Skip to main content
sharethis


7 มกราคม 2549

บ้านห้วยกลทา ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์


 


ขณะที่ผมกำลังนั่งจรดปากกาเพื่อส่งสาร ผ่านตัวหนังสือถึงคุณ มันเป็นเวลาที่ระยะห่างของระยะทางได้กางกั้นเราสองคนให้แยกออกจากกัน แต่ก็ไม่น่าแปลกอะไรหรอกนะ เพราะถึงจะไม่มีอุปสรรคในเรื่องของระยะทาง เราสองคนก็ดูเหินห่างกันแสนไกลอยู่แล้วกระมัง


 


คุณรู้ไหม? สถานที่ที่ผมนั่งอยู่ในตอนนี้ มันช่างแตกต่างจากสภาพแวดล้อมที่คุณและผมเคยรู้จักมักคุ้น เพราะที่นี่ไม่ได้มีร้านอาหารบรรยากาศดีๆ ไม่มีสถานบันเทิงยามราตรีที่อึกทึกคึกคักอย่างที่คุณปรารถนาจะสัมผัสมันในทุกคืนวันศุกร์ - เสาร์ แต่ที่นี่มีเพียงภูเขา ต้นไม้ และผู้คนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาศัยพึงพิงกันมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี


 


ผู้คนที่นี่พูดจาด้วยสำเนียงภาษาที่ผมเองก็ไม่คุ้นหู เมื่อลองสอบถาม ก็ได้คำตอบว่า มันเป็นภาษา "ลาวหล่ม" ซึ่งผมไม่รู้หรอกนะว่าเหตุใดเขาจึงเรียกมันว่าอย่างนั้น (หากให้ลองเดา มันคงจะมาจากการที่ผู้คนเหล่านี้เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในอำเภอหล่มสัก และพูดภาษาตระกูลลาว) แต่ไม่ว่าพวกเขาจะสื่อสารกันด้วยสำเนียงภาษาใด ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการทำความเข้าใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์เป็นแน่


 


เมื่อตอนช่วงเช้า ก่อนที่ผมจะมีโอกาสมานั่งคิดถึงคุณ แล้วระบายเป็นตัวอักษร ผมพบว่า ไม่ได้มีแต่ชาวบ้านห้วยกลทา ห้วยระหงษ์ และชาวบ้านห้วยหวาย ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก เท่านั้น ที่มารวมตัวกันบอกเล่าถึงความเจ็บปวดที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายหยิบยื่นให้พวกเขา แต่ผู้คนที่นี้ยังมีเพื่อนพ้องน้องพี่จากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นเหนือ กลาง อีสาน ใต้ มาคอยให้กำลังใจ ซึ่งพวกเขาต่างพูดจาปราศรัยกันด้วยสำเนียงภาษาที่แตกต่างกันไปตามแต่ที่มาของแต่ละคน แต่สุดท้ายพวกเขายังสามารถเข้าใจความรู้สึกของกันและกันได้เป็นอย่างดี (น่าแปลกที่คุณกับผมเราพูดจาสำเนียงเดียวกัน แต่นับวันช่องว่างแห่งความเข้าใจของเรากลับถ่างออกไปทุกที)


 


พวกเขาทั้งหมดต่างมาด้วยความรู้สึกเจ็บช้ำจากการถูกแย่งชิงในสิ่งที่เราเรียกว่า "ที่ดิน" ซึ่งพวกเขาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินกันมาชั่วนาตาปี


 


คุณคงไม่รู้สินะว่า ความรู้สึกในการถูกแย่งชิงในสิ่งที่เราเรียกว่า "ที่ดิน" ซึ่งมันหมายรวมถึงความเป็น "บ้าน" มันเจ็บปวดเพียงใด แต่ผมจำได้ดี เพราะครั้งหนึ่งผมก็เคยได้รับความเจ็บปวดเยี่ยงนั้น เพราะความเป็น "บ้าน"สำหรับผมมันไม่ได้มีค่าเพียงแค่การนำอิฐมาก่อ เอาปูนมาฉาบ แต่มันยังหมายรวมถึง ความทรงจำ ความรัก ความอบอุ่นที่คนกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันก่อไว้ แต่ความเจ็บปวดของผมมันยังน้อยกว่าความเจ็บปวดของคนที่นี่ คนที่ซึ่งไม่มีทางเลือกอย่างคนในสังคมเมืองเยี่ยงเรา


 


ในขณะที่คุณมักจะกังวลกับการถูกล็อคล้อรถยนต์ เวลาที่คุณนำรถไปจอดในที่ห้ามจอด กังวลว่าผับที่คุณไปเที่ยวประจำจะไม่มีที่ว่าง แต่สำหรับคนที่นี่พวกเขาต้องคอยกังวลว่าเมื่อไหร่จะมีเจ้าหน้าที่มาจับกุมพวกเขา ทั้งๆ ที่กำลังนั่งพูดคุยกันอยู่ในเขตบ้าน และหากินอยู่บนผืนดินของพวกเขา


 


พ่อชุมพล คำเบ้า วัย 69 ปี 1 ใน 5 ชาวบ้านห้วยกลทา ที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งความดำเนินคดี บอกเล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 คราวหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง นำเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมอาวุธ เข้ามาในหมู่บ้าน โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่าเพื่อรังวัดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งๆ ที่ทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการรังวัดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดงทับซ้อนที่ดินของชาวบ้าน โดยมีกำหนดการจะลงพื้นที่ในวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ว่า


 


"วันนั้นประมาณ 2 โมงเช้า (8 นาฬิกา) หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ได้นำเจ้าหน้าที่ประมาณ 20 คน พร้อมอาวุธ เข้ามาในหมู่บ้าน ในขณะที่ชาวบ้านกำลังนั่งประชุมเรื่องเตรียมการต้อนรับคณะกรรมการจากจังหวัดที่จะลงพื้นที่ในวันที่ 15


 


"พอเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาเราก็ตกใจ ก็ถามเขาว่ามาทำไม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ก็บอกว่าจะมารังวัดพื้นที่ เราก็บอกว่าจะมาทำยังงั้นได้ยังไง ทำไมไม่รอให้คณะกรรมการจังหวัดลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ทางหัวหน้าเขตบอกว่าถ้าไม่ให้เข้าไปวัดก็จะแจ้งจับ ชาวบ้านก็บอกว่าถ้าแจ้งจับต้องจับไปทั้งหมดหมู่บ้าน


 


"จากนั้นหัวหน้าเขตฯ ก็เดินออกไป ปล่อยให้ลูกน้องล้อมชาวบ้าน เด็กที่เห็นปืน ก็ร้องไห้กันกระจองอแง ข้าวก็ยังไม่ได้กิน จนกระทั่งเกือบบ่าย 2 หัวหน้าเขตฯ ก็กลับมาพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วเขาก็พูดคุยกัน พอสักประมาณ 4 โมง ทั้งหมดก็เดินทางกลับ


 


"หลังจากนั้น ประมาณเดือนหนึ่ง ก็มีหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านกลาง ให้พวกเรา 5 คนไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่ทางหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดงได้แจ้งความดำเนินคดีกับพวกเรา ในข้อหาร่วมกันยุยงส่งเสริมให้ชาวบ้านขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่


 


 "ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2548 ชาวบ้านห้วยกลทาที่รับจ้างหักข้าวโพดก็ถูกจับดำเนินคดี ในข้อหาบุกรุกเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า" พ่อชุมพลบอกเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงเศร้าเมื่อต้องพูดถึงอดีต ซึ่งขณะนี้คดีความได้อยู่ในขั้นของอัยการ


 


พี่ พงษ์ศักดิ์ ขวัญชอบ วัย 41 ปี ชาวบ้านห้วยหวาย แสดงความกังวลว่า "ตอนนี้ชาวบ้านก็ยังกังวลอยู่ เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีหมายจากตำรวจ เรียกตัวชาวบ้านเพิ่มซึ่งเท่าที่รู้น่าจะยังมีอยู่อีกประมาณ 20 คน"


 


คุณเห็นไหมว่า ในขณะที่คุณสามารถหลบเลี่ยงการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เวลาที่คุณเมาแล้วขับรถ เพราะคุณมีความรู้ทางด้านกฎหมาย แต่สำหรับคนที่นี่มันเป็นเรื่องที่ยากมากในการที่จะต้องตอบคำถามกับตนเองว่า พวกเขาทำผิดอะไร ถึงต้องถูกจับ เพียงแต่ว่าพวกเขาคือชาวบ้านผู้ซึ่งรักผืนดินที่เขาลงทุนลงแรงก่อร่างสร้างมันขึ้นมาเท่านั้นหรือ?


 


คืนนี้เป็นคืนวันศุกร์ ผมรู้ดีว่าตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร แต่ถึงรู้ไปก็เปล่าประโยชน์


 


ตอนนี้ดึกมากแล้ว ผมกำลังนั่งอยู่ข้างกองไฟ ที่คอยให้ความอบอุ่นในคืนวันที่เหน็บหนาวเช่นคืนนี้ เคยมีคนพูดให้ผมฟังว่า "ไฟอยู่ใกล้เกินไปมันก็ร้อน อยู่ห่างเกินไปมันก็หนาว" อืม...นั่นสิ แล้วระยะห่างระหว่างคุณกับผมขนาดไหนนะที่จะทำให้เราอบอุ่น


 


8 มกราคม 2549


 


สวัสดีตอนเช้า....เมื่อคืนที่นี่หนาวมากๆ แต่อากาศบริสุทธิ์ จนทำให้ผมรู้สึกสดชื่นเป็นพิเศษ วันนี้ที่หมู่บ้านมีการทำบุญเลี้ยงพระ และทอดผ้าป่า เพื่อนำเงินไปเป็นทุนในการดูแลพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน และเงินอีกส่วนหนึ่งจะสมทบทุนเพื่อให้ชาวบ้านผู้ถูกดำเนินคดีไว้ใช้ในชั้นศาล หลังจากทอดผ้าป่า เดี๋ยวเราก็จะเดินขึ้นเขาไปบวชป่ากัน


 


คุณคงสงสัยละสิว่าพิธีบวชป่าเขาทำกันยังไง...เท่าที่ผมสังเกตนะ ก็จะมีการนำผ้าเหลืองคล้ายจีวรพระ แต่ผืนใหญ่กว่า ไปพันที่ต้นไม้ซึ่งมีขนาดใหญ่ แล้วทางพระสงฆ์ก็จะสวดคาถา ซึ่งผมไม่รู้หรอกนะว่าเป็นคาถาบทไหน แต่พิธีกรรมดูศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว


 


เขาบวชป่าไปทำไมนะหรือ?....มันเป็นกุศโลบายที่จะทำให้คนรู้สึกว่าต่อไปนี้เราจะไปตัดไม้ หรือทำลายป่าไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันบาป ก็เหมือนเวลาถ้าหากใครบวชเป็นพระ คนทั่วไปก็จะไปทำร้ายไม่ได้ เพราะถือว่าบาปมาก แต่ไม่รู้เหมือนกันนะว่า มันจะช่วยได้จริงไหม เพราะทุกวันนี้ผมก็เห็นว่าพระก็ถูกฆ่าอยู่เสมอๆ


 


ตอนขาลงจากเขา ผมอดอมยิ้มไม่ได้ เมื่อได้ยินชาวบ้านพูดกันว่า "เขามาหาว่าเราเป็นคนทำลายป่าได้ยังไง ในเมื่อเราอยู่มา 20-30 ปี ป่าผืนนี้ก็ยังสมบูรณ์" มันก็จริงอย่างที่เขาว่านะ เพราะเท่าที่ผมเห็นสภาพผืนป่าแห่งนี้ก็ยังดูสมบูรณ์ทีเดียว แล้วก็ไม่แน่ใจเหมือนว่าระหว่างการให้ชาวบ้านอยู่รักษาป่าตามวิถีชีวิตที่เขาดำเนินอยู่ทุกวัน กับการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ตามแนวคิดของหน่วยงานราชการ หนทางไหนกันแน่ที่จะรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้ได้


 


ตอนนี้เจ้ายานยนต์สี่ล้อกำลังนำพาผมกลับกรุงเทพฯ ส่วนเรื่องราวของสถานที่ที่ผมจากมาจะเป็นเช่นไร อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ทำไมผมถึงรู้สึกว่ายิ่งระยะทางถึงกรุงเทพฯ หดสั้นลงเท่าไหร่ ผมกับคุณก็ยิ่งห่างไกลกันออกไปทุกที... ทุกทีก็ไม่รู้


 


หรืออาจเป็นเพราะว่าเราไม่เคยเข้าใจกันจริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net