Skip to main content
sharethis

เชิงเขาภายในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 5 ที่ตั้งหน่วยทหารเล็กแห่งหนึ่งในวันนี้ดูเงียบเหงา พลทหาร 2 คนเดินเกร่ด้วยสีหน้าที่ฉาบไว้ด้วยความเศร้า เพราะพวกเขาเพิ่งเสียผู้บังคับบัญชาของหน่วยไปพร้อมกันถึง 2 คน จากเหตุการณ์จับทหารเป็นตัวประกันที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส


 


ภายในที่ตั้งหน่วยทหารแห่งนี้ ไม่ได้ใหญ่โตกว้างขวาง มีรั้วรอบขอบชิดเหมือนกับค่ายทหารทั่วๆ ไป เพราะเป็นเพียงศูนย์ฝึกอบรมและเผยแพร่เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ของโครงการจุฬาภรณ์


 


อาคารไม้เล็กๆ ด้านหน้า เป็นทั้งสถานที่ประชุมวางแผนงาน และห้องพักผ่อน ส่วนด้านหลังเป็นเรือนเพาะชำ ซึ่งมีทั้งกล้วยไม้ และดอกหน้าวัว


 


"ศูนย์นี้เปิดมาตั้งแต่ปี 2535" ทหารวัยใกล้เกษียณนายหนึ่งเอ่ยขึ้นมา


 


 "หน้าที่หลักของเราคือดูแลเรือนเพาะชำกล้วยไม้ และมีภารกิจเสริมอื่นๆ ตามแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งการมา"


 


เมื่อถามถึง เรือตรีวินัย นาคะบุตร และ พันจ่าเอกคำธร ทองเอียด ซึ่งจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เขาตอบว่า ทั้งคู่ทำงานอยู่ในศูนย์แห่งนี้ และเป็นคนนิสัยดี เป็นที่รักใคร่ของลูกน้องทุกคน


 


"ทั้งคู่นิสัยดีมากๆ ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี โดยเฉพาะเรือตรีวินัย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการของโครงการด้วย ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่วางแผนจัดกำลังเข้าเวรตรวจตราเรือนเพาะชำต่างๆ และจัดการภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย"


 


เขาบอกด้วยว่า ทั้งสองชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งก็เป็นงานหลักของนาวิกโยธินในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนาอยู่แล้ว ทำให้ชาวบ้านต่างรู้สึกผูกพันกับทหารที่ศูนย์แห่งนี้


 


"ในวันเกิดเหตุ ทั้งคู่ก็อยู่ในค่าย พอตกค่ำก็ได้ยินเสียงปืนจากหมู่บ้านใกล้ๆ ก็เลยสอบถามจากคนรู้จัก แล้วก็ขับรถออกไปดู เพื่อไปช่วยชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ที่อาจจะได้รับบาดเจ็บ แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์อย่างที่รู้ๆ กันอยู่" เสียงของทหารชราขาดห้วงไปเฉยๆ คล้ายพยายามเก็บกดความเศร้า


 


ไม่ห่างจากค่ายทหารเล็กๆ แห่งนี้ เป็นที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบล และใกล้ๆ กันเป็นร้านขายของชำประจำหมู่บ้าน ซึ่งใครๆ ต่างก็แวะเวียนมา


 


"โอ๊ย..ชาวบ้านรู้จักดี ทั้งสองคนนั่นแหละ" เจ้าของร้านชำซึ่งเป็นชายวัยกลางคนเอ่ยขึ้น


 


"จ่าคำธรเป็นคนดี เขาเป็นคนสงขลา มาอยู่ที่นี่ตั้งสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่เปิดศูนย์เพาะเลี้ยงฯครั้งแรกเมื่อปี 2535 โน่นแหละ"


 


"ส่วนเรือตรีวินัย เพิ่งย้ายมาประจำสัก 2 ปี" ภรรยาเจ้าของร้านกล่าวขึ้นบ้าง


 


"เขาแวะมาที่นี่บ่อย มาครั้งหนึ่งก็ซื้อของทีละมากๆ เหมือนช่วยเราน่ะ แกชอบช่วยเหลือชาวบ้าน คนที่นี่รักแกทั้งนั้น"


 


จากปากคำของชาวบ้าน ทำให้เราทราบว่าหมู่บ้านนี้ไม่เคยเกิดเหตุร้ายขึ้นเลย ไม่ว่าสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะรุนแรงขนาดไหน ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีหน่วยทหารนาวิกโยธินปักหลักอยู่ในพื้นที่นานนับสิบปี


 


"พวกทหารก็ออกตรวจตราเรื่อยๆ คอยแวะเวียนมาถาม คนแถวนี้รู้จักกันดี รู้สึกเสียใจมากที่ทั้งคู่ต้องมาจบชีวิตแบบนี้ ไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันเป็นเรื่องจริง" ภรรยาเจ้าของร้านชำ กล่าว


 


 "คนดีๆ ไม่น่าจะมาตาย" ชายเจ้าของร้านกล่าวเสริม "ตอนที่มีการยิงกัน เขาหวังดีนะ รถที่ขับออกไปดูก็เป็นรถส่วนตัวของเขาเอง"


 


ที่ สภ.อ.ระแงะ รถยนต์ส่วนตัวของเรือตรีวินัย พาหนะที่พาเขาและลูกน้องไปยังบ้านตันหยงลิมอก่อนจบชีวิต จอดสงบนิ่งอยู่ในลานจอดรถของโรงพัก


 


รถเก๋งโตโยต้า โซลูน่า สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน กท 972 สงขลา ซึ่งเคยเป็นรถคู่กายนาวิกโยธินหนุ่มใหญ่ อยู่ในสภาพพังยับ มีร่องรอยถูกทุบเกือบทั้งคัน ยางหน้าแบนติดพื้นถนน


 


ที่น่าสลดใจยิ่งกว่าสภาพรถก็คือร่องรอยขูดขีดที่บริเวณตัวถังด้านซ้าย ซึ่งมีข้อความเป็นภาษาไทยอ่านได้ว่า "ตำรวจฆ่าประชาชน" และด้วยประโยคสั้นๆ ประโยคนี้ น่าจะเป็นการบ้านชิ้นสำคัญของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องลบความหวาดระแวงในพื้นที่อันเป็นต้นตอของโศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ให้จบสิ้นลงเสียที...


 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net