Skip to main content
sharethis

ฟ้องอนุญาโตตุลการ ทำอย่างไร ?

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ - เวลานำเรื่องสู่อนุญาโตตุลาการ มันจะมี 3 เรื่องที่ทำทีเดียวกันไปหมด คือ 1. การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) เขาบอกว่ามาตรการที่ออกมานั้นเลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทอเมริกันกับบริษัทท้องถิ่น เป็นการผิดหลักเอฟทีเอ ถ้ามีอะไรที่จะทำให้บริษัทอเมริกันเสียหายมากกว่าบริษัทไทย จะโดนกรณีนี้ทันที

2. การปฏิบัติมาตรการขั้นต่ำที่ได้มาตรฐานสากล (Minimum standard treatment according to customary law) ถ้าไม่โปร่งใส สับสน ไม่ชัดเจน หรือมาตรการเกินความจำเป็น เขาถือว่าเป็นความผิดของทางเราจะโดนด้วย

3. การริบทรัพย์ทางอ้อม (Indirect Expropriation) ซึ่งการชดเชยจะมีมูลค่ามากที่สุด เพราะตีความกว้างถึงความเสียหายในอนาคต แต่ถ้าเป็น 1 และ2 ค่าชดเชยมันจะน้อยกว่าเยอะ

กรณีทั้ง 3 นี้จะยึดเอกสารเป็นหลัก มันน่ากลัว แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นไปทั้งหมด เพราะสหรัฐก็บอกว่าจะเอาภาคผนวกที่ใช้กับชิลีมาใช้กับประเทศไทยด้วย ก็ต้องดูว่ากรอบที่เขาเขียนออกมา 3-4 ข้อนี้มันจะช่วยแก้ปัญหาได้หรือเปล่า

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคืออะไร?

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ - สิ่งที่ยังเป็นห่วง ซึ่งเขาไม่แก้ไขแน่นอน คือข้อมาตรฐานขั้นต่ำ ความไม่ชัดเจนและไม่โปร่งใสในกระบวนการปฏิบัติราชการของประเทศไทยจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง อันนี้เป็นปัญหาของเราเอง และจะเกิดค่าโง่อีกเยอะ ซึ่งเป็นข้อบกพร่องภายในของเราเอง

จึงอยากให้ทำตรงนี้เป็นโอกาส เราควรช่วยกันดูว่าวิธีปฏิบัติราชการของไทยที่ไม่ได้มาตรฐานและทำให้ต้องเสียค่าโง่ เราจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้น

งานวิจัยของทีดีอาร์ไอก็พยายามไปทบทวนกระบวนการข้อบังคับของไทยทั้งหลาย โดยเฉพาะวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตัวนั้นเป็นหัวใจเลยว่าได้มาตรฐานสากลหรือยัง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นกฎหมายที่ดีมาก เขียนอะไรไว้เยอะ เรื่องการทับซ้อนของผลประโยชน์ การรับฟัง แต่ยังขาดเรื่องการออกกฎ ไม่มีขั้นตอนว่ารัฐบาลจะออกกฎกติกาที่กระทำต่อเอกชนจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ในสหรัฐหากจะออกกฎต้องมีการแจ้งให้ผู้เสียหายรับทราบ (Notification) ตรงนี้เป็นช่องโหว่ที่จะทำให้เราเสียค่าโง่ไป

เอกชนไทยได้สิทธิเท่ากับนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ ?

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ - สิทธิทั้งหมดนี้คนไทยไม่ได้ ถ้ารัฐบาลมีมาตรการอะไรมาทำให้บริษัทเอกชนไทยเสียหาย เราจะไปอนุญาโตตุลาการไม่ได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ ทั้งหมดต้องบอกว่าเป็นการคุ้มครองบริษัทอเมริกันมากกว่าคนไทย กลายเป็นว่าเราเป็นบุคคลชั้น 2 ในประเทศเราเอง

ต้องมาดูในเรื่องการเลือกปฏิบัติ เขาใช้คำว่า Treatment ของ the other party และ not less than ไม่น้อยกว่าคนในชาติ และไม่น้อยกว่าคนชาติอื่นที่เรียกว่า Most-Favoured- Nation(MFN)

ฉะนั้น เราต้องไปแก้กฎหมายหมดเลย ไม่ว่าการกระจายอำนาจ การรับฟังความคิดเห็น ทุกอย่างต้องมีมาตรฐานใหม่ เพื่อให้คนไทยเอง บริษัทไทยเองมีช่องทางใช้กลไกที่ดีขึ้น ไม่ใช่เว้นอย่างนั้นว่าให้อภิสิทธิ์กับต่างชาติ และคนไทยก็เอาแบบเดิมไป

ข้อเสนออื่นๆ ในการควบคุมความเสียหาย

สิตานนท์ เจษฎรพิพัฒน์ - เมื่อวานผมเพิ่งคุยกับผู้แทนที่ WTO ของฟิลิปปินส์ เขาบอกเขาสวดมนต์ทุกวันเลยให้ไทยไม่ยอมให้เปิดกว้างเป็น Singapore plus เพราะประเทศอาเซียนทั้งหมดกลัวมากถ้าไทยรับมันก็จะโดนทั้งหมด

ดังนั้น ยุทธศาสตร์แบบ Damage control (การควบคุมความเสียหาย) เท่าที่นึกออกก็คือ อันที่หนึ่ง ไปดูให้ชัดว่านิยามของ "การลงทุน" จริงๆ แล้วเรายังสามารถจัดการตรงนั้นได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเราหลวมตัวไปเปิดกว้างในออสเตรเลียไปแล้ว เราจะยังจำกัดให้แคบลงได้แค่ไหน หรือจะจัดประเภทของการเข้ามา

อันที่สองคือ ข้อสงวน ทุกวันนี้ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย เราต้องมีการคิดเรื่องนี้ให้รอบคอบและให้ชัดเจน อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการซื้อเวลา

อันที่สามคือ การเอาความรับผิดชอบทางการปกครองเข้ามาผูกไว้ตรงนี้ ถ้าเราเชื่อว่าเราจะหยุดมันยาก ในท้ายที่สุดค่าโง่หรืออะไรต่างๆ ที่ต้องไปจ่ายให้เอกชนต่างชาติ ไม่ควรเป็นเงินภาษีเรา มันควรจะมาจากคนที่ต้องรับผิดชอบ เพราะกลไกที่มีอยู่คุณก็ไม่ยอมไปผ่าน ฉะนั้น คุณก็น่าจะรับไปเต็มๆ

การบายพาสระบบกฎหมายไทย ถือเป็นการลิดรอนอธิปไตยของประเทศไทยหรือไม่ ?

วรินทร์ เทียมจรัส - เราจะเห็นได้ว่ากลไกในการควบคุมอธิปไตยของรัฐในมาตรา 224 พูดไว้ในวรรค 2 ว่า การทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงใดก็ตามโดยรัฐบาล กระบวนการต้องมาอยู่ที่รัฐสภา แต่ปรากฏว่าเราไม่นำกระบวนการนี้กลับมาในรัฐสภา

ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นความฉ้อฉลของรัฐบาลหรือไม่ ที่พยายามอธิบายว่าเขาไปคุยเรื่องภาษี เรื่องภาษีมันมีพระราชกำหนดฉบับหนึ่งว่า ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะไปเจรจาได้โดยไม่ต้องมาผ่านการออกกฎหมายใหม่ นั่นคือรอยด่างทางการร่างกฎหมายของประเทศ ทุกวันนี้รัฐบาลก็เลยบอกไปคุยเรื่องภาษี

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ - เคยถามเรื่องรัฐธรรมนูญและการนำเข้าสภากับเจ้าหน้าที่เจรจา คำตอบคือ ถ้าเผื่อไม่ต้องแก้กฎหมายไม่ต้องเข้าสภา ของออสเตรเลียไม่ต้องแก้กฎหมายฉบับใด แต่ดูจริงๆ แล้วมันมีบางเรื่องที่ต้องแก้ เช่น การให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน 60% ในธุรกิจเหมืองแร่อย่างนี้ต้องแก้เพราะกฎหมายให้ได้ไม่เกิน 20-25% "แต่สหรัฐนี่ชัวร์ว่าต้องแก้กฎหมายแน่ และเขาบอกว่าจะเอาเข้ารัฐสภา"

อีกอันหนึ่ง การที่เราไม่มีกระบวนการชัดเจนว่าอะไรต้องขออะไรไม่ต้องขอ อำนาจทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายบริหาร บอกตามตรงว่าเป็นจุดอ่อนเวลาเจรจากับเขา เพราะสหรัฐเขามาปุ๊บ เขาบอกเลยอย่าแตะการทุ่มตลาดของฉัน ฉันไม่มีสิทธิ์เจรจาเรื่องการทุ่มตลาด ไม่มีสิทธิ์เจรจาเรื่องการเข้าเมือง (Immigration) เรื่องนี้ต้องกลับไปขอสภา สรุปแล้วแตะไม่ได้ทุกเรื่อง แต่ของเราได้ทั้งนั้นไม่ว่าเรื่องอะไร เราเจรจาหลังชนฝาเลย อันนี้เป็นปัญหา เพราะเราเองทำลายตัวเอง

กรณีของสหรัฐนี้ รัฐบาลไทยต้องแก้กฎหมาย เขาก็มีแผนจะเอาเข้ารัฐสภา แต่การเอาเข้าไม่เอาเข้า เรามาเห็นข้อตกลงถึงตอนนั้นยังไงมันก็ผ่าน แต่กระบวนการก่อนเอาเข้าเรามีสิทธิได้รับรู้อะไรบ้าง ตรงนั้นเป็นปัญหาสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ที่เรียกร้องให้คณะผู้เจรจาฝ่ายไทยเปิดร่างข้อตกลงว่ามีอะไรบ้าง บอกได้เลยว่าเขายังไม่มี กรอบว่าจะเอาอะไร ไม่มีโมเดลอะไรทั้งสิ้นกับทุกประเทศ เพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจ ดังนั้นเขาจึงต้องพยายามปิดมากที่สุด สังเกตได้เลยว่าจะเปิดอะไรไม่ได้อยู่ที่คณะเจรจา แต่มาจากนายกรัฐมนตรีบ้าง รัฐมนตรีบ้าง ตามที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

----------------------

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนจากวงเสวนา ซึ่งท้ายที่สุดอาจต้องการความชัดเจนจากคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยเสียก่อน โดยที่ประชุมกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เคยหารือกันถึงขนาดที่ว่า การเจรจากับสหรัฐครั้งต่อไป สิ่งที่ควรทำประการแรกระหว่างทีมเจรจา คือ ไปขอยกเลิกข้อตกลงรักษาความลับกับทีมเจรจาสหรัฐให้ได้ก่อน ก่อนที่จะมีการเจรจาเรื่องอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งยากและสลับซับซ้อนกว่านั้นมากนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net