพื่อนไปให้ปากคำและพาเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูที่เกิดเหตุ ความหวังถอยห่างออกไปในสัปดาห์หน้า ซึ่งตำรวจส่งหมายเรียกนายจ้างมาให้ปากคำ ผ่านไป 2 สัปดาห์ตำรวจบอกว่านายจ้างไม่ยอมมาให้ไปฟ้องเอง

ข้าพเจ้าพบอุมาอีกครั้ง เธอกับพี่ชายมาพบทนายความจาก โครงการคลินิกกฎหมาย ซึ่งช่วยดูแลคดีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ข้าพเจ้าเห็นความกังวลใจของอุมาที่ยังไม่จางหาย ข้าพเจ้าบอกเธอเสมอว่าเธอโชคดีที่มีญาติพี่น้องหลายคนคอยช่วยเหลือ ทุกครั้งที่อุมาไปไหนจะมีพี่น้องหยุดงานไปด้วยอย่างน้อยคนหนึ่ง เธอจึงย้ายไปพักกับคนนั้นทีคนนี้ที ค่าใช้จ่ายช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาก็มีพี่น้องแบ่งปันให้

เราคุยกันอีกหลายครั้งทางโทรศัพท์ คำถามสุดท้ายที่อุมาไม่เคยลืมถาม คือนานแค่ไหน ข้าพเจ้าเองก็ตอบไม่ได้ ทนายก็บอกว่าบางคดีสู้อยู่ถึง 2-3 ปี ความหวังตอนนี้คือให้ทนายติดต่อนายจ้างอีกครั้ง ซึ่งทนายเองก็บอกว่าการต่อรองกันเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในภาวะที่คนงานต้องดิ้นรนเรื่องปากท้อง

"การขึ้นศาลจำเป็นเพราะเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน แต่เราต้องเข้าใจสภาพเขา บางทีการต่อรองเป็นทางออกที่ดีกว่า อาจไม่ดีที่สุด อยากให้สู้ไหม อยากแต่ถ้าเขาพอใจนั่นคือการตัดสินใจของเขา" ทนายความบอกถึงสิ่งที่เป็นอยู่

21 ต.ค. ขณะข้าพเจ้ากำลังจะเดินทางไปภาคใต้ ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากอุมาอีกครั้ง เธอบอกว่าพรุ่งนี้เขานัดไปคุยกับนายจ้าง เธอพยายามถามว่าจะจบจริงไหม ข้าพเจ้าส่งใจไปช่วยเธอระหว่างเดินทาง อาจจะเป็นข่าวดีที่สุดท้ายอุมาไม่ต้องสู้คดีเป็นปี ทนายความเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่ากรมสวัสดิการเป็นคนนัด โดยมีตัวแทนนายจ้างมาเจรจา ซึ่งยืนยันว่าให้แค่ 2 หมื่น ส่วนค่าแรงที่ค้างอยู่เขามีหลักฐานว่าหัวหน้าคนงานรับไปแล้ว

อุมาตกลงรับเงิน และเธอไม่สนใจค่าแรงที่ไม่ได้รับ ซึ่งนั่นคือการตัดสินใจของเธอที่ทนายความยอมรับในการตัดสินใจนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจเธอและรู้สึกถึงความกังวลตลอดเวลาที่ผ่านมา วันนั้นเธอพยายามให้ทนายความรับค่ารถ 1 พันบาทที่แบ่งจากเงิน 2 หมื่น เธอเคยบอกว่าถ้าคดีจบเธอจะแบ่งเงินให้ญาติพี่น้องทุกคนที่ช่วยเหลือ รวมทั้งข้าพเจ้าที่ให้คำปรึกษาเธอ จะเอาเงินกลับไปทำบุญและคงไม่กลับมาอีก

ปัญหาหนึ่งของอุมาที่ทนายความบอกข้าพเจ้าคือ จะมีหัวหน้างานรับงานจากนายจ้างมาอีกทีเป็นครั้งๆ ซึ่งเป็นลักษณะงานแบบ ทำสัญญาว่าจ้างรับเหมาค่าแรง ทำให้สถานการณ์จ้างของอุมามีปัญหาในเรื่องการคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะนายจ้างอ้างในเรื่องนี้ได้

จากการสำรวจของ คณะทำงานคุ้มครองแรงงานในระบบจ้างเหมา สภาทนายความ พบว่าการจ้างเหมามีหลายรูปแบบ ได้แก่ การจ้างเหมาค่าแรง ในงานรักษาความปลอดภัย งานบริการทำความสะอาด การจ้างเหมาค่าแรงในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของสถานประกอบกิจการ การจ้างเหมาช่วง เป็นการรับจ้างทำงานในแต่ละขั้นตอน เช่น รับตัดแบบเสื้อ รับประกอบเสื้อ ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มการผลิต เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ด้านสภาวะสิทธิของแรงงานกลุ่มนี้ พบว่ามีรูปแบบการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม มีสภาพการจ้างที่เลวร้าย มีการเอารัดเอาเปรียบ และฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน จนถูกเรียกว่า "การค้าแรงงานมนุษย์" หรือ "ธุรกิจนายหน้าค้าแรงงาน"

เช่น สถานประกอบการจัดหาแรงงานโดยจ่ายค่าแรงเป็นราย ทำงานงานเป็นช่วงๆ ไม่มีสวัสดิการใดๆเลย ส่วนงานเหมาค่าแรงจะทำสัญญาจ้างตามกำหนดเวลาที่สถานประกอบการกำหนด ไม่ได้รับประกันสังคม ออกจากงานจะไม่ได้รับค่าชดเชย เพราะนายจ้างอ้างว่าเป็นสัญญาจ้างระยะสั้น นอกจากนี้สถานประกอบการใช้วิธีจ้างเหมาช่วง โดยการกระจายงานไปโรงงานเครือข่าย โรงงานขนาดกลาง หรือโรงงานในเขตที่การตรวจสอบไม่เข้มงวด หรือโรงงานแถบจังหวัดชายแดน

ลักษณะการจ้างงานเช่นนี้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ผู้ประกอบการที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต ขณะที่ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิด้านต่างๆ ในขณะที่ทำงานในสภาพลักษณะเดียวกันมีความรับผิดชอบเหมือนกันกับลูกจ้างประจำ ที่สำคัญคือไม่มีอำนาจต่อรองเนื่องจากไม่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้

หากสามีของอุมาได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน หากมีสวัสดิการรองรับ อุมาอาจจะได้กลับบ้านไปดูแลลูกดังตั้งใจ แต่นี่อุมาและสามีเป็นเพียงแรงงานเหมาช่วง และยังเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เหตุการณ์เช่นนี้ใช่ว่าจะไม่เกิดกับแรงงานไทย

หลังจากพยายามติดต่ออยู่หลายวัน บ่ายวันพฤหัสบดีที่ 28 ต.ค. ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากอุมา น้ำเสียงเธอแจ่มใส " พี่...หนูจะกลับบ้านพรุ่งนี้" ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจไปกับเธอที่ความยุ่งยากกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาเสร็จสิ้นลง เธออยากกลับบ้านที่พม่า อยากกลับไปทำบุญตามประเพณีให้สามี และกลับไปหาลูกที่อยู่กับแม่ของเธอเพียงสองคน

ข้าพเจ้าอวยพรให้เธอโชคดี "อาจจะกลับมาอีกถ้าไม่มีอะไรทำ" เธอบอกข้าพเจ้า ซึ่งเราคงได้พบกันอีก

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net