Skip to main content
sharethis

เอ่ยชื่องาน Jazz in the park ถึงเวลานี้น้อยคนนักที่จะนึกถึงคอนเสิร์ต Jazz อันรื่นรมย์จริงๆ

"ชื่อก็บอกว่า Jazz in the park เราจัดแสดงดนตรีแจ๊สให้คนชอบฟังเพลงมาเจอกัน แต่ก็อย่างว่างานแจ๊สอะไรไม่รู้มีเพลงแจ๊สอยู่ 2 เพลงนอกนั้นคุยกันเป็นวรรคเป็นเวร " อัญชลี ไพรีรัก หรือ "เจ๊ปอง" อดีตนักจัดรายการชื่อดัง คุยไปหัวเราะไปกับนักข่าวตามประสาคนอารมณ์ดีเมื่อครั้งไปชี้แจงกับกรรมาธิการวุฒิสภากรณีที่ถูกปิดเว็บไซต์ www.fm9225.com

Jazz in the park ซึ่งจัดโดยคลื่น 92.25 เมกกะเฮิร์ต ศูนย์ปฏิบัติการวิทยุชุมชนคนรักประชาธิปไตย ในเวลานี้แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของมหกรรมรวมพลคนช่างวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งแต่ละครั้งดำเนินไปอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นรากฐานของม็อบสีลมภาค2 !!!

เพราะจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนคลับมากขึ้นเรื่อยๆ ครั้งแรกสาวไส้ขบวน การปั่นหุ้นคนฟัง 200 คน ครั้งที่สองว่ากันเรื่องไฟใต้คนมา 500 คน และครั้งสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซักซ้อมก่อนอภิปรายซีทีเอ็กซ์ ได้ข่าวว่า โดนบล็อก มีการวิ่งเต้นกันจ้าละหวั่น คนจึงแห่มากันกว่า 1,400 คน

คนที่ขึ้นเวทีพูดก็ล้วนเป็นบุคคลที่ (น่า) ขึ้นบัญชีของฝ่ายรัฐบาลทั้งนั้น อาทิ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน), นายอัมรินทร์ คอมันตร์ นักธุรกิจอิสระ แกนนำกลุ่มต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ,พล.อ.เจริญศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานชมรมคนรู้ทัน นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ประธานบริหารเครือโอเรียนเต็ล มาร์ท กรุ๊ป ประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ยังมี, นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น รวมถึงนายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และพลพรรครับเชิญอีกหลายคน อาทิ "เสธ.แดง" พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล

"มันก็หลายคนยลตามช่อง บางคนก็ว่าเป็นม็อบนวัตกรรมใหม่ในชื่อแจ๊ส อิน เดอะ ปาร์ค บางคนก็ว่าเป็นกุศโลบาย แต่สิ่งที่ต้องการจริงๆ คือ อยากให้คนมาเจอกัน หัดคิด หัดแสดงออก เหมือนอังกฤษมีไฮด์ปาร์ค ภายใต้กฎหมายอย่างมีระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่ฝอยกันตามร้านกาแฟ อยากให้เกิดการเรียนรู้ในหมู่ชน ให้คนไทยมีประเพณีใหม่ๆ กันบ้าง แต่คนก็ไปคิดไกลเกินไป จนมาบล็อกงานเรา ไม่รู้กลัวอะไรกันนักกันหนา"

"สังคมมันล่มสลายแล้ว อยากให้สังคมเก่าๆ กลับคืนมาแค่นี้เอง" นักจัดรายการฝีปากกล้าอย่างอัญชลีชี้แจง

แม้กระทั่งล่าสุดงานแจ๊ส "ภาคพิเศษ" ที่ผู้ดำเนินรายการต่างนัดแนะผู้ฟังให้ไปร่วมชุมนุมหน้ารัฐ สภาในวันที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ยังมีแฟนที่เหนียวแน่นไปกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งอัญชลีเล่าว่าสมชาย นิลเสน และจิตกร บุษบา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง

"พวกเรามีไอเดียกันว่า ควรพาคนฟังไปรู้จักกับสภาในวันสำคัญ ได้ไปดูสถานการณ์จริงที่เขาจะมีการโหวตกัน ผู้ดำเนินรายการทุกคนก็นัดคนฟังผ่านทางรายการว่ามาพบกันที่หน้าสภา มายืนดูการถ่ายทอด มาดูให้เห็นกับตาตัวเอง แล้วเมื่อผลเป็นอย่างไรขอให้จดให้จำเอาไว้เป็นบันทึกส่วนตัวของแต่ละคน"

"ปรากฏว่าคนฟังมากันเต็มเลย ใส่เสื้อยืดหยุดโกงได้ไม่ต้องเดี๋ยว เหมารถมากันเอง ไม่แน่ใจว่ากี่คน แต่ที่เจอประมาณ 20 คน ท่านประสงค์ท่านก็เจอ บางคนมาก็ไม่เจอพวกเราเพราะมันกระจัดกระ จายกัน จัดมาดูแล้วก็กลับไม่มีอะไร" อดีตนักจัดรายการชื่อดังพยายามชี้ภาพ อาจเพื่อสะท้อนว่าไม่ได้มีการจัดตั้งกันมาเป็นระบบแต่อย่างใด

สมาชิก 92.25 ที่ไปร่วมชุมนุม ถูกกลบด้วยม็อบของสมัชชาเกษตรกรรายย่อย(สกย.) นับพันคน ซึ่งไปยึดพื้นที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่เช้า ขณะที่กลุ่มฯ ต้องย้ายที่รวมพลไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และรอจนกระทั่งกลุ่มเกษตรกรฯ เคลื่อนย้ายออกไป จึงเดินมาร่วมกับเครือข่ายประชาชนอื่นๆ แต่เวลาก็ล่วงเลยมาถึงเที่ยงแล้ว

อย่างไรก็ตาม อัญชลี ในฐานะอดีตโปรแกรมไดเรกเตอร์ของคลื่นยืนยันว่านั่นน่าจะเป็น Jazz in the park ครั้งสุดท้าย เพราะทุนใหญ่อย่างประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ไม่ค่อยเห็นด้วยกับโปรแกรมที่เธอวางไว้.... ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เธอตั้งใจจัดเวทีแม่บ้าน

"งานแจ๊สต่อๆ ไปที่วางแผนไว้ก็ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองนะ มีปักคอสติสท์ มีทำอาหาร จัดดอกไม้ ให้มีกิจกรรมผู้หญิงบ้าง เรื่องดูแลเด็กเพื่อให้ความรู้ในหมู่คน ให้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ และให้คนรู้จักกันมาเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่มันโดนบล็อกซะแล้ว และคุณประชัยก็ไม่สนับสนุน เพราะเขาชอบจัดม็อบ ส่วนพี่ไม่ชอบจัดม็อบ บางทีก็รำคาญ ไม่รู้จะมุ่งมั่นในการล้มรัฐบาลไปถึงไหน"

อัญชลีกล่าวทิ้งท้ายถึงกิจกรรม Jazz in the park

ส่วนเรื่องราวต่างๆ ของคลื่นวิทยุแห่งนี้ เธอไม่ขอพูดอะไรมาก เพราะยุติบทบาทตัวเอง (ลาออก) มา 2 อาทิตย์แล้วเพื่อพักยกไปเรียนต่อยังต่างประเทศ หากแต่บอกว่าทีมงานที่ทำงานอยู่คงทำงานต่อไปอีกสักพักเพื่อบอกลาคนฟัง

"พวกเราปั้นขึ้นมาตั้งแต่มันยังไม่มีอะไร จนกระทั่งมันมีอะไรขึ้นมา แล้วคุณประชัยก็ใช้มันไปอีกทาง แล้วเราก็ถูกคุกคามกันเยอะเหลือเกิน โดนใครซักคนซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครคุกคามหนัก คุณประชัยก็คุกคามในอีกรูปแบบหนึ่ง" อัญชลีพยายามยืนยันถึงความเป็นมืออาชีพด้านงานข่าว

เรื่องราวของคลื่นร้อนแรง 92.25 MHz ยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่ชีวิตของนักข่าวหญิงเหล็กซึ่งเคยผ่านงานหนังสือพิมพ์และวิทยุมา 19 ปีก็แยกไปอีกทาง แต่ที่รู้ๆ ก็คือ

"ตอนนี้เตรียมเอกสารไปต่างประเทศ คงไม่พูดแล้ว เพราะผู้ใหญ่สั่งไม่ให้พูด และเราก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรแล้วด้วย" อัญชลีทิ้งท้ายสั้นๆ ก่อนจะจากสังคมอันดำมืดแห่งนี้ไปอย่างเงียบๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net