Skip to main content
sharethis


โดย สุธิดา สุวรรณกันธา

นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


 


ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่มุ่งสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นในประเทศโดยเพ่งเล็งไปที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเติบโตของรายได้ประชาชาติเป็นด้านหลัก โดยให้ความสำคัญอย่างมากกับตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ที่เสมือนเป็นดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ว่าประเทศใดจะมีความแข็งแกร่งขนาดไหนเพียงใด


 


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็ยังคงผูกติดยึดโยงอยู่กับตัวเลข GDP และพยายามผลักดันทำให้ GDP ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีปัจจัยหลักที่เป็นตัวชี้วัดอยู่ที่การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน เป็นต้น หาก GDP เติบโตนั่นหมายความว่าเศรษฐกิจเฟื่องฟูหรืออยู่ในช่วงขาขึ้น แต่หาก GDP ลดเท่ากับว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย


 


เหมือนเช่นภาวะตอนนี้ที่เศรษฐกิจไทยถูกผลวิกฤติน้ำมัน ดอกเบี้ยขึ้น เศรษฐกิจโลกชะลอตัวโหมกระหน่ำและได้ฉุดเศรษฐกิจในปี 2549 ให้ร่วงราบ ส่งผลให้สภาพัฒน์ต้องปรับลดตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียง 4.6% การชะลอตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดล้วนนำมาซึ่ง "ความทุกข์" จากปัญหาหนี้สินที่เพิ่มทวีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะสังคมของเราหนักไปทางด้านบริโภคนิยม และเป็นโลกของการแข่งขัน ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า "ตัวเลข" ไม่ได้ทำให้คนเรามี "ความสุข" ได้เสมอไป


 


แน่นอนว่าความสุขเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนต้องการ แต่มีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ส่งผลทั้งบวกและลบต่อการได้มาซึ่งความสุขของคน ปัจจัยเหล่านั้นประกอบไปด้วย ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และบริบทอื่นๆ ที่คนแต่ละคนดำเนินชีวิตประจำวันเกี่ยวข้อง


 


ข้อมูลที่น่าสนใจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ได้ทำการรายงานดัชนีความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness Index ) ประจำเดือนพฤษภาคม กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจาก 20 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ แพร่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ หนองคาย ขอนแก่น สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจมีรายละเอียดของดัชนีวัดความสุขมวลรวมของประชาชนที่สังคมควรทราบหลายประการจากปัจจัยหลัก 10 ประการ ซึ่งผลสำรวจพบว่า


 


ปัจจัยที่ 1 ด้านสภาพแวดล้อม สาเหตุที่ฉุดความสุขคนไทยลงในด้านนี้คือ ความไม่สะดวกในการใช้โทรศัพท์พื้นฐานที่ยังไม่ครอบคลุมแต่ละครัวเรือนโดยพบว่ามีประมาณร้อยละ 30 ของครัวเรือนทั้งประเทศเท่านั้นที่มีโทรศัพท์บ้าน และปัญหาน้ำประปาบริการประชาชนไม่ทั่วถึง


 


ปัจจัยที่ 2 ด้านสภาพชุมชนที่พักอาศัย สาเหตุสำคัญที่ฉุดความสุขคนไทยลงจากระดับที่ควรจะเป็นคือ ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในชุมชน


 


ปัจจัยที่ 3 ด้านสภาวะเศรษฐกิจของตนเอง สาเหตุสำคัญที่ฉุดความสุขของคนไทยด้านสภาวะเศรษฐกิจคือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสินค้า และการไม่มีเงินเก็บออม


 


ปัจจัยที่ 4 ด้านการศึกษา สาเหตุหลักคือปัญหาคุณภาพบุคลากรทางการศึกษาและมาตรฐานการทดสอบ


 


ปัจจัยที่ 5 ด้านธรรมชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ มีความสุขกับความสวยงามตามธรรมชาติของประเทศ รองลงมาคือ สุขกับความหลากหลายทางธรรมชาติ สุขกับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ สุขกับความเพียงพอของธรรมชาติ


 


ปัจจัยที่ 6 ด้านการเมือง-รัฐบาล-องค์กรอิสระ ประชาชนเกินกว่าครึ่ง สุขกับการรับรู้ถึงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รองลงมาคือสุขกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง สำหรับคะแนนความสุขภาพรวมของคนไทยด้านการเมืองพบว่าอยู่ในด้านติดลบ สาเหตุสำคัญมาจากหลายปัจจัย เช่น ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ปัญหาจริยธรรม และความไม่ละอายแก่ใจที่วางตัวไม่เหมาะสม


 


ปัจจัยที่ 7 ด้านสุขภาพกาย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ สุขกับการบริการของรัฐด้านสาธารณสุข รองลงมาคือ มีความสุขกับความเพียงพอของอาหาร สุขกับเครื่องนุ่งห่ม สุขกับที่พักอาศัย สุขกับความแข็งแรงด้านร่างกาย สุขกับการมียารักษาโรคเพียงพอประจำบ้าน สำหรับคะแนนความสุขภาพรวมด้านสุขภาพพบว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี


 


ปัจจัยที่ 8 ด้านสุขภาพใจ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ สุขกับหลักศีลธรรม รองลงไปคือพึ่งพาหลักคำสอนทางศาสนา สุขกับความเอื้ออาทรทางสังคมที่ให้ผู้อื่น สุขกับความเอื้ออาทรทางสังคมที่ได้รับจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ประชาชนเกือบ 40% ที่ยังคงมีความเครียด


 


ปัจจัยที่ 9 ด้านวัฒนธรรม ประเพณี พบว่าประชาชนส่วนใหญ่สุขกับการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง รองลงไปคือ สุขกับโครงการพระราชดำริต่างๆ ของในหลวง สุขกับวัฒนธรรมประเพณีไทยโดยรวม สุขกับงานบุญ งานบวชต่างๆ และ สุขกับงานเทศกาลรื่นเริง ส่วนคะแนนความสุขภาพรวมด้านวัฒนธรรม ประเพณีไทยพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี


 


ปัจจัยที่ 10 ด้านกระบวนการยุติธรรม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่พอใจกับบทกฎหมายของไทย รองลงไปคือ พอใจกับศาลสถิตย์ยุติธรรม พอใจกับการทำงานของอัยการ พอใจการทำงานคุมประพฤติ พอใจราชทัณฑ์ พอใจการทำงานของตำรวจ และ พอใจการทำงานของทนายความ สำหรับคะแนนความสุขภาพรวมของคนไทยด้านกระบวนการยุติธรรมพบว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ สาเหตุหลักน่าจะมาจากการทำงานของทนายความ ตำรวจ และราชทัณฑ์ที่ฉุดความสุขของคนไทยด้านกระบวนการยุติธรรมให้ลดน้อยลง


 


สำหรับปัจจัยสำคัญอื่นๆ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ สุขกับการช่วยเหลือแบ่งบันกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ สุขกับภาพลักษณ์ของประเทศไทย สุขกับความรักความสามัคคีของคนในชาติ และเพียงร้อยละ 26.1 ที่สุขกับความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่น่าสังเกตคือเพียงร้อยละ 40.6 ที่คาดว่าจะมีความสุขจากการแข่งขันฟุตบอลโลก อย่างไรก็ตามคะแนนความสุขภาพรวมด้านสถานการณ์และปัจจัยอื่นๆ ของประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คือ +3 ปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่การช่วยเหลือแบ่งบันกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ และความรักความสามัคคีของคนในชาติขณะนี้


 


ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีโดยได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.59 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ ปัจจัยด้านวัฒนธรรมประเพณีของไทย พลังความจงรักภักดี "เรารักในหลวง" การช่วยเหลือแบ่งบันกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ และความรักความสามัคคีของคนในชาติ ในขณะที่ปัจจัยลบกระทบความสุขคนไทยคือ ปัจจัยด้านการเมือง ได้แก่ ปัญหาด้านจริยธรรมของนักการเมือง รัฐบาล และองค์กรอิสระ ปัญหาความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อนักการเมือง รัฐบาลและองค์กรอิสระ ความไม่โปร่งใสและความเคลือบแคลงสงสัยต่อนักการเมือง รัฐบาลและองค์กรอิสระ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ความพยายามแทรกแซงองค์กรอิสระและความไม่เป็นอิสระของสื่อมวลชน และการเลือกปฏิบัติของนักการเมือง รัฐบาล และองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตามมีปัจจัยด้านการเมืองเพียงสองปัจจัยเท่านั้นที่ประชาชนรู้สึกมีความสุขนั่นคือความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบอีกสองประการ คือปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้แก่ ภาระหนี้สิน ภาระการจับจ่ายใช้สอย ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิมและความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ


 


โดยรายละเอียดของตัวชี้วัดความสุขมวลรวมแสดงค่าทางสถิติชัดเจนว่า ถ้าสังคมไทยไม่มีปัจจัยบวกด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความจงรักภักดี และความรักความสามัคคีของคนในชาติแล้ว ความสุขมวลรวมของคนไทยจะตกอยู่ในสภาวะวิกฤติอย่างแน่นอน ดังนั้น ฝ่ายการเมือง-รัฐบาล-องค์กรอิสระ ควรจะใคร่ครวญถึงดัชนีชี้วัดความสุขและประโยชน์สุขของคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เมื่อฝ่ายการเมือง-รัฐบาล-องค์กรอิสระทราบและตระหนักถึงพลังแห่งความจงรักภักดีของประชาชนขณะนี้แล้วควรทราบถึงปัจจัยสำคัญๆ เช่นกัน นั่นคือปรัชญาแนวคิดการปกครองตามหลักทศพิธราชธรรม และโครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำริทุกโครงการที่ฝ่ายการเมือง-รัฐบาล ควรนำมาบูรณาการไว้ในนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป


 


หากพูดถึงดัชนีความสุขมวลรวมในประเทศ หรือ Gross National Happiness (GNH) หลายคนคงคิดถึงประเทศเล็กๆอย่าง "ภูฏาน" อย่างแน่นอน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มปรัชญาในการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" (Gross National Happiness) โดยเน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจมากกว่าวัดการพัฒนาด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติโดยมีหลักสำคัญ 4 ประการ คือ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 3) การส่งเสริมวัฒนธรรม และ 4) ธรรมรัฐ ซึ่งหลักการทั้ง 4 ได้ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายและแผนงานของรัฐบาลทุกด้าน ซึ่งทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ ได้ข้อสรุปจากบทเรียนความผิดพลาดในการพัฒนาของโลกในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าประเทศจำนวนมากเข้าใจว่าการพัฒนาคือ การแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุเพียงอย่างเดียวซึ่งประเทศเหล่านี้ได้แลกความสำเร็จ ในการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสูญเสียวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีทางธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าประชาชนไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง


 


คงยังไม่สายเกินไปหากเมืองไทยของเราจะหันมาให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมประเทศ (GNH) เป็นดัชนีชี้วัดความเจริญและการพัฒนาประเทศให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า การหลงใหลยึดติดอยู่กับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว คงไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net