Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นชอบในหลักการโครงการ SEA FOOD BANK ภายใต้นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2547 โดยผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำใบอนุญาตเพาะเลี้ยงในพื้นที่หนึ่ง ๆ และใบรับรองการเข้าร่วมโครงการ SEA FOOD BANK เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ได้

ปัจจุบัน กำลังอยู่ในขั้นดำเนินการตรวจสอบรังวัดพื้นที่ สำหรับจัดสรรพื้นที่การเพาะเลี้ยงโดยรวมทั้งประเทศ และเตรียมออกเอกสารสิทธิแก่ประชาชน ผมจึงตั้งใจเขียนเอกสารฉบับนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอวิเคราะห์การดำเนินโครงการ SEA FOOD BANK ให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้น ประกอบการพูดคุยแลกเปลี่ยนของชาวประมงพื้นบ้าน และเพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลโครงการที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

แนวคิด และการดำเนินโครงการ SEA FOOD BANK ของรัฐบาล
เหตุผลที่จัดทำโครงการ กรมประมงระบุว่า เพราะความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในแหล่งการประมงไทยลดลงมาก มีการใช้ทรัพยากรเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ ควรพัฒนาแหล่งการผลิตใหม่ทดแทนแหล่งธรรมชาติ เน้นการเพาะเลี้ยงในพื้นที่แหล่งธรรมชาติ ให้เพียงพอการบริโภคและการส่งออก สร้างระบบการผลิตทีปลอดภัยและไม่กระทบสิ่งแวดล้อม โดยขยายพื้นที่ที่เหมาะสมออกไปอีก ทั้งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาลไทยรักไทยด้วย

วิธีการดำเนินการ คือ การปฏิรูปการถือครองและจัดระบบการใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงชายฝั่งใหม่ทั้งหมด แล้วนำมาจัดสรรให้กับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยในขั้นต้น จะทำการสำรวจ รังวัด ทำแผนที่ พื้นที่สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาตเดิม พื้นที่ที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในปัจจุบันซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่มีการบุกรุกอยู่แล้ว และพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม รวมจำนวน 284,492 ไร่ สำหรับรายที่เลี้ยงอยู่เดิมจะได้รับสิทธิเช่นกัน แต่ต้องลดขนาดพื้นที่ลงตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

ประชาชนที่จะได้รับสิทธิ คือ ผู้ที่ลงทะเบียนคนจนไว้กับรัฐบาล และผู้เลี้ยงรายเดิม โดยต้องรวมกลุ่มจัดตั้งเป็น สหกรณ์ ประชาคม หรือรัฐวิสาหกิจชุมชน ต้องผ่านการฝึกอบรมจากกรมประมงให้ท้องถิ่นร่วมคัดเลือกบุคคลที่จะได้รับเอกสารสิทธิ(ยังไม่ระบุว่าท้องถิ่นไหน และร่วมคัดเลือกอย่างไร) ทั้งนี้จะจัดระบบจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนที่ร่วมโครงการดังนี้
• ผู้เลี้ยงหอยแครงจะจัดสรรให้รายละ 3 ไร่
• ผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่จัดสรรให้รายละ 10 ไร่
• ผู้เลี้ยงหอยนางรมจะจัดสรรให้รายละ 1 ไร่
• และผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกะชังจะจัดสรรให้รายละ 700 ตารางเมตร (0.438 ไร่)
• ปลากะรังในกะชังจะจัดสรรให้รายละ 500 ตารางเมตร (0.313 ไร่)

สิทธิ ที่ประชาชนจะได้รับ เรียกว่า "ใบอนุญาต" ที่สามารถนำไปค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ ทั้งนี้สามารถกู้ได้โดยตัวเอง หรือ กู้โดยผ่านบริษัทที่องค์กรการสะพานปลาจัดตั้งขึ้น เอกสารนี้ไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่ตกทอดเป็นมกดกได้ รัฐยึดเพิกถอนคือสิทธิดังกล่าวได้หากผู้ได้รับ ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญา

องค์การสะพานปลาจะทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ ได้แก่การจัดการพื้นที่ ลูกหนี้ ติดต่อแหล่งทุนให้กับกลุ่มประชาชนที่ได้รับเอกสารสิทธิคล้ายกับหน้าที่นายหน้าโดยตรง (ระบบ Contract Farming) หมายความว่า องค์การสะพานปลาจะทำหน้าที่ หาแหล่งทุนเงินให้เกษตรกรประมงกู้ ขาย ปัจจุบันการผลิต (อุปกรณ์) ให้ และรับซื้อผลผลิต อาจมีการจัดทำระบบซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งหมายถึงทำสัญญาซื้อขายไว้แล้วโดยตกลงราคาที่แน่นอนไว้ก่อนจะประกันราคาให้ด้วย

ส่วนประชาชนรายใดไม่ประสงค์ทำสัญญากับบริษัทก็สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตและหาแหล่งทุนเองได้ แต่ต้องผ่านการอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและบัญชีฟาร์มตามเงื่อนไข

ใบอนุญาตที่ประชาชนแต่ละรายนำไปเป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ กรมประมง องค์การสะพานปลา ประชาคม และและแหล่งทุน จะร่วมกันประเมินราคาพื้นที่ซึ่งจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับราคาการตลาดของผลิตที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ๆ วงเงินกู้จะได้ไม่เกินราคาประเมิน การชำระหนี้ให้บริษัทร่วมทุน จะทำการหักจากมูลค่าการจำหน่ายผลผลิตสัตว์น้ำแต่ละรอบ

หากประชาชนรายใดไม่สามารถชำระหนี้สินตามกำหนดจะใช้มาตรการบังคับต่างๆ เช่น ยึดผลผลิตที่ยังคงเหลืออยู่ โดยประเมินราคาสัตว์น้ำเพื่อชำระหนี้ (ยึดผลผลิต) ไปจนถึงการยึดเพิกถอนใบอนุญาตรายนั้น ๆ แล้วคัดเลือกผู้เลี้ยงรายใหม่

จะมีการกำหนดพื้นที่ทะเลบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เพื่อเป็นแหล่งพันธุ์สัตว์หอยในธรรมชาติ (ในพื้นที่ทะเลปัจจุบัน) ประมาณ 1,000 ไร่ ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการควบคุมเด็ดขาดเข้มงวด เพื่อสงวนไว้ใช้ผลิตพ่อแม่พันธุ์ สำหรับประชาชนที่ร่วมโครงการเท่านั้น นอกจากนั้นยังให้มีการควบคุมพื้นที่พ่อแม่พันธุ์หอยในธรรมชาติ (อื่น ๆ)เอาไว้อีกด้วย

โครงการนี้ จะใช้ระยะเวลา 5 ปี (เริ่มจริง ๆในปี 2548-2552) งบประมาณดำเนินการปัจจุบัน(กันยายน 2547 รัฐบาลอนุมัติแล้ว 500 ล้านบาท (งบประมาณนี้ยังไม่รวมเงินทุนเพาะเลี้ยง ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องนำเอกสารสิทธิไปกู้เอาเองต่างหาก) การดำเนินการปีแรก (2548) จะเป็นช่วงการสำรวจพื้นที่ จัดทำแผนที่ และเตรียมออกใบอนุญาต เวลาที่เหลือจะส่งเสริมให้ลงทุนเพาะเลี้ยงให้เต็มพื้นที่

พื้นที่ที่จะจัดสรรจำนวน 284,492 ไร่ เป็นพื้นที่ที่เลี้ยงอยู่แล้ว 130,106 ไร่ ขยายเพิ่ม 154,386 ไร่ มอบให้ประชาชนได้รับเอกสารสิทธิ 107,000 ราย กรมประมงคาดว่าจะทำรายได้ให้กับประชาชนกว่า 10,000 บาทต่อเดือนต่อราย รวมปีละไม่น้อยกว่า 12,800 ล้านบาท และสามารถผลิตสัตว์น้ำได้ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี มูลค่า 17,000 ล้านบาท

หน่วยงานที่รับผิดชอบ เดิมเอกสารโครงการระบุว่ามีกรมประมง องค์การสะพานปลา สำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ และสถาบันการเงินอื่น ๆ แต่ต่อมามติคณะรัฐมนตรี ระบุให้องค์การสะพานปลาทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ และให้แปรรูปองค์การสะพานปลาเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

บทวิเคราะห์
ประเด็นที่หนึ่ง ละเมิดกติการัฐธรรมนูญหรือไม่?

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เดินไปข้างหน้าโดยปกติหากรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารจะดำเนินโครงการใด ๆ ย่อมมีระเบียบกติกาของแต่ละส่วนราชการอยู่แล้ว และถ้าหากเรื่องดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสังคม ชุมชน เศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญไทยยังมีกลไกอิสระอื่น ๆ ช่วยตรวจสอบถ่วงดุล

แต่แนวคิดและนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน SEA FOOD BANK ได้เข้าสู่การพิจารณาและกลายเป็นมติคณะรัฐมนตรี ทันทีที่หน่วยงานระดับกระทรวงฯเสนอ โดยก้าวข้ามการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ลักษณะโครงการจะมีผลกระทบต่อบุคคลหลายกลุ่ม อย่างน้อยที่สุดกระทบต่อผู้เลี้ยงรายเดิม และแนวทางการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ทั้งด้านผลดี และผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ตามเอกสารแนวคิดไม่ปรากฏว่ามีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อด้านใดบ้าง เป็นแนวนโยบายที่มีหลักการบริหารจัดการแบบใหม่ คือ ให้สิทธิในที่สาธารณะแก่บุคคลโดยใช้อำนาจตามกฎหมายการประมงฉบับเดิม (ไม่มีการปฏิบัติมาก่อน) ทั้งที่ปัจจุบันกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองกำลังยกร่าง พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่ รัฐบาลได้ส่งให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบนำเสนอเข้าสู่รัฐสภา ย่อมเป็นที่กังขาว่า ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่จะให้อำนาจกระทำได้หรือไม่

กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีเจตจำนงให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีบทบาทมีส่วนร่วมกับแนวคิดหรือโครงการของฝ่ายบริหาร โดยใช้กลไกและมาตรการต่าง ๆ เช่น การศึกษาผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ก่อนดำเนินโครงการ บังคับให้รัฐต้องส่งนโยบายและแผนให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณามีความเห็นก่อนดำเนินการเป็นต้น

ประเด็นที่สอง สามารถแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทะเล และความยากจนได้จริงหรือ?

หากพิจารณาเหตุผลที่ทางกรมประมงอ้างถึง คือ ปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเลได้ลดลงมาเป็นลำดับ สืบเนื่องมาจาการใช้ทรัพยากรมากเกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำตามธรรมชาติแทนที่จะแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมกลับคิดหาวิธีสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก

ต้นเหตุความเสื่อมโทรมของทะเลยังคงถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ระบบทุนการประมงขยายตัวในประเทศไทย ภายใต้การส่งเสริมอย่างยิ่งของรัฐ ทรัพยากรสัตว์น้ำจากการประมงที่เคยกระจายเข้ากระเป๋าของชาวประมงขนาดเล็กถูกจำกัดและเปลี่ยนทิศทางเข้าสู่กระเป๋าขนาดใหญ่ ขนาดของการผลิตที่เพียงพอ เปลี่ยนเป็นการถลุงทรัพยากรขึ้นมาใช้อย่างไม่ยั้งมือ เกิดเทคโนโลยีและเครื่องมือประมงทันสมัยมากมายไม่ใช่เพื่อบริโภค แต่เพื่อแข่งขันความร่ำรวยและเพื่อส่งออกให้ได้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจำนวนมากต้องอยู่อย่างอดอยาก ทำให้มีชาวประมงเพียง 15 % เท่านั้นที่มีรายได้เหลือเฟือจากปริมาณการจับถึง 88% ขณะที่ชาวประมงยากจนอีก 85 % จับสัตว์น้ำได้ 12 % ของสัตว์น้ำทั้งหมด แม้จะอดอยากแต่รายได้จากการจับสัตว์น้ำ 12 % นั้นเลี้ยงครอบครัวยากจนในสังคมไทยอยู่เกือบ 5 แสนครอบครัว

การจับสัตว์น้ำจำนวนมากนั้นไม่ใช่การลงแรง แต่เกิดขึ้นจากการลงทุนจำนวนมาก และใช้เครื่องมือที่กวาดจับสัตว์น้ำทุกชนิด ทุกขนาด เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสัตว์น้ำ 88% ที่ชาวประมงขนาดใหญ่(อวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟ ฯลฯ) จับได้เป็นลูกปลาเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ขนาดถูกนำไปป่นขายเป็นอาหารสัตว์ ราคากิโลกรัมละ 3-4 บาท (100-200 ตัว / กิโลกรัม)

การประมงไทยดำรงสถานการณ์นี้มาร่วม 30 ปี ทุกวันยังเป็นอย่างนี้ จะเปลี่ยนไปก็คือแหล่งทรัพยากรในประเทศเสื่อมโทรมจนไม่เหลือพออีกแล้ว เรือประมงอวนลาก พาณิชย์จากไทยหันไปกอบโกยจากประเทศเพื่อนบ้านแทนสภาพของเครื่องมือดังกล่าว ได้ทำลายแหล่งทรัพยากรในทะเล และแหล่งเพาะฟักสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลายโดยตรงเพราะมีลักษณะการลาก ไถ ขุด กวาด จนถึงท้องทะเล

ประเด็นก็คือ เหตุการณ์เหล่านี้ รัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาจึงออกมาแทนที่จะเน้นการฟื้นฟู และเข้มงวดการใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมกลับมุ่งค้นหาการผลิตแบบใหม่เพื่อรักษาอัตราการส่งออกเอาไว้ ธรรมชาติผลิตได้ไม่พอ ก็นำพื้นที่ธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงเอง การประมงทำลายเดิมก็ยังทำได้ต่อไป ความเสื่อมโทรมของทะเลยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ประเด็นที่สาม แหล่งอาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง โดยเฉพาะปลากะชัง หรือสัตว์น้ำที่กินอาหารประเภทสัตว์เป็นอาหารต้องการอาหารที่เป็นสัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมาก ในกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยมักวิธีไม่ต้องลงทุนมาก เช่น การทำอวนรุน ใช้โป๊ะน้ำตื้น และโป๊ะน้ำลึก เพื่อจับลูกสัตว์น้ำมาเป็นอาหารปลาที่เลี้ยง ซึ่งเป็นวิธีการจับสัตว์น้ำแบบทำลาย ยิ่งทำลายสัตว์น้ำธรรมชาติมากขึ้น ในกลุ่มผู้เลี้ยงเป็นระบบธุรกิจมักใช้อาหารสำเร็จซึ่งผลิตจากปลาป่น เป็นจำนวนมาก ปลาป่นผลิตมาจากสัตว์น้ำวัยอ่อน ปลาเป็ดปลาไก่ ที่ได้จากการประมง ซึ่งพบว่าจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของปริมาณปลาป่นเป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

เมื่อมีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงมากขึ้น ปริมาณอาหารที่ต้องใช้ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว หมายความว่า จะมีการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลทั่วโลกอีกจำนวนมหาศาล ผู้ที่ร่ำรวยคือกลุ่มผู้ค้าอาหารสัตว์น้ำในขณะที่ทรัพยากรของโลกยิ่งเสื่อมโทรมลง

ประเด็นที่สี่ การยกทะเลเป็นสมบัติส่วนบุคคลขัดแย้งกับวิถีชุมชนและหลักการกฎหมายหรือไม่

โครงการนี้จะดำเนินการ จัดสรรพื้นที่ทะเลที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจำนวน 284,492 ไร่ เป็นพื้นที่ที่เลี้ยงอยู่แล้ว 130,106 ไร่ ขยายเพิ่ม 154,386 ไร่ มอบให้ประชาชนจำนวน 107,000 ราย รายละ 3 ไร่ บ้าง 10 ไร่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าจะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดใด ใบอนุญาตที่ได้รับถือเป็นสิทธิเด็ดขาดของบุคคลเหนือพื้นที่นั้น ๆ จำนอง จำนำ เพื่อนำเงินมาลงทุนได้ สื่อทอดเป็นมรดกได้ แต่ห้ามซื้อขาย

ทะเล ถือเป็นสมบัติของสาธารณะ ไม่มีบุคคลใดถือสิทธิยึดครอบครองได้ เป็นระบบคิดเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทางทะเล ทั้งในส่วนของชุมชนและส่วนของกฎหมายประมง การอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเดิม ก็เป็นการอนุญาตเป็นปี ๆ และบุคคลที่ได้รับอนุญาตนั้นจะถือสิทธิครอบครองไม่ได้ ในชุมชนก็เช่นกัน เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำ หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเท่านั้นที่เป็นสิทธิของเจ้าของ พื้นที่ทางทะเลยังเป้นของสาธารณะ อุปกรณ์อาจมีการโอนย้ายเปลี่ยนเจ้าของได้แต่เมื่อ รื้อถอนออกไปทะเลยังเป็นของทุกคน

แต่กรณีดำเนินการตามโครงการนี้ กรรมสิทธิ์ที่ได้รับคือพื้นที่ทะเลที่จะใช้เพาะเลี้ยง การครอบครองพื้นที่การเพาะเลี้ยงจะถือกันว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลหวงห้ามไม่ให้บุคคลอื่นเข้าไปหาประโยชน์ถ้าจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนยึดคืนก็คือการยึดพื้นที่คืนไม่ใช่เป็นการยึดอุปกรณ์ หรือเครื่องมือ ฯลฯ

ประเด็นที่ห้า ยกที่สาธารณะให้ประชาชนนำไปกู้เงินสร้างความร่ำรวยหรือเพิ่มหนี้

กรมประมงคาดว่าจะทำรายได้ให้กับประชาชนกว่า 10,000 บาทต่อเดือนต่อราย รวมปีละไม่น้อยกว่า 12,800 ล้านบาท และสามารถผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี มูลค่า 17,000 ล้านบาท

แต่กรมประมงไม่ได้คิดถึงในส่วนที่ประชาชนได้ก่อหนี้ขึ้นว่าจะเป็นจำนวนเท่าใดต่อราย และเมื่อการเพาะเลี้ยงล้มเหลวขาดทุนจะมีประชาชนที่ยากจน มีหนี้สินเพิ่มพูนขึ้นเท่าใด หนี้สินเดิมที่ทำไว้กับกองทุนต่าง ๆ และหนี้นอกระบบประชาชนจะชำระได้อย่างไร และเมื่อสินทรัพย์ที่นำไปค้ำประกันก็ถูกยึดคืนเปลี่ยนเจ้าของ ประชาชนรายนั้นจะยิ่งยากจนมากกว่าเดิมหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกหยิบมาพิจารณา

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แม้ดูเหมือนง่ายๆ แต่เมื่อลงมือทำการจริงแล้วต้องเจอกับอุปสรรคหลายประการ ทั้งด้านประสบการณ์ในการเลี้ยง การเข้าถึงแหล่งต้นทุนพันธ์สัตว์น้ำ-อาหาร-แหล่งที่เหมาะสม- ตลาด- และเชื้อโรค ยิ่งต้องใช้งบประมาณจากเงินกู้มาลงทุน ผู้เลี้ยงรายใหม่ย่อมสู้ผู้เลี้ยงรายเดิมไม่ได้ปัจจัย
พื้นฐานที่กล่าวมาผู้เลี้ยงรายใหม่ มีแต่รายจ่ายเท่านั้นเพราะไม่มีต้นทุนเดิมอยู่เลย

การทำการเพาะเลี้ยงแบบเดิมของรายย่อยที่ยังทำอยู่ ยังมีเวลาในการเรียนรู้และสร้างช่องทางให้กับตัวเอง ลงทุนไม่สูงมาก แต่ถ้าได้รับสิทธิที่ประกันเงินกู้ได้ภาระและความเสี่ยงจะเกิดขึ้นตามมาบรรดาประชาชนชายฝั่ง- ชาวประมงขนาดเล็กและชาวประมงเพาะเลี้ยงรายย่อยก็เช่นกัน เมื่อโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงิน(สร้างหนี้) มาถึงเป็นทางหนึ่งที่ต้องเอาไว้ก่อนแทนที่นำมาลงทุนทางธุรกิจ เม็ดเงินจะถูกใช้ไปในด้านอื่นด้วย การเปิดโอกาสให้ชุมชนสร้างหนี้ เท่ากับเปิดโอกาสให้วกเขาทำลายตัวเองด้วย

ประเด็นที่หก ยึดพื้นที่คืนจากนายทุนหรือเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันพื้นที่ที่เลี้ยงอยู่แล้ว 130,106 ไร่ และที่ขยายเพิ่ม 154,386 ไร่ ในข้อเท็จจริงจะพบว่ามีเจ้าของที่อนุญาติรายใหญ่ไม่กี่ราย แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่จำนวนมาก บางรายมีมากถึง 5,000 ไร่ ผู้อ่านต้องถามตัวเองวาเนื้อที่ดังกล่าวใครเป็นผู้ถือครองรายใหญ่เท่าไหร่ ที่เป็นเช่นนั้นมาจากการสูญเสียสิทธิของรายย่อยทั้งสิ้น ทั้งโดยเต็มใจและจำยอมจากหลายกรณีได้แก่
10) เจ้าของที่แท้จริงเพียงรายเดียว เริ่มทำตั้งแต่กระบวนการขออนุญาตหรือขอสัมปทานเพาะเลี้ยงในที่อนุญาต แต่ใช้วิธีการให้บุคคลอื่น เช่น ญาติ คนในครอบครัว บริวาร ถือครองแทน(แบบเดียวกับที่ท่านนายกฯทักษิณเคยใช้ตอนกรณีซุกหุ้นไว้ที่สาวใช้ในบ้าน)
11) รายย่อยที่ประสบภาวะขาดทุน จะเริ่มขายสิทธิของตัวเองให้คนอื่นจนรายใหญ่ มีชาวประมงยืนยันว่าบางพื้นที่มีการซื้อขายกันไร่ละ 9,000 บาท
12) ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น จับจองที่เอาไว้เสียเองและใช้วิธีการกว้านซื้อซึ่งประชาชนทั่วไปไม่กล้าขัดใจ หรือไม่กล้าคัดค้านหรือเปิดโปง กรณีนี้อาจมีการลงทุนเพาะเลี้ยงเองหรือขายต่อให้นายทุนรายใหญ่ต่อไป

หากดำเนินการให้สิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ถือครองตามโครงการนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการถือครองสิทธิจำนวนมากไว้ด้วยวิธีเดิมที่กล่าวข้างต้น สุดท้ายก็จะมีนายทุนและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ทำประโยชน์เพียงไม่กี่ราย ยิ่งเมื่อใบอนุญาตสามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ เม็ดเงินจำนวนมากจะไหลออกจากระบบไปสู่คนไม่กี่คนเมื่อล้มละลายจ่ายหนี้ไม่ได้(อาจจะหนักกว่า เพราะคราวนี้ถึงไม่ยอมจ่ายหนี้ ก็ถูกยึดพื้นที่ทะเลคืนเท่านั้นได้มาโดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากได้มาฟรีๆ) ก็พังกันทั้งประเทศอย่างที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2540

ประเด็นที่เจ็ด ระบบฟาร์มครบวงจร (ระบบ Contract Farming) น่ากลัวกว่าที่คิด

ตามโครงการนี้ องค์การสะพานปลาจะจัดตั้งบริษัทฯร่วมทุนขึ้นมา 1 บริษัท เพื่อบริหารจัดการพื้นที่, ลูกหนี้, ติดต่อแหล่งทุนให้กับกลุ่มประชาชนที่ได้รับเอกสารสิทธิคล้ายกับหน้าที่นายหน้าหมายความว่าบริษัทนี้จะทำหน้าที่หาแหล่งทุนเงินให้เกษตรกรกู้ขายปัจจัยการผลิต(อุปกรณ์) รับซื้อผลผลิต จัดทำระบบซื้อขายล่วงหน้า การประกันราคาส่วนประชาชนรายใดไม่ประสงค์ทำสัญญากลับบริษัทก็สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตและหาแหล่งทุนเองได้ แต่ต้องผ่านการอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและบัญชีฟาร์มตามเงื่อนไข ถึงกระนั้นตามเอกสารโครงการก็ยังระบุว่าจะต้องให้บริษัทนี้ เห็นชอบก่อนเข้าถึงแหล่งด้วยตัวเองหมายความว่าต้องผ่านการพิจารณาของบริษัทอยู่นั่นเอง

ระบบที่ว่านี้ไม่ต่างอะไรกับระบบแพในหมู่บ้านชาวประมงกล่าวคือ เจ้าของแพจะเป็นผู้จัดหาปัจจัยการผลิตแก่ชาวประมงทุกอย่างและรับซื้อสัตว์น้ำเอง กำหนดราคาเอง แต่จะมีความต่างกันก็คือชาวประมงที่ขึ้นกับในหมู่บ้านจับสัตว์น้ำเท่าไหร่ก็ได้ ให้หักหนี้เท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีการกำหนดราคาต่องวดที่ชัดเจน

แต่ในกรณีทำระบบสัญญาฟาร์มกับบริษัทคงไม่มีธนาคารไหนใจดีขนาดให้จ่ายหนี้เท่าไหร่ก็ได้ตามผลิตที่ได้รับ ระบบทุนของสถาบันการเงินต้องกำหนดราคาค่าที่ต้องจ่ายแต่ละงวด ที่ชัดเจนขาดทุนก็ไม่เกี่ยวกับแหล่งทุนขาดชำระหนี้ตามเงื่อนไขเมือ่ไหร่ก็มีมาตรการทวงหนี้ต่างๆ ตามมา

ประเด็นที่แปด ชาวประมงพื้นบ้านเก็บหาสัตว์น้ำธรรมชาติก็มีผลกระทบ
แหล่งพันธุ์สัตว์น้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะหอยเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งอาชีพเก็บหอยตามธรรม
ชาติของชาวประมงขนาดเล็ก ตามโครงการนี้จะมีการกำหนดพื้นที่ทะเลประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งพันธุ์สัตว์น้ำในธรรมชาติ(ในพื้นที่ทะเลปัจจุบัน)ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการควบคุมเด็ดขาดเข้มงวดเพื่อสงวนไว้ใช้ผลติพ่อแม่พันธุ์สำหรับประชาชนที่ร่วมโครงการเท่านั้น

กรณีนี้ยังต้องรอลุ้นกันว่าทางกรมประมงจะเลือกพื้นที่ที่ไหน นอกจากนั้นยังให้มีการควบคุมพื้นที่พ่อแม่พันธุ์ในธรรมชาติ(อื่นๆ) เอาไว้อีกด้วย ภายใต้ข้ออ้างว่าป้องกันการแย่งชิงพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ

ประเด็นที่เก้า ก้าวที่หนึ่งของการสูญเสียอิสรภาพทางทะเลให้ต่างประเทศ

หน่วยงานที่รับผิดชอบเดิมเอกสารโครงการระบุว่า มีกรมประมง องค์การสะพานปลา สำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ และสถาบันการเงินอื่น ๆ แต่ต่อมามติคณะรัฐมนตรี ระบุให้องค์การสะพานปลาทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ และเมื่อพร้อมให้แปรรูปองค์การสะพานปลาเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

ปัจจุบันรัฐบาลไทยไปทำข้อตกลง เอฟทีเอ (FTA) และข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศยักษ์ใหญ่หลายประเทศ เปิดโอกาสให้ชาวต่างประเทศ(ที่มีเงินทุนมหาศาล)เข้ามาลงทุนในไทยได้เยี่ยงเดียวกับคนในชาติ กระบวนการฮุบพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะเกิดขึ้นแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศชิลีหรือไม่น่าสนใจติดตาม แต่ข้อตกลง เอฟทีเอ(FTA) และข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศยักษ์ใหญ่เป็นเหมือนประตูบานใหญ่ที่เปิดรออยู่แล้ว การเตรียมการแปรรูปองค์การสะพานปลาเข้าตลาดซื้อขายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในทะเลจึงน่าจะเป็นก้าวที่หนึ่ง สู่การลงทุนที่ไร้พรหมแดน…

โดยสรุปแนวคิดของโครงการนี้คือการพยายามสร้างระบบการเกษตรการประมงเพาะเลี้ยงแบบครบวงจร และผูกขาด โดยบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ควบคุมทั้งปัจจัยการผลิต, การตลาด และการชำระหนี้ของเกษตรกร เมื่อพร้อมก็จะถูกนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งระบไว้ชัดเจนในมติคณะรัฐมนตรีเส้นทางนี้วิเคราะห์อนาคตได้ไม่ยากว่าสุดท้ายเกษตรกรจำนวนมากจะสูญเสียสิทธิที่ได้รับและมีหนี้สินมากมายในขณะที่บริษัทยังคงได้กำไรต่อเนื่อง

หากนำประสบการณ์กรณีธุรกิจการเกษตรอื่นๆหลายกรณี และกรณีพื้นที่เพาะเลี้ยงของประเทศชิลีมาวิเคราะห์ประกอบด้วย น่าจะมีความเป็นได้ดังนี้
14. เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือ ทั้งในระบบและนอกระบบเกษตรกรบากจนยังคงจนต่อไป เกิดวงจรความยากจนของคนที่เข้ามาร่วมคนแล้วคนเล่า จนพื้นที่ค่อย ๆตกอยู่ในมือของผู้ที่ร่ำรวยกว่า(เหมือนกรณีบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่เกษตรกรรายย่อยต้องยอมยกที่ดินบ่อเลี้ยงของตัวเองให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เช่าในราคาถูก)
15. ฝ่ายบริหาร เริ่มมีข้อเสนอใหม่โดยอ้างว่าประชาชนไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร อาจมีการเปลี่ยนเงื่อนไขบางประการ เพื่อให้บริษัทธุรกิจเอกชนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามาดำเนินการและครอบครองเอกสารสิทธิที่สามารถนำไปหาแหล่งเงินกู้มาหากำไรได้
16. ความเสื่อมโทรมของทะเลยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวี เพราะไม่ได้รับการแก้ไข หากมีนโยบายเพิ่มพื้นที่เพาะเลี้ยงขึ้นอีก พื้นที่การประมงชายฝั่งจะลดลงจำนวนพื้นที่เพาะเลี้ยงซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้นและไปตกอยู่ในมือทุนขนาดใหญ่ ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านยิ่งยากจนกว่าเดิมและล่มสลายในที่สุด
17. เมื่อบริษัทที่จัดตั้งใหม่ และองค์การสะพานปลาถูกแปรรูปเพื่อขายในตลาดหลักทรัพย์ผลประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากผลกำไรที่ทำกับเกษตรกร และจะเปลี่ยนเป็นทุนขนาดใหญ่ในอนาคตจะตกอยู่ในมือของนักลงทุนผู้ถือหุ้นแทนที่ตกเป็นของรัฐ
18. ความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำหายไป สัตว์น้ำหายไป สัตว์น้ำในธรรมชาติหายากมากขึ้น ผู้บริโภคจะได้รับอาหารสัตว์น้ำที่อาจเป็นหมัน และอาจปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหลักบางชนิดที่ตกค้างจากฟาร์มเพาะเลี้ยง ที่ทั้งบริษัทเอกชนรายใหญ่และรายย่อยแปลงพันธุ์ (GMO)แล้วเพาะเลี้ยงขุนด้วยอาหารสำเร็จเร่งขายเอากำไร

ยังต้องติดตามเพิ่มเติมอีกว่า ใครเป็นผู้กุมกลไกตลาดของสินค้าสัตว์น้ำปัจจุบัน ใครบ้างที่พยายามจะเข้ามากุมกลไกและผูกขาดธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแทนของภาครัฐ องค์การสะพานปลาจัดตั้งบริษัทฯ ขึ้นมาใหม่ ในครั้งนี้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับกลุ่มผลประโยชน์เดิมหรือไม่

ทางออกในกรณีปัญหานี้ไม่ยาก เพราะรัฐบาลเองก็ทราบถึงสาเหตุความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลดีอยู่แล้ว อยู่ที่จะกล้าตัดสินใจ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อหาทางยกเลิกการใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมในการทำประมงหรือไม่ หากประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาและยกเลิกเครื่องมือเหล่านี้ได้ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทรัพยากรทางทะเลของไทยจะกลับมาอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับคนไทยทุกคน และเหลือพอสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนกับประเทศต่าง ๆ เมื่อนั้นทะเลไทยก็จะเป็น SEA FOOD BANK อย่างแท้จริง

ในกรณีการเพาะเลี้ยงชาวประมงที่ทำการเพาะเลี้ยงรายย่อยใน จ.สุราษฎร์ธานี มีความเห็นว่าเห็นด้วยหากเป็นเพียงการปฏิรูปพื้นที่เพาะเลี้ยงปัจจุบัน แต่ภาครัฐต้องตระหนักถึงหัญหาเจ้าของพื้นที่เดิมด้วยโดยใช้หลักการการให้ใบอนุญาตแบบเดิมนำพื้นที่ที่ทำการเพาะเลี้ยงมากระจายสู่ผู้เลี้ยงรายย่อยให้ทำการเพาะเลี้ยงตามความสามารถและทุน ที่มีการอนุญาตให้ทำเป็นปีๆไป

หากวันนี้รัฐบาลยังเร่งดำเนินโครงการนี้โดยที่ไม่ได้วิเคราะห์ข้อเท็จจริงให้รอบด้าน นอกจากจะเป็นการหนี และละทิ้งปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลไว้เบื้องหลังแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมให้ทรัพยากรยิ่งเสื่อมโทรมมากขึ้น และซ้ำเติมความยากจนและความหิวโหยให้รุนแรงมากขึ้น…..

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
กองเลขานุการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net