Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 3 ก.ค. 49       วันที่ 2 ส.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีเดินทางไปประเทศพม่า เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. แต่ไม่เปิดเผยถึงสาเหตุในการเดินทางไปครั้งนี้ นอกจากนี้หมายกำหนดวาระงานทำเนียบรัฐบาล ก็ไม่มีกำหนดการเยือนประเทศพม่าแต่อย่างอย่างใด


 


อย่างไรก็ตาม รักษาการ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นเครื่องไปประเทศพม่าว่ามีรัฐมนตรีร่วมเดินทาง ได้แก่นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยคณะจะเดินทางไปเมืองปิ่นมะนา ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ของพม่า


 


พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยอีกว่า จะไปเจรจาแบบพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายอยากจะเจอกันเพื่อปรึกษาหารือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เป็นการเจรจาระดับผู้นำโดยประเด็นการหารือจะครอบคลุมทุกเรื่อง


 


ด้าน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก มีกำหนดการจะลงไปบัญชาการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเวลา 07.00 น. ของวันที่ 2 ส.ค. และในช่วงเช้าวันเดียวกันจะต้องเข้าร่วมประชุมกับหน่วยเฉพาะกิจและกำลังพลในพื้นที่ เพื่อวางกรอบแนวทางในการทำงาน และจะบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาให้ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า (ศปก.ตร.ส่วนหน้า) แต่กำหนดการภารกิจทั้งหมดได้ถูกยกเลิกกะทันหัน เพราะต้องติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปประเทศพม่าอย่างเร่งด่วน


 


ในเวลาต่อมา มีรายงานระบุว่า การเดินทางเยือนสหภาพพม่าดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดการที่ผู้นำของไทยและพม่าได้หารือ และวางแผนไว้ล่วงหน้า ตามโอกาส และเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกร่วมกัน โดยก่อนออกเดินทาง พ.ต.ท.ทักษิณได้โทรศัพท์หารือกับประธานอาเซียน คือ ประธานาธิบดี Gloria Macopagai Aroyo ของฟิลิปินส์ เนื่องจากจะเป็นโอกาสที่พม่าและอาเซียน จะได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ต่อไป


 


ในการเยือนเมืองปิ่นมะนา ของประเทศพม่าครั้งนี้ รักษาการนายกรัฐมนตรีของไทยจะเป็นผู้นำคนแรกของอาเซียนที่เดินทางเยือนเมืองหลวงแห่งใหม่นี้


 


ส่วนวัตถุประสงค์สำคัญของการเยือนในครั้งนี้ คือการได้พบปะและหารือกับ พลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐสหภาพพม่า ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่างๆ ที่ได้มีการหารือกันไว้ให้มีความก้าวหน้า อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร และความร่วมมือด้านพลังงาน รวมถึงมุ่งกระชับความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีกำหนดการล่วงหน้า จะไปเยือนกัมพูชา เพื่อพบปะหารือกับผู้นำกัมพูชา ในวันที่ 10 ส.ค. นี้ด้วย


 


นายกิตติ วะสีนนท์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิเสธในการแสดงความเห็นกรณีที่รักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางเยือนประเทศพม่า เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา โดยกล่าวเพียงว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่มีรายละเอียดของกำหนดการเยือนครั้งนี้


 


อย่างไรก็ตามมีการสันนิษฐานกันว่า การเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในครั้งนี้ อาจเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารในสหภาพพม่า เมื่อปี 2547 ซึ่ง พล.อ.หม่อง เอ ผู้บัญชาการทหารบกของพม่า ได้ยึดอำนาจจาก พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ นายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่า พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ทุจริตคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง และรับสินบน ประกอบกับ พล.อ.หม่อง เอ ประกาศล้มหน่วยข่าวกรองทหารที่วางเครือข่ายทั่วประเทศ แล้วปรับให้ พล.ท.โซ วิน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ทำให้นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ


 


ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความข้องที่รักษาการนายกรัฐมนตรีบินไปพม่าเร่งด่วน โดยกล่าวว่า ไม่ทราบว่าไปทำอะไรที่พม่า ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ แต่คิดว่านายกฯน่าจะไปตรวจเยี่ยมน้ำท่วมและดูปัญหาภาคใต้เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด


 


นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางด่วนอย่างกะทันหันไปประเทศพม่า โดยไม่ได้แจ้งกำหนดการ และวัตถุประสงค์ในการเดินทางว่า เมื่อการไปครั้งนี้ไม่ได้เป็นในนามส่วนตัว ประชาชนก็มีสิทธิที่จะรู้วาระการไปเยือน การไม่แจ้งกำหนดการเท่ากับเป็นแบบอย่างของผู้นำแบบอนารยะ


 


นอกจากนี้ นายสุริยะใส ได้สันนิษฐานว่า การเดินทางไปครั้งนี้จะเป็นการเจรจาปมปัญหาทางธุรกิจที่ไม่ลงตัว เนื่องจากการยึดอำนาจในพม่า ส่งผลต่อการร่วมค้าระหว่าง บริษัทชินแซทเทิลไลท์ กับ บริษัทบากันไซเบอร์เทค ที่เป็นบริษัทโทรคมนาคมในพม่า ซึ่งมีลูกชายของ นายพลขิ่นยุนต์ ที่เพิ่งถูกยึดอำนาจ เป็นเจ้าของกิจการ จึงเป็นปมปัญหาที่สำคัญจน พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเดินทางไปเอง


เพราะบริษัทบากันเลือกโครงการดาวเทียมไทคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ ใช้พัฒนาระบบคมนาคมในพม่า


 


ตอนนี้ไอพีสตาร์ตกอยู่กับรัฐบาลสิงคโปร์แล้ว การซื้อขายหุ้นชินคอร์ปกับเทมาเส็คก็ยังอยู่ในระหว่างการชำระเงิน แสดงให้เห็นว่าการเดินทางครั้งนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ไปในนามนายหน้าของเทมาเส็ค เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน


 


นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รักษาการ ส.ว.นครราชสีมา อดีตประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา แสดงความแปลกใจที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปเจรจากับผู้นำเผด็จการทหารพม่าอย่างเร่งด่วน โดยไม่มีกำหนดการล่วงหน้า และเป็นลักษณะการเยือนแบบกะทันหัน ทำให้น่าสงสัยว่าจะเดินทางไปด้วยเหตุผลส่วนตัวแล้วพ่วงด้วยการเจรจาระหว่างประเทศนาย


 


เพราะตามปกติแล้วในการเดินทางไปต่างประเทศจะต้องแจ้งกำหนดการล่วงหน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมการและเตรียมหัวข้อในการเจรจา ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่า การเดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการถือว่าไม่เหมาะสม


 


"หรือพม่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นเผด็จการ เพราะก่อนหน้านี้ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็ได้ร่วมกันประณามพม่าและเราจะแสดงบทบาทอย่างไร" นายไกรศักดิ์ กล่าว


 


รักษาการ ส.ว.นครราชสีมา ตั้งข้อสงสัยอีกว่า การเดินทางไปครั้งนี้อาจเกี่ยวกับกับเงินกู้จำนวน 4,000 ล้านบาท ที่เคยอนุมัติให้กับรัฐบาลชุดที่แล้วก่อนมีการยึดอำนาจ และอีกเรื่องที่น่าสงสัย คือ อาจไปหารือเรื่องโครงการใหญ่ คือ การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่แม่น้ำสาละวิน ซึ่งจะต้องอพยพชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่หลายหมื่นคนออกจากพื้นที่ ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนกำลังประณาม


 


ในวันเดียวกันมีรายงานล่าสุดจากกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ตรวจพบแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.2 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 17.41 น. ศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือ 220 กิโลเมตร เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย และไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net