Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดการเสวนาปฏิบัติการ "ทวงรัฐวิสาหกิจ-สัมปทานของชาติ! คืน" ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจกับผลกระทบของประชาชน" ที่โรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์

 


เผยประชาชน 92% ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


สมศักดิ์ โกศัยสุข เลขาธิการศูนย์ประสานงานกรรมกร กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะต้องแบ่งเงินที่ประชาชนจ่ายเป็นค่าดำเนินการให้กับผู้ถือหุ้น แทนที่จะเป็นของรัฐทั้งหมด นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่า ประชาชน 92% ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จึงเรียกร้องให้สหภาพแรงงานเป็นผู้นำในการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยผู้ใช้แรงงานอาจนัดกันหยุดงาน แต่จะไม่ใช้วิธีการตัดน้ำตัดไฟ เพื่อแสดงพลัง เช่นเดียวกับการหยุดงานของคนงานและนักศึกษาฝรั่งเศสกว่า 3 ล้านคนเพื่อคัดค้านการออกกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


 


ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 15 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เรียกร้องให้ประชาชนอย่าเลือกพรรคที่มีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


 


ชี้แปรรูปฯ ทำคุณภาพสินค้าแย่  


เดวิด บอยส์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พีเอสไอ กล่าวว่า จากการวิจัยประเมินผลกระทบการแปรรูป พบว่า บริษัทเอกชนมีค่าบริการแพงขึ้น พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ผลผลิตจากเอกชนแพงกว่าจากภาครัฐ เนื่องจากเอกชนต้องทำกำไรให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยต้องการกำไร 12-15% ต่อปี


 


นอกจากการพยายามเพิ่มกำไร ยังตัดรายจ่ายต่างๆ ลง ทำให้คุณภาพของการบริการย่ำแย่กว่าเดิม และท้ายที่สุด จะลดกำลังแรงงานลง โดยพบว่า การแปรรูปทั่วโลกมีการตัดกำลังแรงงานถึง 50% เลยทีเดียว


 


จวกสถาบันการเงินระหว่างประเทศบีบให้แปรรูปฯ


ด้านบอเบต คอเรลล์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สมาพันธ์แรงงานกิจการสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ (พีเอสไอ) กล่าวว่า จากการวิจัยการแปรรูปสาธารณูปโภคทั่วโลก พบว่า การแปรรูปที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เกิดจากเงื่อนไขของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลก ที่กำกับเงื่อนไขการกู้ว่า ถ้าจะกู้ต้องทำตามเงื่อนไข ก. ข. ค. ง. โดยไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานประกอบที่ชัดเจน โดยบอกว่า เอกชนทำได้ดีกว่าภาครัฐ ซึ่งไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง


 


ข้ออ้างในการแปรรูปอีกข้อ คือมักกล่าวหาว่า รัฐวิสาหกิจทำงานกึ่งผูกขาด จึงต้องเปิดตลาดให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน แต่กิจการบางประเภทเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติของการให้บริการ ไม่สามารถให้บริการควบคู่ไปได้ เช่น ประปา ไฟฟ้า ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น แม้เปิดตลาดก็จะมีช่องทางเดียว


 


นอกจากนี้ การบริการเหล่านี้ยังเป็นเพียงแค่การผ่านมือจากเป็นเจ้าของโดยประชาชน หรือของรัฐ กลายเป็นเจ้าของโดยภาคเอกชน เพราะไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ


 


ทั้งยังบอกว่า รัฐไม่โปร่งใส แต่ที่จริง เอกชนไม่โปร่งใสยิ่งกว่า และพบว่า มีการประมูลจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพราะฉะนั้น การอ้างเรื่องคอรัปชั่นกับการแปรรูป จึงไม่เป็นเหตุผลซึ่งกันละกัน ทั้งนี้ ในการแปรรูปแทบทุกที่พบว่าไม่โปร่งใสและไม่เปิดให้รับรู้ว่ามีสัญญาซ่อนเร้นอะไรบ้าง


 


นอกจากนี้ การแปรรูปทำให้ความสัมพันธ์เดิมระหว่างพลเมืองที่จ่ายภาษีให้รัฐบาล รัฐบาลรับผิดชอบทางสังคมกับประชาชนเปลี่ยนไป เดิมในการให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ เราในฐานะประชาชนยังสามารถใช้กระบวนการทางสังคมในการร้องทุกข์ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนมือทรัพย์สินไปอยู่ในภาคเอกชนแล้ว ความสัมพันธ์นี้ก็จะขาดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net