Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่-5 มิ.ย.48 "รัฐจะต้องเอาจริงเอาจังกับยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือก เพราะรัฐบาลเคยตั้งเป้าหมายให้มีพลังงานทางเลือก 8% ของการใช้พลังงานทั้งหมด เมื่อปี 2544 แต่ว่าตอนนี้ ผ่านไป 2 ปี การพัฒนาในเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในร้อยละประมาณ 0.9 เท่านั้น" นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา นักวิชาการ องค์กรพัฒนา องค์กรชุมชน และกลุ่มกรีนพีซ ร่วมกันจัดเวที" พลังงานยั่งยืน เพื่อสังคมที่ยั่งยืน" ขึ้นที่ สำนักพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพื้นที่ 10 จ.เชียงใหม่ โดยทุกฝ่ายยืนยันว่า พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานที่ยั่งยืนที่รัฐบาลจะต้องนำมาปรับใช้ในขณะนี้

พระครูสมุห์วิเชียร คุณธัมโม เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า ทุกวันนี้ เรามุ่งหวังแต่ความมั่งคั่ง แต่ไม่ได้มุ่งหวังความสุข ความสงบ เพราะไปมุ่งการอำนวยความสะดวกมากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องพลังงาน ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมกันมาก เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร ที่ทุกคนทุกฝ่ายจะหันมาร่วมกันประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานทางเลือกกันให้มากขึ้น

ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตน์ เจริญเมือง มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้ก็คือ รัฐบอกว่า ต้นทุนในการใช้พลังงานงานทางเลือกแพงเกินไป ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าปรับเปลี่ยน เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร จึงจะผลักดันให้รัฐบาลหันมาส่งเสริมพลังงานทางเลือกให้กับประชาชนให้มากขึ้น

นายชัยพันธ์ ประภาสวัติ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน กล่าว รัฐบาลทักษิณไปเน้นการส่ง เสริมในภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้สนใจในเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งมีความสำคัญต่อประชาชนส่วนรวม แต่กลับนำงบประมาณไปลงทุนในด้านอื่น

นายเดชรัต กล่าวย้ำว่า ที่หลายคนบอกว่า ต้นทุนพลังงานทางเลือก แพงเกินไปนั้น จริงๆ แล้ว พลังงานทางเลือกบางอย่างนั้น ถูกกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งเราต้องมองว่า ปัญหาด้านพลังงาน เป็นประเด็นสำคัญมากในสังคมไทยในขณะนี้ ทั้งในด้านการลงทุนซึ่งในแต่ละปี จะต้องใช้เงินทุนหลายแสนล้านบาท และโครงการต่างๆ ของรัฐ ล้วนใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการผลิตพลังงานและก่อให้เกิดมลพิษในด้านต่างๆ

"ยิ่งไปกว่านั้น ในด้านสังคม จะเห็นว่า โครงการพลังงาน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมกันมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องจริงจังในเรื่องพลังงานทางเลือก อย่างเช่น พลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งสามารถช่วยลดมลพิษ และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าและนำไปขายได้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ก่อเกิดการสร้างงานในชุมชนด้วย" ดร.เดชรัต กล่าว

นายเดชรัต กล่าวอีกว่า ปัญหาในตอนนี้ คือ เราจะเปิดตลาดพลังงานทางเลือกได้อย่างไร และรัฐจะต้องเอาจริงกับยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือก เพราะรัฐบาลเคยตั้งเป้าหมายให้มีพลังงานทางเลือก 8% ของการใช้พลังงานทั้งหมด เมื่อปี 2554 แต่ว่าตอนนี้ ผ่านไป 2 ปี การพัฒนาในเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในร้อยละประมาณ 0.9 เท่านั้น

ซึ่งขณะนี้ มีการวิเคราะห์กันแล้วว่า ทุกรายได้ที่เพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ เราต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 1.4 เปอร์เซ็นต์ ถือว่า ประเทศไทยเรากำลังใกล้ล้มละลายในด้านพลังงาน เพราะพึ่งตนเองไม่ได้

"เพราะฉะนั้น รัฐจะต้องคำนึงถึงการลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศ เราจะต้องให้สาธารณชนได้รับรู้เรื่องพลังงานทางเลือกให้มากกว่านี้ เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยที่มีศักยภาพอยู่มาก ได้แก่ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำขนาดเล็ก และพลังงานลม ดังนั้น รัฐจะต้องนำพลังงานทางเลือกมาผสมผสานทดแทน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสร้างโรงงานไฟฟ้า จำนวน 20 โรงงาน ที่เคยวางแผนเอาไว้ เพราะถ้าเราไม่เริ่มต้นกันตอนนี้ เราจะเดินทางไปบนเส้นทางที่สุ่มเสี่ยง ไม่สามารถพึ่งตนเองได้" นายเดชรัต กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net