Skip to main content
sharethis



ภาพจาก : รอยเตอร์


 



ประชาไท - วันที่สองของการประชุมองค์การการค้าโลกระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 6 ที่ฮ่องกง ประเทศกำลังพัฒนากลุ่มต่างๆ อาทิ G-20 (ประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกสินค้าเกษตร นำโดย บราซิล, อินเดีย) G-33 (ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการให้มีสินค้าที่ต้องการมาตรการปกป้องพิเศษเพื่อดูแลภาคเกษตรในประเทศ นำโดย ฟิลิปปินส์) และ G-90 (ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด-LDC ในทวีปแอฟริกา แปซิฟิค และแคริบเบียน) รวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยไม่ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐและสหภาพยุโรป


 


หลังจากที่มีข่าวว่า อินเดียกับบราซิล อาจถูกล็อบบี้ให้ยอมรับข้อตกลงเรื่องสินค้าที่ไม่ใช่เกษตร (NAMA) และการค้าบริการ (GATS) ตามข้อเสนอของสหรัฐและสหภาพยุโรปด้วยการแลกกับการสามารถส่งสินค้าออกไปได้มากขึ้น รัฐมนตรีการค้าของอินเดียและบราซิลได้ร่วมกันแถลงข่าวแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนและวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของสหรัฐและสหภาพยุโรปในประเด็นการลดการอุดหนุนการส่งออก ว่า เป็นการตัดส่วนที่เป็นน้ำไม่โดนเนื้อ (cut the water)


 


ไม่เพียงเท่านั้น ยังกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมลงไปอีก 60-70% จนไม่แน่ใจว่า "สหรัฐและสหภาพยุโรปคำนวนตัวเลขเป็นหรือไม่ ทั้งๆ ที่การอุดหนุนภาคเกษตรเป็นปัจจัยที่บิดเบือนราคา ถ้าสองประเทศนี้ไม่ต้องการคุยประเด็นเกษตร นอกเหนือจากนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นการเจรจาการค้าเสรี"  นอกจากนี้รัฐมนตรีการค้าของอินเดียยังกล่าวทิ้งท้ายว่า หากการเจรจาครั้งนี้สามารถเดินได้มากกว่า 50% ก็ถือเป็นความสำเร็จแล้ว  


 


ทั้งนี้ การเจรจา "ห้องเขียว" (green room) จะเริ่มขึ้นอีกครั้งในเวลา 22.00 น.ของคืนนี้ (14 ธ.ค.) โดย G-20 จะเจรจาโดยตรงกับผู้แทนการค้าสหรัฐ ส่วนการเจรจาห้องเขียว เมื่อคืนนี้ (13) เป็นการหารือในส่วนของกระบวนการการเจรจา และจะเริ่มเจรจาในส่วนของเนื้อหานับตั้งแต่คืนนี้ อย่างไรก็ตาม เริ่มมีเสียงประท้วงจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือ LDC ที่เสมือนถูกกีดกันออกจากการเจรจาด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นทางการเช่นนี้


 


รายงานข่าวจากคณะเจรจาฝ่ายไทยเปิดเผยว่า ทีมเจรจาฝ่ายไทยก็ไม่ได้เข้าประชุม "ห้องเขียว" ที่มีการเจรจาสำคัญๆ ขณะเดียวกันนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อทีมเจรจาว่า ขอให้มีท่าทีที่ผ่อนปรน ตามเสียงส่วนใหญ่และกลุ่มที่ไทยสังกัด "อย่าไปมีปัญหากับใคร" ซึ่งนี่คือท่าทีปกติของฝ่ายไทย ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า ไม่เคยมีท่าทีอะไรที่ชัดเจน 


 


ล่าสุดมีความพยายามของตัวแทนจากสมัชชาคนจนที่ได้รับเชิญให้มาร่วมกิจกรรมของสหพันธ์ชาวนาโลกที่จะติดต่อขอพบตัวแทนเจรจาฝ่ายไทยเพื่อรับทราบจุดยืนของประเทศไทยต่อการเจรจาครั้งนี้


 


สำหรับบรรยากาศนอกศูนย์ประชุมและนิทรรศการฮ่องกงวันนี้ เป็นการชุมนุมและเดินรณรงค์เพื่อคัดค้านข้อตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) ซึ่งเปิดโอกาสให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรของประเทศต่างๆ ผ่านการแปรรูปบริการสาธารณะ เช่น น้ำ ไฟฟ้า พลังงาน การศึกษา การสาธารณสุข โดยผุ้ชุมนุมหลายร้อยคนได้เดินขบวนไปยื่นหนังสือตามสถานกงศุลต่างๆ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย บราซิล ฟิลิปปินส์ ฯลฯ เรียกร้องให้ตัดการค้าบริการออกจากการเจรจา WTO


 


วิคเตอร์ มินอติ จาก  International Forum on Globalization กล่าวว่า แม้จะมีแนวโน้มว่า การเจรจาจะไม่คืบหน้า แต่ภาคประชาชนก็ควรพึงระวังในประเด็นการค้าบริการ เพราะก่อนการประชุมที่ฮ่องกง บรรษัทข้ามชาติจากประเทศพัฒนาแล้วได้รวมตัวกันเพื่อต้องการกดดันให้ประเทศต่างๆ เปิดเสรีการค้าบริการ ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม มีชื่อกลุ่มเพราะๆ อาทิ Friends of Energy, Friends of Telecom, Friends of Finance โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯและบรรษัทขนาดใหญ่ที่หนุนหลังรัฐบาลของประธานาธิบดีบุช มุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะบีบบังคับให้แต่ละประเทศเปิดให้บรรษัทของสหรัฐฯเข้าไปครอบครองด้านพลังงาน ในนาม Friends of Energy ทั้งในส่วนของก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน โดยอ้างว่าเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งกระบวนการที่บรรษัทต่างชาติจะเข้ามาครอบครองพลังงานของประเทศต่างๆ นั้น จะผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะส่วนใหญ่พลังงานจะอยู่ในความดูแลของรัฐ ดังนั้นโลกควรหาทางหยุดขบวนการเหล่านี้


 


นอกจากนี้ ประเด็นการเจรจาระดับทวิภาคีของประเทศต่างๆ ก็เป็นที่จับตาไม่แพ้การเจรจาพหุภาคีในองค์การการค้าโลก ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากการเจรจาใน WTO ไม่คืบหน้าจะยิ่งเร่งการเจรจาในเอฟทีเอซึ่งเนื้อหาข้อตกลงจะยิ่งเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะประเทศขนาดเล็กกว่ามักไม่มีอำนาจต่อรอง และสหรัฐยังใช้การเจรจาเอฟทีเอเพื่อผลักดันประเด็นที่ไม่สามารถเจรจาใน WTO ได้


 


ดร.วอลเดล เบลโล นักวิชาการและนักกิจกรรมจาก Focus on Global South กล่าวว่า การที่ WTO ถูกคัดค้าน ก็เนื่องจากเป็นองค์กรรวมศูนย์ กลไกต่างๆ ที่อนุญาตให้แต่ละประเทศมีสิทธิกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองก็ถูกทำลายโดย WTO ดังนั้น "ถึงแม้จะไม่มี WTO ก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องการสถาบันที่จะมากำหนดนโยบายเช่นนี้อีก แต่เราต้องการพื้นที่สำหรับหายใจ เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถกำหนดนโยบายของตัวเองได้ การไม่มี WTO ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจลาจล และความระส่ำระสายบนโลกใบนี้


 


ทางด้าน ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ จากกลุ่มศึกษาปัญหายา ได้กล่าวในการสัมมนาเรื่อง FTA ส่วนเพิ่มของ WTO กล่าวว่า FTA และ WTO ไม่ต่างกัน คือ แย่ทั้งคู่ FTA แย่กว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า โลกควรต้องยอมรับ WTO เพราะจริงๆ แล้ว ทุกประเทศและสังคมต่างมีทางเลือกการพัฒนา สำหรับสังคมไทย พระมหากษัตริย์ของไทยได้ทรงเน้นย้ำถึงแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นทางออกของการพัฒนาที่ไม่ได้เน้นการค้าที่ไปทำลายทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตของประเทศอื่นๆ


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net