Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 30 ก.ย.48      หลังจากเกิดอุทกภัยรอบที่ 3 ในภาคเหนือ และมีอ่างเก็บน้ำแตก 2 แห่ง ทำให้น้ำไหลท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนเสียหายหลายล้านไร่ที่จ.เชียงใหม่และลำปาง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้สั่งการให้มีการช่วยเหลือประชาชน และได้ใช้เครื่องสูบน้ำถึง 1,800 เครื่องเพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว จากนั้นจะเร่งช่วยเหลือค่าชดเชยแก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย


 


ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะประกาศแผนป้องกันน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเริ่มดำเนินการตามแผนภายในสิ้นปีนี้เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมปีหน้า


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ระบุด้วยว่า ในอดีตไม่เคยมีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ แต่ในปัจจุบันพ.ต.ท.ทักษิณ ได้เห็นความสำคัญและอนุมัติเงินในการวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ 25 ลุ่มน้ำ คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้ง หรือน้ำท่วมซ้ำซากได้


 


ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการของแผนแก้ปัญหาน้ำใน 25 ลุ่มน้ำ งบกว่า 1.5 แสนล้านบาทไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยให้กรมชลประทานจัดทำรายละเอียดในขั้นตอนปฏิบัติ ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนโดยเฉพาะ 9 อ่าง ที่ปัจจุบันมีปัญหาปริมาณน้ำในอ่างมีต่ำกว่า 10% ของความจุอ่าง กระจายอยู่ 4 พื้นที่ คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ภาคตะวันออก ภาคกลางแถบสุพรรณบุรี-อุทัยธานี และภาคใต้ที่ จ.ภูเก็ต กำลังอยู่ระหว่างการสรุปวงเงิน


 


ส่วนมาตรการระยะเร่งด่วนเพื่อทำการกักเก็บน้ำสำรองใช้ในฤดูแล้งของลุ่มน้ำโขง จะทำประตูระบายน้ำริมน้ำโขง 15 แห่ง สร้างทำนบชั่วคราวในลำน้ำสาขา 154 แห่ง ทำแก้มลิงในลำน้ำสาขา 15 แห่ง วงเงิน 2,793 ล้านบาท ขณะที่แผนระยะสั้นจะสร้างประตูระบายน้ำ ฝาย และฝายยางในลำน้ำสาขา 63 แห่ง งบประมาณ 2,437 ล้านบาท สำหรับแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้สั่งการให้กรมชลประทานทำการศึกษาการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ในทุ่งกุลาร้องไห้ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน     


 


ขณะเดียวกันในส่วนของภาคประชาสังคมก็มีการแสดงความเป็นห่วงแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมสัมมนาเรื่องแนวทางการจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน นายมนตรี จันทวงศ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และดร.ฉลาดชาย รมิตานนท์  นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบของรัฐบาล ยังคงเป็นมุมมองของราชการเป็นหลัก และห่างไกลจากแนวคิดของชุมชน จึงอาจมีการรวบรัดการดำเนินการจนขาดการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหม่ตามมา


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net