Skip to main content
sharethis



ปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา


 


 


โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)


 


สืบเนื่องจากความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวหอมมะลิที่มีเสียงชื่อของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งทำได้เพียงปีละครั้ง เพราะสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง  ประกอบกับมีระบบชลประทานน้อย การทำนาการสร้างรายได้เสริมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนส่งเสริม ดังชุดโครงการ "การวิจัยบูรณาการแก้ปัญหาความยากจนโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินโดยปลูกไม้โตเร็ว"โดยความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 


ดร.นิคม แหลมสัก รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการอุตสาหกรรมไม้และเนื้อเยื่อ สกว. กล่าวถึงที่มาของแนวคิดการปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาว่า จากสถานการณ์การขาดแคลนไม้ใช้สอยจำนวนมาก ทำให้มีการลักลอบตัดไม้จากธรรมชาติ ทั้งยังต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ทางคณะวิจัยจึงได้ทำการศึกษาการปลูกไม้โตเร็ว(ยูคาลิปตัส) ในพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ โดยเลือกพื้นที่ศึกษาตัวอย่างในภาคตะวันออก เขตจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา มากว่า 2 ปีแล้วโดยได้ศึกษาวิจัยตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ , การเตรียมต้นกล้า และ เทคนิคการปลูก โดยมีเกษตรกรชาวนาสนใจเข้ามาร่วมในการทดลองครั้งด้วย ต่อมาได้เริ่มปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาเป็นรายได้เสริมกันเป็นจำนวนมาก


 


"โครงการวิจัยฯ ประสบความสำเร็จและเห็นผลชัดเจนทางภาคตะวันออก ทำให้กรมพัฒนาที่ดินและหน่วยงานทางภาคอีสานสนใจนำโครงการวิจัยฯนี้ ไปทดลองทำเป็นแปลงสาธิตการปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาพื้นที่รวม 7 ไร่ ที่บ้านร้านหญ้า ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ได้ศึกษา ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน พ.. 2548 ที่ผ่านมา" ดร.นิคม กล่าว


 


ทั้งนี้ แปลงสาธิตบ้านร้านหญ้า เริ่มทดลองปลูกไม้ยูคาลิปตัสจาก 870 ต้น ปัจจุบันได้ขยายเพิ่มขึ้นกว่า 1,400 ต้น รวมอายุไม้ที่ปลูกแล้วกว่า 8 เดือน และยังคงมีแนวโน้มการเจริญเติบโตค่อนข้างดีบนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศ


หากเกษตรกรปลูกทิ้งไว้เพียง 3 - 4 ปีก็สามารถตัดไม้ขายได้แล้ว คาดว่า จะสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกราได้ไม่น้อยกว่าแสนบาท ขณะที่เกษตรกรเองก็ยังคงทำนาและผลผลิตข้าวได้ตามปกติ


 


ดร.นิคม กล่าวอีกว่า สำหรับชุดโครงการวิจัยนี้ ประกอบด้วย 9 โครงการย่อย โดยนำไม้ยูคาลิปตัสซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจโตเร็วมาทำการทดลองปลูกบนคันนา และพื้นที่ว่างที่ไม่ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาก็ไม่พบปัญหาในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งบนดินและใต้ดินแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังช่วยให้ระบบนิเวศน์เกษตรในทุ่งกุลาร้องไห้ดีขึ้น เช่นปัญหาเรื่องลมหมุนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรบางชนิด แต่หลังจากปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้แล้ว ช่วยให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป ปัญหาดินแห้งแล้งก็กลับมาชุ่มชื่นขึ้น


 


"ประเทศไทยมีพื้นที่นาปลูกข้าวทั่วประเทศกว่า 60 ล้านไร่ มีคันนายาวร่วมกันถึง 12 ล้านกิโลเมตร แต่ส่วนใหญ่ถูกปล่อยไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ขณะที่พื้นที่นาในภาคอีสานมีถึง 33 ล้านไร่ ฉะนั้น การทำให้ชาวนาในภาคอีสานมีรายได้เสริมจากการปลูกไม้ยูคาลิปตัสเท่ากับช่วยชาวนาที่ยากจนที่สุดของประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีวันทำงานเพิ่มขึ้นในแต่ละปีนอกจากรอการปลูกข้าวที่ปีหนึ่งทำเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนได้อยู่กับครอบครัวไม่ต้องดิ้นรนออกไปหางานทำในพื้นที่อื่นหรือในเมืองใหญ่ ซึ่งก็จะเป็นการไปก่อปัญหาสังคมเมืองเพิ่มขึ้นอีก "


 


ดร.นิคม กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคอีสานจะมีการปลูกไม้ยูคาลิปตัสมาตั้งแต่ปี 2526 แต่เป็นการปลูกแบบตามมีตามเกิด การปลูกแบบที่มีหลักวิชาการเข้ามาช่วยจะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ 2-3 เท่า แต่เรื่องนี้ยังต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง


 


อย่างไรก็ตาม ประโยชน์จากไม้ยูคาลิปตัสที่นอกจากจะใช้ในภาคอุตสาหกรรมกระดาษ และก่อสร้างแล้ว ไม้ยูคาลิปตัสกำลังเป็นที่จับตาของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนข้ามชาติอีกด้วย โดย Mr. Micchael Khan Managing Member ในกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานและอสังหาริมทรัพย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า บริษัทมีความสนใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานกรีนดีเซล หรือ พลังงานจากธรรมชาติขึ้นในประเทศไทย ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 


สำหรับสาเหตุที่เลือกประเทศไทยนั้น Mr. Micchael Khan กล่าวว่า ไม้ยูคาลิปตัสเป็นไม้ที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตพลังงานจากธรรมชาติ เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว ซึ่งตนเองได้เดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4 แล้ว เพื่อมาสำรวจว่าปริมาณไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกบนคันนามีมากพอที่จะรองรับได้หรือไม่ พบว่าในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคอีสานของไทยมีการปลูกมาก จึงมั่นใจว่า จะมีวัตถุดิบมากพอที่จะเข้ามาลงทุน โดยบริษัทที่จะเข้ามาจัดตั้งในไทยครั้งนี้ เป็นการร่วมทุนกันระหว่างสหรัฐฯ กับแคนนาดา คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า ด้วยมูลค่าลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ พร้อมกับจะนำเทคโนโลยีในศตรวรรษที่ 21 ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้เข้ามาใช้ในการผลิตพลังงานจากไม้ยูคาลิปตันในไทยอีกด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net