Skip to main content
sharethis

ช่วงนี้กระแสปฏิรูปสื่อที่เงียบหายไปนานถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง นี่น่าจะเป็นหลักหมายที่ดี เพราะสื่อมีส่วนสำคัญยิ่งต่อคุณภาพของระบอบประชาธิปไตย


 


เรื่องหลักๆ ในการปฏิรูปสื่อตอนนี้ไม่จำกัดวงเพียงมาตรา 40 หรือการตั้ง กสช. กทช. แต่ขยายไปถึงการผลักดันให้เกิด "สื่อสาธารณะ" โดยเฉพาะทีวีและวิทยุ ท่ามกลางสื่อพาณิชย์และสื่อของรัฐที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนานตราบจนปัจจุบัน


 


พลังของความต้องการเปลี่ยนแปลงปรากฏตัวชัดเจนขึ้นในวันที่การเมืองขั้วอำนาจเดี่ยวง่อนแง่นเต็มที และไอทีวีถูกขายให้สิงคโปร์ เกิดการเคลื่อนไหวทวงคืนไอทีวี เกิดแนวคิดแปรสื่อในมือกรมประชาสัมพันธ์เป็นสื่อสาธารณะ มีการทำวิจัยแนวทางที่เป็นไปได้ของทีวีสาธารณะในเมืองไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมทั้งมีการจัดเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากต่างประเทศอีกไม่น้อย


 


เวทีหนึ่งที่น่าสนใจจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ หรือ คปส. เพื่อนำเสนอตัวอย่างในต่างประเทศ


 


แปลกหน่อยที่ไม่ใช่ BBCจากลอนดอน NHKจากญี่ปุ่น PBSจากอเมริกา ฯลฯ แต่เป็นประสบการณ์ในประเทศไต้หวัน และเกาหลีใต้นี่เอง พวกเขาก็กำลังผลักดันเรื่องสื่อสาธารณะอยู่อย่างหนัก (มาตั้งนานแล้ว) และค่อนข้างจะมีความก้าวหน้าจนหลายคนแอบอิจฉา


 


เกาหลี เค้าไม่ได้มีแค่ K-POP


MJ.Kim ประธานองค์กรรณรงค์ด้านสื่อหรือ Mediact จากเกาหลีใต้ เล่าให้ฟังว่า ภาคประชาสังคมของเกาหลีใต้เริ่มเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการที่ควบคุมสื่อมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 โดยมีการเคลื่อนไหวหลากรูปแบบในหลายกลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตสื่อที่มุ่งเน้นการผลิตเนื้อหา "ทางเลือก" พวกเขาเริ่มต้นสร้างทางเลือกให้สังคมเกาหลีอย่างเป็นขบวนการราวกลางทศวรรษ 1990 โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มภาพยนตร์อิสระ และเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมอย่างเหนียวแน่น พวกเขาจะนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ในเกาหลีที่ถูกละเลยจากสื่อกระแสหลัก ผ่านทั้งเอกสาร ข่าว ภาพยนตร์ สารคดีฯลฯ


 


อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มผู้ชมที่จะคอยตรวจสอบรายการทีวี และวิพากษ์วิจารณ์สื่อกระแสหลักอย่างเอาจริงเอาจัง ตลอดจนปฏิเสธการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับทีวีซึ่งนำเสนอข่าวสารบิดเบือนจากความจริง กลุ่มต่อมาคือ สหภาพแรงงานในบริษัทผลิตสื่อทั้งหลายที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน เพราะเมื่อไรหยุดงานประท้วงกันละก็เป็นเรื่อง


 


และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวอย่างหลากหลาย มีอาวุธสำคัญคือ เทคโนโลยี พวกเขาต้องการให้อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ของประชาธิปไตย ตัวอย่างหลักๆ ที่น่าดูเห็นจะเป็นการสร้างข่าวสารทางเลือกในโลกไซเบอร์โดยฝีมือของคนทั่วๆ ไป หรือเป็นวารสารศาสตร์แนวใหม่ที่เรียกว่า citizen journalism 


 


แม้อินเตอร์เน็ตจะเป็นสื่อที่มีเสรีภาพมากเมื่อเทียบกับอย่างอื่น แต่ก็ยังต้องต่อสู้กับทั้งการเซ็นเซอร์ การอ้างประเด็นความมั่นคง ทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนความไฮเทคของเทคโนโลยีที่รัฐบาลเกาหลีสามารถรวมข้อมูลทุกอย่างไว้ในศูนย์ข้อมูล ซึ่งทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด


 


นี่คือการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการในทศวรรษ 1990 แต่มาถึงตอนนี้ Kim บอกว่าขบวนการประชาชนกำลังถูกท้าทายจากโจทย์ใหม่คือ แนวคิดเสรีนิยมใหม่ซึ่งมาพร้อมความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี มุ่งเน้นที่การแข่งขันเสรีและผลกำไรของบริษัท


 


อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาได้สร้างฐานที่เข้มแข็งพอสมควร โดยทีวีสาธารณะในเกาหลีนั้นก่อเกิดมานานพอสมควร โดยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเป็นส่วนใหญ่ เนื้อหามีทั้งส่วนที่เป็นบันเทิงและสาระ แต่ที่แน่ๆ เขาสามารถวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลได้ผ่านทีวีสาธารณะ เช่น ในช่วงที่จะมีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐก็มีการนำเสนอแง่มุมผลกระทบ ซึ่งทำให้ประชาชนตื่นตัวกับเรื่องนี้อย่างมาก


 


นอกจากนี้ในปี 1999 ก็มีการออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับสื่อที่ระบุให้แบ่งเวลาออกอากาศให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมผลิตรายการดีๆ ตรงความต้องการได้ทางเคเบิลทีวี รวมทั้งมีระบบการหักส่วนแบ่งกำไรของธุรกิจทีวีเอกชนมาสนับสนุนทีวีสาธารณะ แม้จะมีสัดส่วนเพียง 10% แต่ก็ทำให้ได้เงินสนับสนุนไม่น้อย


 


ไต้หวัน-ผลักดันผ่านพรรคการเมืองไปเลย


ส่วน ฟ่ง เจียน ซัน ศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์จากไต้หวัน กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อในประเทศตัวเองว่า ไต้หวันเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตั้งแต่ 1970-1990 โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตบทความทางวิชาการเกี่ยวกับแนวคิดการมีทีวีสาธารณะเป็นหลัก มุ่งเน้นการปลูกฝังหลักธรรมาภิบาลของวงการโทรทัศน์ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์และลงรายละเอียดการปฏิรูปจริงจังนั้นเริ่มราวกลางทศวรรษ 1980 มีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน 18 คนออกจดหมายเปิดผนึกเรื่องนี้ตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ โดยมีข้อเรียกร้องให้แบ่งค่าเช่าคลื่นความถี่มาเป็นทุนหลักสำหรับทีวีสาธารณะ รวมทั้งยกระดับแนวคิดการจัดเก็บเงินทีวีเคเบิลเข้ากองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนทีวีสาธารณะ


 


ต่อมาปี 1993 มีการผ่านกฎหมายว่าด้วยเคเบิลทีวีทำให้แนวคิดที่ว่านำสู่การปฏิบัติ ส่วนการจ่ายค่าเช่าคลื่นความถี่นั้น ร่างกฎหมายนี้ผ่านชั้นกรรมาธิการของรัฐสภา ซึ่งไปกระทบพรรคก๊กมินตั๋งที่เป็นพรรคใหญ่ในรัฐบาลและได้รับส่วนแบ่งผลกำไรจากโทรทัศน์ที่มีอยู่ 3 ช่องอย่างมาก จึงมีการยื้อยุดกันอยู่หลายคราจนในที่สุดกลุ่มนายทุนโทรทัศน์สามารถล็อบบี้ให้มีการแปรญัตติยกเลิกข้อกำหนดการหักส่วนแบ่งกำไร 10% ให้กับทีวีสาธารณะได้สำเร็จ


 


ปี 1995 พรรคหมินจิ้นตั๋ง หยิบเอาเรื่องนี้ทีวีสาธารณะเป็นนโยบายของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยต้องการให้รัฐถอยจากการควบคุมแต่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปเป็นเอกชน เมื่อการเลือกตั้งจบลงผู้บริหารกลับมุ่งเน้นไปที่การสร้างสถานีทีวีแห่งที่ 4 และเพิกถอนหลักการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ให้ทีวีสาธารณะ (อีกแล้ว) หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบไป


 


จนกระทั่งปี 200 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 นายเฉิน สุ่ย เปียน หยิบยกการปฏิรูปทีวีทั้ง 3 สถานีขึ้นมาอีกครั้ง โดยปรับปรุงในด้านเนื้อหา รวมทั้งความเป็นธรรมที่ต้องจ่ายค่าเช่าคลื่นความถี่ ขณะเดียวกันกับที่กลุ่มรณรงค์ด้านการปฏิรูปสื่อก็เริ่มต้นดำเนินงานอย่างคึกคักอีกครั้ง โดยมีการคัดค้านกระแสแปรรูปทีวีให้เป็นเอกชน 100% ที่กำลังส่งเสียงดังขึ้นทุกทีๆ อย่างหนัก มีการตระเวนแถลงข่าวตามมหาวิทยาลัย จัดสัมมนา และรณรงค์ในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาสื่อสารมวลชน


 


ปี 2002 ขบวนรณรงค์ประสานกับฝ่ายนิติบัญญัติที่สนับสนุนการปฏิรูปเพื่อค้านการแปรรูป จนปัจจุบัน พรบ.การแปรรูปทีวีเป็นเอกชนเริ่มมีเสียงแตกในชั้นกรรมาธิการ และมีการแปรญัตติโดยนำแนวคิดและทิศทางการแปรเป็นทีวีสาธารณะเข้าบรรจุในการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว


 


เส้นทางการต่อสู้ในสองประเทศล้วนลำบากยากเย็นไม่แพ้ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ แต่สิ่งที่อาจจะต่างออกไปสักหน่อยคือขบวนการเคลื่อนไหวที่ทำกันอย่างแข็งขันเชื่อมโยงหลายภาคส่วน ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก


 


เพื่อนจากเกาหลีใต้วิเคราะห์พลังภาคประชาชนเกาหลีใต้ว่า อาจเป็นเพราะกลุ่มต่างๆ ที่ตื่นตัวเรื่องนี้มีการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนมายาวนาน และมีการพบปะเชื่อมโยงทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เพื่อนจากไต้หวันยิ้มน้อยๆ ก่อนบอกว่าความตื่นตัวในการปฏิรูปสื่ออาจเป็นผลพวงความแตกต่างในความคิดทางการเมืองของสังคมไต้หวัน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนจีนกับฝ่ายต่อต้านจีน ทั้งสองฝ่ายต่อสู้ทางความคิดกันอย่างเข้มข้น และต่างก็เฝ้ามองสื่อกันตาเขม็งเพื่อตรวจสอบว่านำเสนอข้อมูลครบถ้วนรอบด้านหรือไม่


 


เทพชัย หย่อง-ประเทศไทยพลาดแล้วพลาดอีก !


ขณะที่เทพชัย หย่อง จากเครือเดอะเนชั่นของไทย กล่าวว่า การทำให้ประชาชนตื่นตัวต่อเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะทุกอย่าต้องเริ่มจากความต้องการของประชาชนเอง แต่ทุกวันนี้สังคมไทยรู้สึกว่าการปฏิรูปสื่อเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้การเคลื่อนไหวจำกัดเฉพาะกลุ่มคนเล็ก แม้แต่สื่อมวลชนเองก็ยังไม่ค่อยให้ความสนใจ ทำให้ไม่มีพลังมากพอ


 


ที่ผ่านมาสังคมไทยพลาดโอกาสในการสร้างทีวีสาธารณะหลายครั้ง หลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็ไม่เกิดขึ้น หลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 แม้จะมีการก่อตั้งไอทีวีแต่ก็ผิดพลาดที่คิดว่าการเกิดทีวีเสรีช่องเดียวจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ โดยไม่ได้แก้ที่โครงสร้างทั้งระบบ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ไอทีวีจะถูกการเมืองกลืนไป  มาถึงปัจจุบันมาตรา 40 ตามรัฐธรรมนูญก็ยังมีแรงผลักดันน้อยมาก การทิ้งช่วงนานจะยิ่งทำให้ฝ่ายการเมือง กลุ่มผลประโยชน์สร้างเกราะป้องกันตัวเองได้มากขึ้น


 


จอน อึ๊งภากรณ์-เคลียร์ข้อเสนอปฏิรูปสื่อ


จอน อึ๊งภากรณ์ รักษาการส.ว.กรุงเทพฯ และเครือข่ายกู้คืนสื่อเสรี กล่าวว่า ทั้งที่ประเทศไทยมีภาคประชาชนที่เข้มแข็งพอสมควรในหลายด้าน แต่จุดอ่อนของภาคประชาชนอยู่ที่ความสนใจเรื่องปฏิรูปสื่อมีไม่มากนัก และมักสนใจการมีสื่อที่เป็นตัวแทนของตัวเองมากกว่า


 


"ถามว่า ASTV ดีหรือไม่ ในยุคที่ทีวีส่วนใหญ่สะท้อนมุมของผู้มีอำนาจเผด็จการ การมีมุมตรงกันข้ามเป็นเรื่องดี แต่ทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และมันยังไม่มีพื้นที่ให้กับส่วนอื่นๆ ที่เห็นต่างจากนี้อีกด้วย ยังไงก็ตาม การปฏิรูปสื่อเป็นเรื่องโพสต์ทักษิณ ยุคนี้ยังเกิดไม่ได้ แต่ยุคหลังทักษิณก็จะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน" จอนกล่าว


 


การปฏิรูปสื่อ ต้องมุ่งสร้างสื่อที่รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน โดย 1. ต้องมีการมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตย สามารถให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารทุกด้านเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ ซึ่งในอนาคตควรทำควบคู่ไปกับการลงประชามติในนโยบายสำคัญๆ 2.ต้องทำหน้าที่ให้การศึกษาประชาชน ขณะนี้สื่อเต็มไปด้วยความบันเทิง ทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้น้อยทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ฯลฯ


 


ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปสื่อที่ผ่านมาคือรัฐเป็นเจ้าของสื่อทุกชนิด ทำให้ไม่เกิดความหลากหลาย รายการต่างๆ ก็สามารถถูกปิดได้โดยง่าย  นอกจากนี้ยังมีปัญหาการครอบงำของกลุ่มธุรกิจใหญ่


 


จอนกล่าวถึงสิ่งที่ภาคประชาชนต้องเคลื่อนว่า มี 3 เรื่องใหญ่คือ 1. ต้องเคลื่อนไหวไปสู่การทำลายการผูกขาดทั้งหมด อย่าจำกัดให้มีสถานีโทรทัศน์ วิทยุเพียงเท่านี้ ควรมีมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยแบ่งสรรในส่วนที่มีทรัพยากรจำกัดให้ภาคธุรกิจ ภาคสาธารณะ และภาคชุมชน ชุมชนในที่นี้ไม่เฉพาะความหมายทางภูมิศาสตร์ แต่หมายถึงกลุ่มต่างๆ เช่น ชุมชนชาวพุทธ ชุมชนชาวมุสลิม สหภาพแรงงาน เกษตรกร ฯลฯ ส่วนสื่อที่ควรยกเลิกไปคือ สื่อภาครัฐ


 


2.คณะกรรมการที่ดูแลจัดสรรคลื่นความถี่ต้องหลากหลาย อย่างไรก็ตาม หากต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของสมาชิกรัฐสภาก็จะเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ดังนั้น ต้องพยายามติดโครงสร้างใหม่และอาจต้องมีองค์กรสื่อสาธารณะมากกว่า 1 แห่งเพื่อให้เกิดการแข่งขัน


 


3. ต้องมีโครงสร้างที่หนุนเสริมการผลิตรายการคุณภาพ ในหลายประเทศมีหน่วยงานโดยเฉพาะ เช่น Art Council ส่วนเรื่องงบประมาณนั้นค่อนข้างเห็นด้วยกับ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ที่เคยเสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมรวมกับค่าไฟ เพราะหากเก็บเป็นค่าธรรมเนียมของทีวีสาธารณะโดยเฉพาะ สังคมไทยอาจจะยังไม่พร้อมจ่าย และการแบ่งสรรการจ่ายให้ยุติธรรมระหว่างคนรวยคนจนก็ทำได้ยาก ส่วนงบประมาณแผ่นดินนั้นควรเป็นตัวเสริม และเป็นไปได้ไม่ควรมีโฆษณา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net