Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ใครที่มีโอกาสสำรวจความเห็นของบุคคลนิรนามตามเว็บไซด์ต่างๆ คงจะสังเกตเห็นว่าความเกลียดชังที่คนไทยมีต่อคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนา ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังปรากฎว่าได้เกิดการโจมตีเหยียดหยามหลักคำสอน, ศาสดา, ศาสนา และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนบางกลุ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

น่าสนใจว่าการโจมตีเหล่านี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มซึ่งมีความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว หากแม้แต่คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการของความเป็นคนไทย ก็ยังมีโอกาสจะตกเป็นเหยื่อของการโจมตีเหล่านี้ได้ด้วย ถ้าได้แสดงความเห็นท้วงติงความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติและศาสนาเอาไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน

อ.จอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในวุฒิสมาชิกอิสระที่มีบทบาทน่ายกย่องที่สุดในรัฐสภาชุดปัจจุบัน ให้ความเห็นเอาไว้สั้นๆ ทว่ากินใจความว่า "ไม่มีรัฐบาลไหนสร้างการแบ่งแยกในหมู่คนไทยได้เท่ารัฐบาลนี้" แต่ก็ไม่มีที่ไหนในโลกอีกเช่นกันที่ลำพังรัฐบาลจะมีสมรรถภาพมากพอจะทำให้เกิดสถานการณ์อันอาจนำไปสู่ "สงครามระหว่างชาติพันธุ์"

ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมในวุฒิสภาเห็นว่ารัฐบาลคือสาเหตุของความเกลียดชังเหล่านี้ ฝ่ายทหารและหน่วยข่าวกรองกลับเห็นว่าการแบ่งแยกในชาตินั้น เกิดจาก "จอมบงการ" ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ไม่สงบรายวัน จึงนำไปสู่ปฏิบัติการไล่ล่าจอมบงการโดยวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดโปง "จอมบงการ" แม้แต่ครั้งเดียว

น่าสังเกตว่าผู้ถูกสงสัยว่าคือ "จอมบงการ " ล้วนเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่นับถือของคนเชื้อสายมลายูมุสลิม จนกล่าวได้ว่าผู้นำทางการเมืองและศีลธรรมของคนมลายูมุสลิมล้วนเผชิญประสบการณ์กล่าวหา, จับกุม, อุ้มฆ่า, ประทุษร้าย ฯลฯ มาแล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ส.ส., ส.ว., โต๊ะครู, ปอเนาะ, ด๊อกเตอร์วัน, พ่อเฒ่าอายุ 65 หรือแม้แต่เด็กนักเรียนอายุ 18 ปี

ถ้าครึ่งหนึ่งของคนที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นจอมบงการจริง ความไม่สงบในภาคใต้ก็คงเบาบางกว่านี้ไปมาก

แต่มองในทางกลับกัน ถ้าเพียงแค่ร้อยละสิบของผู้ที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็น่าคิดเหมือนกันว่าทฤษฎีจอมบงการจะทำให้สถานการณ์ภาคใต้เลวร้ายลงไปเพียงใด

นักวิชาการ 160 คน ไม่ได้ตอบคำถามว่าการแบ่งแยกและเกลียดชังระหว่างคนไทยเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ให้ความเห็นว่ารัฐบาลทำให้ความเกลียดชังในชาติรุนแรงขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้การแบ่งแยกดินแดนขยายตัวขึ้นด้วย ทำให้ต้องเจรจาให้รัฐบาลอ่อนน้อมถ่อนตนและมีท่าทีนุ่มนวลขึ้น จึงจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องออกมาขอโทษประชาชน

ข้อเรียกร้องเชิงการเมืองแบบนี้น่าสนใจ เพระทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีโอกาสแสดงบทบาททางการเมืองต่อมาได้อีกมาก แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจสาเหตุของความเกลียดชังในชาติได้มากนัก ซ้ำยังสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การเสียชีวิตของพลเรือนหลายร้อยคนโดยปราศจากหลักฐาน กลายเป็นเรื่องที่มีสถานะเท่ากับการขยับริมฝีปากของนายกรัฐมนตรีเพียง 1 นาที

จริงอยู่ว่าความเกลียดชังระหว่างผู้คนนั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ไม่ง่าย แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงว่ามีคนมุสลิมเสียชีวิตในกรณีตากใบ 84 ราย ซ้ำยังตายจากการอุ้มฆ่าและไล่ล่าโดยปราศจากหลักฐานอีกมาก ขณะที่มีเจ้าหน้าที่และพลเรือนเสียชีวิตจากการลอบฆ่ารายวันอยู่มากด้วยเช่นกัน ก็ถือว่าความเคลื่อนไหวของความตายเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดระดับความเกลียดชังระหว่างผู้คนในชาติได้พอสมควร

เราจะทำความเข้าใจความเกลียดชังอย่างรุนแรงที่ขยายตัวขึ้นในเวลาอันรวดเร็วนี้ว่าอย่างไรดี?

อันดับแรกสุด ความเกลียดชังไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากสาเหตุ แต่ความเกลียดชังเป็นผลผลิตของความรับรู้ที่เรามีต่อโลกจริงในบางลักษณะ ซึ่งหากพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ความรับรู้ก็สัมพันธ์กับโครงสร้างความรู้สึก และ ระบบการให้ความหมายต่อข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม

บทความของ คุณกวี จงกิจถาวร ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน เปิดเผยรัฐบาลแทรกแซงและควบคุม "ข่าวสาร" ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีตากใบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บภาพเหตุการณ์ที่สถานีโทรทัศน์ต่างๆ บันทึกไว้ รวมทั้งสั่งห้ามไม่ให้เผยแพร่ภาพถ่ายที่แสดง "ความจริง" ว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจงใจใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุม

อันที่จริง ควรระบุด้วยว่านับตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ควบคุมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สื่อนำเสนอภาพข่าวและคำอธิบายตามที่รัฐป้อนให้ นั่นก็คือคนมุสลิมภาคใต้เป็นพวกหัวรุนแรง ฆ่าพระ ฆ่าคนแก่ ติดยาเสพติด คลั่งศาสนา ฝักใฝ่การก่อการร้าย มีแผนก่อการจลาจล รวมทั้งมุ่งหวังแบ่งแยกดินแดน

ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและสื่อดังนี้ สังคมไทยทั้งหมดจึงมองปัญหาภาคใต้ภายใต้ข้อมูลและคำอธิบายที่รัฐผูกขาดอย่างเต็มที่ จนสูญเสียสติปัญญาและวิจารญาณในการตั้งคำถามง่ายๆ เช่น ถ้าผู้ชุมนุมที่ตากใบมีอาวุธสงคราม ทำไมไม่มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บแม้แต่รายเดียว

วุฒิสมาชิก ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ตั้งถามคำถามได้สนุกกว่านี้ เพราะเมื่อแม่ทัพภาค 4 ชี้แจงต่อวุฒิสภาว่าผู้ชุมนุมที่ตากใบซุกซ่อนอาวุธสงครามเอาไว้ ไกรศักดิ์ได้ถามกลับไปว่าคนเหล่านั้นซุกปืนเอ็ม 16 , เอชเค และปืนไร้แรงสะท้อน ไว้ในโสร่งหรืออย่างไร

อันดับที่สอง ความเกลียดชังแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาอย่างไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นรัฐบาลที่เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวทางการเมืองในหมู่ประชาชนในระดับที่รุนแรงอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงหลังปี 2531 เป็นต้นมา

แน่นอนว่าความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวอย่างรุนแรงนั้น เป็นผลผลิตของเงื่อนไขหลายข้อ เช่นการโฆษณาชวนเชื่ออยู่เป็นนิจ นโยบายประชานิยม การจูงใจและปลุกปั่นความเห็นสาธารณะ ฯลฯ แต่หนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด ก็คือ สภาวะที่อัตลักษณ์รวมหมู่แบบชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ (ethno-nationalism) เติบโตทางการเมืองอย่างสูงสุดในปัจจุบัน

นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ได้เกิดปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมหลายอย่างที่แสดงให้เห็นการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ความเป็นชาติในกำกับของสมมติทัศน์ทางสัง-
คม (social imaginary) แบบโลกาภิวัตน์ ตัวอย่างเช่น "สุริโยทัย" ที่ประดิษฐ์สร้างอดีตเพื่อตอกย้ำความสำคัญของชาติ หรือ "บางระจัน" ที่อธิบายความเป็นไทยในแง่มุมของ "ชีวะอำนาจ" (bio-power) ว่าด้วยการสละชีวิตของประชาชน

ปฏิพากย์ (interplay) ระหว่างความเป็นชาติและความเป็นไทยเป็นเรื่องเยิ่นเย้อเกินกว่าจะกล่าวในที่นี้ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคืออัตลักษณ์แบบที่ผูกชาติกับเชื้อชาติแน่นแฟ้นกว่าที่ผ่านมา

ในทางการเมืองนั้น บรรยากาศแบบนี้กระตุ้นให้เกิดการต่อสู้เคลื่อนไหวที่อิงแอบกับความเป็นชาติ จึงปรากฎการโจมตีรัฐบาลในอดีตว่าขายชาติ ขณะที่อีกฝ่ายก็นำเสนอตัวเองว่าเป็น "ไทย" รัก "ไทย" ซึ่งแสดงให้เห็นโลกทัศน์ว่าความเป็นไทยคือคำตอบของความเป็นชาติ ส่วนการเกิดรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เป็นหลักฐานว่าสมการทางอัตลักษณ์ข้อนี้ได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดทางการเมือง

"คนไทยหรือเปล่า" เป็นคำถามยอดนิยมของสภาวะลุ่มหลงความเป็นไทยเช่นนี้ และโดยตัวคำถามนี้ก็เผยให้เห็นความมืดบอดต่อการมีอยู่ของความ "ไม่ไทย" ซึ่งนำไปสู่ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

มักเข้าใจว่าอิสลามคือปฐมเหตุแห่งความเกลียดชังที่ "คนไทย" มีต่อผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แท้จริงแล้ว ความเป็นอิสลามไม่ได้เป็นปัญหาต่อสังคมไทยในแง่ไหนทั้งนั้น ยกเว้นแต่จะคิดถึงอิสลามในฐานะอัตลักษณ์ทางศาสนาของคนชาติพันธุ์มลายู จึงกล่าวได้ว่าความเป็นมลายูต่างหากที่เป็นปฐมเหตุของความเกลียดชังข้อนี้ เพราะเมื่อเป็นมลายู ก็เท่ากับ "เป็นอื่น" ถึงขั้นที่ไม่มีทางทำให้เป็นไทย

ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์และข้อมูลข่าวสารเป็นตัวอย่างของมูลเหตุที่ทำให้ "คนไทย" เกลียดชังผู้คนร่วมประเทศในระดับไร้สติอย่างในปัจจุบัน และหากคิดใคร่ครวญต่อไป ก็คงค้นพบมูลเหตุของสภาวะเช่นนี้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลก ผลพวงจากการครอบงำทางอุดมการของอเมริกา ฯลฯ

แน่นอนว่าทุรวาจาของนายกรัฐมนตรีมีส่วนให้คนในชาติแบ่งแยกกันรุนแรงขึ้น แต่ลำพังปากและหัวคิดของนายกนั้นเล็กเกินกว่าจะสร้างผลเลวร้ายได้ถึงขั้นนี้ การเรียกร้องให้ขอโทษจึงเป็นมาตรการที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น นอกจากทำให้ทุกฝ่ายเป็นข่าวมากขึ้น เพราะความเกลียดชังในชาติในขณะนี้ได้หยั่งลึกเกินกว่าจะแก้ด้วยมธุรสวาจาเพียงประโยคเดียว

ถึงที่สุดแล้ว ประเด็นที่ควรเป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณาปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ การตระหนักถึงสถานการณ์ที่คนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาได้เสียชีวิตไปในระดับหลายร้อยคน โดยเฉพาะในกรณีตากใบกรณีเดียว ก็มีผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวน "คนไทย" ที่ตายไปในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญๆ

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ความตายของผู้คน 70 คน ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงทางการเมืองที่มีอิทธิพลไม่น้อยกว่า 3 ปี ส่วนความตายของคน 41 ราย ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็นำไปสู่การขยายตัวของสงครามจรยุทธในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ก็เป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ณ บัดนี้ ความตายของ 84 ศพ ที่ตากใบ รวมทั้งอีกหลายร้อยศพของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้พัดพาความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการทุกอย่างเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาสู่จุดที่ยากจะเยียวยาได้ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเผชิญความจริงว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะการณ์ที่ต้องคิดถึงรัฐประชาชาติไทยในบริบทของการมีอยู่ของชาติพันธุ์มลายูให้มากขึ้น ไม่ใช่รัฐประชาชาติของคนเชื้อชาติไทยล้วนๆ อีกต่อไป

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net