Skip to main content
sharethis

ความรุนแรงเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปและอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ความรุนแรงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เข่นฆ่า คุกคาม ข่มขู่ ทั้งในระหว่างประชาชนกันเอง เช่น ผู้ใหญ่ทำร้ายเด็ก สามีทำร้ายภรรยา เจ้าหนี้ทำร้ายลูกหนี้ นักเรียนนักศึกษายกพวกตีกัน ฯลฯ และระหว่างรัฐกับประชาชน
ความรุนแรงในอีกรูปแบบหนึ่ง อาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจน แต่ทำร้ายผู้คนได้ไม่แพ้กัน คือ การปฏิเสธความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ปฏิเสธการได้รับการปฏิบัติที่เสมอกัน เช่น การมองกลุ่มชาติ
พันธุ์ต่างๆ (เช่นคนที่พูดภาษาไทยกลางไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ นับถือศาสนาอื่น) ว่าเป็นคนอื่น และปฏิเสธสิทธิที่เขาพึงมีพึงได้ ไม่รับรองสิทธิความเป็นพลเมือง เช่น การไม่ยอมให้สัญชาติไทย หรือคนจนในสังคมไทย ที่ถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ ไม่เคยได้รับการยอมรับในความคิดเห็น ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตที่พวกเขาเลือก เช่น กรณีชาวบ้านเขื่อนปากมูลที่ถูกบอกให้ละทิ้งวิถีชีวิตชาวประมงที่เขาพึ่งพาตัวเองได้ ไปเป็นคนงานรับจ้างที่ไร้ความมั่นคง โดยรัฐอ้างว่าเขาต้อง "ปรับตัว" ให้เข้ากับการพัฒนาของรัฐ
เมื่อสังคมปฏิเสธความเป็นคนที่เสมอกันของกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม สังคมก็พร้อมที่จะยอมให้รัฐใช้ความรุนแรงปฏิบัติต่อคนเหล่านั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันได้อาศัยจุดอ่อนนี้ของสังคมไทยและสร้างความรุนแรงให้เกิดมากขึ้นในระยะเวลา ๓ ปีกว่าที่ผ่านมา
กรณีที่ขัดต่อสำนึกมนุษยธรรมของคนทั้งโลกอย่างรุนแรง คือกรณีการเสียชีวิตของประชาชนกว่า ๒,๕๐๐ ราย โดยอ้างว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ค้ายาเสพติดและเป็นการฆ่ากันเอง รัฐบาลทำให้การติดยาเสพติดของคนในสังคมเป็นความเลวร้ายและรุนแรงจนถึงขั้นต้องประกาศ "สงคราม" (ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างชัดเจนว่ามีผู้ติดยาเสพติดในสังคมจำนวนเท่าไรกันแน่ เป็นคนกลุ่มใดบ้าง) ผู้ค้ายาเสพติดถูกทำให้กลายเป็นปีศาจร้าย ไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้นเมื่อรัฐใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับคนที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ค้ายา สังคมก็ให้การยอมรับ ทั้งๆ ที่เมื่อมีการขอให้ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตพร้อมทั้งแสดงหลักฐานต่างๆ ทางหน่วยงานของรัฐก็ไม่สามารถชี้แจงให้ชัดเจนได้ นอกจากนี้ในหลายกรณียังถูกเสนอว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรม การเสียชีวิตของคน ๒,๕๐๐ กว่าคนโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ถือได้ว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม มุ่งเน้นแต่จะใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ซึ่งมีผลที่อาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไปโดยไม่ได้แก้ข้อกล่าวหา ที่สำคัญยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดว่าการปราบปรามอย่างรุนแรงนี้ได้ทำให้ผู้ที่เสพยาเสพติดมีจำนวนน้อยลง ในทางตรงข้ามข้อมูลจากตำรวจกลับแสดงว่า อาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดของเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๔๗ เพิ่มขึ้นเป็น ๑๗,๓๙๕ กรณี เมื่อเทียบกับของเดือนมกราคม-เมษายน ๒๕๔๗ ซึ่งมีจำนวน ๑๕,๑๔๗ กรณี นั่นก็คือยาเสพติดซึ่งมีราคาสูงขึ้นอย่างมากหลังการปราบปรามอย่างไร้มนุษยธรรม มีทีท่าว่าจะหวนกลับมาระบาดเท่าเดิมอีก
การใช้ความรุนแรงโดยกลไกของรัฐยังถูกนำมาใช้กับชาวบ้านที่ไม่ต้องการโครงการพัฒนาของรัฐและมาชุมนุมประท้วงอย่างสันติภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าชาวบ้านเหล่านี้ขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศ เช่น กรณีชาวบ้านที่ต่อต้านเขื่อนปากมูลที่มาชุมชนหน้าทำเนียบรัฐบาล ส่วนการชุมนุมของชาวบ้านจะนะต่อต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย รัฐบาลกลับยินยอมหรืออยู่เบื้องหลังการใช้กำลังตำรวจเข้าปะทะอย่างโหดร้าย การใช้ความรุนแรงในกรณีต่างๆ ดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไป ยังถือได้ว่าเป็นละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญด้วย
กรณีล่าสุดคือ ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบันนี้ มีการอ้างจากฝ่ายรัฐว่าบุคคลที่ก่อความไม่สงบเป็นผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนโดยใช้ศาสนาที่แตกต่างมาเป็นเครื่องมือ วิธีการที่รัฐบาลใช้เป็นด้านหลักก็ยังคงเป็นการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการนำทหารและตำรวจเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก การประกาศกฎอัยการศึก การคุกคามข่มขู่ ซึ่งผลที่ตามมาคือการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกวันทั้งของประชาชนที่บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในหลายกรณีมีหลักฐานชัดเจนว่าการฆ่าประชาชนโดยทหารหรือตำรวจเป็นการเข้าใจผิดของฝ่ายรัฐหรือเพราะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ การอ้างว่าเพราะเจ้าหน้าที่มีความหวาดระแวงเพราะเคยถูกทำร้ายมาก่อนย่อมไม่สามารถฟังได้ เจ้าหน้าที่และโจรต่างก็มีอาวุธทั้งสองฝ่าย แต่เจ้าหน้าที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายให้มีอาวุธเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์และได้รับการฝึกฝนให้เป็นบุคคลที่ต้องสามารถปฎิบัติงานได้แบบมืออาชีพ มิใช่ตระหนกตกใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ตำรวจจะต่างจากโจรได้อย่างไร
แต่เหตุการณ์ในภาคใต้ก็หาได้สงบลงเพราะวิธีการรุนแรงที่รัฐบาลส่งเสริมไม่ สถานการณ์กลับเลวร้ายลงตลอดมา ความไว้วางใจระหว่างประชาชนในพื้นที่และรัฐบาลซึ่งเปราะบางมากอยู่แล้วจากอดีตที่ผ่านมา ยิ่งเปราะบางมากขึ้นจนแทบจะขาดสะบั้นลง ไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในภาคใต้จะสั่นคลอนบุรณภาพและอธิปไตยของรัฐไทยยิ่งไปกว่าภายใต้นโยบายใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทักษิณ ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของประชาชนในภาคใต้ไม่ได้ต้องการแยกตัวออกจากรัฐไทยแต่อย่างใด
และไม่นานมานี้เอง ก็มีผู้เสียชีวิตลง ๘๗ คนที่ตากใบ จากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของประชาชน กลายเป็นข่าวอื้อฉาวไปในสื่อต่างๆ ทั่วโลก และสร้างความตกตะลึงแก่บุคคลทั่วไป ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
จากเหตุการณ์ทั้งหมดดังกล่าวได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การใช้ความรุนแรงมิได้เพียงแต่ไม่สามารถยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ยังทำให้เกิดความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นตามมา เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยให้ปรากฏมากขึ้น
เราจึงเห็นว่ารัฐบาลชุดใหม่ควรมีนโยบายที่จะลดความรุนแรงในสังคมไทยอย่างจริงจัง โดยรัฐต้องเป็นตัวแบบที่สำคัญในการไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในทุกกรณี รัฐต้องเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนในการเคารพกฎหมาย เคารพกระบวนการยุติธรรม และเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดใช้ความรุนแรง ละเมิดกฎหมายต้องได้รับการลงโทษในทันที รัฐต้องให้ความเป็นธรรมและสิทธิแก่ชาวบ้านในการรักษาทรัพยากรของชุมชน ชาวบ้านต้องมีสิทธิเลือกวิถีชีวิตที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสม ผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีทัศนคติที่ให้ความสำคัญกับชีวิตทุกชีวิต ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร มีสถานภาพทางสังคมอย่างไร นับถือศาสนาใด ทุกคนมีสิทธิในการได้รับการเคารพเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน
เราใคร่เรียกร้องให้ประชาชนเปิดเวทีเพื่อซักถามทัศนคติและความคิดเห็นของผู้สมัครส.ส.ต่อกรณีความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะที่กระทำโดยรัฐเสียเอง อย่างจริงจัง หากเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เขาจะต้องสัญญาว่าจะดำเนินการทางการเมืองอย่างไรเพี่อระงับการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลอย่างได้ผล เราควรช่วยกันตรวจสอบอย่าให้คนกระหายเลือดเข้าไปสนับสนุนรัฐบาลกระหายเลือดเป็นอันขาด

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net