Skip to main content
sharethis

ร้านกาแฟเล็กๆ บนถนนสายหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่นัดหมายของเรากับ Yeni ผู้นำนักศึกษาพม่า ซึ่งหนีภัยการเมืองจากบ้านเกิดเมืองนอนหลังเหตุการณ์เรียกร้องวันที่ 8 สิงหาคม 1988 (เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 888) และผันตัวเองมาเป็นผู้สื่อข่าวทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ส่งต่อข่าวสารความเป็นไปภายในประเทศของตนสู่โลกภายนอก ต่อไปนี้ เป็นบทสนทนาระหว่างนักข่าวประชาไท กับสื่อผู้พลัดถิ่นคนนี้

ประชาไท: ช่วยเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ทำอยู่ในประเทศไทยได้ไหม

YENI : ผมเป็นผู้สื่อข่าวของ "THE IRRAWADDY" (www.irrawaddy.org) เป็นนิตยสารวิเคราะห์ภาษาอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของประเทศพม่า และจัดส่งไปให้องค์กรหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง นักวิชาการ นักการทูต นักศึกษา ผู้นำองค์กร และผู้ที่สนใจทั่วไป ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คำว่า YENI มีความหมายว่าอย่างไร?

เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ 888 ที่ผ่านมา หมายถึง วีรชนผู้หาญกล้า ตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงเพื่อนรักที่เสียชีวิตในการเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนั้น

มองรัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันนี้อย่างไร?

ยอมรับว่า เป็นรัฐบาลที่เก่งที่สุดที่เคยผ่านมา โดยเฉพาะ" ตันส่วย" (พล.อ.(อาวุโส) ตันฉ่วย-ผู้นำสูงสุดของพม่า-ผู้สัมภาษณ์ ) เป็นนักจิตวิทยาที่เก่งในด้านการบริหาร การใช้คน การวางแผนกลยุทธ์ในการทำงาน แต่ทว่าเขาเป็นคนเก่งก็จริง แต่ในทางปฏิบัติเขาไม่ได้คำนึงถึงประชาธิปไตยไม่คำนึงถึงประชาชน หากคิดถึงถึงแต่กองทัพ คิดถึงแต่อำนาจของกลุ่มพวกพ้องตัวเอง ซึ่งก็คงเหมือนกับรัฐบาลของทักษิณที่มุ่งแต่ธุรกิจ แต่ไม่ได้สนใจและคำนึงถึงประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐบาลพม่ายังคงเชื่อว่าการบริหารประเทศ จะต้องใช้กองทัพเข้าไปมีควบคุมทั้งหมดเท่านั้น แนวโน้มที่จะเกิดประชาธิปไตยจึงดูยากมาก

แสดงว่า การเรียกร้องประชาธิปไตย ของออง ซาน ซูจี ก็ยังดูริบหรี่?

ใช่, เพราะทุกวันนี้ รัฐบาลยังคงมองว่า หากปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี จะทำให้ประเทศพม่าไม่มีความสงบสุข เพราะจะต้องมีการเรียกร้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ประชาชนในพม่ายังคงมีการเรียกร้องประชาธิปไตยกันอยู่ เพราะทุกคนคิดว่า วันใดที่มีประชาธิปไตยก็จะทำให้ประชาชนทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่า เนื่องจากสามารถมองเห็นและรับรู้ถึงปัญหาข้างในดีกว่า และทุกคนเชื่อมั่น ปัญหาเหล่านั้นสามารถแก้ได้

แล้วคิดจะทำอย่างไรต่อไป ?

จริงๆ แล้ว ถ้ามองลึกลงไป ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ธรรมชาติของคนพม่า เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ล้วนถูกกดขี่มาโดยตลอด แต่ประชาชนยังต้องการและยังมีความหวัง และมีทางเดียวคือ ต้องทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อไป

มองสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยอย่างไร?

ไม่ชอบสถานการณ์แบบนี้เลย เพราะมันไม่ได้เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งท้ายสุดมีแต่ความขัดแย้งและความสูญเสียยากที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้และยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการเรียกร้องประชา
ธิปไตยในพม่า ซึ่งทำให้ยากขึ้นอีกด้วย

คิดอย่างไรที่ชนกลุ่มน้อยในพม่า ต้องการแยกการปกครองตนเอง?

ถ้าไทใหญ่ หรือกะเหรี่ยง ต้องการแยกการปกครอง ในความคิดของตนก็สามารถทำได้ ไม่มีปัญหา เพราะโดยส่วนตัวก็เชื่อในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว และทุกฝ่ายต่างเจอปัญหาเดียวกันมานานถึง 43 ปี หลังจากถูกครอบครองจากอังกฤษ

วิเคราะห์เหตุระเบิดในประเทศพม่าอย่างไร

เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้มีการลอบวางระเบิดไปหลายๆ จุดพร้อมกัน ไม่ว่าที่เมืองมัณฑะเลย์หรือย่างกุ้ง และแต่ละครั้งก็มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ อีกทั้งยังมีการปิดข่าวความจริง พร้อมกับปล่อยข่าวลวงมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้คนพม่าก็ไม่มีใครเชื่ออยู่แล้ว

และที่รัฐบาลพม่าวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นฝีมือของชนกลุ่มน้อย ทั้ง 3 กลุ่มคือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู กองกำลังไทใหญ่ และกะเหรี่ยงก้าวหน้าหรือกะเหรี่ยงแดงนั้น ไม่น่าเป็นไปได้เพราะทั้ง 3 กลุ่ม ไม่มีประสิทธิ ภาพพอที่จะเข้าไปปฏิบัติการในเมืองได้ ทั้งขณะนี้ต่างก็กำลังมีการสู้รบกันตามแนวชายแดน

ส่วนที่รัฐบาลพม่าออกมากล่าวหาการวางระเบิดในครั้งนี้อีกว่า เป็นฝีมือกลุ่มเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตย หรือกลุ่มผู้สนับสนุนนางออง ซาน ซูจี ด้วยนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคนกลุ่มนี้ต่อต้านความรุนแรงอยู่แล้ว ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธี

ส่วนที่มองว่า เป็นฝีมือของลูกน้องเก่าของ พล.อ.ขิ่นยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกจับกุมนั้น แม้มีเหตุผลอยู่ แต่เมื่อวิเคราะห์กันต่อไป อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มสมาชิกลูกน้องของขิ่นยุ้นต์ รัฐบาลทหารของตันส่วยจะรู้หมดว่า ใครเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ หากเป็นฝีมือกลุ่มนี้จริง รัฐบาลสามารถออกมายืนยันชี้ชัดได้

อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มมุสลิมในพม่า ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มมุสลิมโรฮิงยาในรัฐอาระกัน ตั้งอยู่ภาคตะวัน
ตกของพม่า ได้ถูกรัฐบาลทหารพม่าเข้าไปควบคุม กดขี่ข่มเหงอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ปัญหานี้อาจคล้ายๆ กับปัญหา 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยในขณะนี้ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดกระแสความขัดแย้งของมุสลิมในพม่า

การลอบวางระเบิดในแต่ละครั้ง มีการระเบิด 4 ครั้ง 4 จุด ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมุ่งหวังประสงค์จะเอาชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงเชื่อว่าเป็นฝีมือระดับอินเตอร์เนชั่นแนลเลยทีเดียว ซึ่งทางรัฐบาลทหารของพม่าก็ไม่สามารถสอบสวนหาสาเหตุได้แน่ชัด แต่ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งเราต้องรอดูรัฐบาลพม่าต่อไปว่าจะสอบสวนหาความจริงออกมาให้ได้

ถ้าเรื่องราวความวุ่นวายในประเทศพม่ายุติลง และประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริง จะทำอะไรก่อนเป็นสิ่งแรก?
ผมจะกลับไปประเทศพม่าในวันรุ่งขึ้นทันที

สัมภาษณ์พิเศษ
ฟ้า เวียงอินทร์ : สัมภาษณ์-เรียบเรียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net