Skip to main content
sharethis

กสม. เผย 8 ปัญหาและข้อเสนอแนะ หลังตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

26 เม.ย. 2567 ทีมสื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ (26 เม.ย.)  บุญเกื้อ  สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ดำเนินโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 - มิถุนายน 2566 คณะผู้ตรวจเยี่ยมของ กสม. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวจำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วยเรือนจำ ห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สถานที่คุ้มครองกลุ่มคนเปราะบาง และศูนย์ซักถาม/ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับทราบข้อเท็จจริง สภาพปัญหา อันสมควรมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ 8 ประเด็น ดังนี้

 

1) ปัญหาความแออัดของสถานที่ควบคุมตัว และสภาพสถานที่ควบคุมตัวไม่เหมาะสม เรือนนอนของสถานที่ควบคุมตัวมีขนาดพื้นที่น้อยกว่ามาตรฐานสากลขององค์การสหประชาชาติ ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่และระบบการบริหารจัดการสถานที่ควบคุมตัว เช่น ความเครียดของผู้ถูกควบคุมตัวและเจ้าหน้าที่ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ไม่เพียงพอ และการขาดสุขอนามัยในสถานที่ควบคุมตัว ซึ่ง กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สถานที่ควบคุมตัวโดยเฉพาะเรือนจำมีสภาพแออัดมาจากการใช้โทษทางอาญามากเกินความจำเป็น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่มีโทษทางอาญามากกว่า 400 ฉบับ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้รัฐสภาพิจารณาใช้นโยบายลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization) สำหรับความผิดบางประเภท เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเช็ค ไม่ตรากฎหมายใหม่ที่มีโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน พิจารณาความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียวและมีเนื้อหาความผิดเพียงเล็กน้อยให้อยู่ในบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เพื่อเปลี่ยนความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียวให้เป็นความผิดทางพินัย และให้ถืออัตราค่าปรับความผิดลหุโทษเป็นอัตราค่าปรับทางพินัยแทน รวมทั้งให้ควบคุมตัวผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ทั้งนี้ ตามมาตรา 89/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เร่งรัดการก่อสร้างสถานที่ควบคุมตัวแห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ควบคุมผู้ต้องกักตามมาตรฐานสากล รวมทั้งให้กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ตร. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ควบคุมตัวให้ถูกสุขอนามัย มีระบบระบายอากาศ และแสงสว่างเพียงพอด้วย

 

2) ปัญหาการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ถูกควบคุมตัว ต้องรอพบแพทย์เป็นเวลานานและเรือนจำมีการบังคับตรวจเชื้อเอชไอวีผู้ต้องขังเข้าใหม่ จึงมีข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง และผู้ต้องกักให้ครอบคลุมทั้งกลางวันและกลางคืน และเพิ่มบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ต้องขังและผู้ต้องกักที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และให้กรมราชทัณฑ์ยกเลิกการบังคับตรวจเชื้อไวรัสเอชไอวีผู้ต้องขังเข้าใหม่ สนับสนุนให้มีการตรวจเชื้อไวรัสเอชไอวีโดยสมัครใจ และไม่เปิดเผยชื่อผู้ต้องขังผู้ถูกตรวจ

 

3) ปัญหาการกักตัวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในสถานที่ควบคุมตัวโดยเฉพาะห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีการกักตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ และชาวโรฮีนจา โดยไม่กำหนดระยะเวลาการปล่อยตัวที่ชัดเจน จึงมีข้อเสนอแนะให้ ครม. มีนโยบายเร่งรัดให้ผู้ต้องกักเข้าถึงกลไกคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism) เพื่อให้สถานะ “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ต้องจัดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าวและอนุญาตให้ออกไปทำงานได้โดยจำกัดพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงเร่งขยายความร่วมมือกับประเทศที่สามเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้หนีภัยกลุ่มต่าง ๆ ตามที่ประเทศไทยเคยให้คำมั่นไว้ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก (Global Refugee Forum: GRF) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2566

 

4) ปัญหาการกักตัวเด็กในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีสภาพแออัด ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และสังคมของเด็ก จึงมีข้อเสนอแนะให้ ครม. เร่งทบทวนและปรับปรุงการใช้มาตรการทางเลือกแทนการกักตัวเด็กและครอบครัวในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ให้ ตร. จัดอบรม ติดตามผล และกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินงานตามหลักปฏิบัติว่าเด็กจะต้องไม่ถูกกักตัว เว้นแต่เป็นมาตรการสุดท้าย และใช้เวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

5) ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ สถานที่ควบคุมตัวส่วนใหญ่ประสบปัญหาเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานน้อยกว่าอัตรากำลังจริง เจ้าหน้าที่ขาดความเชี่ยวชาญและความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ จึงมีข้อเสนอแนะให้ ครม. พิจารณาเพิ่มอัตรากำลังให้เพียงพอต่อปริมาณงานของสถานที่ควบคุมตัว โดยพิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย และพิจารณาหามาตรการที่สร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานที่ควบคุมตัว เช่น การกำหนดเวลาการทำงานที่เหมาะสม การกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และการจัดสวัสดิการ เป็นต้น

 

6) ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ เช่น ค่าอาหาร งบประมาณในการจัดซื้อกล้องวงจรปิด การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเวรรักษาการล่าช้า โดยมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงยุติธรรมและ ตร. จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอโดยเฉพาะงบประมาณสำหรับค่าอาหารของผู้ถูกควบคุมตัว ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเวรรักษาการของเจ้าหน้าที่   

 

7) ปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ปัจจุบันมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีอยู่ในเรือนจำ กว่า 55,000 คน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด โดยผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีไม่ถูกจำแนกให้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างและเหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องขังเด็ดขาด จึงมีข้อเสนอแนะให้ ครม. เร่งพิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงที่ออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 เพื่อจำแนกผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีออกจากผู้ต้องขังเด็ดขาดเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสถานะ

 

8) ปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวในพื้นที่ซึ่งประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยในกระบวนการซักถาม ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทนายความ ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจเข้าร่วมฟังและให้คำปรึกษา จึงมีข้อเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มอบหมายให้ศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทหารส่วนหน้า และศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานในพื้นที่ ดำเนินการให้ผู้ถูกจับกุมได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะเข้าถึงที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความ เพื่อช่วยเหลือในการต่อสู้คดีตั้งแต่แรกเมื่อถูกจับกุม เชิญตัว และควบคุมตัว และให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการซักถาม โดยใช้ห้องทำงานทั่วไปของเจ้าหน้าที่ หรือห้องประชุมทดแทน เพื่อให้มีลักษณะโปร่งใสตรวจสอบได้และไม่เป็นการสร้างบรรยากาศการคุกคามหรือขู่เข็ญ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net