Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 



 


 


"เมื่อฟังบรรยายไปด้วยชมไร่นาและเห็นสเตทฟาร์มแล้วผมคิดว่าเกษตรกรรมแบบธรรมชาติย่อมสวยงามกว่าการเกษตรกรรมผลิตเพื่อการตลาดอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าสเตทฟาร์มนี้จะมีความสวยงามมีการออกแบบให้ดูเป็นธรรมชาติในการดูแลอย่างเป็นระบบระเบียบเรียบร้อย


 


แต่ว่าการผลิตและเทคโนโลยีที่เข้ามาใช้อย่างไม่เป็นธรรมชาติเพื่อการตลาดอาจจะทำให้เวียดนามเสื่อมลงก็ได้ ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียวทางออกของเกษตรกรรมและอารยธรรมมนุษย์ที่เขียนโดย มาซาโนบุ  ฟูกูโอกะ หนังสือนี้พูดถึงการไม่ใช้สายเคมีกำจัดศัตรูพืช เทคโนโลยี ปุ๋ยเร่งให้ข้าวเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และคิดถึงวิถีชีวิตประเพณีชาวนาและเกษตรกรรม 


 


ผมกำลังคิดว่าประเทศเวียดนามกำลังเริ่มพัฒนาเกษตรกรรมผิดธรรมชาติ และได้ทำลายวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของเกษตรกรรมเวียดนามเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งการพัฒนาเกษตรของเวียดนามด้านส่งออกข้าวอยู่อันดับสามของโลกในปัจจุบัน ผมเก็บความคิดและปัญหาไว้ในใจขึ้นรถตู้ออกเดินทางเพื่อจะไปฮาเตีย" (จาก  สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงแหล่งวัฒนธรรมเวียดนามใต้ โดย อรรคพล สาตุ้ม, http://www.mekongcenter.net/vietnamboy.htm)


 


 


 


ทุกวันนี้สิ่งที่กำลังเติบโตแบบพรวดพราดและได้รับความสนใจมาก คือ ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมหลัก     ซึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายและโครงการต่างๆ มาอุ้มชูดูแลอย่างต่อเนื่อง  แต่สำหรับบรรดาเกษตรที่ยังต้องพึ่งพาฟ้าฝนดลบันดาลแล้ว  กลับไม่เคยให้ความช่วยเหลือและพัฒนาด้วยความจริงจัง  จนพวกเขาบางกลุ่มไม่คิดจะรอนโยบายจากภาครัฐอีกต่อไป 


 


ทั้งนี้  รัฐยังโยนความเจ็บป่วยมาสู่ชาวไร่ชาวนา จากการบังคับให้ใช้สารเคมีแอบแฝงอยู่ในระบบเงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)  และสหกรณ์สำหรับเกษตรกรต่างๆ อีกด้วย  อย่างที่ นายวิสันต์  ทองเต่ามก  ประธานกลุ่มผักปลอดสารพิษ  แกนนำเกษตรธรรม ชาติ จ.พิจิตร  บอกว่า รัฐส่งเสริมให้ใช้สารเคมีแบบแอบแฝง  โดยผ่านทาง ธกส. เกษตรกรที่กู้เงินไปต้องแบ่งส่วนไปซื้อปุ๋ยยาสารเคมี 


 


"กระบวนการสู่ความสำเร็จต้องเริ่มที่ตัวบุคคลที่จะเลือกไม่ใช้สารเคมี   ชาวบ้านเองก็ไม่มีสิทธิ์ไปต่อสู้  ตอนนี้ก็ต้องช่วยตัวเองอย่างเดียวจะหวังพึ่งภาครัฐไม่ได้  ซึ่งถ้าจะแก้เรื่องการใช้สารเคมีก็เป็นเรื่องยากเพราะเกษตรกรคนเดียวไปไม่รอดแน่ ตอนนี้พวกเรากำลังสร้างเครือข่ายเกษตรธรรมชาติซึ่งก็ไม่ง่ายนัก จะขับเคลื่อนไปคนเดียวก็ถูกกระแสกลืนหมด"  นายวิสันต์  เริ่มเล่าเรื่อง


 


นายวิสันต์  ย้อนเล่าอดีตที่ผ่านมาว่า  "ผมเคยน็อคสารเคมีจนเป็นอันตรายกับตนเองมามากแล้ว  พอดีมาหาทางออกว่าจะลดใช้สารเคมีได้อย่างไร ก็ไม่รู้จะเอาอะไรทดแทนเพราะผมเคยถูกปลูกฝังให้ใช้สารเคมีมาโดยตลอด  ก็ลองเข้ามาร่วมกับเกษตรธรรมชาติปรากฏว่าใช้แล้วดี แต่คนที่ถูกปุ๋ยยาโฆษณากรอกหูอยู่เขาก็ยังไม่รู้ ก็ยังไม่เชื่อเกษตรแนวทางใหม่เลย  เพราะเขาถูกป้อนข้อมูลกันทุกวัน  ผมอยากให้บริษัทยาต่างๆ พยายามหยุดหรือลดโฆษณาลงบ้างจะได้ไหม  แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นว่าจะลดลงไปจากเดิมเลย"


 


ยิ่งไปกว่านั้น  ประธานกลุ่มผักปลอดสารพิษ จ.พิจิตร ยังกล่าวต่อไปว่า "ยากที่สื่อจะปรับเปลี่ยนได้  แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างจริงถึงจะเปลี่ยนแปลงความคิดการใช้สารเคมีได้  และยังเป็นเรื่องง่ายถ้าผู้ใหญ่จะลงมาพูดกับชาวบ้านเอง  ซึ่งตอนนี้เราพูดกันเองก็ไม่เป็นผล  คงต้องรอให้พวกเราเป็นรัฐมนตรีกันเองถึงจะแก้ไขได้"


 


จากปัญหาที่รุมบีบหรือกัดทึ้งชาวไร่ชาวนาตาดำๆ มานานปี  คงถึงเวลาที่พวกเขาจะต้องกระโดดออกจาก


กรงขังนั้นแล้ว  แต่พลังของเขายังน้อยนัก  ขณะที่กำลังเริ่มช่วยกันจุดกระแสในหน่วยเล็กๆ ของสังคม  ด้วยการก่อร่างสร้างเครือข่ายในลักษณะร่วมด้วยช่วยกันเองของเกษตรแนวธรรมชาติไม่พึ่งสารเคมี


 


ทางเลือก...สู่สำนักเกษตรกรธรรมชาติ


"ผมเป็นหนี้ลดลง  เพราะเราพยายามลดต้นทุนทุกอย่าง  ถ้าลดสารเคมีลงได้ก็จะกลายเป็นส่วนของกำไร ซึ่งเราจำเป็นต้องทำงานและถอดบทเรียนร่วมกัน  เพราะเราต่างก็เป็นทุกข์ด้วยปัญหาหนี้สิน ผมเริ่มทำเกษตรแบบธรรมชาติเมื่อปี 2546  โดยเข้าร่วมอบรมกับ วปอ.(ภาคประชาชน)  หรือวิทยากรการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและการพึ่งพากันเอง"  นายวิสันต์  เล่าต่อ


 


ทั้งนี้  ต้องจูงใจคนอื่นด้วยการสร้างตัวเองเป็นแบบอย่าง  โดยในเครือข่ายทั้งหมดจะนำคนที่ทำสำเร็จจริงเป็นแบบอย่างจึงจะดีที่สุด  เราต้องเริ่มที่ปัจเจกแล้วคนอื่นจึงจะเริ่มเห็น  ตอนนี้คนมีที่ดินเป็น100 ไร่ ก็เริ่มมีเข้าร่วมแต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย  เพราะที่ดินเขาเยอะเขาก็จะทำเกษตรเชิงเดี่ยวได้  ตอนนี้ส่วนใหญ่เรื่องเกษตรธรรมชาติเป็นเรื่องของแนวคิดทั้งหมด  จะหวังพึ่งกิจกรรมอย่างเดียวคงไม่สามารถขับเคลื่อนได้แน่  จึงต้องปรับแนวคิดเกษตรกรให้ได้โดยผ่านการอบรมของ วปอ.


 


นายวิสันต์  เล่าถึงกิจกรรมที่ทางกลุ่มผักปลอดสารพิษที่ตนเป็นประธานอยู่ว่า    ทางกลุ่มจะไปดูว่าที่ไหนมีการปลูกผักบ้าง  โดยคิดว่าทำอย่างไรจึงจะขยายออกทั้งเรื่องการผลิตและการตลาด  ตอนนี้เราเชื่อมไปยังชมรมออกกำลังกายซึ่งไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด  และยังวางแผนว่าต้องครอบคลุมให้ทั่วทั้งจังหวัด  ซึ่งทุกวันนี้ตลาดต้องการผักปลอดสารพิษเป็นจำนวนมาก  จึงต้องมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตได้พอ 


 


"เราเชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลที่สนใจด้านสุขภาพ  เช่นช่วงที่เขาเต้นแอโรบิคเราก็เอาไปวางขายที่ลาน เราเชื่อมอาหารปลอดสารพิษโดยจับมือกับภาคประชาชน  ภายใต้นโยบายคนไทยแข็งแรงของรัฐบาล  ขณะนี้คนเข้ามาสนใจเพิ่มมากขึ้นต้องการตาม กลุ่มของเรากำลังเดินเรื่อยๆ ช้าๆ เพราะยังมีส่วนที่ยังต่อต้านอยู่"  แกนนำเกษตรธรรมชาติ จ.พิจิตร  บอกกล่าว


 


นายวิสันต์  แสดงความเชื่อมั่นว่าอนาคตคงไปได้สวยและกระแสนี้ก็คงไม่ถูกกลบไป  ถ้ารัฐบาลสนับสนุนและทุกอย่างร่วมกันก็จะดีมาก  ซึ่งช่วงแรกๆ เกษตรกรต่างไม่มีแรงคิดที่จะเปลี่ยน  ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ


 


ประธานกลุ่มผักปลอดสารพิษ กล่าวต่อไปว่า  "ถ้ารัฐยังใช้มาตรการไปตรวจสารตกค้างผักที่ตลาดไท  จะสำเร็จไหม  ผมว่าไม่  100 ปีก็ไม่สำเร็จ  แค่นี้ผมก็คิดได้ว่าต้องมาตรวจที่ชาวบ้านนี่ มาเปลี่ยนแนวคิดของเขา ว่าสารเคมีเป็นอันตรายและจะเปลี่ยนได้อย่างไร  โดยเป้าหมายก็คือไม่มีสารเคมีในเลือด  ตอนนี้ผมก็หายแล้วแถมยังมีเงินใช้หนี้ได้  เท่านี้ชีวิตก็มีความสุขแล้วครับ


 


ทางออก...สุขภาพดีที่ไร่นา


ลำพังเกษตรกรเพียงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยหรือจะมีพลังไปต่อกรกับนายทุนใหญ่และสื่ออีกสารพัด  นับเป็นที่น่าดีใจที่บุคคลของส่วนราชการก็ดี  องค์กรภาคประชาชนก็ดี  ได้เริ่มหันมาดูแลและให้ความสำคัญโดยลงมาพัฒนาตั้งแต่ระดับไร่นาด้วยตนเอง


 


เช่นเดียวกับนายสุรเดช  เดชคุ้มวงศ์  นักวิชาการสาธารณสุข  จ.พิจิตร  ที่มุ่งไปยัง ประชาสังคม ท้องถิ่น โดยดึงเอาภูมิปัญญาและเกษตรกรมาใช้ในหลักสูตรโรงเรียนเกษตรกร  เพื่อเสริมสร้างให้สุขภาพชาวบ้านเริ่มฟื้นคืนมา 


 


นายสุรเดช  กล่าวว่า  "ถ้าคนปลูกปลอดภัยแล้ว  ผมก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้  และตอนนี้หลายคนก็ปลดหนี้และลดหนี้ได้แล้ว  ภายในปีนี้น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น  โดยเราจะออกช่วยเหลือตามองค์กรชาวบ้าน  โดยการช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้และถอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ชาวบ้าน และส่วนที่เล็กที่สุดก็คือสถานีอนามัยนั่นเอง"


 


ขณะที่ น.พ.สมพงษ์  ยูงทอง จาก จ.นครสวรรค์ หมอที่สนใจการจัดการความรู้ของชาวบ้านอีกผู้หนึ่ง เห็นว่า  "เราใช้ภูมิปัญญาถ่ายทอดความรู้ในกลุ่ม  มีการเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาจากเดิมก่อน  และยังผลักดันทางวิทยุชุมชนเพื่อเป็นยุทธศาสตร์การกรอกหูให้มากที่สุด  ซึ่งเราใช้การเรียนรู้ร่วมกันโดยการสร้างพันธมิตรและการไปเรียนรู้จากเครือข่ายอื่นๆ"


 


น.พ.สมพงษ์  กล่าวต่อไปว่า  เรามีการตรวจสอบความรู้ใหม่อยู่เสมอ โดยทุกคนต้องเป็นทั้งครูและนักเรียนในคราวเดียวกัน  มาช่วยกันหมุนเกลียวความรู้ของกลุ่มให้ฉลาดขึ้น  เปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่างๆ ให้เข้าสู่ชุมชนนักปฏิบัติให้ได้


 


"เราต้องเอาคนเก่งเข้ามาก่อนเพราะความสร้างสรรค์และความอิสระเป็นสิ่งสำคัญ  โดยการสร้างวิสัยทัศน์ที่ไม่ไกลเกินไปแล้วจะต้องไปให้ถึงได้ไม่ยาก"  นพ.สมพงษ์  กล่าว


 


นอกจากนี้แนวคิดของหมอ ยังมองไปถึงการตั้งโรงงานปุ๋ยชุมชนและยังพยายามเชื่อมโยงกับธุรกิจท้องถิ่น ทั้งยังอาศัยการเมืองท้องถิ่นซึ่งมีกองทุนให้ชาวบ้านได้กู้ยืมอีกด้วย


 


ร่วมทางเดียวกัน


ในที่สุดเมื่อหลายเส้นทางที่เดินมานานได้มีจุดร่วม โดยชาวไร่ชาวนาเริ่มเห็นพ้องต้องกันแล้ว และพร้อมจับมือร่วมเดินทางไปด้วยกัน  โดยใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่เป็นฐานรากอันสำคัญต่อการพัฒนานำองค์ความรู้ไปใช้ได้อย่างยั่งยืน นับเป็นมิติใหม่ของเกษตรกรไทยในยุคนี้


 


อย่างไรก็ตาม  นพ.สมพงษ์  กล่าวต่อไปว่า  ตอนนี้ปุ๋ยมีราคาแพงมากคนจึงเริ่มสนใจแนวเกษตรอินทรีย์มากขึ้น  ซึ่งถ้าชุมชนมีต้นทุนทางสังคมที่ดี  อาทิ  มีความสามัคคี  มีผู้นำที่ดี  มีสังคมที่เอื้ออาทรกัน ก็จะทำให้พวกเขาเรียนรู้ไปได้เร็วและรวมกลุ่มกันพัฒนาได้เป็นอย่างดี 


 


"ถ้าผู้นำไม่ดี  ชาวบ้านอยู่แบบตัวใครตัวมันก็จะมีปัญหา  ทำให้รวมตัวกันไม่สำเร็จ  ตอนนี้ก็มีคนเข้ามาร่วมเกษตรธรรมชาติมากขึ้น  จากที่ปีก่อนๆ ชาวบ้านยังสบายอยู่ แต่ตอนนี้ปุ๋ยราคาแพงมาก  ก็ต้องค่อยๆ ลดเลิกไป"  น.พ.สมพงษ์  แสดงทัศนะ


 


ทั้งนี้  กระบวนการเปลี่ยนแปลงความรู้ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติคน  เมื่อไรก็ตามที่มีความตั้งใจ และมีคนเข้าไปแลกเปลี่ยนสร้างจิตสำนึกอยู่เสมอๆ   ก็จะเท่ากับการปลูกค่านิยมที่ต้องผ่านการผลักดัน  เรียนรู้  เชื่อมโยงภูมิปัญญาระหว่างกัน


 


"เราต้องสร้างกรอบให้ตัวเอง เหมือนสร้างกรอบให้กระจกบานเล็กๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่ตนเองระดับหนึ่ง  ซึ่งหัวใจก็คือความเข้มเข็งของท้องถิ่น  พยายามทำสิ่งที่เอื้อประโยชน์แก่เราและนำปัญญาของท้องถิ่นมาใช้  โดยเราต้องมีความอิสระยืดหยุ่นและคล่องตัวอย่างรอบด้าน  รวมทั้งคำนึงถึงความหลากหลายของผู้คนด้วย"  นพ.สมพงษ์  กล่าวอย่างมั่นใจ


 


นพ.สมพงษ์  กล่าวในตอนท้ายว่า  "ชาวบ้านบอกผมว่าพอฝนตกเริ่มได้ยินเสียงกบเขียดร้องแข่งกันแล้ว  ซึ่งเป็นการที่ชาวบ้านได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าเป็นเพราะปัจจัยต่างๆ ที่นำมาทำการเกษตรมันเปลี่ยนชีวิตของเขาได้ ตอนนี้ก็เริ่มมีปลาในนาบ้างแล้ว  ชาวบ้านก็ดีใจ" 


 


ณ พงหญ้าข้างทาง...เสียงกบเขียดในท้องนาเริ่มดังระงมอีกครั้งหลังฝนตก  ดังชีวิตที่ฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้ง  แต่พวกมันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะถูกจับไปเมื่อไร  ตราบใดที่ชีวิตของมันยังอยู่ในกำมือของนักล่า  และยังไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวมันเองได้เสียทีเดียว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net