Skip to main content
sharethis


 


รศ.วรเจตน์ ภาตีรัตน์ 


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


รศ.วรเจตน์ ภาตีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีสัมมนาเรื่อง "การปฏิรูปการเมืองของภาคประชาชน: จะปฏิรูปการเมืองอย่างไรให้กินได้" เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2549 ณ ห้องประชุมศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้อธิบายให้เห็นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเริ่มต้นว่า เมื่อมีปัญหาติดขัดขั้นตอนไหน อำนาจจะกลับไปสู่ คมช.ทันที


 


......................................


 


ประเด็นที่อยากจะพูด คือ เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่าเขากำหนดเรื่องการทำรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร แล้วก็ผมคาดหมายอะไรเอาไว้ ซึ่งท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องเชื่อผม เพราะว่าเราก็ยังมองไม่เห็นข้างหน้า แต่เหล่านี้คือการพยากรณ์ผมก็อาจจะพยากรณ์ผิดพลาดได้ และผมก็อาจจะมีอคติส่วนตัวของผมอยู่ด้วย แต่อย่างไรก็ตามผมจะลองอธิบายดูว่ามันเป็นยังไง


 


ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 หลายท่านคงทราบแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดวิธีการในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเบื้องต้นเราพูดกันก็คือว่า เขาจะให้มีสมัชชาแห่งชาติ วิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญถาวรซึ่งอาจจะเป็นปี 2550 กำหนดให้มีสมัชชาแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จำนวนไม่เกิด 2,000 คน


 


ปัญหาแรกเลยของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็คือว่า 2,000 คนนี่จะเอามาจากไหน เดี๋ยวเราคงได้พูดกัน ทีนี้ 2,000 คนเมื่อได้มาแล้วเขาให้ 2,000 คนเลือกกันเองให้เหลือ 200 คนโดยการลงคะแนน ใครได้คะแนนมากสุดในลำดับที่ 1-200 ก็จะได้ในชั้นนี้ ซึ่งตัวคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไม่ได้มาเกี่ยวข้องในส่วนนี้


 


เมื่อได้ 200 คนมาซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 7 วัน หมายถึงว่าเมื่อได้ 2,000 คนแล้วก็จะประชุม ซึ่งคุณต้องเลือกให้ได้ 200 คนภายใน 7 วัน คำถามคือ หากภายใน 7 วันคุณยังเลือกไม่ได้ 200 คนแล้วจะทำยังไง คำตอบคือ 2,000 คนนั้นนี้จะสลายตัวไป เรียกง่ายๆ คือยุบสมัชชาแห่งชาติ เมื่อยุบแล้วเขาให้อำนาจ คมช.ไปเลือก 100 คนเลยโดยตรง แปลว่าถ้าเกิด 2,000 ทะเลาะกัน ถ้าไม่ได้ 200 เขาก็ไม่สนใจ คมช.ไปหามา 100 คนเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง


 


ทีนี้หากเป็นระบบปกติ 2,000 คนเลือกมาได้ 200 คนแล้ว ตัว คมช.เขาจะมาคัดจาก 200 คนด้วยตัวเขาเองให้เหลือ 100 คน ซึ่ง 100 คนนี้จะเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น 100 คนก็จะไปเลือกคนซึ่งมาเป็นกรรมาธิการยกร่าง 25 คน ซึ่งอาจจะเอามาจาก 100 คนก็ได้ หรือเอาจากคนอื่นก็ได้ แต่โดยปกติเขาเอาจาก 100 คนคัดเลือกมา 25 คน แล้วก็ คมช.ไปเอาคนนอกใครก็ได้อีก 10 คนเข้ามารวมเป็น 35 คน ซึ่งจะเป็นคนทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้กับพวกเรา


 


ทั้ง 35 คนจะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็จะส่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน แล้วก็จะมีการแปรญัตติ มีกระบวนการจนได้รัฐธรรมนูญมา เมื่อได้รัฐธรรมนูญมาแล้ว เขาก็จะเอาให้ประชาชนลงประชามติ หมายถึงพวกเราก็ต้องไปโหวตว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เขาร่างมาตกลงเราจะเอาไหม ถ้าเกิดว่าโหวตเสียงส่วนใหญ่ผ่านประชามติ ซึ่งไม่ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ ไม่ได้บอกว่าจะต้องได้ประชามติไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรืออะไรแบบเลือกตั้งที่เป็นปัญหาคราวก่อนนี่ไม่ใช่นะ ก็คือถ้าเกิดว่าไปลงคะแนนเสียงโหวตแค่ 10 ล้านคน แล้วเสียงข้างมากบอกให้ผ่านก็คือถือว่าผ่าน ถ้าเกิดว่าไม่ผ่านอันนี้ล่ะยุ่ง


 


สมมุติว่าร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ประชาชนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีมาตรฐานต่ำกว่าปี 2540 อีกมันหมกเม็ด มันย้อนยุค แล้วสมมุติมันไม่ผ่านประชามติ


 


ผลก็คือ เขาให้อำนาจคมช.ประชุมกับคณะรัฐมนตรี แล้วให้ทั้ง 2 ส่วน สามารถที่จะไปหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งก็ได้ที่เคยประกาศใช้มาแล้ว 16 ฉบับ ไปเอาฉบับไหนมาก็ได้ แล้วมาปรับปรุงตามที่เขาเห็นสมควรแล้วก็ให้ประกาศเป็นรัฐธรรมนูญไปเลย


 


เพราะฉะนั้น แสดงว่า ตอนที่ท่านไปโหวตประชามตินี้ ผมเรียนว่าในความเห็นผมเนี่ยประชาชนถูกมัดมือชกอยู่ด้วย คือท่านต้องคิดเอาว่า ถ้าท่านไม่เอารัฐธรรมนูญที่เขาร่างมา มันก็มีความเสี่ยงว่า คมช.กับคณะรัฐมนตรีเขาสามารถไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาก็ได้ แล้วปรับปรุงแก้ไขยังไงก็ได้ แล้วก็ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญเลย


 


ดังนั้น โดยภาพรวมก็คือว่า กระบวนการในการทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พูดง่ายๆ เลยคือ อยู่ในมือของ คมช.เป็นหลัก ขั้นตอนที่ประชาชนจะมีส่วนเข้าไปร่วมได้นั้นก็อาจจะเป็นแค่ขั้นตอนแรก ก็คือ ขั้นตอนของสมัชชาว่าในนี้จะมีใครที่ได้เข้าไปอยู่ในสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน แต่มันก็อาจมีปัญหาตอนโหวตกันเอง เพราะว่าตัวกฎเกณฑ์ของการโหวตกันมันไม่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ


 


ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า แล้วจะโหวตกันยังไง จะใช้วิธีการแบ่งกลุ่มโหวต หรือว่าจะโหวตได้ทุกคน มันจะมีระบบการโหวดยังไงเพื่อให้จาก 2,000 เหลือ 200 นี่อาจจะเป็นปัญหา แล้วถ้าเกิดตกลงกันไม่ได้อย่างที่ผมบอก มันก็เข้าทาง คมช.เขาก็เลือกมา 100 คน สรุปง่ายๆ คือ กระบวนการทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถ้าเกิดมีปัญหาในขั้นตอนใด อำนาจจะกลับไปสู่ คมช.ทั้งหมด


 


พอดูจากตรงนี้แล้ว ผมมีความเห็นว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะใช้ในปีหน้า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ประกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในลักษณะที่ชัดเจนที่ควรจะเป็น หรือเท่าที่ควรจะเป็น มันมีคำถามอีกว่า สมมุติเราไม่ชอบแบบนี้ เพราะระบบนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่มีส่วนร่วมของประชาชนเลยท่านจะทำยังไง ไม่เอาได้มั้ย เปลี่ยนเป็นแบบไม่ได้เลือกแบบ 2,000 คนได้ไหม แต่เป็นระบบเลือกตั้งจากท้องถิ่นไป หรืออะไรต่างๆได้มั้ย เพราะกกต.ก็มีแล้ว จะจัดการเลือกตั้งได้รึเปล่า หรืออาจบอกว่าให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเลย แล้วก็ให้มีรัฐบาลใหม่ แล้วก็ให้เขาค่อยมาแก้รัฐธรรมนูญ อย่างนี้ทำได้รึเปล่า คำตอบก็คือ ทำไม่ได้


 


ผมอาจจะไม่พอใจรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ แต่ทำไม่ได้โดยกลไก เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ตัวมันเอง คือไม่มีระบบการแก้ไขเพิ่มเติม จะทำได้อีกอย่างคือมีคณะรัฐประหารอันใหม่มาฉีกรัฐธรรมนูญชั่วคราว แล้วก็ทำแบบใหม่ขึ้นมา


 


อันนี้มันต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้าเราไม่เห็นด้วย ไม่พอใจรัฐธรรมนูญมันมีกระบวนการแก้ไขตัวมันเองได้ มันเปิดช่องให้แก้ไขตัวมันเองได้ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีกลไกแก้ไขตัวเอง มันต้องว่าไปตามนี้ และหากสังเกตเห็นจากที่ผมเล่าคือว่า โดยระบบเขาพยายามทำให้เมื่อมันมีปัญหา เมื่อไรอำนาจกลับไปสู่ คมช. มีปัญหาขั้นตอนไหน อำนาจกลับไปสู่ คมช. เพื่อให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมันเดินไปได้ อันนี้คือลักษณะของรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราวปี 2549


 


ถ้าให้ผมคาดหมาย คือถ้าเกิดท่านเปรียบเทียบตอนทำรัฐธรรมนูญปี 2540 มันมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ เพราะว่าตอนรุ่นปี 2540 นั้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญปี 2534 มาปี 2540 มันไม่ได้เปลี่ยนผ่านโดยการทำรัฐประหาร แต่มันเปลี่ยนผ่านโดยการกดดันทางการเมือง ประกอบกับตอนนั้นมันมีวิกฤตเศรษฐกิจ มันมีเสียงเรียกร้อง ซึ่งเสียงเรียกร้องปฏิรูปการเมืองมันมีก่อนหน้านั้น ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 35


 


เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญปี 40 มันถูกร่างขึ้นโดยบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย มีการเลือก สสร.จากจังหวัดต่างๆ แม้จะมีปัญหาแต่เราได้รัฐธรรมนูญซึ่งคนมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก


 


ดังนั้นโดยระบบแล้ว ตอนทำรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังดีกว่าตอนนี้ ในความเห็นส่วนตัวผม ดีกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 เพราะอย่างน้อย เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากกว่า และก็อำนาจมันไม่ไปกระจุกตัวอยู่ที่คมช.หรือไปกระจุกตัวอยู่ที่ทหาร อันนี้ก็เลยอาจเป็นความคาดหมายว่ามันอาจจะมีเนื้อหาบางส่วน โดยเฉพาะการเมืองของพวกนักการเมืองเองที่อาจจะถอยหลังกลับไปก่อนปี 2540 ซึ่งเรื่องนี้คาดหมายจากลักษณะของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ


 


ผมหวังว่า การคาดหมายผมจะผิด คือปกติเวลาเราคาดหมายเราหวังว่าการคาดหมายของเราจะถูก เราจะได้เป็นคนที่บอกว่าเราพูดไว้แล้วว่ามันจะเป็นอย่างนั้น ถูกต้องอย่างที่เราพูด แต่คราวนี้ ผมหวังว่าการคาดหมายของผมจะผิด เพราะถ้าการคาดหมายของผมผิด แปลว่าเราน่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีขึ้น ถ้าการคาดหมายของผมถูกก็แปลว่าเราน่าจะได้รัฐธรรมนูญที่มันแย่ลง เพราะงั้นก็หวังว่าการคาดหมายของผมมันไม่น่าจะถูกต้อง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net