Skip to main content
sharethis

----------------------------------------------------

ประชาไท - 5 ม.ค.48 "ความขัดแย้งที่แก่งคอยเหมือนกับกรณีบ่อนอกทุกอย่าง คุณเจริญ (วัดอักษร) ถูกฆ่าไปแล้ว และเราไม่อยากสูญเสียอีก เมื่อมันมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมอยากเตือนคนที่ไม่เห็นด้วยให้อยู่ในท่าทีที่ไม่ใช่ต่อต้าน แต่ใช้องค์ความรู้ ข้อมูลจริงๆ และใช้วุฒิสภาให้เป็นประโยชน์เหมือนกรณีคลองด่าน" นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ วุฒิสภากล่าว

การประชุมของอนุกรรมาธิการความมั่นคงของฐานทรัพยากรครั้งนี้ มีตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 เข้าชี้แจงข้อมูล พร้อมทั้งขอให้กมธ.เป็นตัวกลางในการเปิดเผยข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และตรวจสอบโครงการดังกล่าว

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า เรื่องอีไอเอที่ชาวบ้านต้องการให้กมธ.เข้าไปตรวจสอบนั้น ทางกมธ.จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และจะมีการลงพื้นที่เพื่อไปดูสภาพจริง รวมทั้งสอบถามจากชาวบ้านในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ด้วย

ด้านนพ.อภิณพ จันทร์วิทัน นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลแก่งคอย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ชี้แจงว่า นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว การเข้ามาของโรงไฟฟ้าทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชนอย่างรุนแรง เพราะมีการใช้เงินในการจัดเลี้ยงและทัศนศึกษาแก่ชาวบ้านจำนวนมาก โดยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่ควรเปิดเผยอย่างอีไอเอ ทั้งที่มีการร้องขอกับทางบริษัทกัลฟ์ เจนเนอเรชั่น จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้า รวมทั้งสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)ไปหลายครั้ง

"การออกใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้าต้องมีอีไอเอและต้องมีลายเซ็นผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งผมยังไม่ได้เซ็นเพราะยังไม่เห็นอีไอเอ แต่ทางโรงไฟฟ้ากำลังจะเลี่ยงโดยการอ้างการลงชื่อของคนในท้องถิ่นกว่า 3,000 คนที่เข้าร่วมประชาคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการชี้แจงฝ่ายเดียว" นพ.อภิณพกล่าวพร้อมทั้งยืนยันว่ามีการล็อบบี้นักการเมืองท้องถิ่นให้ยอมรับโรงไฟฟ้าด้วย

ดร.สมเกียรติ เฮงนิรันดร์ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญกว่าแต่ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานราชการ และผู้ประกอบการปฏิเสธมาตลอดคือ ผลกระทบด้านสังคม และผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับความมั่นคงของมนุษย์

"ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นเพียงการบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยหลอกๆ เท่านั้น และทางโรงไฟฟ้านำเสนอข้อมูลด้านเดียวต่อสาธารณะอย่างผิดสังเกต ตัวแทนบริษัทบิดเบือนข้อมูลตลอดเวลา ที่บอกว่าไม่เคยบิดบังว่าเป็นบริษัทเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ย้ายมาจากบ่อนอก แต่ในเวทีประชาพิจารณ์ ผมถามด้วยตัวเอง และเขาตอบว่าไม่ใช่บริษัทเดียวกัน พอถามเรื่องสารเคมีจำนวนมหาศาลที่ใช้ในการบำบัดน้ำ ทางตัวแทนโรงไฟฟ้าก็บอกว่าคนปกติเขาไม่ถามเรื่องนี้กัน" ดร.สมเกียรติกล่าว

นอกจากนี้ตัวแทนชาวบ้านยังได้นำเสนอปัญหาน้ำเสียที่โรงไฟฟ้าจะปล่อยลงสู่แม่น้ำป่าสัก การแย่งชิงน้ำจากเกษตรกรในพื้นที่ เพราะการใช้น้ำปริมาณมากของโรงไฟฟ้า และมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าที่จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นโรคอันดับ 1 ในพื้นที่อำเภอแก่งคอย รวมทั้งมีการร้องเรียนโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ก่อมลภาวะด้วย เช่น โรงงานขยะเคมี โรงงานน้ำหวาน โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ โรงงานทำผ้าไหม เป็นต้น

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธารอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ในวันที่ 20 มกราคมนี้ จะมีการเชิญเลขาธิการสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งก่อนลงพื้นที่

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net