Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา : รายงาน


 


 


 


ในเวทีสัมมนา "แม่น้ำโขง-สาละวิน" ผู้คน ผืนน้ำ และสุวรรณภูมิของอุษาคเนย์ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นทรัล ดวงตะวัน จ.เชียงใหม่ "รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล" นักวิชาการจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยายเรื่อง "การขนย้ายแรงงานข้ามแดนในอุษาคเนย์" ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ "ประชาไท" จึงขอนำมาเสนอโดยละเอียด...


 


0 0  0 0 0 0 0


 


เรื่องการขนย้ายแรงงานข้ามแดน อยากจะเริ่มต้นว่า จริงๆ แล้ว เรื่องการขนย้ายมนุษย์เพื่อนำไปใช้แรงงาน นั้นเกิดขึ้นทุกสมัยในประวัติศาสตร์มนุษย์ มีคำถามว่า ถ้าเราใช้คำว่าคนถูกขนหรือถูกนำไปใช้ ก็แสดงว่าเขาไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง หมายถึงว่าเขาเป็นวัตถุ จะถูกกระทำอย่างไรก็ได้ เป็นอย่างนั้นหรือไม่ เราอาจจะคิดไปในประเด็นต่างๆ


           


เพราะฉะนั้นแล้ว คำว่า "การขนย้ายแรงงาน" มันค่อนข้างแสดงว่า มนุษย์มีลักษณะที่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย มีลักษณะยอมจำนนในสถานการณ์ ดิฉันอยากจะเริ่มต้นจากเรื่องรูปแบบการย้ายถิ่นข้ามชาติ เพราะโจทย์ของเขา คือ "การขนย้ายแรงงานข้ามแดนในอุษาคเนย์"


 


ข้ามแดนในที่นี้คือ "รัฐชาติ" ที่ต้องมีพรมแดน เพราะฉะนั้นจึงเป็นการย้ายแรงงานข้ามชาติ และเราอาจจะแบ่งรูปแบบคร่าวๆ ได้ว่าเป็นเรื่องของการสมัครใจและเรื่องของการบังคับ แค่คำ 2 คำนี้ ในเชิงของปัญหาจริงๆ แล้ว มันตัดสินยากว่าคนๆ หนึ่งสมัครใจหรือถูกบังคับ เนื่องจากว่ามีบริบททางวัฒนธรรม ทางความเชื่อ ทางจารีตประเพณีรวมทั้งสถานการณ์ในขณะนั้นที่เขาเป็นอยู่ ซึ่งทำให้เขาต้องไปทำอย่างโน้น ต้องไปทำอย่างนี้ ถูกขนย้ายไปหรือตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้าแรงงาน เราจึงพูดยากว่า เขาสมัครใจหรือถูกบังคับ


 


ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ความยากจนมิใช่สาเหตุหลัก


แต่ถ้าเอาแบบกว้างๆ ให้เกิดความขาวและดำ คือคำว่า สมัครใจในเชิงทฤษฎีแล้ว ความสมัครใจในการที่จะถูกย้ายไปใช้แรงงานในประเทศต่างๆ ก็มักจะมาจากความยากจน แต่ความยากจนไม่ใช่สาเหตุหลัก


 


ท่านอาจจะคิดว่า ความยากจนเป็นสาเหตุหลัก แต่ในฐานะที่ทำงานด้านนี้มาตลอดเวลา คนซึ่งมีโอกาสมากกว่าคนอื่นต่างหาก จะในหมู่บ้านก็ตาม ในบ้านก็ตาม เป็นผู้ซึ่งจะย้ายออกไปก่อน เพราะฉะนั้นแล้ว"การบริหารโอกาสของชีวิต เป็นสาเหตุสำคัญ ไม่ใช่ความยากจน"


 


จริงๆ มันมีทฤษฎี มันมีผลการศึกษาหลายประเทศที่จะพิสูจน์ว่า คนที่จนที่สุดมักจะไม่ได้ไปไหน มักจะอยู่กับบ้าน มักจะอยู่กับที่ แต่ว่าคนซึ่งดีกว่าคนอื่นหน่อย มักจะเป็นผู้ย้ายไปก่อน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเป็นแรงงานย้ายถิ่นถูกกฎหมาย เป็นสมาชิกของผู้ย้าย เป็นแรงงานย้ายถิ่นลักลอบเข้าเมือง หรือเป็นแรงงานเข้าเมืองแบบไปเช้าเย็นกลับ ที่ราชบุรีก็ดี ที่เชียงรายก็ดี เราจะเห็นภาพของแรงงานไปเช้าเย็นกลับที่มาจากประเทศพม่า ทางลาวก็พอจะมีบ้าง หรือแรงงานย้ายถิ่นตามฤดูกาล แล้วก็ผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้าแรงงาน ซึ่งก็จะเป็นประเด็นที่จะพูด


 


ในกรณีที่ถูกบังคับ เกิดจากอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เกิดจาก "ความขัดแย้งภายในประเทศ" ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง การถูกขับไล่ แล้วก็การโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งทำให้เกิด "ผู้ลี้ภัย" ซึ่งจะเรียกผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจก็ได้ หรือว่าเป็นผู้ลี้ภัยในทางการเมืองก็ได้


 


ในภาษาอังกฤษจะเรียกคำ 2 คำในความหมายที่แตกต่างกัน แต่ในภาษาไทยเขาจะใช้เป็นคำเดียวกัน แล้วก็เป็นผู้ย้ายที่ไม่ปกติ ขอเพิ่มเติมตรงนี้ว่าไม่ปกตินี้มาจากภาษาอังกฤษคือ irregular migration คือการย้ายถิ่นที่ไม่ปกติ มาจากความหมายว่า การย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสารการเดินทาง หรือการย้ายถิ่นที่ไปละเมิดข้อตกลงในประเทศปลายทาง


 


พอพูดว่า พวกนี้เป็นการย้ายถิ่นผิดกฎหมาย เป็นการย้ายถิ่นที่ไปละเมิดข้อตกลง มีลักษณะคล้ายๆ ว่าเราไปตีตรา ก็มีความพยายามขององค์การสหประชาชาติที่จะเรียกคนกลุ่มนี้แบบไม่ตีตรา คือไม่พยายามจะบอกว่า ถูกหรือว่าผิด ก็ใช้คำว่า irregular migration พอเราแปลเป็นภาษาไทยคือ การย้ายถิ่นที่ไม่ปกติ ก็คือคำแปลของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก็ยังตีตราอยู่ดี เพราะอะไรที่มันไม่ปกติ มันอยู่ได้ ไม่ค่อยดีเท่าไร มันถึงไม่ปกติ เสร็จแล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะตกเป็นเหยื่อของการค้าแรงงาน นี่คือภาพทั่วไป


 


การขนย้ายแรงงานในบริบททางการเมือง "เป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา"


ภาพถัดมา "การขนย้ายแรงงานกับบริบททางการเมืองและการค้าระดับโลก" อย่างที่เรียนว่า เรื่องการขนย้ายแรงงานนี้ เป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ถ้าเราจะแบ่งยุคให้เห็น เรื่องของการขนย้ายแรงงาน


 


เราอาจจะแบ่งยุคออกได้เป็น 4 ยุค ยุคแรก คือ "ยุคก่อนล่าอาณานิคม" เป็นยุคซึ่งเกิดการแสวงหาแผ่นดินใหม่สำหรับที่จะนำเอาคนบางส่วนออกไปจากประเทศของตนเอง ส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นจากรัฐในทวีปยุโรปหาแผ่นดินใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การหาแผ่นดินใหม่นี้ ทำให้เกิดประเทศใหม่อย่างน้อย 4 ประเทศ คือประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้ง 4 ประเทศนี้ คนส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นผู้ปกครองประเทศนั้นๆ คือจริงๆ แล้วเป็นคนย้ายมาแทบทั้งสิ้น


 


อย่างเช่นที่ ออสเตรเลีย ก็เป็นที่ๆ ประเทศอังกฤษ เอาคนติดคุกมาหาที่ปล่อย เหมือนครั้งหนึ่งที่เราเอาคนคุกไปปล่อยตะรุเตา สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งน่าสนใจ และมันยังเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ก็คือผู้ซึ่งย้ายเข้าไปแล้วไปมีอำนาจเหนือ ไปครอบงำและกดขี่พลเมืองดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เราเรียกว่าอินเดียนแดง อบอรีจินิส หรือ เมารี ดังนั้นมันจึงทำให้เกิดนโยบายในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลียยุคหนึ่งมีนโยบาย White Policy คือกีดกันคนผิวสีอื่น ไม่ให้เข้ามาในประเทศตัวเอง


 


ยุคถัดมา คือ "ยุคล่าอาณานิคม" คือประเทศที่รวยหรือประเทศทางตะวันตก ซึ่งบางครั้งเรียกว่า ประเทศโลกที่ 1 ก็ไปล่าอาณานิคมจากประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ


 


การล่าอาณานิคมและเข้าไปครอบงำนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน ก็คือการขนย้ายคนจากประเทศอาณานิคมเข้าไปในประเทศจักรวรรดินิยม ยิ่งไปกว่านั้น บางประเทศขนย้ายแรงงานจากประเทศหนึ่งไปใส่ไว้ในอีกประเทศหนึ่ง


 


ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฟิจิ เป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ขนคนอินเดียเข้าไปอยู่ในฟิจิ จนประชากรในฟิจิมีคนอินเดียเกือบห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วมีอยู่ยุคหนึ่งสักประมาณ 10 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งมีเชื้อชาติอินเดีย ก็เกิดการปฏิวัตินองเลือด เพราะคนฟิจิเองเขากลัวว่า หรือเขามีความรู้สึกว่า พวกนี้ยังไม่ใช่คนฟิจิแท้จริง


 


ปัญหาการย้ายคนในอดีต ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากประเทศจักรวรรดินิยม


เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นเรื่องของการขนย้ายคน โดยอำนาจทางการเมืองในอดีต ปัญหาพวกนี้เป็นปัญหาที่ประเทศจักรวรรดินิยม ไม่ว่า อังกฤษ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอีกหลายๆ ประเทศ ทิ้งไว้บนโลกนี้ ไม่ว่าการเกิดประเทศอิสราเอล แล้วไม่มีประเทศปาเลสไตน์  ก็ทำให้คนปาเลสไตน์กลายเป็นคนไร้รัฐ


 


ถ้าเราศึกษาทางประวัติศาสตร์แล้ว เราจะเห็นว่า ตัวบริบทของแต่ละยุคสมัย มันทำให้เกิดการขนย้ายคนแตกต่างกันไป แล้วในช่วงก่อนการล่าอาณานิคม ที่ทำให้เกิดประเทศใหม่อย่างที่พูดไปแล้ว เขามีการขนย้ายแรงงานผิวดำจากแอฟริกาไปสหรัฐอเมริกา ก็เป็นการขนย้ายไปทำเป็นแรงงานเหมือนกัน


 


 


ยุคเสื่อมการล่าอาณานิคม สภาวะขาดแคลนแรงงานในยุโรป


หลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ถือว่าเป็น "ยุคเสื่อมของการล่าอาณานิคม" จักรวรรดินิยมเองก็ต้องคายอำนาจของตัวเองที่ไปปกครองประเทศอาณานิคมไว้ให้เขาเป็นอิสระ สิ่งที่เกิดขึ้น คือเกิดสภาวะขาดแคลนแรงงานในประเทศยุโรปหลายประเทศ ทำให้เกิดนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างชาติเป็น base worker ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เช่น ในเยอรมนี ซึ่งมีคนโปแลนด์เข้าไปทำงานเยอะ หรือว่าในฝรั่งเศสซึ่งมีคนอัลบาเนียนเข้าไปทำงาน ก็เกิดความยุ่งยากในการที่จะกลืนกลายคนพวกนี้ คือความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่เจ้าของประเทศมีความรู้สึกว่า คนพวกนี้ไม่ใช่คนของเขา มันก็ทำให้เกิดปัญหาในการปกครองประเทศ ก็เป็นภาพที่เราเห็นกันอยู่


 


ยุคโลกาภิวัตน์ ย้ายถิ่นข้ามชาติระดับภูมิภาคทะลัก


ยุคปัจจุบันนับตั้งแต่การจัดระเบียบโลกใหม่ ซึ่งถือว่าเป็น "ยุคโลกาภิวัตน์" เกิดการไหลเวียนของทุน ของงาน และข้อมูลข่าวสาร ยุคนี้ทำให้เกิดการย้ายถิ่นข้ามชาติในระดับภูมิภาคมากขึ้น


 


ในอดีต เราจะเห็นว่า ส่วนใหญ่ เป็นการย้ายเข้าจากประเทศโลกที่สาม หรือประเทศด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ว่าในยุคปัจจุบัน คือ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีการไหลเวียนแรงงานในภูมิภาคมากขึ้น


 


ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจาก "การรวยฉับพลันของประเทศ" โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง จากปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน ทำให้เขาต้องการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เขาก็มีนโยบายนำเข้าแรงงาน ถ้าเป็นแรงงานที่มีฝีมือเขาก็นำเข้ามาจากทวีปยุโรป แต่แรงงานที่ไร้ฝีมือก็เอามาจากไทย ศรีลังกา สมัยก่อนเกาหลีก็ส่งแรงงานไปตะวันออกกลางด้วย หลังจากนั้นก็มีไทยเราส่งไปสิงคโปร์ ไต้หวัน


 


สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มันมีประเทศที่จะมีนโยบายส่งออกแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นการนำเอาเงินตราต่างประเทศเข้า ในกระบวนการเหล่านี้นี่เอง ก็เกิดกระบวนการที่จะขนย้ายแรงงานข้ามแดนเพื่อจะไปเป็นแรงงานให้อีกประเทศหนึ่ง


 


ในประเทศไทยเอง รูปแบบที่เกิดขึ้นคือ เรามีบริษัทจัดหางานเกิดขึ้น ในประเทศอื่นก็เหมือนกัน ในบริษัทจัดหางานนี้ เนื่องจากมันต้องแข่งขันกัน ก็มีการหลอกลวง ล่อลวง แล้วก็ขนคนจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง


 


ปัญหาการเมือง นำไปสู่การขนย้ายแรงงานข้ามแดน


นอกจากการขนคนซึ่งย้ายจากจุดหนึ่งไปทำงานอีกจุดหนึ่งแล้ว การขนคนอีกมิติหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญมากในโลกยุคปัจจุบันนี้ ก็คือ การขนคนจากพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความเชื่อว่า มีเสรีภาพทางการเมืองต่ำ ไปสู่อีกจุดหนึ่งซึ่งเชื่อว่ามีเสรีภาพทางการเมืองสูง ซึ่งอันนี้เป็นผลพวงมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากมันมีประเทศที่เป็นสังคมนิยม เป็นเสรีนิยม


 


ฉะนั้น รูปแบบอย่างนี้ก็ยังเป็นอยู่ เช่น คนที่มาจากประเทศพม่าเข้ามาอยู่ นอกจากเป็นเพราะว่า มันมีความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศพม่าแล้วจะต้องหนีมาประเทศไทย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะปัญหาในประเทศพม่า เขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองได้ อย่างที่เขาควรจะแสดงได้ ก็เลยทำให้เกิดการโยกย้าย 


 


เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องบริบททางการเมืองก็เป็นปัญหาที่นำมาสู่การขนย้ายแรงงานข้ามแดนเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ในยุคปัจจุบันนี้ เขาเรียกว่า การบูรณาการภูมิภาคนิยม คือเป็นการบูรณาการที่เกิดในภูมิภาค และเป็นประเด็นที่เราจะพูดคุยกันในเรื่องอุษาคเนย์


 


ILO ประจานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอุษาคเนย์ มาจากธุรกิจ sex tour


เมื่อมองขนาดของปัญหาในระดับโลก อันนี้เป็นการประเมินขั้นต่ำ มีการขนคนข้ามพรมแดนประมาณ 6-8 แสนคนต่อปี ส่วนใหญ่คนที่จะถูกขนย้ายเป็นเด็กและผู้หญิง แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีผู้ชายถูกขนย้าย และการขนย้ายมักจะเกี่ยวข้องกับการนำเอาเด็กและผู้หญิงไปค้าประเวณี แต่ก็ไม่ใช่เป็นธุรกิจหลักธุรกิจเดียวในการขนย้ายคน ยังมีธุรกิจอื่นๆ ด้วย


 


แต่ว่าในอุษาคเนย์ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ของสหประชาชาติ เคยประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของหลายๆ ประเทศในอุษาคเนย์เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มาจากธุรกิจที่เรียกว่า sex tour นี่คือภาพระดับประเทศที่ทำให้เห็นขนาดของปัญหา


 


ความเบลอระหว่างการสมัครใจกับการถูกบังคับ


มาดูความหมายของการขนย้ายแรงงาน มันมีศัพท์ 2 คำ ท่านอาจจะเคยได้ยินคือ การค้ามนุษย์ กับการขนย้ายแรงงาน มันมาจากภาษาอังกฤษ 2 คำคือ trafficking กับ smugling หัวข้อที่เราคุยกันวันนี้คือ smugling คือเรื่องของ trafficking ในเชิงของภาษาวิชาการแล้วมันจะหมายถึงการบังคับ หลอกลวง หลอกล่อ ให้คนที่เป็นเด็กหรือผู้หญิงเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี


 


ส่วน smugling มันคือการลักลอบอะไรก็ได้ที่ผิดกฎหมายจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ในที่นี้รวมคนด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการขนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย ก็จะใช้คำว่า people smugling หมายถึงการค้ามนุษย์เข้าสู่ตลาดแรงงานราคาถูก แล้วก็เป็นตลาดแรงงานนอกระบบที่ขูดรีดเอาเปรียบ ในขณะที่ถ้าเป็น trafficking ก็จะหมายถึงการค้าผู้หญิงและเด็กเข้าสู่ตลาดการค้าประเวณี


 


องค์ประกอบที่เราจะถือว่าเป็นการขนย้ายคนก็คือ แน่นอนว่า เมื่อขนย้ายข้ามพรมแดน ประเทศที่เกี่ยวข้องคือประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง ทุกวันนี้ เรามีปัญหากับประเทศพม่ามากที่สุด เรามีคนที่มาจากประเทศพม่า ดิฉันจะใช้คำอย่างนี้ว่า คนที่มาจากประเทศพม่า เพราะคนทั้งหมดไม่ใช่คนพม่า คนพม่ามีประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ คือ มอญ กะเหรี่ยง กะเรนนี หรืออื่นๆ ไม่เพียงแต่ประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทางที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือความตึงเครียดในความสัมพันธ์ การขนย้ายบางครั้งต้องอาศัยเส้นทางที่ผ่านหลายประเทศ ซึ่งคนเดินทางอาจจะยินยอมพร้อมใจก็ได้หรืออาจจะถูกบังคับก็ได้ หรืออาจะถูกลักพาตัวมาก็ได้


 


นี่คือสิ่งที่เข้าสู่สิ่งที่พูดในตอนต้นว่า มันจะเป็นเรื่องของความไม่ชัดเจน ความเบลอระหว่างการสมัครใจเดินทางกับการถูกบังคับเดินทาง ข้อมูลที่ได้มักเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เขาเรียกว่าเป็น false information หรือเป็น half truth คือเป็นความจริงครึ่งเดียว


 


ยกตัวอย่าง เช่น ดิฉันจะขายกระโปรงตัวหนึ่ง ผ้าก็สวย ขายร้อยเดียวเอง อันนี้คือ half truth ความจริงอีกครึ่งที่ไม่บอกคุณคือซักแล้วย้วย เพราะฉะนั้นคนที่ได้รับข้อมูลก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศหรือข้ามแดนก็มักจะได้รับความจริงที่ไม่ครบถ้วน วิธีการเดินทางมักจะถูกทำเป็นหนี้สิน คือการเดินทางจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง มักจะสร้างเงื่อนไขให้เป็นหนี้สิน คุณไม่มีเงิน คุณอยากจะเดินทางข้ามแดนก็ได้ เขาให้คุณยืมก่อน แต่ว่าหนี้พวกนี้เป็นหนี้ที่คณสองคูณสาม อย่างที่เราเคยได้ยินว่า ผู้หญิงไทยไปญี่ปุ่น เมื่อสัก 15 ปีที่แล้วที่ดิฉันเริ่มเข้ามาทำงานเรื่องนี้ ทุนที่จะไปหาผู้หญิงจะตกประมาณ 4-5 แสนบาท หมายถึงที่จะไปใช้หนี้นะ ปัจจุบันตัวเลขนี้ขึ้นมาเป็น 1 ล้าน 5 แสนบาท แล้วตัวเลขนี้ถ้าไปไต้หวันสมัยก่อน หนี้ประมาณ 5-8 หมื่นบาท ปัจจุบันเป็นแสนกว่าบาท หมายถึง ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่าย ทั้งหมด


 


เพราะฉะนั้น หนี้เหล่านี้ไม่ได้ปลดเปลื้องกันง่ายๆ ผู้ไปแล้วส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิเสธการทำงานที่ตัวเองไม่อยากทำ ต่อให้มี work permit หรือเดินทางถูกกฎหมายก็ตาม นี่คือเคยสัมภาษณ์คนไทยที่ทำงานในไต้หวัน สัญญาเขียนกันไว้อย่างหนึ่ง เช่นว่า เธอต้องได้เงินเดือนประมาณ 2 หมื่นบาท แต่พอไปจริงๆ แล้วมันให้หมื่นห้า ก็ต้องทำ ภาษาไทยก็เรียกว่า ผีไปถึงป่าช้าแล้วก็ต้องเผา สิ่งเหล่านี้คือเกิดขึ้นตลอดเวลา


 


"ไทยเป็นศูนย์กลางการขนย้ายแรงงานข้ามแดนในอุษาคเนย์"


ขณะที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ ประเทศไทยมีสถานะพิเศษ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการขนย้ายแรงงานข้ามแดนในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลุ่มน้ำโขง เราเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานที่ถูกค้า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีนโยบายส่งออกแรงงาน เราส่งคนไทยไปทำงานมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวันเยอะไปหมด และจำนวนหนึ่งถูกหลอกไป


 


มีกรณีคลาสสิคอันหนึ่งคือหลอกจากสุโขทัยมา ให้นั่งเครื่องบินมา บอกว่าจะไปทำงานที่สวิสเซอร์แลนด์ นั่งเครื่องบินจากจากสุโขทัยแล้วมาลงกรุงเทพฯ แต่คนที่มาคิดว่าเขาบินไปต่างประเทศ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว หลอกกันทื่อๆ อย่างนี้ก็มี


 


ย้ำ ประเทศไทยเป็น "จุดพักรอ" หรือเป็นทางผ่านของการขนคนข้ามแดน


ประเทศที่รองรับแรงงานที่ถูกนำมาค้า ปัจจุบันที่เราทราบก็คือ พม่า กัมพูชา ลาว นอกจากนั้นก็มีเวียดนาม มณฑลยูนนาน ที่น่าสนใจคือเกาหลีเหนือ แต่ว่าสภาวะที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ ประเทศไทยเป็นจุดซึ่งเรียกว่า จุดพักรอ หรือเป็นทางผ่านของการขนคนข้ามแดน เรามีขบวนการที่เรียกว่า "ขบวนการลูกหมู" ที่ขนคนจีน แล้วก็มีการเรียกขบวนการที่ขนคนจากเอเชียใต้ว่า "ขบวนการลูกแพะ" คืออาจจะขนเข้ามาในเมืองไทย หรืออาจจะส่งต่อไปประเทศอื่น


 


นี่คือภาพของการขนย้ายที่ประเทศไทยมีการเข้าออกของคนข้ามแดน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net